Skip to main content
sharethis

คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นชื่อ "ที่ดินสงวนโคกชายทะเล" แต่สำหรับชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับคนงานบริษัทฯ และกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อยู่ในขณะนี้ ถือเป็นเดิมพันอนาคตวิถีชีวิตของพวกเขาและลูกหลานเลยทีเดียว

ที่สาธารณะบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงแยกก๊าซของบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ทีทีเอ็ม) มีเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 950 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ม.6 ต.สะกอม ม.2 และหมู่ 8 ตำบลตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ได้มาโดยการจัดซื้อและทำสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินโดยในพื้นที่มีเส้นทางสาธารณประโยชน์ผ่านจำนวน 4 เส้นทาง

ทางสาธารณะประโยชน์ดังกล่าว มีหลักฐานการสงวนหวงห้ามของทางราชการเมื่อปี พ.ศ. 2517 เมื่อคราวทางราชการออกเดินสำรวจจัดทำ น.ส. 3 ให้ราษฎรในพื้นที่พบร่องรอยการใช้ประโยชน์ร่วมกันมาแต่ครั้งอดีต ทางราชการจึงกันพื้นที่ไว้ในระวางรูปถ่ายทางอากาศ มีการเดินสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สาธารณะที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน

จากเอกสารของกรมที่ดิน เมื่อปี 2533 แปลงที่ต่อจากหมายเลขที่ 202 เป็นที่ดินสงวนโคกชายทะเล (ประกาศเป็นที่ดินสาธารณะ) แต่ในปี 2547 ที่ดินข้างๆแปลง 202 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อนางประทีป ศิริสกุลเป็นผู้ถือครอง โดยนางประทีปกล่าวว่า มีเอกสารสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2515 โดยเป็นชื่อของนายถวิล ศิริกุล สามี แต่เมื่อนายถวิลเสียชีวิตก็โอนมาเป็นชื่อนางประทีป ซึ่งขัดต่อเอกสารราชการที่ทางกรมที่ดินออกประกาศ ต่อมาทางบริษัทซัมซุง จำกัดซึ่งรับเหมาก่อสร้างท่าเรือให้กับทีทีเอ็มได้ทำการเช่าที่ดินต่อจากนางประทีป ศิริสกุล

ทั้งนี้ทีทีเอ็มยื่นเรื่องขอโอนแลกเปลี่ยนและขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ บริเวณก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียเพราะบริเวณการก่อสร้างโรงแยกก๊าซกินอาณาบริเวณเส้นทางสาธารณประโยชน์ จึงก่อให้เกิดประเด็นความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นเพราะที่ดินดังกล่าวตามหลักศาสนามุสลิมเป็นที่ดินวะกัฟ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนหรือถ่ายโอนได้

สถานการณ์ปัจจุบันของการขอแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณะนั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ทางบริษัททีทีเอ็มได้ทำการปรับถมพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้สภาพเส้นทางสาธารณะบางส่วนในพื้นที่โรงแยกก๊าซซึ่งใช้สัญจรระหว่างบ้านสะกอมกับบ้านตลิ่งชันเปลี่ยน แปลงไป ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม

และจากแผนที่ที่บริษัททีทีเอ็มยื่นคำร้องขอโอนแลกเปลี่ยนที่ดินนั้น เส้นทางดังกล่าวกลับหายไป

ประเด็นที่ก่อให้เกิดการร้องเรียนคัดค้านขึ้นคือ ทางสาธารณะดังกล่าวชาวบ้านยังใช้ประโยชน์อยู่ ไม่สามารถนำไปโอนแลกเปลี่ยนได้ บางส่วนชาวบ้านได้บริจาคเป็นสมบัติส่วนร่วมที่ชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหลักศาสนาอิสลามที่เรียกว่า "วะกัฟ" ซึ่งไม่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนด้วยประการใดๆ

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ กรณีการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินสาธารณะบริเวณที่สงวนโคกชายทะเลนั้นไม่ใช่ที่นี่แห่งแรก กรณีอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในกรณีของแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.) โดยมีการยิงแกนนำและจับกุมชาวบ้านในพื้นที่มาแล้ว รวมถึงเป็นปมสังหารนายเจริญ วัดอักษร แกนนำกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกก็มาจากความขัดแย้งในเรื่องที่ดินสาธารณะชายธงเช่นกัน

"โฉนดบิน" การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่สาธารณประโยชน์ส่วนรวมยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดำเนินการตรวจสอบอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นทุกทีๆตราบเท่าที่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net