Skip to main content
sharethis

กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งในนโยบายยอดนิยมของพรรคไทยรักไทย ผ่านร้อนผ่านหนาวมาครบ 1 รอบชำระหนี้เงินกู้คืนแล้วในหลายหมู่บ้าน ก่อนหน้านี้มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเป็นการสร้างหนี้เน่าหรือเอ็นพีแอลให้แก่ประชาชนระดับรากหญ้า

ฝ่ายค้านชี้ว่า ชาวบ้านกู้ไปซื้อโทรศัพท์มือถือค่ายเอไอเอส เอาไปซื้อมอเตอร์ไซค์ หรือไม่ก็กู้กองทุนหมู่บ้านเอาไปตัดหนี้ที่ล้นพ้นตัว ทุกข้อสันนิษฐานล้วนเป็นข่าวร้ายจากหมู่บ้าน

ตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม เม็ดเงินจากกองทุนหมู่บ้าน จัดสรรไปแล้ว 73,471 ล้านบาท คิดเป็น 98.12% ของเงินกองทุนทั้งหมด ยังเหลืออีก 1.88 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่มีการอนุมัติส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล และชุมชนเมืองอีกจำนวนทั้งหมด 1,410 หมู่บ้าน

ทุกวันนี้ ทั่วประเทศมีสมาชิกกองทุนรวมทั้งหมด 7,300,000 คน เป็นกรรมการหมู่บ้านละ 10-15 คน ทั้งหมด 70,000 กว่าหมู่บ้าน รวมแล้วเป็นกรรมการทั้งหมด 980,000 กว่าคน

น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อมวลชนหรือนักวิชาการ มักนำเสนอภาพด้านเดียวว่าหนี้สูญ แต่จากผลการสำรวจกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผ่านงานวิจัยหลายฉบับ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักวิจัยและการพัฒนาของกรมการพัฒนาชุมชนและสถาบันพระปกเกล้า กลับออกมาตรงกันข้าม
ธปท. ชี้กระตุ้น ศก. 0.8 เปอร์เซ็นต์

หนึ่งในผลสำรวจกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งสำรวจโดย "ยุวรรณ รัฐกุล" เจ้าหน้าที่ฝ่าย
เศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสำรวจในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม 2544 ตัวเลข ณ 20 ธันวาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่เงินกองทุนได้โอนเข้าบัญชีกองทุนหมู่บ้านแล้ว 56,346 ล้านบาท คิดเป็น 88.3% ของโครงการกองทุนหมู่บ้าน 75,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 37,739 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่าเงินกองทุนหมู่บ้านถูกเบิกจ่ายไปใช้ในกิจกรรมการผลิต 89.1% คิดเป็น 1.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ส่วนที่เหลือ 10.9% ของเงินเบิกจ่ายแบ่งเป็น 6.5% ถูกนำไปเก็บ อีก 3% นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและให้กู้ต่อ และ 0.4% นำไปใช้เพื่อบรรเทาเหตุฉุกเฉิน

สำหรับเงินกู้ที่เบิกจ่ายไปแล้วนี้ได้นำไปใช้ 1.กลุ่มขยายกิจการ คิดเป็น 42% ของเงินที่เบิกจ่ายทั่วประเทศ คือนำไปใช้ในการลงทุนขยายกิจกรรมการผลิตที่มีอยู่เดิม 2.กลุ่มลงทุนใหม่ 25% ของเงินกองทุนที่เบิกจ่ายไปถูกนำไปใช้ในการสร้างงานหรืออาชีพใหม่ รวม 2 กลุ่มนี้คิดเป็น 67% ของทั้งหมด ซึ่งทำให้จีดีพีขยายตัว 0.8% ของจีดีพี และ 3.นำไปใช้ทดแทนแหล่งเงินกู้อื่น 33%

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่าเงินกู้เพื่อการลงทุนเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม 61.2%, นำไปเป็นทุนเพื่อการค้าขาย 19% อีก 13% ถูกนำไปลงทุนในบริการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร รับตัดเสื้อผ้า และอื่นๆ

นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนะว่าหากจะให้การดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามปรัชญาและหลักการสำคัญของนโยบายในระยะยาวควรต้องมีการศึกษาความเหมาะสมอย่างแท้จริงในการจัดสรรเงินทุนให้หมู่บ้านในระดับที่เหมาะสม และความพร้อมในการบริหารกองทุนหมู่บ้าน โดยเฉพาะประเด็นเพื่อให้กองทุนหมู่บ้านดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดำเนินนโยบายนี้ไม่ได้สำเร็จเพียงแค่ได้มีการปล่อยเงินเข้าสู่ชนบทได้ครบตามเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นผลทางสังคมอื่นๆ ซึ่งเป็นผลในระยะยาว แต่เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านประสบผลสำเร็จในวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ ควรมีการประชาสัมพันธ์ ดูแลอย่างต่อเนื่องและมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ

