Skip to main content
sharethis

ภาพจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
-----------------------------------------

ประชาไท - 17 เม.ย.48 น.พ.ณรงค์ เมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เสนอให้ทบทวนวัฒนธรรมการเล่นสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดอุบัติเหตุ

โดยน.พ.ณรงค์ได้เปรียบเทียบสถิติผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ (8-12 เม.ย.)กับในช่วงเทศกาล (13-15 เม.ย.) โดยช่วงก่อนเทศกาลฯ พบว่าลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 14 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเตรียมการป้องกันตั้งแต่ก่อนเริ่มเทศกาลของทุกหน่วยงานทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บสาหัสลดลงและเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ขณะที่เมื่อเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ (13 เม.ย.เป็นต้นไป) พบว่าสถิติผู้บาดเจ็บสาหัสลดลงจากปี 2547 เพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนวัฒนธรรมการเล่นสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากวิธีการสาดน้ำที่ปฏิบัติกันอยู่ มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บสาหัส

ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนต่างประเทศได้รายงานข่าวเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทยว่า "เพื้ยน เมา เละ ลวนลาม ฉีดน้ำกรด" ซึ่งแตกต่างจากประเทศใกล้เคียงที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมอันดีงามไว้ได้

9 วันตายกว่า 500

ด้านนายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการ
ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสงกรานต์ปี 2548 แถลงข่าวสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนว่ามีผู้เสียชีวิตสะสม 9 วัน (8-16 มิ.ย.48) จำนวน 481 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 124 คน และต่ำกว่าค่าคาดคะเนผู้เสียชีวิตปีนี้จำนวน 108 คน โดยจังหวัดที่มีผู้เสียสูงสุดคือ นครราชสีมาจำนวน 20 คน

รองลงมาได้แก่ นครศรีธรรมราช 19 คน นครสวรรค์ เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ จังหวัดละ 17 คน อุดรธานี ชลบุรี จังหวัดละ 13 คน ขอนแก่น 10 คน เชียงราย และสงขลา จังหวัดละ 8 คน หนองคายและระยอง จังหวัดละ 7 คน พังงา 5 คน ภูเก็ต 2 คน และจังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตเลยคือ นราธิวาส

ส่วนยอดผู้บาดเจ็บสะสม 9 วัน รวม 14,339 คน โดยประเภทยานพาหนะ ที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุดยังคงเป็นจักรยานยนต์ รถปิกอัพ รถเก๋ง/รถแท็กซี่ ตามลำดับ และพฤติกรรมเสียง คือ การไม่สวมหมวกนิรภัย เมาสุรา ขับรถเร็วเกินกำหนด จักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และหลับใน

ทั้งนี้ ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสงกรานต์ปี 2547 (9-17 เม.ย.47) มีจำนวนรวม 654 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันนับว่าอุบัติเหตุปี 2548 ลดลงกว่าร้อยละ 20 ส่วนยานพาหนะที่ครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตสูงสุดยังคงเป็นจักรยานยนต์ โดยในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 66.49 ขณะที่ปี 2548 คิดเป็นร้อยละ 85.41

อย่างไรก็ตาม จากรายงานเรื่อง อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เพชฌฆาตหมายเลข 1 บนท้องถนน จัดทำโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระบุว่า หากผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยมากกว่าร้อยละ 90 จะลดการตายได้ถึงร้อยละ 20-30 พร้อมกับยกผลการวิจัยในประเทศพัฒนาแล้วที่พบว่าผู้ใช้จักรยานยนต์มีโอกาสบาดเจ็บมากกว่ารถยนต์ 18 เท่า และการสวมหมวกนิรภัยลด
การตายจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ได้ร้อยละ 29

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net