Skip to main content
sharethis

ฝายกั้นน้ำในเขตอุทยานฯแม่ฝาง ที่มีท่อส่งน้ำให้เจ้าของสวนส้ม
------------------------------------------------------------------------

รายงานพิเศษ

"พวกเรากลุ่มชาวนา ได้คัดค้านมาโดยตลอดว่า ไม่เห็นด้วย กับการสร้างฝายกั้นน้ำในเขตป่าต้นน้ำแม่ฮ่าง เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้มีส่วนรู้เห็น แต่เป็นการความคิดของกลุ่มนายทุนสวนส้มร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐทำกันขึ้นมา และยังมีการนำรายชื่อชาวบ้านไปแอบอ้างอีกด้วย ซึ่งเราเห็นว่านี่เป็นโครงการแย่งน้ำของชาวนา" นายบุญส่ง อินต๊ะ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียง
ใหม่ กล่าวหลังจากที่พาผู้สื่อข่าวประชาไท ลงพื้นที่

ปัจจุบัน ปัญหาความขัดแย้งการแย่งชิงน้ำระหว่างนายทุนกับชาวบ้านได้ขยายลุกลามไปทั่วประเทศ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ ล้วนมีสาเหตุมาจากนโยบายรัฐ โดยเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มนายทุนได้อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเข้าไปกระทำการ ล่าสุด ปัญหาดังกล่าวได้ไปโผล่ในเขตพื้นที่แม่อาย อำเภอที่อยู่เหนือสุดของจังหวัดเชียงใหม่

นายทุนเบิกป่าอุทยานฯ แม่ฝางทำสวนส้ม-ต่อท่อแย่งน้ำชาวนา
ปัญหาได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อประมาณปี 2544 เป็นต้นมา ชาวบ้านจำนวน 4 หมู่บ้านในเขตพื้นที่ ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ต้องประสบปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีกลุ่มผู้ประกอบการทำสวนส้มขนาดใหญ่จำนวนหลายราย ได้เข้าไปปลูกสวนส้มในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ฮ่าง จนเกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวนาและผู้ประกอบการสวนส้มมาโดยตลอด

สาเหตุนั้นมาจากกลุ่มผู้ประกอบการสวนส้มหลายราย ได้มีการนำท่อพีวีซีหลายขนาดไปดูดน้ำจากลำห้วยที่อยู่ต้นน้ำเหนือหมู่บ้าน เพื่อดึงเข้าไปใช้ในสวนส้มขนาดใหญ่ จนทำให้ชาวนาที่อยู่ท้ายน้ำได้รับประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง

ในวันที่ 20 ก.ค.2547 ได้มีการประชุมหารือกับหลายๆ ฝ่าย โดยได้เชิญตัวแทนอำเภอแม่อาย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า ชม.ที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งตัวแทนชาวนา และผู้ประกอบการสวนส้ม เข้าร่วมประชุม

โดยตัวแทนฝ่ายรัฐพยายามให้มีการรอมชอมกัน ในที่ประชุมนายเสถียร มณีผ่อง ผู้ประกอบ
การสวนส้ม ได้ลุกขึ้นยื่นข้อเสนอว่า ขอให้มีการต่อท่อน้ำ จำนวน 1 ท่อ ต่อ 1 สวน โดยให้มีการลดขนาดท่อเหลือ 2 นิ้ว จะได้หรือไม่

ซึ่งข้อเสนอของผู้ประกอบการสวนส้มนั้น กลุ่มชาวนาผู้ใช้น้ำทั้งหมดไม่ยอมรับ เพราะถ้าให้นาย
ทุนสวนส้มแก้ปัญหาเพียงการลดท่อ เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะประสบกับปัญหาดังเดิม ดังนั้น จึงขอให้มีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง

มติชาวนาชัด! ให้นายทุนสวนส้มรื้อท่อใช้น้ำ
การประชุมเริ่มต้นกันอีกครั้ง ในวันที่ 23 ส.ค.2547 โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม พร้อมชาวนากลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 14 หมู่บ้าน ในเขตตำบลแม่สาว กว่า 500 คน โดยในการประชุมเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด และออกมาคัดค้านที่กลุ่มนายทุนสวนส้มได้เข้ามาทำการนำท่อมาดึงน้ำไปใช้ในสวนส้ม

