Skip to main content
sharethis


ประชาไทคัดสรร - ผู้จัดการออนไลน์ 6 พฤศจิกายน 2548 19:41 น. ได้รายงานการกล่าวปาฐกถาปิดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าครั้งที่ 7 ประจำปี 2548 ในหัวข้อ "ประเทศไทยกับความยั่งยืนของการเมืองฐานประชาชน" ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "ประชาไท" จึงขอคัดลอกมานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง


0 0 0


 


 


"เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" ชี้ 3 วิกฤติ ตัวการกัดกร่อนฐานรากประชาธิปไตยจนหมดความหมาย ย้ำประเทศชาติเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถึงเวลาเร่งสร้างการเมืองภาคประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมก่อนสายเกินแก้ ระบุ ภาครัฐต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง อย่าเห็นเป็นลูกค้า


      


วันนี้ (6 พ.ย.) นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาปิดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าครั้งที่ 7 ประจำปี 2548 ในหัวข้อ "ประเทศไทยกับความยั่งยืนของการเมืองฐานประชาชน" ตอนหนึ่งว่า การเมืองฐานประชาชน เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่ถึงวันนี้ที่ต้องมาพูดเรื่องการเมืองฐานประชาชนอาจเป็นเพราะระบอบประชาธิปไตยไทยยังไม่ใช่ระบอบที่อาศัยประชาชนเป็นฐานรากอย่างแท้จริง แต่เป็นเวทีของชนชั้นนำที่อาศัยประชาชนเป็นฐานเสียง และอาศัยการเลือกตั้งเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมในการก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง ที่ผ่านมาพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยมุ่งเน้นในทางภาครัฐมากกว่าประชาชน การขยายบทบาททางการเมืองของภาคประชาชนไม่ได้รับความสนใจ ซ้ำถูกตั้งแง่รังเกียจโดยผู้กุมอำนาจ และ นักการเมือง ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยไทยนอกจากเบี่ยงเบนไปจากอุดมคติแล้วยังไม่สามารถตอบสนอง ดูแลปัญหาประชาชนได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ


      


"การเมืองภาคตัวแทนที่กระจุกตัวอยู่ในหมู่ชนชั้นนำของสังคม แม้จะประกอบด้วยนักการเมืองที่หวังดีอยู่ไม่น้อย แต่โดยพื้นฐานแล้วการเมืองแบบนี้ ทำได้อย่างมากแค่ดูแลประชาชนส่วนที่มาจากเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ของตน เราเคยพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยกระบวนการปฏิรูปการเมือง ปรากฏผลเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่หลังผ่านการปฏิบัติมาระยะหนึ่ง ชัดเจนว่า กระบวนการปฏิรูประบบการเมืองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง สร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ส่วนการเมืองในรูปอื่นๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนั้น กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าใด ยิ่งไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทุนนิยมและโลกาภิวัตน์หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทำให้ปัญหาต่างๆ ของประเทศทวีความหนักหน่วง ซ้ำซ้อนขึ้นอีก ถ้ายังปล่อยให้การเมืองดำเนินไปโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนบางทีระบอบประชาธิปไตยของไทยอาจจะเหลืออยู่แค่ในนามเท่านั้น"


      


นายเสกสรรค์ กล่าวอีกว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ไทยพลัดหลงเข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ต้องการให้รัฐเลิกบทบาทในการกำกับระบบเศรษฐกิจและลดบทบาทในการดูแลสังคมลงโดยมอบอำนาจดังกล่าวให้กับกลไกตลาด ทำให้ประชาชนดำรงอยู่ในฐานะปัจเจกบุคคลในท้องตลาด ไม่ใช่ฐานะพลังทางสังคม หรือสถาบันการเมืองควบคู่กับภาครัฐอีกต่อไป เฉพาะด้านผลกระทบที่เกิดจากการเปิดเสรีประเทศไทยตามข้อเรียกร้องของระบบทุนนิยมโลกอาจแบ่งเป็น 3 เรื่องที่เกี่ยวโยงกัน คือ 1. ทำให้เรามีปัญหาที่สถิตของอำนาจอธิปไตย หรือมีการเปลี่ยนรูปของรัฐชาติไปจากเดิม 2.มีปัญหาเรื่องความคลุมเครือเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติ 3. มีปัญหาความเห็นพ้องต้องกันหรือฉันทามติในการทางการเมือง


