Skip to main content
sharethis

หากไม่นำชุดข้อมูลการวางแผนขนหีบบัตรเลือกตั้งไม่ได้ถูกตีแผ่ หลายคนคงยังหลงคิดว่าเมืองเชียงใหม่ที่กำลังจะเป็นสารพัดศูนย์กลางอะไรต่อมิอะไรในภูมิภาคนี้ช่างเจริญรุดหน้าสุดๆ

แต่แท้จริงแล้ว หลายพื้นที่ยังคงต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะเข้าถึง เส้นทางการขนหีบบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เชียงใหม่ที่ต้องทั้งย่ำเท้า ลงเรือ ลุยน้ำ ผ่านเทือกเขา ดงดอย บ่งบอกให้รู้ว่า เมืองนี้ยังไม่ก้าวผ่านความกันดารพ้น

--------

กกต.เชียงใหม่ คาดการณ์กันว่าหากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ เขตเลือกตั้งที่น่าจะสามารถเริ่มต้นนับคะแนนได้คือเขต 2 ซึ่งเป็นเขตอำเภอเมืองบางส่วนและอำเภอสารภี โดยจะเริ่มนับได้ไม่เกิน 18.00 น. เพื่อที่จะทราบผลได้ในค่ำคืนวันที่ 6 ก.พ.ทันที ขณะที่เขต 1 เชียงใหม่ที่ใคร ๆ คาดว่า อยู่ในอำเภอเมืองน่าจะนับได้เร็วนั้น กลับไม่ใช่ เพราะมีหน่วยเลือกตั้งที่ซ่อนอยู่ในดอยสุเทพ อยู่หน่วยหนึ่ง

แต่เอาเข้าจริงแล้ว แม้หีบบัตรทั้งสิ้นจาก 219 หน่วยจะมาถึง โรงเรียนสารภีพิทยาคมสถานที่นับคะแนนตั้งแต่ 17.00 น.ของวันที่ 6 ก.พ.ก็ตาม แต่กว่าจะเริ่มนับคะแนนได้ก็ปาเข้าไปราวเฉียดเที่ยงคืน เพราะปัญหาทางธุรการคือเมื่อหีบมาถึงกว่าจะลงทะเบียน ตรวจสภาพ และนับบัตรเป็นมัดละ 500 ใช้เวลานานมาก และเขตนี้ก็เป็นเขตสุดท้ายที่รายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการมายังกกต. ซึ่งช้ากว่าเขต 4 ซึ่งนับคะแนนเสร็จเป็นเขตสุดท้ายด้วยซ้ำ

ส่วนเขต 1 พื้นที่เขตเมือง ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งที่ไกลอยู่ 1 หน่วย คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 3 โรงเรียนศรีเนรูห์ บ้านขุนช่างเคี่ยน ม.4 ต.ช้างเผือก แม้ระยะทางจะห่างเพียง 30 กม. แต่จะต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมง และต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเดินทางขึ้นเขาไปรับหีบ แต่ก็มาถึงตามกำหนดเวลา และเป็นหน่วยแรกที่สามารถเริ่มต้นนับคะแนนได้ของเชียงใหม่คือเริ่มต้นราว 5 ทุ่มของคืนวันที่ 6 ก.พ. แต่กว่าจะเสร็จก็ปาไปในวันที่ 7 ตอนค่ำ เพราะการประท้วงการวินิจฉัยบัตรมีอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกองเชียร์ของทั้ง 2 พรรคที่จับจ้องอย่างไม่วางตา

เขต 3 เชียงใหม่นั้นเมืองขยายกลายเป็นพื้นที่เขตเมืองก็มากคือสันผีเสื้อ อ.แม่ริม อ.แม่แตง แต่ทว่ายังมีหน่วยเลือกตั้งที่ไกลที่สุดคือที่มีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดนั้นคือ "ห้วยน้ำดัง" เป็นหน่วยเลือกตั้งที่ 5 บ้านเต้นประจำ ม.5 ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง ซึ่งไกลราว 70 กม. จุดดังกล่าวก็คือเส้นทางถนนเพื่อเดินทางไปอำเภอปาย แม่ฮ่องสอนที่รับประกันว่าการเดินทางไม่สะดวกเหมือนถนนในเมืองอย่างแน่นอน โดยหลังจากการปิดหีบ จะต้องใช้รถขนหีบบัตรจากหน่วยดังกล่าวมาเป็นเวลา 3 ชั่วโมงเพราะเส้นทางอ้อมไป-มา

เขต 4 อ.สันทราย พร้าว และต.แม่หอพระ อ.แม่แตง นี่เองที่กว่าจะรู้ผลต้องใช้เวลาถึง 24 ชั่วโมง เพราะแม้เส้นทางการขนหีบบัตร 221 หน่วยจะมีที่ห่างไกลอยู่บ้าง เช่นที่หน่วยที่ 1 โรงเรียนบ้านห้วยส้าน ม. 1 ต.สันทราย อ.พร้าว ระยะทางราว 150 กม.

