Skip to main content
sharethis

ผ่านไปหลายห้วงยามแล้ว กับการเฝ้ารอการเดินทางขับเคลื่อนของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ว่าจะถูกหยิบยกผลักดันขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งเมื่อไร!? ใครบางคนคอยเฝ้าปลอบปลุกให้กำลังใจบอกว่า ขอให้อดทนและเฝ้ารอ ทว่าการรอคอยนั้นเนิ่นนาน พวกเขากลับรู้สึกหวาดหวั่นไม่มั่นใจ เริ่มวิตกกังวล สับสนบนความเปลี่ยนแปลงว่ากระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องนั้น อาจกลายเป็นสายลมที่ว่างเปล่า…

ทำอย่างไรเล่า!? จึงจะสื่อให้กับพวกเขาได้รับรู้และเข้าใจ ในสิทธิอันชอบธรรม ในการดำรงอยู่ ของคนที่อยู่ป่า คนรากหญ้า ที่ยังคงอาศัยอยู่ในซอกหลืบอันหม่นมัวของสังคมไทย ในห้วงขณะนี้
1.
เรา- -สามสิบกว่าชีวิต เดินทางออกจากเชียงใหม่ ไปบนถนนทางหลวงสายดอยสะเก็ด-เชียงราย พอเริ่มเข้าเขตอำเภอเวียงป่าเป้า บนกิโลเมตรที่ 25 รถยนต์พาเราเลี้ยวซ้าย ไปตามบนถนนสายเวียงป่าเป้า-พร้าว เป็นทางตัดใหม่ หลายคนที่งัวเงียอยู่ภายในรถเริ่มตื่นขึ้นมา เมื่อรู้ว่ารถค่อยๆ ขับเคลื่อนขึ้นบนเนินเขาสูง บางคนจ้องมองผืนป่าเขียวสดที่รายรอบสองข้างทาง ด้วยความรู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้พบเห็น

พอพ้นเนินเขา มองเห็นป้ายทางเข้าหมู่บ้านหินลาดใน คนขับรถพาเราเลี้ยวลงไปบนถนนดินลูกรัง ทางลาดชัน คดโค้งลงไปในหุบเขา บรรยากาศในห้วงยามนั้น เริ่มครึ้มร่มเย็นด้วยสองฟากฝั่งนั้นมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมไปทั่ว ผมจ้องมองความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ด้วยความรู้สึกแปลกใหม่ในสถานที่เราไม่คุ้นเคย ระหว่างทาง

ผมพยายามอ่านป้ายที่ติดไว้ตามต้นไม้ ต้นนั้นเขียนคำว่า เซบอ…ก่อเดือย, เซ่กอเว…พญาเสือโคร่ง ผมจำได้ไม่ทันไม่หมด เพราะมีต้นไม้หลายพันธุ์หลายชนิดขึ้นรกปกคลุมเต็มไปหมด และที่สะดุดตาก็คือ ผมมองเห็นสีเหลืองของผ้าจีวรผูกมัดรอบโคนต้นไม้ใหญ่ เต็มสองข้างทางจนถึงหมู่บ้าน

จริงอย่างหลายคนคาดคิด…เมื่อรถจอดนิ่ง ทันใดที่ทุกคนลงจากรถ ฝนเริ่มหล่นโปรยลงมาทักทายผู้มาเยือน จากเส้นสายบางเบาแล้วตกลงมาอย่างหนักหน่วงราวกับฟ้ารั่ว ชาวบ้านยืนรออยู่ใต้ถุนบ้าน กวักมือร้องเรียกเราให้รีบขึ้นไปหลบฝนบนเรือน

ปรีชา ศิริ ผู้นำอาวุโสของหมู่บ้านหินลาดใน กล่าวต้อนรับพร้อมกับเล่าเรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้าน…

หมู่บ้านหินลาดใน เป็นที่อยู่อาศัยของพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอ ตั้งอยู่ในหุบห้วยหินลาด ซึ่งมีความสูงประมาณ 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะทั่วไปหากมองดูรอบๆ จะมองเห็นภูเขาสูงสลับทับซ้อนเรียงราย นั่นถือเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยกว่าสิบสาย ที่ไหลลงมารวมกันบริเวณนี้ ก่อนไหลลงไปรวมเป็นลำน้ำแม่ลาว หนึ่งในแม่น้ำที่สำคัญ 4 สาย ของจังหวัดเชียงราย
ปัจจุบันมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่รวมกันทั้งหมด 105 คน 20 หลังคาเรือน