      


ทั้งนี้ การที่อธิปไตยของรัฐไทยที่ลดลง เพราะการสละอำนาจในการควบคุมระบบเศรษฐกิจให้กับกลไกตลาด ทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อน หนักหน่วงขึ้น เพราะระบบตลาดผู้ที่จะได้รับการตอบสนองผลประโยชน์ คือ ลูกค้าที่มีอำนาจซื้อเท่านั้น ซึ่งต่างจากการรับผิดชอบของรัฐที่มีต่อพลเมืองตน สภาพดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นกระแสใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อฐานะ และบทบาทของรัฐชาติในขอบเขตทั่วโลก จนกล่าวได้ว่ารัฐชาติในปัจจุบันไม่ได้ดูแลเฉพาะชาติของตน แต่ต้องรับผิดชอบดูแลตลาดโลกในพื้นที่ที่รัฐนั้นมีอำนาจปกครอง หรือดูแลผลประโยชน์นานาชาติที่อยู่ในพื้นที่ตน ปัญหาที่ตามมาคือแล้วแนวคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ จะมีความหมายอย่างไร เดิมเรื่องนี้เป็นข้ออ้างอันชอบธรรมของรัฐไทยในการใช้อำนาจตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่างๆ แต่ปัจจุบันผลประโยชน์ในประเทศไทยได้ถูกถือครองโดยบรรดาบริษัทข้ามชาติในสัดส่วนที่มหาศาล รัฐจึงไม่สามารถอาศัยแนวคิดนี้มาสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจได้ต่อไป ซึ่งประเด็นผลประโยชน์แห่งชาติและความชอบธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเห็นพ้องต้องกัน และฉันทามติทางการเมืองโดยตรง ถ้าประชาชนหมดความเชื่อถือในเรื่องข้ออ้างเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติเมื่อใด ก็จะปฏิเสธอำนาจของรัฐบาล กรณีนี้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากโครงการใหญ่ของรัฐ หรือจากภาคธุรกิจเอกชนที่บางทีเป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศ


      


"สภาพปัญหาทั้ง 3 กำลังก่อตัวเป็นวิกฤติที่กัดกร่อนประชาธิปไตยไทยในระดับที่ลึกซึ้งถึงฐานราก จนอาจทำให้ประชาธิปไตยหมดความหมาย ถ้าไม่มีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม การเมืองภาคตัวแทนกับการเมืองภาคประชาชนอย่างทันการณ์ ตรงนี้คิดว่าการเมืองฐานประชาชนจึงไม่ใช่เป็นแค่อุดมคติ นามธรรม แต่เป็นหนทางแก้ปัญหารูปธรรมให้ประเทศไทยได้ โดยพรรคการเมือง นักการเมืองอาชีพ ต้องเลิกรังเกียจการเมืองภาคประชาชน เปิดพื้นที่และทำให้การเมืองเข้ามาเป็นองค์ประกอบถาวร เป็นกลไกปกติของระบอบประชาธิปไตยโดยสถาบันการเมืองต่างๆ เข้าไปเชื่อมร้อย เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน อาศัยพลังประชาชนมาเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหาของพวกเขา มาชดเชยข้อเสียเปรียบของประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งอาจทำให้สามารถหาทางออกจากปัญหานี้"


      


นายเสกสรรค์ กล่าวต่อว่า ที่เห็นเหตุนั้นเพราะ 1.การเมืองภาคประชาชนเป็นกระบวนประชาธิปไตยทางตรง หรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่จะช่วยจัดการปัญหาที่ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนราษฎรก่อขึ้น หรือรับผิดชอบได้ไม่ทั่วถึง การยอมรับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่ากับการโอนอำนาจต่างๆ ของรัฐ มาสู่ประชาชนมากขึ้น เป็นการถ่วงดุลกลไกตลาดที่รับมอบอธิปไตยจากรัฐไทยไปบางส่วน ตลอดจนช่วยขยายระบอบประชาธิปไตยออกไปจากระบอบของชนชั้นนำให้เป็นระบอบที่ประชาชนมีอำนาจจริงมากขึ้น