เส้นทางเป็นทางเกวียน ทางลุยน้ำ ลุยโคลนไม่มีสะพาน วางแผนจะใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ประสานข้าราชการครูในพื้นที่ให้ขนหีบบัตร และให้กำนันผู้ใหญ่บ้านสำรองรถไว้ด้วย คาดว่าการเดินทางจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยมาถึงจุดนับคะแนนราว 20.00 น. ก็มาตามเป้า แต่เวลาที่ทอดออกไปเป็นเพราะการนับคะแนนที่มีการประท้วงบัตรต่อบัตร จึงเป็นเขตที่รู้ผลช้าที่สุดคือตีสี่ครึ่งของวันที่ 8 ก.พ.โน่น

เขต 5 อ.ดอยสะเก็ต สันกำแพง และกิ่งอ.แม่ออน บ้านนายกฯแม้จะน่าประหลาดใจที่ต้องใช้เรือขนหีบกับเขาด้วยแต่ก็เป็นเขตที่ประกาศผลนับคะแนนเสร็จเป็นที่แรกก่อนใคร หน่วยเลือกตั้งที่ไกลที่สุดของเขตนี้คือโรงเรียนบ้านป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด ที่อยู่ห่างจากจุดนับคะแนนคือหอประชุมโรงเรียนสันกำแพงราว 50 กม. แม้จะระยะทางไม่ไกลแต่การเดินทางต้องขึ้นรถและลงเรือข้ามน้ำที่เขื่อนแม่งัดเพื่อขึ้นรถเข้าไปยังหน่วยอีก คาดว่าจะต้องใช้เวลาขนหีบบัตรมาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งกกต.เขตได้ประสานจ้างเหมาเรือโดยสารและรถไว้และได้รับความร่วมมือจากข้าราชการครู และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพายัพ ในการเร่งมือนับคะแนน ซึ่งน่าชมเชยในการทำงานอย่างแข็งขันจนเป็นเขตที่รู้ผลเป็นเขตแรก

เขต 6 บางส่วนของอ.สะเมิง อ.หางดงและสันป่าตอง มีหน่วยที่ไกลที่สุดคือหน่วยวัดแม่เลย ต.สะเมิงเหนือ อ.สะเมิง ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อขนกันมา และเขต 7 มี พื้นที่อ.สะเมิง (ยกเว้นสะเมิงเหนือและใต้) อ.แม่วาง จอมทอง กิ่งอ.ดอยหล่อและอ.แม่แจ่ม(ยกเว้น ต.บ้านจันทร์ ต.แจ่มหลวง ต.แม่แดด และ ต.แม่นาจร) หน่วยที่ไกลที่สุดจากสถานที่นับคะแนนสำนักงานพัฒนาภาค 3 กิ่ง อ.ดอยหล่อ ก็คือหน่วยเลือกตั้งที่ 11 โรงเรียนบ้านแม่แจ๊ะ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม ระยะทาง 230 ก.ม. ใช้เวลารถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อคาดว่าไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง เพราะเป็นทางขึ้นเขาจากสะเมิงไปวัดจันทร์ 100 กม. และเป็นดอยอีก 60 ก.ม. ซึ่งได้ขอกำลังตำรวจดูแลแล้วและโทรศัพท์ติดต่อกันเป็นระยะ ค

และนี่เลย ต้องยกให้เป็นเขตวิบากชนิดที่เจ้าหน้าที่นับคะแนนหอบถุงนอนมาหลับรอเลย นั่นคือ เขต 8 ที่มี 243 หน่วย ในอ.แม่แจ่ม (เฉพาะ ต.บ้านจันทร์ ต.แจ่มหลวง ต.แม่แดด และ ต.แม่นาจร) อ.ฮอด อ.อมก๋อย และอ.ดอยเต่า หน่วยที่ไกลที่สุดคือหน่วยเลือกตั้งที่ 9 บ้านแม่เงา ต.สบโขง อ.อมก๋อย ระยะทาง 180 กม. ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง ต้องขนโดยใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ และเดินเท้าเข้าไป 30 กม.

ส่วนหน่วยที่ทุรกันดาร อยู่ในพื้นที่ ต.สบโขง อ.อมก๋อยทั้งหมดคือ คือหน่วยเลือกตั้งที่ 1 บ้านแม่หลองใต้ หน่วยเลือกตั้งที่ 7 บ้านห้วยยาว หน่วยเลือกตั้งที่ 8 บ้านตะกอคะ และหน่วยเลือกตั้งที่ 9 บ้านแม่เงา หน่วยเลือกตั้งที่ 10 บ้านเมโตเค หน่วยเลือกตั้งที่ 12 บ้านห้วยผึ้ง มีระยะทาง 160-180 กม. ใช้เวลาเดินทาง 11-12 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละหน่วยต้องใช้เวลาเดินเท้าระหว่าง 4 -7 ชั่วโมง

