Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายครั้งหลายคราที่ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และอีกหลายครั้งเช่นกันที่ผู้บริโภครู้ว่าตนเองนั้นถูกเอาเปรียบ แต่ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิอันพึงมีได้ ดังเช่นเหตุการณ์ที่เจ้าของรถยนต์ในหลายยี่ห้อออกมาทุบรถโชว์สื่อมวลชน โชว์สังคมเมื่อต้นปี 2548 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เหตุการณ์แบบนี้ได้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสังคมไทยมานานหลายปี เกิดจนเป็นกระแสสังคมแล้วก็เงียบหายไป

กรณีชุมชนชาวการเคหะฯ ร่มเกล้า-ลาดกระบังก็เช่น ชาวบ้านได้เผชิญปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศหรือที่เรียกว่าการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มากว่า 20 ปีแล้ว และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ เพิ่งถูกหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังหลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้าไปดูแลช่วยเหลือ

นายทองแดง ทิพย์สาร ประธานชุมชนร่มเกล้าวัยเกือบ 40 กล่าวถึงปัญหาในชุมชนที่มีมานานให้ฟังว่า เนื่องจากการเคหะฯ ร่มเกล้านี้ เริ่มก่อตั้งในปี 2527 และเป็นโครงการที่พักอาศัยขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 1,175 ไร่เศษ ปัจจุบันมีชาวบ้านที่อยู่อาศัยเกือบ 1 แสนคน เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนจึงมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางกายภาพ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่ชาวบ้านประสบอยู่ทุกวี่วัน และปัญหาทั้งหมดนี้ได้เชื่อมโยงถึงกันและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน

"ความจริงแล้วคนที่มาอยู่ที่เคหะฯ ร่มเกล้านี้เป็นคนที่มีรายได้น้อยไม่ได้ร่ำรวยอะไร การชำระหนี้ต่าง ๆ จึงไม่เป็นไปตามกำหนด โดยเฉพาะค่าเช่าซื้อเคหะฯ ที่ไม่ค่อยเป็นไปตามสัญญา คือครบสัญญาแล้วไม่สามารถชำระเงินได้ ซึ่งสาเหตุก็มาจากปัญหาในหลายๆ ด้าน เช่นปัญหาเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดแล้วทางการเคหะฯ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับชาวบ้าน ซึ่งแม้ว่าทางสถาบันพัฒนาองค์กรเอกชนและทางเคหะจะเข้ามาช่วยเหลือแล้วก็ตาม แต่ก็ทำได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น" ประธานชุมชนร่มเกล้าให้คำชี้แจง

เพราะต้นเหตุแห่งปัญหาคือที่ดินทำกิน

ลุงทองแดงเล่าต่อว่า ในช่วงแรกก่อนที่จะชาวบ้านจะย้ายเข้ามาอยู่นั้น ทางเคหะได้ระบุไว้สัญญาเช่าซื้อว่าจะจัดให้มีสถานที่ประกอบการค้าขายถาวรขึ้น เพื่อให้เป็นตลาดกลางของชุมชน แต่แล้วในปี 2546 ทางการเคหะฯ กลับบอกว่าได้ขายที่ดินให้กับบริษัท นครร่มเกล้า จำกัด ไปแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายออกจากตลาด จนกลายเป็นคดีความฟ้องร้องกันในศาลเพื่อทวงถามถึงความยุติธรรม

"สุดท้ายชาวบ้านต้องไปเช่าที่ของบริษัทเอกชนในการทำมาหากิน และผลที่ตามมาก็คือทำให้ต้นทุนในการค้าขายแพง ส่วนคนที่รับกรรมก็ไม่พ้นชาวบ้านอีกนั่นแหละ ซึ่งในขณะนี้ชาวบ้านเขาสังเกตเห็นแล้วว่าการบริการงานของการเคหะฯ เป็นการจัดสรรแบบเล็งเห็นธุรกิจมากเกินไป ที่ให้นายทุน นักธุรกิจเข้ามาบริหารงานในตลาด " ประธานชุมชนฯ วัยเกือบ 40 กล่าว

พร้อมกับกล่าวข้อเสนอที่ชาวชุมชนร่มเกล้าต้องการด้วยว่า ชาวบ้านอยากได้ตลาดชุมชน และการเคหะฯ ควรมอบพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านในเครือข่ายการเคหะฯ ได้จัดสรรดูแลกันเอง มีการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อป มีการสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังขาดพลังร่วมของชุมชนที่จะผลักดันให้สัมฤทธิ์ผล