      


2.การเมืองภาคประชาชนโดยธรรมชาติแล้วเป็นกระบวนการแบบพหุนิยม ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มประชาชนที่มีอัตลักษณ์ มีวิถีชีวิต และผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลายจึงไม่สามารถยอมรับข้ออ้างความชอบธรรมที่เลื่อนลอยเฉพาะอย่างยิ่งในงานของชาติที่เป็นนามธรรมได้ ถ้าเราสามารถใช้การเมืองภาคประชาชนในทางสร้างสรรค์ ในการนิยามผลประโยชน์แห่งชาติขึ้นมาใหม่ ในลักษณะถ่วงรวมผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ไม่ทอดทิ้งสังคมใด จะทำให้เกิดกระบวนการสร้างฉันทามติแบบใหม่ที่อาศัยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้ได้รับผลกระทบ และสามารถกลายเป็นฐานความชอบธรรมใหม่ในกระบวนการใช้อำนาจของรัฐบาลได้


      


3.การเมืองภาคประชาชนเท่าที่ผ่านมาเป็นกระบวนการพัฒนาแบบทางเลือกที่ไม่ยอมขึ้นต่อกลไกตลาดเสรีตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีบทบาททั้งถ่วงดุลอิทธิพลของทุนข้ามชาติ ทั้งพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแก้ไขปัญหาความยากจนในเชิงโครงสร้างไปในเวลาเดียวกัน


      


ยิ่งกว่านั้นยังจะช่วยลดทอนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เป็นแบบแนวดิ่งมาตลอดระหว่างรัฐกับชาติ ตลอดจนเพิ่มความสัมพันธ์แนวราบที่เสมอภาค สร้างสรรค์ขึ้นในหมู่ประชาชน แต่ต้องไม่สับสนระหว่างการเมืองฐานประชาชนกับแนวคิดประชานิยม เพราะการเมืองฐานประชาชนเน้นการมีส่วนร่วมและการรวมพลังของประชาชน แต่ประชานิยมเป็นเพียงระบบอุปถัมภ์รูปแบบหนึ่งซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากความหวังดีแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้พลังประชาชนเติบโต เข้มแข็ง และยิ่งไม่ช่วยให้ภาคประชาชนสามารถพัฒนาศักยภาพในการควบคุม กำกับภาครัฐ หรือถ่วงดุลระบบตลาดที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ ได้


      


"การเมืองฐานประชาชนจึงเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของระบอบประชาธิปไตย ถ้าผลักดันให้เป็นจริงได้เท่ากับเป็นการขยายประชาธิปไตยออกไป และไม่ใช่การปฏิเสธ คุณค่าความสำคัญของการเมืองแบบผู้แทน หากจะทำให้เกิดบูรณาการทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบความสัมพันธ์ที่สมดุลยิ่งขึ้นระหว่างรัฐกับสังคมซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างยิ่ง ไม่มีเวลาไหนอีกแล้วที่การเมืองฐานประชาชนจะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเท่าขณะนี้ ถ้าล้มเหลวในการสร้างการเมืองฐานประชาชน ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งภายในประเทศไทย จะขยายตัวยุ่งเหยิงออกไปเรื่อยๆ เท่านั้น แม้แต่ตัวรัฐไทยเองก็ไม่ชัดเจนว่าดำรงอยู่และใช้อำนาจไปเพื่อจุดหมายใด แล้วระบอบประชาธิปไตยของไทยก็จะมีความหมายเฉพาะแต่ในนาม และไม่คิดว่าเวลาขณะนี้สายเกินไป เพียงแต่ต้องตระหนักในลักษณะของปัญหา และมองให้เห็นความจำเป็นของสถานการณ์ แม้รู้ดีว่าการจะขับเคลื่อนการเมืองไทยให้เป็นการเมืองฐานประชาชนหนีไม่พ้นต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมือง นักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่อย่างน้อยที่สุดการทำให้ประเด็นนี้กระจ่างชัดในทางภูมิปัญญา และเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ของสังคมก็นับได้ว่าเป็นการวางพื้นฐานที่ดี เพราะการเมืองฐานประชาชนจะพัฒนาไปอย่างยั่งยืนได้ก็ด้วยความเห็นพ้องของพลังต่างๆ ในสังคม"


