Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-8 เม.ย.48 นักวิชาการ มช. เสนอให้ ส.ว. ที่ยังค้าน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ลงจากหอคอยงาช้างดูพื้นที่จริง

ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มช. กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสมาชิกบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนซึ่งประชาชนทั่วประเทศเป็นผู้ร่างกันขึ้นมาว่า ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจร่วมกัน อย่างกรณีที่ส.ว.ที่ยังไม่เข้าใจ ไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนนั้น ทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ คือ ส.ว.จะต้องลงจากหอคอยงาช้าง เพื่อลงพื้นที่ ไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริงว่า สิ่งที่ชาวบ้านทำกันอยู่นั้นเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นข้อกังวลที่ห่างจากความจริง

"หากลงไปเห็นความจริง คงจะปรับทัศนคติและเข้าใจ เพราะโดยส่วนใหญ่นักกฎหมาย และคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักจะรับรู้เรื่องการจัดการป่าไม้ และกฎหมายที่เสนอโดยชาวบ้านฉบับนี้ เป็นสิ่งที่นักกฎหมายไม่คุ้นเคย เพราะเวลาเรียน จะเรียนผ่านตัวหนังสือ จึงไม่ค่อยเข้าใจชาวบ้าน" นายสมชาย กล่าว

เมื่อถามถึงประเด็นที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง รัฐ ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ เข้าร่วมโครงการนำร่อง และนำร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไปทดลองใช้ในพื้นที่ชุมชนจริง โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชน

นายสมชาย กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องทำ เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านก็ทำอยู่แล้ว แต่คิดว่าจำเป็นต้องมีการผลักดันให้เป็นกฎหมายป่าชุมชน ก็เนื่องจากเราไม่แน่ใจว่า ถ้าเกิดกระแสการเรียกร้องมันลดลงเมื่อใด เจ้าหน้าที่รัฐจะมาไล่จับชาวบ้านอีกเมื่อไร

แต่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงใดๆ เลย และถือว่าตัวกฎหมายเหล่านี้ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกด้วย

"ที่สำคัญคือ การจัดการทรัพยากรที่ผ่านมามีความล้มเหลว ไม่สามารถจัดการดูแลรักษาพื้นที่ป่าและไม่สามารถทำให้ผู้คนมีวิถีชีวิตดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ อีกทั้งตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวกับป่าไม้ ที่เขียนขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญก็ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันและถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย เพราะฉะนั้น การปรับแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น" นายสมชายกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net