Skip to main content
sharethis

ราคาน้ำมันและภัยแล้ง ที่โหมกระหน่ำประเทศไทยอย่างหนักในปีนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศแบบยากจะเลี่ยงพ้น รวมถึงเศรษฐกิจไตรมาสแรกของภาคเหนือ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้แถลงเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนมีนาคม 2548 และไตรมาสแรก ปี2548 โดยเดือนมีนาคม เศรษฐกิจการเงินโดยรวมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภัยธรรมชาติและความต้องการของตลาดต่างประเทศที่อ่อนตัวลง

ขณะที่ภาพรวมของไตรมาสแรกปี 2548 เศรษฐกิจการเงินภาคเหนือก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง สถานการณ์น้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง และความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางชนิดในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ผลผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมลดลง

1. ภาคเกษตร ในไตรมาสแรก ผลผลิตพืชสำคัญลดลงร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก ผลผลิตเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง โดยเฉพาะพืชสำคัญได้แก่ อ้อยโรงงาน ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ตามผลจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพืชสำคัญเฉลี่ยสูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.1 ทั้งราคาอ้อยโรงงาน ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง 14-15% และมันสำปะหลังสดคละ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4. 8

2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาคเหนือลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยผลผลิตน้ำตาลลดลงร้อยละ 24.6 เหลือ 1, 137.5 พันเมตริกตัน เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงจากภาวะภัยแล้ง การผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านด่านศุลกากรนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลดลงร้อยละ 1.5 เหลือ 385.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการลดลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่วนการผลิตวัสดุก่อสร้างเร่งตัวตอบสนองความต้องการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของครัวเรือนในอำเภอรอบนอกเพื่ออยู่อาศัยเอง ประกอบกับการเร่งรัดดำเนินการโครงการภาครัฐ และเอกชนที่มีความกังวลว่าต้นทุนการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

3. ภาคบริการ ภาวะท่องเที่ยวของภาคเหนือในไตรมาสนี้ ชะลอตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศบางกลุ่มยกเลิกการเดินทางจากเหตุธรณีพิบัติภัยเมื่อปลายปีก่อน และสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยบางส่วนหันมาเที่ยวภาคเหนือแทน ประกอบกับภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมและมี แพ็คเก็จต่างๆเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน กิจกรรมภาคบริการที่สำคัญ เช่น ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โรงแรมและภัตตาคารลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.5 อัตราการเข้าพักของโรงแรมเฉลี่ยร้อยละ 62.1 ลดลงจากร้อยละ 63.9 ระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับราคาห้องพักเฉลี่ยปรับสูงขึ้นร้อยละ 11.6 เป็น 1,042.0 บาทต่อห้อง เนื่องจากการปรับปรุงห้องพักในช่วงก่อนหน้า และจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 จากปีก่อน ตามการแข่งด้านราคาของสายการบินต้นทุนต่ำทำให้ความนิยมเดินทางทางอากาศมากขึ้น

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่ในอัตราที่ชะลอตัว โดยยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทการขายส่งและขายปลีกเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.5 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 10.5 ไตรมาสก่อน และร้อยละ 37.5 ของไตรมาสเดียวกันปีก่อน ทางด้านปริมาณจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ โดยปริมาณจดทะเบียนรถยนต์ ทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่างขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกัน ขณะที่ปริมาณจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ขยายตัวในภาคเหนือตอนล่างสูงกว่าภาคเหนือตอนบน

5. การลงทุนภาคเอกชน เป็นการลงทุนเพื่อการก่อสร้าง ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากพื้นที่ก่อสร้างในเขตเทศบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ตามการขยายตัวของอาคารพาณิชย์ และการก่อสร้างภาคบริการ ค่าธรรมเนียมขายและขายฝากที่ดิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ด้านการลงทุนเพื่อการผลิต อยู่ในเกณฑ์ชะลอตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่ผ่านด่านนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลดลงร้อยละ 23.8 อย่างไรก็ตามความสนใจลงทุนขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก BOI เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโรงงาน และมูลค่าเงินลงทุน โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 7.1 และร้อยละ 37.9 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า เกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร บริการและสาธารณูปโภค