ด้านนายณัฐวิตร สุทธิโรจน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้เดือดร้อนให้ข้อสังเกตในเรื่องของปัญหาผู้ที่อาศัยอยู่ในโครงการการเคหะฯ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในโครงการการเคหะฯ แห่งชาตินั้น ส่วนมากแล้วจะเกิดจากการบริหารงานของการเคหะฯ ที่ผิดพลาด และไม่ใช่ว่าประชาชนเป็นผู้ก่อปัญหาเพียงเดียว ถ้าทางฝ่ายการเคหะ ฯ บริหารดีแล้ว ประชาชนก็จะไม่มีความเดือนร้อน

เหตุการณ์เข้าขั้นวิกฤติ-ชาวบ้านนุ่งผ้าถุงกระโจมอกอาบน้ำประปาโชว์

ปัญหาของชุมชนชาวการเคหะฯ ร่มเกล้ายังไม่ยุติเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. (15 มิ.ย. 48) มีชาวบ้านชุมชนเคหะร่มเกล้ากลุ่มหนึ่งประกอบด้วย หญิงชายหนุ่มแก่และลูกเด็กเล็กแดงประมาณ 15-20 คน ได้นุ่งผ้าถุงผ้าขาวม้าอาบน้ำ "ประปา" หน้าตลาดสดถาวรร่มเกล้าโชว์บรรดาสื่อมวลชนที่ไปร่วมงานแถลงสรุปภาพปัญหาโดยรวมของการเคหะฯ ชุมชนร่มเกล้า-ลาดกระบัง และปัญหาเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากการเคหะฯ แห่งชาติ

"อยู่มาเกือบ 20 ปีแล้ว ได้ใช้แต่น้ำบาดาล เมื่อไหร่จะเอาน้ำประปามาให้พวกเราสักที แถมน้ำบาดาลที่ใช้อยู่ก็มีกลิ่นเหม็น แถมอาบแล้วคันด้วย เอาน้ำประปามาให้พวกเราได้แล้ว" เสียงของชาวบ้านชุมชนเคหะฯ ร่มเกล้า ที่ตะโกนโห่ร้องอย่างพร้อมเพรียง เพื่อเรียกสิทธิของตนคืนมา

นางฉลาด เมืองเฉลิม ประธานชุมชนโซน 7 ในชุมชนร่มเกล้า ได้ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่ของโซน 7 จะประสบปัญหาในเรื่องน้ำหนักกว่าในโซนอื่น เพราะอยู่ใกล้กับบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งนอกจากจะต้องผจญกับปัญหาน้ำบาดาลที่จัดสรรโดยการเคหะฯ ที่ไม่ค่อยไหลแล้ว ชาวบ้านยังต้องเจอกับสภาพน้ำบาดาลที่เหม็นเน่า เพราะท่อส่งน้ำนั้นชำรุดและน้ำจากท่อน้ำเสียได้ซึมแทรกผ่านมาผสม

"ท่อบาดาลนั้นมีมาตั้งแต่เริ่มต้นการจัดตั้งโครงการการเคหะฯ ก็นับเวลาได้ 20 ปีมาแล้ว มันก็น่าจะชำรุดทรุดโทรมบวกกับท่อที่ไม่ได้มาตรฐานก็เลยเกิดรอยปริแตกตามท่อ เมื่อเวลาเราใช้ปั๊มน้ำดูดน้ำขึ้นมาใช้ น้ำจากท่อบำบัดน้ำเสียก็จะปนเข้ามาด้วย เพราะว่าท่อทั้ง 2 นั้นจะเดินสายวางคู่กันตามแปลงบ้าน" นางฉลาดกล่าว

ปัญหาในเรื่องของน้ำบาดาลปนน้ำเสียนั้นไม่ได้รับการบอกเล่าแค่เพียงลมปากเท่านั้น แต่ประธานชุมชนโซน 7 ยังเดินนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูปัญหาแบบเห็นของจริงอีกด้วย