"เราปล่อยหีบหน่วยเหล่านี้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. แล้วเพราะใช้เวลาเดินทางนาน นอกจากนั้นเวลานำหีบเข้าใช้เส้นทางอ.อมก๋อย ใช้รถและ เดินเท้าเข้าไปเป็นทางลาดใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง แต่ขากลับจะกลับทางเดิมไม่ได้ เพราะเป็นทางขึ้นเนิน จะต้องให้ลูกหาบ ๆ เดินทางอ้อมไปที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และนัดหมายให้รถขับเคลื่อนสี่ล้อไปรับ และอ้อมกลับมาโดยเส้นทางแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ถึงโรงเรียนฮอดพิทยาคมในช่วงเวลาตี 3 ของวันใหม่ ส่วนหน่วยอื่นๆ เช่นบ้านซิแบ บ้านทุ่งต้นงิ้ว ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดตาก คาดว่าหีบจะเดินทางมาถึงในตี 1 และตี 2 ซึ่งจะสามารถเริ่มนับได้ในราวฟ้าสางคือ ตี 5 ของวันที่ 7 ก.พ. สมัยที่แล้วเราเคยใช้เฮลิคอปเตอร์แต่มีปัญหาให้หีบขึ้นได้ แต่คนขึ้นด้วยไม่ได้ เลยเกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใส อีกประการเป็นช่วงฤดูหนาว จะค่ำไว หากอากาศปิดก็จะต้องรอให้รุ่งขึ้นก่อนซึ่งไม่สะดวก"

เขตนี้ยังได้ซักซ้อมแผนการเดินทางกำชับให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้รักษาความสงบประจำที่เลือกตั้งได้รายงานเหตุการณ์ทุกระยะและรายงานการออกเดินทางจากที่เลือกตั้งผ่านทุกเครือข่ายเท่าที่จะทำได้ทุก 1 ชั่วโมง จนกว่าจะเดินทางมาถึง ซึ่งก็เป็นไปตามแผน หีบสุดท้ายมาถึงราวตีสี่ครึ่งเจ้าหน้าที่จึงตื่นมานับคะแนน

ส่วน เขต 9 มีหน่วยเลือกตั้ง 179 หน่วย ใน 4 อำเภอคือเชียงดาว เวียงแหง ไชยปราการ ฝาง (เฉพาะต.แม่ข่า) มีหน่วยเลือกตั้งที่ไกลที่สุดคือบ้านน้ำรู หมู่ 5 ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว ระยะทางกว่า 155 ก.ม. เส้นทางคดเคี้ยว อ้อมเขาเข้าไปที่อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เข้าเขตอ.แม่แตง
จ.เชียงใหม่และวกกลับไป ใช้เวลาเดินทางราว 5 ชั่วโมง

ส่วนหน่วยที่มีเส้นทางทุรกันดารคือหน่วยโรงเรียนตชด.เบญจมะ1 ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว ระยะทางราว 100 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 4.30 ชั่วโมง แถมยังมีพื้นที่ที่ติดแนวชาวแดนประเทศพม่า ระยะทาง 50 กม. มีอย่างน้อย 4 หน่วยที่ใกล้คือ บ้านหนองอุก อรุโณทัย อ.เชียงดาว ใกล้กับจุดผ่อนปรนกิ่วผาวอก หน่วยบ้านเมืองนะ หมู่ 1 และหน่วยบ้านแกน้อย อ.เชียงดาว และบ้านหลักแต่ง แบะแซม อ.เวียงแหงอยู่ด้วย สมัยที่ผ่านมาเขต9 เป็นเขตที่นับคะแนนช้าที่สุด
ติดขัดอยู่ที่การนับจำนวนบัตร 500 บัตรแรกที่อาจมีการรับเกินดังนั้นต้องแม่นยำในการนับบัตรเป็นชุด 500 แต่แรก ครั้งนี้ไม่น่าจะช้าเหมือนครั้งที่แล้ว

สุดท้าย เขต 10 มีหน่วย 219 หน่วยจาก อ.ฝาง (ยกเว้นตำบลแม่ข่า) และอ.แม่อาย มีจุดที่ห่างไกลจากจุดนับคะแนน 2 จุดคือที่บ้านผาใต้ ม.12 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย ระยะทาง 50 กม.การเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง และที่หมู่ 14 ต.ม่อนปิน บ้านขอบด้วง อ.ฝาง ระยะทาง 45 กม. บนดอยอ่างขาง ระยะทางราว 2 ชั่วโมงใช้ทางรถปกติ ส่วนหน่วยที่มีเส้นทางทุรกันดารคือหน่วยเลือกตั้งที่ 11 โรงเรียนอาโอยาม่า หมู่ 11 ต.ม่อนปิน อ.ฝาง ระยะทาง 30 กม. แต่เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติงานตามแผนได้อย่างเรียบร้อย

ขอชื่นชมการทำงานของเหล่านักศึกษา ทหาร ข้าราชการครู และทุกคนที่ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่นี่กันอย่างอดทน และอดหลับอดนอน

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net