นายศรีมูล กันธิยะ ตัวแทนชาวนา กล่าวว่า การใช้น้ำที่ผ่านมา ไม่เคยมีปัญหา แต่พอมามีปัญหามาก เนื่องจากกลุ่มสวนส้มเข้ามา และมีการสูบน้ำไปใช้หมด จนชาวนาเดือดร้อนไปทั่ว และอยากถามว่า ใครเป็นผู้อนุญาตให้เจ้าของสวนส้มต่อท่อสูบน้ำ เพราะชาวนาไม่มีใครรู้เรื่องเลย ดังนั้น จึงขอเสนอไม่อยากให้มีการออมชอม และขอให้เจ้าของสวนส้มได้รื้อท่อน้ำออกไปด้วย

ด้าน นายสมบูรณ์ นันตา ผู้ใหญ่บ้าน ม.3 ต.แม่สาว กล่าวว่า การทำสวนส้มเริ่มทำมาไม่กี่ปี แต่กลับมีปัญหาสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ทั้งที่ชาวนาซึ่งเสียภาษีให้รัฐทุกปี แต่กลับไม่ได้ใช้น้ำในหน้าแล้ง เพราะถูกสวนส้มเอาไปใช้หมด ทั้งๆ ที่ไม่ได้เสียภาษี แถมยังตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกส้ม จึงอยากให้เจ้าของเลิกต่อท่อ และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบด้วย

ซึ่งหลังจากนั้น ในที่ประชุมได้มีมติออกมาว่า ไม่ให้ผู้ประกอบการสวนส้มใช้น้ำและยุติการต่อท่อน้ำดึงเข้าไปในสวนส้ม พร้อมให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยให้หัวหน้าเหมืองฝายในแต่ละหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ร่วมกับกำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั้ง 14 คน

ฝายกักน้ำแม่ฮ่างผุดขึ้น ท่ามกลางความกังขาของชาวบ้าน
"ชาวบ้านงุนงงและตกใจมาก เมื่อรู้ข่าวอีกที ก็มีการนำเครื่องจักรเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เข้าบุกเบิกทำถนน มีการตัดป่า ตัดภูเขาลึกเข้าไปข้างในบริเวณป่าต้นน้ำแม่ฮ่าง แล้วลงมือก่อสร้างฝายกั้นน้ำ โดยไม่มีการแจ้งให้กับชาวบ้านในพื้นที่เลย" นายบุญศรี ไชยเลิศ ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำแม่ฮ่าง กล่าว

ในขณะที่กลุ่มชาวนาผู้ใช้น้ำทั้ง 14 หมู่บ้าน ในเขต ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้มีมติยืนยันก่อนหน้านั้นแล้วว่า ไม่อนุญาตให้กลุ่มนายทุนสวนส้มเข้าใช้น้ำ ทว่าจู่ๆ ก็มีโครงการสร้างฝายกักน้ำขึ้นในเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง โดยมีการแอบเสนอโครงการเข้าไปในระดับอำเภอ จังหวัด และกรม อย่างเงียบเชียบ

ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าว ได้เริ่มมองเห็นความผิดปกติตั้งแต่การยื่นเสนอโครงการ ไปจนถึงการก่อสร้างฝายกักน้ำจนแล้วเสร็จ ซึ่งทำให้หลายๆ คนมองเห็นความไม่ชอบมาพากลว่าได้กระทำการโดยมิชอบหรือไม่!!

เริ่มจาก นายธีรพล คำจันทร์ กำนันตำบลแม่สาว ได้ทำหนังสือถึง นายอดิศร กำเหนิดศิริ นายอำเภอแม่อาย เพื่อขออนุญาตใช้น้ำและทำฝายน้ำล้น โดยอ้างว่า เนื่องจากกลุ่มราษฎรผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่ ต.แม่สาว ได้รับความรับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำทราบปัญหานี้ดี จึงได้มีการปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงขออนุญาตทำฝายน้ำล้นเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการต่อท่อขนาด กว้าง 30 ซ.ม. โดยทำการสร้างในพื้นที่ของนายประมวล เมฆอินทร์ ซึ่งทำกินอยู่ในปัจจุบันและมีใบตอบรับจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่ จำนวน 2 ไร่

โดยหนังสือดังกล่าว ได้มีเอกสารโครงการสร้างฝายกักน้ำ และบัญชีรายชื่อของกลุ่มผู้ใช้น้ำแนบมาด้วย