"เราอยู่อาศัยกันดั่งญาติพี่น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือแบ่งปันกัน…" เขาเอ่ย พร้อมกับเล่าเรื่องการจัดการดูแลป่า รักษาต้นน้ำ

…และเมื่อทุกคนได้ลงสัมผัสพื้นที่จริง จึงรู้ว่า ชาวบ้านหินลาดใน ได้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ผืนป่ารอบๆ หมู่บ้านยังคงอุดมสมบูรณ์และหนาแน่น มีการเพาะกล้าไม้พันธุ์ไม้พื้นเมืองหายากเอาไว้ พอกล้าเติบโตก็แจกจ่ายให้ทุกคนนำไปปลูกในพื้นที่ว่างของป่า พอถึงห้วงฤดูแล้ง คนทุกคนในหมู่บ้าน ต่างพากันไปจัดทำแนวกันไฟกันทุกปี มีการจำแนกพื้นที่ป่าไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ป่าเดปอ ป่าพิธีกรรม ฯลฯ ซึ่งการรักษาป่าของชาวปกาเกอะญอนั้นจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตและจารีตความเชื่ออย่างผูกพันแนบแน่น

"ชาวบ้านจำนวนร้อยกว่าคน ดูแลรักษาป่า 10,000 กว่าไร่ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณใดๆ เลย ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก…" คุณเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย เอ่ยออกมา หลังจากรับฟังผู้นำชุมชนบอกกล่าวเล่าขาน

พูดถึงเรื่องอาชีพ และการใช้วิถีชีวิตการดำรงอยู่ของพี่น้องปกาเกอะญอบ้านหินลาดใน พวกเขายังคงใช้ชีวิตวิถีที่เรียบง่าย อยู่อย่างพออยู่พอกิน ไม่สร้างภาระหนี้สิน มีการเลี้ยงวัว ทำนาขั้นบันไดและการทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง พร้อมกับการปลูกพืชผักในไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านเก็บกินได้ตลอดปี เช่น ผักกาด แตงกวา งา ฟักทอง พริก มะเขือ ฯลฯ
"พวกเราทุกคนที่อยู่กันที่นี่ ไม่มีคนจน มีแต่คนรวย…" เขาพูดกับเราและหัวเราะออกมาอย่างคนอารมณ์ดี

เขาบอกว่า ที่ว่ารวยนั้น หมายถึงร่ำรวยธรรมชาติ เพราะว่าชาวบ้านหินลาดใน มีดิน น้ำ ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ มีเครื่องปรับอากาศทางธรรมชาติ หมายถึง มีอากาศที่หายใจอันบริสุทธิ์ และเขายังตบท้ายด้วยการเล่านิทานปกาเกอะญอให้พวกเราฟัง…ในเรื่องของเงินกับข้าวทะเลาะกันเพื่อแสดงตนเป็นใหญ่ แต่ท้ายสุด ข้าวนั้นใหญ่กว่าเงิน.

เมื่อเดินเข้าในป่า พวกเขาก็สามารถเก็บของป่าด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืนสอดคล้องและยั่งยืน ในเขตพื้นที่ป่าดงดิบ พวกเขาได้กำหนดให้เป็นป่าชุมชน และสามารถเข้าไปเก็บผลผลิตจากป่าได้ เช่น เห็ด หน่อไม้ ลูกเดือย มะขามป้อม มะไฟ มะแขว่น น้ำผึ้ง ฯลฯ ของป่าที่ได้ส่วนใหญ่นำไปบริโภคภายในครัวเรือน เหลือก็แบ่งขายพอเป็นรายได้เสริม

ที่สะดุดตามากที่สุด ก็คือการเก็บใบเมี่ยง หรือชาป่า พืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อชาวบ้านนำทาง พาเดินขึ้นไปบนเนินเขา เราจะมองเห็นสวนชา สวนเมี่ยง ขึ้นปกคลุมไปทั่ว เป็นชาพันธุ์พื้นเมืองที่ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มากนัก ทว่ากลับกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ว่ากันว่า ในแต่ละปีจะมีชาดิบส่งออกจากหมู่บ้าน 60,000 กิโลกรัม โดยชาต้นหนึ่งสามารถเก็บได้สามครั้ง "ชาหัวปี" มีคุณภาพและราคาดีที่สุดในเดือนเมษายน "ชากลาง" เป็นชาที่แตกหน่อจากชาต้นเดิมในเดือนมิถุนายน สุดท้ายคือ "ชาเหมย" หรือชาหน้าหนาวเดือนพฤศจิกายน ปริมาณชามีน้อย ทว่าราคากลับดีเท่าชาหัวปี

