Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความลับในวันหลอกลวง ..!!
ย้ายเหยื่อสารพิษแม่เมาะ

ภายหลังจากการมาเยือนของ "ยงยุทธ ติยะไพรัช" เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาทำให้ความหวังของเหยื่อสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ของ 3 หมู่บ้าน 2 ตำบลกว่า 600 หลังคาเรือนเริ่มมองเห็นแสงสว่างได้มากยิ่งขึ้น เริ่มจากการคัดสรรครัวเรือนที่สมัครขออพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ ผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการที่มาจากชาวบ้าน แกนนำเครือข่ายผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และตัวแทนจากรัฐบาลร่วมกันตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การพิจารณางบประมาณในการอพยพโยกย้าย รื้อถอนสิ่งปลูก และการจัดสรรที่ดินทำกินรวมไปถึงการพิจารณาช่วยเหลือผู้ป่วยตามข้อเรียกร้องของชาว บ้าน ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวดูเหมือนว่าจะจริงจังมากกว่าครั้งที่ผ่านๆมา

"สิ่งที่เราคาดหวังมากคือ การได้ย้ายออกไปจากพื้นที่เสี่ยงภัยแห่งนี้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูแลอย่างเที่ยงธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเกิดของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนมายาวนานกว่า 30 ปี มีผู้คนล้มตายด้วยโรคระบบทางเดินหายใจบกพร่องนับร้อยชีวิตล้มป่วยอยู่ในปัจจุบันกว่า 1,000 รายสิ่งเหล่านี้มันตามหลอกหล่อน สร้างความหวาดหวั่น และวิตกกังวลต่อพวกเราชาวบ้านทุกวัน" มะลิวัลย์ นาควิโรจน์ หนึ่งในแกนนำเครือข่ายผู้ป่วยอันเนื่องมาจากผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะกล่าวย้ำถึงสิ่งที่พวกเธอเรียกร้องมานาน

ประเด็นของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษซัลเฟอร์ฯ กลายเป็นประเด็นที่ยุ่งยากต่อการอพยพโยกย้ายอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลมักจะนำไปเป็นข้ออ้าง และใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบผลกระทบแบบเรียงตัวตามรายชื่อที่ระบุจำนวนผู้ป่วยจริงในพื้นที่หมู่บ้านที่ต้องการอพยพทั้ง 3 หมู่บ้านรวม 2 ตำบลคือ บ้านหัวฝาย หมู่ 1 ตำบลบ้านดง บ้านห้วยเป็ด และห้วยคิง ตำบลแม่เมาะ และบ้านหัวฝายมีผู้ป่วยมากที่สุดกว่า 50 รายที่เป็นผู้ป่วยเรื้อรังโดยเฉพาะเด็กและคนชรา

นอกจากประเด็นผู้ป่วยแล้วยังมีการสำรวจพบว่า มีบ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างผีโผล่อีกหลายรายการ ที่ต้องคัดสรร

" เรายอมรับว่ามีบ้านผีจริง บางรายมีที่ดิน และเลขที่บ้านแต่คนที่เป็นตัวตนไม่มีอย่างนี้เราก็คัดออกอย่างบ้านห้วยคิงมีมากกว่า 120 ราย ที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง หากพลาดการอพยพโยกย้ายก็จะต้องยืดเยื้อออกไปอีกก็เป็นได้" มะลิวัลย์ แสดงความคิดเห็น

กระแสความหวาดหวั่นจากบรรดาเหยื่อสารพิษทั้ง 3 หมู่บ้านยังคงวิตกว่า รัฐบาลเหลือระยะเวลาการทำงานอีกไม่มากนัก ซึ่งอาจจะส่งกระทบต่อการดำเนินการอพยพโยกย้ายและเก็บดองไว้ดั่งเช่นเคยมีมาแล้วจนเหยื่อสารพิษขาดความเชื่อมั่น ฉะนั้นการลงพื้นที่ของทีมงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกว่า 60 ชีวิตเพื่อเก็บข้อมูลชาวบ้านที่ต้องการอพยพโยกย้ายครั้งนี้จึงสำคัญยิ่ง

ปฏิบัติการแบบไฟไหม้ฝางในการแก้ไขปัญหาเหยื่อสารพิษ และผลกระทบจากการขยายแอ่งเหมืองลิกไนต์ของ กฟผ.ที่ชูประเด็นแบบเงินมาก่อน แทนการพูดความจริงกับชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมากลายเป็นความสูญเปล่าเกือบทั้งหมดที่ กฟผ.ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินนับหมื่นล้านบาท เพื่อแลกกับคำว่า เหมือง และโรงไฟฟ้ามูลค่านับแสนล้านบาทนี้ปลอดซึ่งสารพิษ!!

เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งของบรรดาเหยื่อสารพิษ ที่ไม่มีท่าทีว่าจะเป็นจริงได้ตามข้อเรียกร้องคือ ให้รัฐบาลจัดแพทย์เฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยหรือแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ ที่คาดหวังว่าจะมาพร้อมกับการการอพยพโยกย้าย นอกเหนือจากบริการ
ด้านการแพทย์ปกติที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าว กฟผ.ได้แสดงบทบาทคัดค้านมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากเป็นการประจานความน่าเชื่อถือของ กฟผ. องค์กรที่ได้ชื่อว่ามีการจัดด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมาเป็นอันดับต้นๆ ตามที่ กฟผ.เคยประกาศมาก่อนหน้านี้ว่าผ่านระบบไอเอสโอ 14000 และอีกประการหนึ่งก็เท่ากับเป็นการประจานขีดความสามารถในการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีตามที่กฟผ.ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อสถาบันการเงินใหญ่อย่างเวิล์ดแบงก์ไว้ เมื่อครั้งกู้เงินมาลงทุนในกิจการใหม่ๆ ความหวาดวิตกเหล่านี้จึงเป็นความลับสุดยอด ที่ยอมให้ชาวโลกรับรู้ไม่ได้

ภาพแห่งการขนย้ายบ้านเรือน และอพยพเหยื่อสารพิษออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยของชาวบ้านรอบๆโรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงเป็นภาพไม่งามนักต่อเมืองลำปาง และยิ่งทำให้ กฟผ.และลำปางติดลบมากยิ่งขึ้นที่จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสารพิษเช่นเดียวกับ ปี พ.ศ.2535 เดือนตุลาคม ที่มีผู้คนล้มป่วยนับพันชีวิตจากผลกระทบซัล เฟอร์ไดออกไซด์

และคำว่า "ซัลเฟอร์ไดออกไซด์นี้เอง กลายเป็นสิ่งเลวร้ายที่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่เมาะได้รู้จัก และอยู่ร่วมกันมากับโรงไฟฟ้าแห่งนี้นานนับ 35 ปี

นับจากปี เดือนตุลาคม พ.ศ.2535 เป็นต้นมา กฟผ.และรัฐบาลได้ทุ่มเทใช้งบประมาณในการรักษาภาพลักษณ์ของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ให้เกิดในเชิงบวกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และใช้เม็ดเงินในการแก้ไขปัญหามลพิษไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว เพื่อให้ กฟผ.อยู่ร่วมกับชุมชนรอบๆโรงไฟฟ้าได้ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างต่อเนื่อง

"พี่น้องชาวอำเภอแม่เมาะที่มีความประสงค์จะย้าย ไม่ต้องอธิบายความเป็นมามากนักว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้นที่นี่ผมและพี่น้องทราบดี แต่ต่อไปนี้ผมขอให้พี่น้องให้ความร่วมมือ และพูดความจริงกับทีมงานการอพยพโยกย้ายมันจะง่ายขึ้น แต่ไม่หมายความว่าผมจะย้าย แต่จะนำข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมดไปให้นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาอันช่วยได้ก็ช่วยเลยคงจะทำให้พวกท่านสบายใจมากขึ้นผมรับรองว่าปัญหาที่พี่น้องเผชิญอยู่จะได้รับการแก้ไขแน่นอน" เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำอย่างให้ความหวังในวันที่มาร่วมรับฟังปัญหาจาก 3 หมู่บ้านของอำเภอแม่เมาะเมื่อต้นๆ เดือนที่ผ่านมา

การมาเยือนของทีมงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงกระแสในแง่บวกเพื่อลดแรงสั่นสะเทือนระหว่างชาวบ้าน กับ กฟผ.ให้ลดน้อยลงก็เท่านั้น เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่กระแสเรียกร้องจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและรวมพลเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคมของทุกปี จนแทบจะกลายเป็นปรากฏการณ์ซ้ำซากเสียด้วยซ้ำ

วันที่ชาวบ้านรอรอและรอที่จะอพยพโยกย้ายอยู่ทุกวินาทีผ่านรัฐบาลมาหลายสมัย จึงกลายเป็นความลับที่ไม่มีท่าทีว่าจะเปิดเผยวันเวลาที่แท้จริง จนมันอาจจะเรียกว่าเป็นวันแห่งความลับ…ความลับในวันที่หลอกลวงจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา และอาจจะรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยก็เป็นได้ แล้วเหยื่อสารพิษแม่เมาะคงต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้อีกนานและยังไม่มีใครล่วงรู้ว่าจะได้ย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเมื่อไหร่กันแน่…..!!

สมศักดิ์ สุกใส

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคประชาไท-พลเมืองเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net