ผู้ว่าฯ ค้านสร้างฝายผิดระเบียบ
ต่อมา นายอดิศร กำเหนิดศิริ นายอำเภอแม่อาย ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้น้ำและก่อสร้างฝายกักน้ำดังกล่าว

ซึ่งหลังจากนั้น นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีหนังสือถึงนายอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2547 โดยระบุว่า "ทางจังหวัดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ที่ขอก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ซึ่งในทางปฏิบัติการดำเนินการที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึง ท่วมท้นหรือเหือดแห้ง เป็นการกระทำผิดต่อมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ดังนั้น จังหวัดจึงไม่สามารถพิจารณาให้ได้และขอให้ทางอำเภอได้แจ้งและทำความเข้าใจให้ราษฎรในท้องที่ตำบลแม่สาวได้รับทราบ"

ในขณะเดียวกัน นายอำเภอแม่อาย ก็ได้มีการทำหนังสือไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เพื่อขออนุญาตใช้น้ำและทำฝายน้ำล้นด้วย

กรมอุทยานฯ เห็นชอบให้สร้างฝาย!!
ในขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รักษาราชการแทน เป็นผู้ลงนาม เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2548 อนุญาตให้ก่อสร้างฝายน้ำล้นในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ได้

โดยในหนังสือระบุว่า "เรื่องนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2536 ข้อ 5 (5) และพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 161 จึงเห็นชอบด้วยกับแบบแปลนการก่อสร้าง และอนุมัติให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ดำเนินการก่อสร้างตามโครงการ โดยรับการสนับสนุนการดำเนินการจากอำเภอแม่อาย"

ชาวนาผู้ใช้น้ำลุกโวย รัฐแอบอ้างสร้างฝายโดยมิชอบ
หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการสร้างฝายน้ำล้นกั้นลำน้ำแม่ฮ่าง ได้มีกลุ่มชาวนาผู้ใช้น้ำทั้ง 14 หมู่บ้าน ได้ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีการดำเนินงานโดยไม่โปร่งใส ซึ่งกลุ่มที่เห็นด้วยนั้น คือกลุ่มนายทุนเจ้าของสวนส้มในจำนวน 32 แปลงเท่านั้น แต่กลุ่มผู้ใช้น้ำส่วนใหญ่ คือกลุ่มชาวนาทั้ง 556 ราย ในเขตตำบลแม่สาว ต่างออกมายืนยันและในที่ประชุมก็มีการลงมติคัดค้านไม่เห็นด้วยกันชัดเจน

อีกทั้ง ทางเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มนายทุนสวนส้ม กลับมีการแอบอ้างนำเอารายชื่อชาวบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวนาผู้ใช้น้ำทั้งหมดไปแนบเอกสารประกอบการเสนอโครงการก่อสร้างฝายดังกล่าว โดยที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่องใดๆ เลย

นอกจากนั้น ทางอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ยังระบุไว้ในหนังสือขออนุญาตสร้างฝายดังกล่าวอีกว่า ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่แล้ว พบว่า พื้นที่สำหรับการก่อสร้างนั้น ไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ รวมทั้งพื้นที่ที่จะมีน้ำท่วมขังประมาณ 3 ไร่ ไม่มีต้นไม้ขึ้นอยู่แต่อย่างใดนั้น หลังจากที่ได้ลงไปดูพื้นที่จริงแล้ว กลับพบว่า สภาพป่าตรงนั้นมีต้นไม้ปกคลุมอยู่หนาแน่น และส่วนใหญ่เป็นสภาพป่าไผ่ผืนใหญ่ รวมทั้งมีการใช้รถแทรกเตอร์ตัดภูเขาเข้าไปเพื่อใช้เป็นเส้นทางไปในสถานที่ก่อสร้างฝายน้ำล้น

และมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ขออนุมัติจัดสร้างฝายน้ำล้น โดยใช้งบประมาณจากอำเภอแม่อายเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของอำเภอ แต่ข้อเท็จจริงนั้น ในตัวโครงการก่อสร้างฝายดังกล่าว กลับได้ระบุไว้ว่า งบประมาณในการสร้างฝายน้ำล้นในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ในวงเงิน 1,000,000 บาทนั้น ได้รับการบริจาคจากกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งหมายถึงกลุ่มเจ้าของประกอบการสวนส้มที่เข้ามาใช้พื้นที่เขตอุทยานฯ แต่เมื่อสอบถามกับ ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นกลุ่มชาวนา ทั้ง 556 ราย ออกมายืนยันชัดเจนว่า ไม่เคยรับรู้ในเรื่องงบประมาณในการก่อสร้างฝายในครั้งนี้