"ป่ากับชา นั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน…" หญิงสาวของชาวบ้าน เอ่ยออกมาเบาๆ เมื่อผู้นำชี้ชวนให้เราดูชาลำต้นสูงใหญ่บนเนินเขา

ก่อนที่เราจะเดินทางกลับ มีการเสวนากันบนอาศรมของพระป่า บนเนินเขาอีกฟากฝั่งหนึ่งของหมู่บ้าน "คุณนก" นิรมล เมธีสุวกุล จากรายการทุ่งแสงตะวัน เป็นผู้ซักถามแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน ในเรื่องวิถีความเป็นอยู่ การดูแลรักษาผืนป่าใหญ่ รวมไปถึงเรื่องของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน บางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดสภาจึงไม่ยอมให้ผ่านมติ ทั้งที่ถือว่าเป็นการเสนอร่างกฎหมายด้วยความชอบธรรมของประชาชนเป็นครั้งแรกที่ร่วมลงชื่อกว่าห้าหมื่นคน ซึ่งหลายๆ คนบอกกันว่า ไม่เคยมีร่างกฎหมายฉบับใดที่มาจากประชาชนมาก่อนเลย

คุณเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา ผู้ซึ่งทำงานคลุกคลีอยู่กับพี่น้องคนรากหญ้ามานานหลายนาน ได้บอกกล่าวเอาไว้ว่า เหตุคงเนื่องมาจากสมาชิกสภาส่วนใหญ่ ขาดความมั่นใจ ไม่เข้าใจในบางกรณี เช่น บางบทมาตรา พูดแต่การใช้ประโยชน์ ไม่ได้พูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ หรือในกรณีบางหมู่บ้านที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว มีการปลูกกะหล่ำ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเราต้องหันกลับมามองว่า นโยบายแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนนั้น อาจเป็นการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ดังนั้น คงต้องมีการแก้ร่าง พ.ร.บ.ในบางประเด็น และเสนอเข้าไปใหม่ ทำอย่างไรจึงจะอุดช่องว่าง โดยไม่ให้ใครเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าอย่างแอบแฝง

ยกตัวอย่าง กรณีบ้านปกาเกอะญอแม่คองซ้าย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นั้นถือว่า เป็นชุมชนที่จัดการดูแลป่า รักษาแม่น้ำและพันธุ์ปลาได้เป็นอย่างดี หรือหมู่บ้านหินลาดในแห่งนี้ ก็น่าจะถูกหยิบยกมาพิจารณาให้ก่อน ส่วนกรณีบางชุมชน บางหมู่บ้านที่ยังปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันอยู่ ยังมีปัญหา ก็ยังไม่ออกให้ แต่ต้องให้เวลาและโอกาสเขา หากผ่านไปได้ 7-8 ปี พวกเขาสามารถปรับตัวปรับแนวคิดใหม่และเข้ามาร่วมจัดการดูแล ก็น่าจะสามารถให้พวกเขาเข้ามาจัดการดูแลป่าได้

โมงยามผ่านไป…จนเกือบเย็นย่ำ ทุกคนที่เดินทางมาต่างให้ความสนใจในหลายเรื่องหลายประเด็นที่ได้พบได้เห็น "ธรรมมะกับธรรมชาติ จะต้องอยู่ในใจของเราทุกคน และขอให้เราทุกคนตื่นตัวกันทางการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน…" คุณเตือนใจ กล่าวในตอนท้าย ก่อนที่เราจะพากันแยกย้ายเดินทางกลับ

ห้วงยามนี้. ผมเชื่อว่าหลายๆ คน คงได้รับรู้ ในวิถีชีวิตของคนอยู่ป่าได้แจ่มชัดและเข้าใจมากยิ่งขึ้น เมื่อได้ลงมาสัมผัสพื้นที่และความเป็นจริง และหลายคนยังหวังเอาไว้ลึกๆ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน จะผ่านพิจารณาในไม่ช้า

"และสักวันหนึ่ง…ดอกไม้จักเบ่งบานกลางใจคนรากหญ้า…" เสียงใครคนหนึ่งเอ่ยออกมาท่ามกลางสายฝนหล่นโปรย.

ภู เชียงดาวรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net