จากลักษณะขอบ่อบำบัดที่ปรากฏแก่สายตาสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของสภาผู้บริโภคนั้น เป็นบ่อบำบัดที่เป็นลักษณะเปิด กว้างประมาณ 1 ไร่ และขอบบ่อสูงเพียง 60 ซม. ซึ่งก็มีปริมาณน้ำปริ่มและทะลักออกมาอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งบริเวณที่ตั้งบ่อบำบัดยังสูงกว่าพื้นที่ในเขตบ้านของชาวบ้าน ดังนั้นเวลาฝนตกติดต่อกันแบบข้ามวันข้ามคืน ป้าฉลาดบอกว่าน้ำฝนจะชะล้างเอาน้ำเสียออกมาท่วมขังตามถนน ท่วมถึงขนาดที่ว่าเด็ก ๆ จะออกมาว่ายน้ำเล่นกัน

"ขนาดเจ้าหน้าที่บำบัดบ่อน้ำเสียยังมาบอกว่าตอนนี้ยังไม่สามารถสร้างสนามตรงนี้ได้ เพราะมันมีมลพิษอยู่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แล้วเด็กที่เล่นน้ำสกปรกนี้ตอนน้ำท่วม หรือน้ำที่ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านล่ะใครจะรับผิดชอบ ไม่เคยมีคนเข้ามาดูแลชาวบ้านก็ต้องประสบปัญหากับมลพิษสิ่งแวดล้อมอย่างนี้มาตลอด" ป้าฉลาดกล่าว

ลุงทองแดง ประธานชุมชนร่มเกล้าเล่าเสริมว่า ปัญหาน้ำในการอุปโภค-บริโภคของชาวบ้านในขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน เพราะการจัดเก็บค่าบริการน้ำของการเคหะฯ ยังไม่มีระบบที่ดีพอ บางบ้านติดค้างค่าน้ำบาดาลถึง 20,000 บาท บางบ้านก็ 3,000-5,000 หรือไม่ก็บางบ้าน บางห้องไม่ได้อยู่ในเดือนนั้น ๆ แต่กลับมีค่าน้ำเพิ่มขึ้นมา

"ผมไม่อยากบอกว่าชาวบ้านไปโกงเขา แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือรากฐานในการจัดเก็บค่าน้ำของการเคหะฯ ไม่ดีพอ" ประธานชุมชนร่มเกล้ากล่าว

ด้านน.ส.แววดาว เขียวเกษม ที่ปรึกษางานการเคหะฯ พูดอธิบายให้บรรดาสื่อมวลชนฟังว่า ทำไมที่การเคหะฯ แห่งนี้ถึงไม่มีน้ำประปาตั้งแต่แรก อีกทั้งเมื่อจะนำมาติดตั้งทำไมชาวบ้านจะต้องเสียเงินค่าวางท่อเพิ่มอีก 5,000 บาท ด้วย

"ที่จริงแล้วนโยบายของการประปาแห่งชาติที่เป็นรัฐวิสาหกิจนั้น จะลงทุนทำอะไรก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นสามารถทำกำไรได้ ซึ่งเป็นนโยบายของเขาอยู่แล้ว และการเข้าไปทำผ่านการเคหะฯ นั้นก็อาจจะมีการทุจริตงุบงิบของการเคหะฯ ได้ ที่ต้องเสียค่าวางท่อเพิ่มก็เพราะว่าท่อเท่าของทางเคหะฯ ไม่มาตรฐานเพียงพอที่จะรองรับหรือเชื่อมต่อกับการส่งน้ำของการประปาได้

และค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ชาวบ้านก็ต้องเป็นผู้ออก ถึงแม้ว่าทางเคหะฯ จะให้สัญญาว่าในปี 49 นี้ จะมีน้ำประปาเข้ามาแน่นอน แต่โดยส่วนตัวแล้วพี่คิดว่าเป็นการซื้อเวลาเท่านั้น"

จวบจนทุกวันนี้ปัญหาต่าง ๆ ของชาวร่มเกล้า ยังไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นเพียงพอกับความต้องการพื้นฐานของประชาชนในชุมชน และไม่สามารถรู้ได้ว่าการเข้ามาช่วยเหลือของเครือข่ายสภาผู้บริโภคก็ดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ดี จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้อย่างหนึ่งที่ชาวบ้านชาวเคหะฯ ร่มเกล้า-ลาดกระบัง สามารถเชื่อได้ว่าการเรียกร้องสิทธิของตนกลับคืนมาจะสัมฤทธิ์ผลได้ ก็ด้วยแรงน้ำใจและการผนึกกำลังรวมตัวเพื่อต่อของชาวบ้านด้วยกันนั่นเอง

สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net