6 . การค้าต่างประเทศ วัดจากมูลค่าการส่งออก ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เป็น 578.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.3 ของไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการส่งออกสินค้าผ่านด่านชายแดนร้อยละ 69.2 เป็น 160.9 ล้านดอลลาร์ สรอ.โดยเฉพาะส่งออกไปลาวและจีนตอนใต้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และส่งออกไปพม่าเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 54.7 การส่งออกผ่านด่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เป็น 32.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากสินค้าประเภทอัญมณีเป็นสำคัญ ในขณะที่การส่งออกผ่านด่านนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลดลงจากระยะเดียวกับปีก่อนร้อยละ 1.5 เป็น 385.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. สินค้าที่ลดลงมากได้แก่ เครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา ทรานสฟอร์เมอร์และมอเตอร์ เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลง

มูลค่าการนำเข้า ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.1 เหลือ 339.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าสินค้าของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลดลงร้อยละ 2.1 เหลือ 315.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยลดลงจากสินค้าประเภทเครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์โลหะขั้นมูลฐาน ขณะที่การนำเข้าผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 เป็น 5.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และอัญมณี เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 เป็น 19.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นทั้งการนำเข้าสินค้าจากพม่า ลาวและจีนตอนใต้ ดุลการค้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือช่วงไตรมาสแรกปี 2548 เกินดุล 239.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกินดุล 174.7 ล้านดอลลาร์ สรอ.

7. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.9 เร่งตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยราคาหมวดอื่นที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เร่งตัวจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ของไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 5.5 ของไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามราคาเนื้อสัตว์ ไข่ และราคาผักผลไม้ จากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากภาวะแห้งแล้ง สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เร่งตัวจากร้อยละ 0.5 ของไตรมาสก่อน

8. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ภาคเหนือ มีกำลัง แรงงานรวม 6.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 6.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 97.3 ของกำลังแรงงานรวม สูงกว่าร้อยละ 96.2 เดือนเดียวกันปีก่อน โดยแรงงานในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 3.9 เนื่องจากการพื้นที่ทำการเกษตรประสบปัญหาภัยแล้งทำให้แรงงานโยกย้ายเข้าสู่นอกภาคเกษตร ส่งผลให้แรงงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ตามการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคการก่อสร้าง การขายส่ง-ขายปลีก และการผลิตอุตสาหกรรม ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.0 และอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ในปีก่อน

ภาวะตลาดแรงงาน จากข้อมูลของกรมการจัดหางานเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ตำแหน่งงานว่าง 24,311 อัตรา สูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 104.0 ตามความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นในจังหวัด พิษณุโลก เชียงใหม่ และนครสวรรค์ โดยสาขาอุตสาหกรรมการผลิตต้องการแรงงานมากที่สุด มีผู้สมัครงาน ทั้งสิ้น 6,942 คน ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 49.2 ได้บรรจุเข้าทำงาน จำนวน 2,552 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ และเชียงราย อัตราการบรรจุงานเป็นร้อยละ 36.8 ของผู้สมัครงาน สูงกว่าร้อยละ 21.3 ปีก่อน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี และมีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรี

9. การเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ มียอดคงค้างเงินฝาก 302,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.5 เงินฝากมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก และเชียงใหม่ ส่วนเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 222,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.4 เร่งตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากสินเชื่อของสถาบันการเงินอื่นที่นำมาควบรวมกับธนาคาร พาณิชย์ เป็นสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ ลำพูน พิจิตร และอุตรดิตถ์ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับร้อยละ 73.5 สูงกว่า ร้อยละ 70.9 ระยะเดียวกันปีก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net