Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ - 16 พ.ค. 48 "รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก แต่ขณะ เดียวกันก็แย่ที่สุดในโลกในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ" ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานอภิปราย "แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการถ่วงดุลและป้องกันเผด็จการเสียงข้างมาก"

สำหรับข้อบกพร่องสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้ ดร.ปริญญา ระบุว่าคือ การส่งเสริมพรรคใหญ่ ทำลายพรรคเล็ก เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาล ขณะเดียวกันกลับให้รัฐบาลรับผิดชอบน้อยลง เพราะกำหนดให้ฝ่ายค้านสามารถอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 5 จากเดิมที่ใช้เพียง 1 ใน 5

นอกจากนี้การกำหนดให้ส.ส.สังกัดพรรค ซึ่งก็คือการจับส.ส.เข้าคอก เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ทำให้ส.ส.ที่เป็นผู้แทนปวงชนต้องตกอยู่ในอาณัติของพรรคการเมือง และตอนนี้มีเพียงประเทศไทยกับบังคลาเทศเท่านั้นที่ยังใช้ระบบนี้

ดร.ปริญญาเสนอว่า สิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ การทำให้ฝ่ายค้านสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยกำหนดแบบเดิมคือใช้เสียง 1 ใน 5 รวมทั้งตัดตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมในคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงอย่างที่เป็นอยู่ ส่วนเรื่องที่ต้องแก้ไขในระยะยาว ได้แก่ การทำให้เกิดหลักประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง การคุ้มครองส.ส.เสียงข้างน้อยในพรรค ให้สามารถย้ายพรรคได้ และการยกเลิกการบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงสิ่งที่ควรแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญว่า ควรมีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีแต่ละคนไม่เกิน 2 สมัย หรือ 8 ปี และแก้กฎหมายเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน โดยมีผู้ลงมติขอเปิดอภิปรายในสัดส่วน 1 : 5 ของรัฐสภา

ด้านนายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุถึงข้อบกพร่องสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ ซึ่งร่างขึ้นโดยไม่คำนึงถึงสังคมวิทยาการเมืองในขณะนั้นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติสิทธิของประชาชนไว้มากมาย แต่ละเลยกระบวนการเข้าถึงสิทธิ สิทธิที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้จึงเป็นเพียงวาทกรรม แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง นอกจากนี้ในกระบวนการนิติบัญญัติที่เป็นอยู่ ก็ตัดขาดกับประชาชนโดยสิ้นเชิง

นายเจริญกล่าวต่อไปว่า ดังนั้นจึงมีสิ่งที่ต้องทำมีอยู่ 3 เรื่องคือ การทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างแท้จริง การมีเวทีแลกเปลี่ยน ซักถามและนำเสนอของประชาชน รวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงสิทธิของประชาชนเข้ากับองค์กรตรวจสอบทุกองค์กร

จันทร์สวย จันเป็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net