Skip to main content
sharethis

 




ประชาไท—26 ต.ค. 48 นักกฎหมายท่าพระจันทร์ บุก สน.ชนะสงคราม แจ้งความจับสแปมเมอร์เจ้าปัญหา พบข้อกฎหมายไทยคุ้มครอง หวังเบิกทางให้เว็บเล็กๆ เดินตาม หลังพบว่าเว็บส่วนใหญ่ทนกับปัญหานี้มานาน


 


ทั้งนี้ สแปม (spam) คืออีเมล์ลักษณะหนึ่งที่ผู้ส่งไม่จำเป็นต้องรู้จักผู้รับ โดยใช้โปรแกรมหว่านแหส่งทั่วไป ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่ของสแปมคือเชิญชวนให้ซื้อสินค้าหรือแนะนำเว็บทางการค้าต่างๆ  หรือเรียกได้ว่าเป็นอีเมล์ที่ไม่พึงประสงค์นั่นเอง ซึ่งทั้งในอีเมล์ส่วนตัวและเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ต่างๆ ของไทยกำลังประสบปัญหานี้อยู่


 


วันนี้ เวลา 14.25 น. รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของเว็บไซต์ www.archanwell.org เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.อ.ธีรศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เพื่อดำเนินคดีอาญากับสแปมเมอร์ ที่เข้ามารบกวนเว็บไซต์ โดยลงบันทึกประจำวันคดีอาญาที่ 3045/48 ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ หลังจากอาจารย์พบว่ามีผู้มาลงข้อความโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตในกระดานข่าวบนเว็บไซต์โดยเฉลี่ยวันละ10-30 กระทู้ เช่น ขายประกันชีวิต ยาลดความอ้วน ขายตรงสินค้าต่างๆ เป็นต้น


 


รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า มีสแปมวันละ 10-30 กระทู้ จนไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งในที่สุดทางตำรวจก็ยอมรับ และต้องการฟังปัญหาของตำรวจด้วยเหมือนกัน หากตำรวจไม่สามารถจับตัวการปล่อยสแปมได้ก็จะทำให้มีสแปมเพิ่มขึ้นอีกอย่างไม่จบไม่สิ้น


 


"เราพบว่ามีคนมาโพสต์กระทู้ขยะหลายหนโดยเปลี่ยนชื่อใหม่ทุกครั้ง ซึ่งเราเริ่มเก็บหลักฐานตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.48 ทำให้พบว่าการกระทำความผิดแบบนี้มีมาโดยตลอด 2 ปี ตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ ทั้งนี้เราได้ห้ามไปแล้ว แต่สแปมเมอร์ยังก่อกวนให้เราเสียหายอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรายังได้โทรไปพูดคุยกับคนที่ให้เบอร์ติดต่อกลับถึง 2 ครั้งแต่ก็ไม่มีใครกล้าออกมาแสดงตัว" อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.กล่าว


 


ทั้งนี้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ เล่าว่า "เว็บอาจารย์เป็นเว็บสาธารณะไทยที่เปิดให้บริการความรู้เรียนทางกฎหมาย ค้นหาข้อมูล ตอบปัญหาทางกฎหมาย ขณะที่มีคนเข้ามาทิ้งสแปมเป็นประจำ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลาลบ บางวันถึงวันละ 3 เวลา ทำให้เสียทรัพยากรในการจ้างคนลบเป็นจำนวนมาก และเกิดขึ้นกับทุกเว็บด้วย ผู้มาอ่านก็ยากลำบากในการเข้ามาอ่านเพื่อการศึกษาและการทำงาน ถือได้ว่าสแปมเหล่านี้ทำลายบรรยากาศเว็บแห่งการเรียนรู้ อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดความเสียหาย เท่ากับเข้ามาทำบ้านของเราให้สกปรก"


 


อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวต่อไปว่า จะคอยติดตามเรื่องในอีก 1 เดือนข้างหน้า เพื่อคอยติดตามการจับกุมคนร้ายต่อไป หรือว่ากรณีเช่นนี้จะไม่มีทางจับคนร้ายได้เลย ทั้งๆ ที่กฎหมายธรรมชาติรู้อยู่แล้วว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน ส่วนประชาชนตัวเล็กจะปกป้องตนเองได้อย่างไรหากภาครัฐไม่สนใจ ส่วนเว็บใหญ่นั้นมีคนเขียนโปรแกรมจัดการได้อยู่แล้ว ดังนั้นสแปมจึงเหมือนเป็นทุกข์ของคนตัวเล็กที่ไม่ได้รับความสนใจ ก็ต้องติดตามว่าภาครัฐจะมีนโยบายอย่างไรทั้งเชิงพาณิชย์และทางสังคมที่จะจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้


 


ด้าน พ.ต.อ.ธีรศักดิ์ กล่าวในคดีนี้ว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะหาหมายเลขโทรศัพท์ แล้วจะออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหามาให้ปากคำในฐานะพยาน หากเรียกแล้วไม่มาก็จะออกหมายจับในฐานะผู้กระทำผิดต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 หมวดความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ขณะเดียวกันรัฐกำลังเตรียมออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ...เพื่อจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ


 


ขณะที่ นางสาวสุภามาศ สุทธิบุตร ผู้จัดการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ซึ่งมีหน้าที่ประสานเพื่อความเป็นกลางระหว่างเว็บไซต์ในประเทศไทย กล่าวว่า "คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่มีการแจ้งความจับสแปมเมอร์ การที่โรงพักรับแจ้งเพื่อดำเนินคดีนี้จึงถือว่ามีมูลระดับหนึ่ง ซึ่งต้องคอยติดตามดูความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ต่อกรณีเช่นนี้ต่อไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net