Skip to main content
sharethis

คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลในอนาคตซึ่งจัดตั้งโดยพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว เริ่มดำเนินการผลักดันแผน ปฏิบัติการนโยบายด้านเศรษฐกิจ และจะเสนอเป็นแนวนโยบายของรัฐต่อสภาผู้แทนราษฎรปลายเดือนมีนาคมศกนี้

แก่นกลางแนวคิดของแผนฯ อยู่ที่ กรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปี (2548-2551) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมนอกสถานที่ที่จังหวัดเชียงราย วันที่ 11 มกราคม 2548 "ประชาไท" ประมวลสาระสำคัญ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 4 ปีของรัฐบาลไทยรักไทย 2/1 ตอนนี้เป็นตอนที่ 2

-----------

ยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าภาคอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ

หัวใจของยุทธศาสตร์นี้ อยู่ที่การเร่งพัฒนาทักษะและระบบมาตรฐานแรงงาน รวมถึงสร้างสภาพแวด ล้อมของประเทศให้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในสินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มีฐานการในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้แม้ในอนาคต สศช.เห็นว่า พัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมไทยซึ่งมุ่งที่การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก จะปรับเปลี่ยนจากการใช้แรงงานราคาถูกไปสู่การใช้แรงงานฝีมือและอุตสาหรรมที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้น และในที่สุดเป็นอุตสาหกรรมบนฐานความรู้ แต่ข้อจำกัดที่สำคัญยังอยู่ที่งานวิจัยและพัฒนาที่ยังมีจำนวนน้อย ทั้งการพึ่งพาเทคโนโลยีจากบริษัทแม่ในต่างประเทศสูง และการเพิ่มการศึกษาเฉลี่ยของแรงงานที่จะต้องใช้เวลานาน

ส่วนภาคอุตสาหกรรมในประเทศ จะต้องพัฒนาให้มีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตบนฐานความรู้ โดยมีการส่งเสริมในทุกระดับ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดการและขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจขนาดใหญ่ โดยมีมาตรการต่างๆ อาทิ การพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจของประเทศ(Cluster) รวมถึงพัฒนาความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งระบบส่งเสริมและบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่

พัฒนาระบบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแห่งชาติและทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมเอกชนพัฒนาตราสินค้าและการออกแบบ การศึกษาวิจัยแนวโน้มและรสนิยมของผู้บริโภคในตลาดต่างๆ

การขยายการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสร้างให้ไทยเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีสำหรับอนาคต

การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม(Green product)

ทั้งนี้เมื่อดำเนินการแผนฯ ไปจนครบ 4 ปี(ถึงปี 2551) จะทำให้มูลค่าภาคอุตสาหกรรมโดยรวมซึ่งในปี2547 มีมูลค่า 2.3ล้านล้านบาท คิดเป็น 38.7%ของจีดีพี เพิ่มเป็น 3.3ล้านล้านบาท คิดเป็น 37.8% เมื่อสิ้นปี 2551

มูลค่าภาคอุตสาหกรรมในจีดีพีและสินค้าสำคัญ

มูลค่าอุตสาหกรรมรวม มูลค่า 2,300 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 38.7
อาหารและเครื่องดื่ม มูลค่า 396.5 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 6.2
สิ่งทอ มูลค่า 110.5 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 2.0
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มูลค่า 175.5 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 2.0
ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม มูลค่า 169 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 3.2
เคมี มูลค่า 143 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี สัดส่วนต่อจีดีพี 2.1
ยางและพลาสติก มูลค่า 91 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 1.5
ยานยนต์ มูลค่า 234 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 4.1

------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : มูลค่า ณ ราคาประจำปี และสัดส่วน ณ ราคาปีฐาน
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-------------------------------------------------------------------------------

ยุทธศาสตร์การขยายฐานภาคบริการ

ภาคบริการของประเทศนำรายได้เข้าประเทศเป็นเม็ดเงินที่สูง โดยในปีที่ผ่านมา(2547) มีมูลค่าของภาคโดยรวม 3.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น52% ของจีดีพี โดยภาคค้าส่ง-ค่าปลีกมีมูลค่ารวมสูงสุดที่ 9.81 แสนล้านบาท คิดเป็น 13.1% ของจีดีพี นอกจากนั้นอาทิ ภาคโรงแรมและภัตตาคารมีมูลค่า 3.315 แสนล้านบาท คิดเป็น3.6% ของจีดีพี, ภาคการศึกษา 2.535 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.5% ของจีดี, ภาคบริการการเงิน มีมูลค่า 2.405 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.5% ของจีดีพี(ดูตารางประกอบ)

