Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 2 มี.ค.48 "ผมเชื่อว่าถ้ามีการให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ถ้านายกสั่งมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เรื่องนี้จะจริงจังขึ้น"

นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสัญชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามขาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวกับประชาไทถึงความคาดหวังต่อยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ซึ่งขณะนี้กำลังรอถอดชั้นความลับจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวลงรายละเอียดว่า หากนายรัฐมนตรีลงมาผลักดันยุทธศาสตร์สัญชาติอย่างจริงจังจะทำให้ปัญหาที่ที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการว่าเมื่อรับคำร้องเรื่องสัญชาติแล้วต้องดำเนินการภายใน 30 วันตามกฎหมาย ต้องมีงบประมาณเข้าไปเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีการติดตาม มีการเกื้อหนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ และมีหน่วยงานกลางที่คอยช่วยเหลือ

"เราต้องยอมรับว่าการทำงานเรื่องของคนไร้รัฐที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการปฏิบัติที่มามีคนตกหล่นอยู่ค่อนข้างมาก เมื่อมีแผนออกมาแผนนี้น่าจะแก้ไขเรื่อง ทัศนะ เรื่องความเชื่อ เรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ทำงานให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ดองเรื่อง"

นายสุรพงษ์ กล่าวพร้อมแสดงความคาดหวังด้วยว่า นอกจากปรับเปลี่ยนเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานด้านสัญชาติแล้ว ยุทธศาสตร์สัญชาติที่กำลังจะออกมา ควรจะมีการแก้กฎระเบียบ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคอยู่ ไม่เอื้อต่อการให้คนได้มีหลักฐานที่แสดงฐานะที่ถูกต้อง เช่นการไม่รับแจ้งเกิด การให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

"กฎหมายเหล่านี้ต้องแก้ และต้องแก้โดยทำเวทีสาธารณะ ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องมีสถานะเป็นคนไทย แต่ต้องมีสถานะที่ถูกต้องตามความเป็นจริง"

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ผู้ทำงานด้านสัญชาติพบว่า มีชาวเขาจำนวนมากที่ยืนยันว่าตนเป็นคนไทย แต่ตกหล่นจากการสำรวจของฝ่ายรัฐ บางกรณีเป็นชาวเขาที่ถือบัตรสี ซึ่งคนเหล่านี้ต้องได้รับการพิสูจน์และช่วยเหลืออย่างจริงจังว่าเขาจะหาหลักฐานอะไรมาพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าเขาเป็นไทย กระบวนการจะเร็วขึ้นได้หรือไม่

ประการสุดท้าย นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตนคาดหวังว่ายุทธศาสตร์สัญชาติจะมีกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ในทุกระดับ ตั้งแต่การเสนอปัญหา ร่วมประชุม เสนอข้อแก้ไข เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ ทั้งระดับล่างและระดับสูง ซึ่งที่ผ่านมายังมีอยู่น้อย

"เรื่องนี้ผมคิดว่าคงต้องให้องค์กรที่หลายที่เกี่ยวข้องเขามามีส่วนร่วมพิจารณาในการกำหนดกฎระเบียบและแนวการปฏิบัติ เช่นหลักฐานในแง่ของชุมชน คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะนำมารับฟังในการพิสูจน์สิทธิบุคคล"

ด้านนายวิวัฒน์ ตามี่ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่กำลังรอการเปิดเผยจากสมช. ว่า สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ไร้สัญชาติ และการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

วิธีการแรก คือให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับเขาก่อน เช่น กรณีการให้บัตรทองซึ่งเคยให้กับชาวเขาเป็นจำนวนนับแสนไป แต่ถูกยึดคืนไปโดยทางกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าไม่มีงบประมาณ อีกประการคือการถอนสัญชาติชาวบ้านที่แม่อาย รัฐต้องคืนสิทธิความเป็นชาวไทยภูเขาให้คนเหล่านี้

นอกจากนี้ถ้าจะแก้ไขให้ถึงระดับความคิดและสำนึกจริง ๆ ก็ต้องยกเลิกอคติ ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ เช่นนโยบายปราบปรามการค้ายาเสพติด ซึ่งมักจะโยนให้ชาวเขาเป็นจำเลยของสังคม อีกทั้งควรมีการสร้างการมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าสมช. จะพยายามพูดถึงการมีส่วนร่วมเสมอ แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยปรากฏเป็นจริง

"เช่นเชิญเราไปประชุมแล้วหลวมตัวไปเซ็นชื่อเขาก็เหมาว่าเราไปมีส่วนร่วมแล้ว ต้องสร้างสำนึกในการมีส่วนร่วมของประชาชนเสียใหม่ เขาคิดอยู่เสมอว่าเขามีบุญคุณกับเรา เขาไม่เชื่อในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียม" นายวิวัฒน์ยกตัวอย่าง

ที่สำคัญต้องมีการปรับมุมมองเรื่องความมั่นคงของชาติ ในทางปฏิบัติ ไม่เคยปรากฏว่าเคยมีเรื่องของการกระจายอำนาจอยู่ในแนวคิดของสมช.

"ถ้าปรับ ห้าข้อนี้ได้ ก็จะแก้ปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจยุทธศาสตร์ได้" นายวิวัฒน์กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net