Skip to main content
sharethis

ประชาไท-23 ก.พ.48 "โดยปกติเปลือกโลกของเรามีการเคลื่อนตัวโดยตลอดอยู่แล้ว อย่างแผ่นยูเรเซียนที่ประเทศไทยตั้งอยู่นี้จะดันตัวเฉลี่ยปีละ 2 เซนติเมตร ฉะนั้นถ้าเกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ ความรุนแรงก็จะไม่มากนัก แต่ถ้าอั้นไว้เป็นร้อยๆ ปี หรือพันปี พอเกิดขึ้นทีจะมีความรุนแรงสูงมาก" ผศ.ปกรณ์ สุวานิช อาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายกับ "ประชาไท"

ไม่นานมานี้ หน่วยงานด้านธรณีวิทยาของรัฐบาลอินโดนีเซียรายงานบันทึกการเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อค หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม (ตั้งแต่ 29 ธ.ค.-30 ม.ค.) มากกว่า 410 ครั้งและคาดว่า จะเกิดต่อเนื่องไปอีกหลายสัปดาห์

นอกจากที่อินโดนีเซียแล้ว ยังมีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงอีกหลายๆ ประเทศ ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยระหว่างวันที่ 1 ก.พ.- 20 ก.พ. มีเหตุแผ่นดินไหวรู้สึกได้ใน ไทย จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย พม่า และอินโดนีเซีย เฉลี่ยเกือบถึงวันละ 1 ครั้ง (ดูข้อมูลประกอบ)

ผศ.ปกรณ์ อธิบายว่า ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวจำนวนมากที่เกิดขึ้นตามมา หลังเกิดเหตุแผ่นดิน ไหว 9 ริกเตอร์ใกล้เกาะสุมาตรา จนเป็นเหตุให้เกิดคลื่นยักษ์ซึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการปลดปล่อยพลังหรือการลดความเครียดของหินเปลือกโลก ดังที่นักธรณีวิทยาเคยคาดการณ์เมื่อราว 10-20 ปีก่อนว่าในช่วงเวลานี้จะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมาก เพราะการศึกษาจากการเรียงตัวของเม็ดแร่พบว่า หินมีความเครียดสูง

ส่วนสาเหตุการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกอันส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น โดยมากเกิดจากรอยแตกของแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทร ซึ่งเป็นจุดเปราะบางมาก เพราะมีความหนาเพียง 5 กิโล เมตร ขณะที่พื้นที่บนทวีปมีความหนา 40-45 กิโลเมตร ดังนั้นเมื่อเปลือกโลกใต้มหาสมุทรมีรอยแตก ก็จะมีแมกม่าไหลออก ซึ่งเมื่อแข็งตัวก็จะดันตัวออกทั้ง 2 ข้าง เป็นเช่นนี้ทั่วทั้งโลก

"การมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกจนเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงนั้น กระทบต่อรอยเลื่อนต่างๆ รวมทั้งรอยเลื่อนระหว่างประเทศไทยกับพม่า ซึ่งยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังอย่างแน่นอน แต่ความรู้ตอนนี้ยังพยากรณ์ไม่ได้ว่ากระทบอย่างไรและจะเกิดอะไรขึ้น" ผศ.ปกรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม รอยเลื่อนดังกล่าวมีคาบเวลาเพียงไม่กี่ปี จึงจะเกิดการเคลื่อนตัวครั้งหนึ่ง ทำให้แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงมากอยู่ที่ประมาณ 4-5 ริกเตอร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net