"จริงๆ แล้ว งบประมาณดังกล่าวเป็นของนายทุนเจ้าของสวนส้ม ที่เข้าไปสร้างฝายคอนกรีตกั้นต้นน้ำแม่ฮ่าง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของผู้ใช้น้ำ ของกลุ่มผู้ใช้น้ำแม่ฮ่าง ที่เป็นชาวนาในเขตท้ายน้ำ จำนวน 556 ราย โดยมีเงินที่ร่วมกันลงทุนจำนวน 1 ล้านบาท แต่ความจริง เงินงบประมาณสร้างฝายนั้น มาจากกลุ่มนายทุนสวนส้ม เพื่อต้องการผันน้ำไปใช้ในสวนส้มขนาดใหญ่เท่านั้น สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวนาเป็นอย่างมาก" นายพงษ์พันธ์ ตะติยา ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอ กล่าว

แบบแปลนฝายประหลาด! อ้างของกรมชลประทาน
เมื่อตัวแทนชาวบ้านเข้าไปตรวจสอบและโต้แย้งการสร้างฝายน้ำล้นที่ผิดแปลกกว่าที่อื่น เนื่องจากมีการต่อท่อขนาดใหญ่เอาไว้ตรงกลางฝาย เพื่อให้เจ้าของผู้ประกอบการสวนส้มไปสามารถดึงไปใช้ในสวนส้มได้ทันที

เมื่อตัวแทนชาวบ้าน ได้เสนอให้ทุบทิ้ง ทางเจ้าหน้าที่รัฐกลับอ้างว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นแปลนที่ได้รับจากกรมชลประทาน!?

นี่คือความไม่ชอบมาพากล ว่าโครงการการก่อสร้างฝายน้ำล้นในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง นี้เป็นโครงการรัฐที่ดำเนินการอย่างถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่!?

กก.สิทธิฯ ตรวจสอบพื้นที่สร้างฝายน้ำล้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่บริเวณสถานที่สร้างฝายน้ำล้น ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังมีชาวบ้านได้ทำการร้องเรียนเอาไว้

นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่าไม้ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากปัญหาเดิม ในเรื่องของการวางท่อสูบน้ำของเจ้าของสวนส้ม โดยชาวบ้านเคยมีมติให้รื้อท่อดังกล่าว แม้ว่ามีการประนีประนอมมีการลดขนาดท่อลง แต่ปัญหากลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ แต่กลับมีปัญหาใหม่คือการทำฝายน้ำล้นซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯแม่ฝางขึ้นมาอีก

"ที่สำคัญ น้ำที่ได้ถูกนำไปใช้เฉพาะในสวนส้มเท่านั้น ดังนั้นกรณีนี้ทางคณะกรรมการสิทธิฯ จึงต้องตรวจสอบต่อไปว่า การสร้างฝายลักษณะนี้ผิดหลักเกณฑ์ของอุทยานฯ หรือไม่ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันชาวบ้านก็เป็นฝ่ายเสียเปรียบ รวมทั้งการอนุมัติการสร้างฝายนั้นขัดแย้งกับมติของชาวบ้าน" นางสุนี กล่าว

เมื่อตัวแทนชาวบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 556 ราย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิฯ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงโดยด่วน ซึ่งนางสุนี กล่าวว่า ในแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น จะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจสั่งการ ทั้งนายอำเภอ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ กรมชลประทาน เจ้าของสวนส้ม และกลุ่มชาวนาผู้ใช้น้ำทั้งหมดมาพูดคุยกันเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป

"ทางคณะกรรมการสิทธิฯ จะนัดหมายให้บุคคลที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียมาประชุมกันเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันต้องมีการตรวจสอบการดำเนินการใช้ทางกฎหมายด้วยว่า การดำเนินการลักษณะนี้มีความถูกต้องหรือไม่" รองประธานอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่าไม้ กล่าวในตอนท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net