86 เปอร์เซ็นต์ชำระหนี้คืน

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งคือ ผลการประเมินสถานการณ์กองทุนหมู่บ้าน ครั้งที่ 1 (เมษายน 2545) ซึ่งจัดทำโดย "ขนิษฐา กาญจนรังษีนนท์" และ "ชูสม รัตนนิตย์" กลุ่มงานวิจัยและพัฒนากรมการพัฒนาชุมชน

ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ ผู้กู้เงินกองทุนหมู่บ้านจำนวน 570 คน ในพื้นที่ 12 อำเภอทั่วประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างพื้นที่อย่างง่าย แบ่งเป็นหญิง 292 คน (51.2%) ชาย 278 คน (48.8%) อายุเฉลี่ย 44 ปี ต่ำสุด 20 ปี สูงสุด 82 ปี จำแนกเป็น ภาคกลาง 240 คน (42.1%), ภาคอีสาน 150 คน (26.3%) ภาคเหนือ 90 คน (15.8%) และภาคใต้ 90 คน (15.8%)

ผลการประเมินสถานการณ์กองทุนหมู่บ้าน พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

เงินกู้ส่วนใหญ่นำไปลงทุนกิจการการเกษตร (41.2%), เลี้ยงสัตว์ (22.8%) และค้าขาย (22.1%) นอกนั้น กู้ไปทำอุตสาหกรรมครัวเรือน (4.6%) ช่าง (4.0%) และบางรายกู้ไปลงทุนกิจการมากกว่า 1 อย่าง (5.3%)

จำนวนเงินกู้ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่าง 10,000-20,000 บาท (89.6%), สูงกว่า 20,000 บาท 5.8%, ต่ำกว่า 10,000 บาท 4.6% และระยะเวลากู้ส่วนใหญ่ 12 เดือน

วัตถุประสงค์ส่วนใหญ่กู้เพื่อการลงทุนเพิ่มในอาชีพหลัก 65.4%, เพื่ออาชีพรอง 28.6% และเพื่อกิจการใหม่ (5.3%)

พฤติกรรมการชำระหนี้ที่ผ่านมา ในรายที่ครบกำหนดผ่อนชำระแล้ว พบว่า 103 ราย (86.6%) ได้คืนตามกำหนดเวลาทุกครั้ง, 15 ราย (12.6%) คืนได้ตามกำหนดเวลาเป็นบางครั้ง, 1 ราย (0.8%) ไม่สามารถคืนตามกำหนดเวลาเลย

ผลการประกอบอาชีพที่ลงทุนด้วยเงินกู้ 53.5% บอกว่าได้ผลดี, 42.3% ได้ผลค่อนข้างดี, 3.3% ไม่ค่อยได้ผล, 0.9% ไม่ได้ผลเลย

ทีมวิจัยเสนอแนะว่า การนำเงินไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เท่ากับการช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการขาดทักษะฝีมือ และความรู้ในการประกอบอาชีพนั้น และเปลี่ยนวิธีการป้องกันหนี้เสียให้หันมาสนใจกับการช่วยประคองกิจการของผู้กู้หรือการรส่งเสริมการตลาด พัฒนาการประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และจัดการกิจการของผู้กู้ แทนที่จะมุ่งให้ความสนใจเพียงการได้รับเงินชำระคืนมาครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น
น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป กล่าวว่า ทุกวันนี้ ทิศทางของกองทุนหมู่บ้านมีความชัดเจนมากขึ้น ในปีที่สอง กองทุนหมู่บ้านจะก้าวไปสู่การเพิ่มทุนทางสังคมให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ โดยใช้ทุนทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือเพิ่มทุนทางสังคม

"ถ้าเงินหมด แล้วทุนทางสังคมเพิ่มก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าเงินยังไม่หมดแล้วทุนทางสังคมเพิ่มยิ่งดีใหญ่" ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวในที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอผลการสำรวจกองทุนหมู่บ้านอีกหลายชิ้นจากหลายสำนักว่า การประเมินผลสำรวจจะออกมาดีเช่นเดียวกันนี้หรือไม่ ?

ศัลยา ประชาชาติ
มติชนสุดสัปดาห์ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๕

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net