ทั้งนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันด้านบริการ เนื่องจากคนไทยมีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีพฤติกรรมที่นุ่มนวล เอื้ออารีต่อแขกผู้มาเยือน ทำให้นักท่อง เที่ยวประทับใจอย่างยิ่ง

อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ทางประวัติศาสตร์ มีอาหารที่อร่อยถูกสุขลักษณะ มีองค์ความรู้ทางด้านการรักษาพยาบาลทางด้านแผนโบราณ การนวดแผนโบราณ องค์ประกอบทั้งหลายรวมกันเป็นเอกลักษณ์ที่อาจเรียกว่า Thainess ซึ่งเป็นหัวใจของการบริการและไม่มีชาติที่ที่ลอกเลียนแบบได้ ชาวต่างชาติจะต้องมาหาประสบการณ์นี้ในประเทศไทยเท่านั้น จึงถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

"การที่คนถูกแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ก็ทำให้การบริการที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มีคุณค่ามากขึ้น ในอนาคตแม้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอาจทำให้สินค้าหลายชนิดหมดความจำเป็นลงไป แต่ความต้องการด้านการบริการที่ประทับใจนับวันจะยิ่งมีความหมายและมีราคาสูงขึ้น"

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของประเทศที่จะพัฒนาสาขาบริการให้เข้มแข็งและมีฐานกว้างขึ้น เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศในอนาคตต่อไป โดยส่งเสริมการท่องเที่ยว

Health care, Well-being care, การศึกษา entertainment เป็นต้น ที่จะดึงดูดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคบริการของประเทศ

นอกจากนั้นการปรับตัวสู่การผลิตยุคใหม่และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็จำเป็นจะต้องมีภาคบริการสนับสนุนที่พร้อม เช่น ภาคการเงิน การขนส่งและสื่อสาร การค้าส่งค้าปลีก การบริการอาคารพาณิชย์ การโฆษณา ทนายความ นักบัญชี เป็นต้น

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์นี้ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มประชากรผู้สูงอายุและกลุ่มอายุอื่นๆ โดย
เฉพาะกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่มีเงินออม มีเวลาและความต้องการเดินทางท่องเที่ยว
ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็ให้ความสนใจในสุขภาพ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีความสนใจในวัฒนธรรมตะวันออก

มูลค่าภาคบริการและอื่นๆในจีดีพีและสินค้าสำคัญ

มูลค่ารวม(ภาคบริการและอื่น) มูลค่า 3,600 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 52.0
-โรงแรมและภัตตาคาร มูลค่า 331.5 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 3.6
-ค้าปลีกและค้าส่ง มูลค่า 981 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 13.1
-สื่อสาร มูลค่า 97.5 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 3.5
-บริการการเงิน มูลค่า 240.5 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 3.5
-ธุรกิจก่อสร้าง มูลค่า 208 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 2.6
-ค่าเช่าและอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 188.5 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 4.0
-สุขภาพ มูลค่า 117 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 1.2
-การศึกษา มูลค่า 253.5 พันล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพี 2.5

------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : มูลค่า ณ ราคาประจำปี และสัดส่วน ณ ราคาปีฐาน
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
------------------------------------------------------------------------------

โดยมาตรการที่เสนอเพื่อพัฒนาภาคธุรกิจบริการได้แก่ ส่วนบริการท่องเที่ยว อาทิ ขยายเครือข่ายการบิน Open sky และLow cost airline, การเชื่อมโยงเครือข่ายท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน, การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่และจัดระบบรักษาแหล่งท่องเที่ยวไม่ให้เสื่อมโทรม, จัดระบบรับรองมาตรฐานโรงแรม สปา นวดแผนโบราณ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวระดับสากล

ด้านบริการสุขภาพและการศึกษา อาทิ ดึงดูดแพทย์และครูที่มีฝีมือจากต่างประเทศให้ประกอบอาชีพในประเทศไทย, เจรจาเปิดเสรีการค้าบริการให้ชาวต่างชาติที่รับการรักษาในประเทศสามารถเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการสังคมที่ประเทศตนเองได้

ด้านบริการการเงินอาทิ ส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและการเงินในภูมิภาค, การพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนและเครื่องมือทางการเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างระบบการออมในหลายรูปแบบที่สามารถเป็นแหล่งระดมทุนภายในประเทศได้

ด้านบริการโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การพัฒนาระบบการจัดการขนส่ง( Logistics) และขยายโครงสร้างพื้นฐานใหม่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารความเร็วสูง(Broadband ICT) และการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ทั้งนี้เมื่อสิ้นแผนฯในปี 2551 จะทำให้มูลค่ารวมของภาคบริการซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.6 ล้านล้านบาท ในปี 2547 เพิ่มเป็น 5.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 52.3% ของสัดส่วนจีดีพี ในปี 2551

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net