      


อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวิชาการ เรื่อง "การเมืองฐานประชาชน: ความยั่งยืนของประชาธิปไตย" ยังได้มีการสรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยที่สำคัญโดยในเรื่อง "รัฐสภาและพรรคการเมือง : สถาบันการเมืองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนจริงหรือ" พบว่า จากผลวิจัยเรื่องจริยธรรมนักการเมืองอยู่ในระดับต่ำ จงควรมีการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง เริ่มที่การปฏิรูปผู้นำทางฝ่ายบริหาร และควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง อีกทั้งมองว่า ระบบการเมืองไทยปัจจุบันเป็นเผด็จการของพรรคการเมืองมากกว่าประชาธิปไตย ส.ส.ตกเป็นภาคของหัวหน้าพรรค รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้เกิดพรรคการเมืองเดียวที่เข้มแข็ง แต่มีคำถามว่าถูกใจประชาชนหรือไม่ เริ่มมีความเสื่อมศรัทธา การปฏิรูปการเมืองรอบ 2 จึงอาจเกิดขึ้น


      


ส่วนในเรื่อง " พื้นที่ทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540" พบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในสิทธิชุมชนค่อนข้างน้อย เนื่องจากรัฐมักมองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน และพยายามเป็นผู้เสียหายแทนประชาชน แต่บางครั้งกลับไม่มีการดำเนินการแทน รวมถึงมายาคติเรื่องการตลาด ว่า เป็นระบบการจัดการทรัพยากรที่ดีที่สุด ทั้งที่บางครั้งกลไกตลาดทำให้เกิดความล้มเหลว เช่น การเก็งกำไรที่ดิน ทำให้ระบบที่ดินไม่เข้าสู่กลไกการผลิต แต่ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง สิทธิประชาชนในการเสนอกฎหมายตั้งแต่ปี 2542 มี 16 ฉบับ แต่ขณะนี้ไม่มีฉบับใดผ่านออกมามีผลใช้บังคับ แสดงประชามติประชาชนยังไม่มีสิทธิ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและเป็นเพียงการให้คำปรึกษาเท่านั้น รวมถึงการใช้อำนาจในการถอดถอนฝ่ายบริหารทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ยังมีข้อจำกัด ดังนั้น การที่ภาคประชาชนยังอ่อนแอ เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญที่ยังจำกัดสิทธิของประชาชน


      


สำหรับในเรื่อง "การเสริมพลังภาคประชาชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของประชาธิปไตย" เห็นว่า การเสริมพลังด้านการตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบควรยกเลิกการกำหนดโทษกับผู้ริเริ่ม ล่ารายชื่อประชาชน เพื่อให้มีการตรวจสอบถอดถอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ปี 2542 การดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในกรณีทุจริต ได้แก่ นักการเมือง ข้าราชการประจำ และบริษัทเอกชน ควรอยู่ภายใต้ กระบวนการเดียวกันตั้งแต่การสอบสวน ฟ้องลงและลงโทษ นอกจากนี้ ควรให้องค์กรนิติบุคคลบางองค์กรสามารถทำหน้าที่เป็นผู้เสียหายในการฟ้องร้องแทนหน่วยงานรัฐได้ และควรแก้ไขให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ จากเดิมที่มีอายุความเพียง 2 ปี รวมถึงการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของรัฐ ที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท และในเรื่อง "การบริหารงานภาครัฐ: การยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง" เห็นว่า การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางต้องแยกประชาชนออกจากลูกค้าที่เป็นศูนย์กลางโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติและติดตามตรวจสอบ


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net