Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ผมไม่รู้ว่าการทำลายแปลงมะละกอของนักวิจัยครั้งนี้ จะทำให้งานวิจัยสะดุดไป หรือเขาจะหยุดทำเพราะความสะเทือนใจหรือไม่ เราไปบังคับเขาไม่ได้คนพวกนี้" นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ผอ.กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรสะท้อนความห่วงใยเกี่ยวกับการวิจัยให้ "ประชาไท" ฟัง หลังมีการทำลายแปลงทดลองมะละกอจีเอ็มโอในสถานีทดลองพืชสวนท่าพระ

"ผมสงสารนักวิจัยของผม เขายังร้องไห้อยู่ตลอดจนถึงตอนนี้ กว่าเขาจะศึกษาออกมาได้ใช่เรื่องง่ายๆ ใช้เวลาเป็นสิบยี่สิบปี และเหลืออีก 3 เดือนก็จะจบโครงการแล้ว" นายอนันต์เล่าถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ

แน่นอน ว่าจำเลยสำคัญของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น เจ้าของโครงการวิจัยมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งก็คือ ดร.วิไล ปราสาทศรี ผอ.สถานีทดลองพืชสวนท่าพระ นักวิจัยตัวเล็กๆ ที่แหล่งข่าวหลายแหล่งต่างการันตีถึงความเชื่อมั่นและความดื้อรั้น "กระทั่งมีการตรวจพบมะกอที่แพร่ะกระจายแล้ว เธอก็ยังยืนยันว่าควบคุมอย่างดี ไม่มีการหลุดรอด" ผอ.กองคุมคุมโรคกล่าว

ด้านผู้เชี่ยวชาญในกองควบคุมพืช ซึ่งมีความสนิทสนมกับดร.วิไล เล่าให้ฟังว่า ได้มีการโทรศัพท์ไปพูดคุยให้กำลังใจดร.วิไล เป็นระยะ จนขณะนี้เธอยังทำใจไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น

"พี่เพิ่งคุยกับดร.วิไลเมื่อคืน ตอนนี้แกยังทำใจไม่ได้ถึงกับฉี่เป็นเลือด ต้องกินยานอนหลับทุกคืน ก็บอกให้แกเข้มแข็ง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด" แหล่งข่าวกล่าว

"ถ้าจะลงโทษกันถึงพักราชการ กรมฯ ก็ออกจะเกินไปหน่อยแล้ว แกเป็นนักวิจัยที่ทำงานเต็มที่ด้วยความตั้งใจดี การหลุดรอดไปมันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เอาง่ายๆ เวลาผู้ใหญ่เอย นักข่าวเอยลงพื้นที่ ก็มีการปลอกมะละกอจีเอ็มโอรับรองทั้งนั้น ใครจะไปคุมลูกจ้างได้ขนาดนั้น เขารู้ว่าเป็นของดีเก็บเข้ากระเป๋าคนละไม่กี่เมล็ดก็ได้ เป็นคุณคุณไม่อยากได้หรือ" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวระดับสูงในกรมวิชาการเกษตรชี้แจงถึงนัยระหว่าง "การหลุดรอด" กับ "การปนเปื้อน" ของมะละกอจีเอ็มโอว่า ถ้าเป็นการปนเปื้อนแปลว่ากรอบระเบียบของการวิจัยผิดพลาด ต้องมีการแก้ไขใหม่ในเรื่องระยะห่างหรือการป้องกันต่างๆ แต่ถ้าเป็นการหลุดรอดก็ต้องหาคนผิด แล้วเร่งดำเนินการ

"แต่ถึงอย่างไร งานนี้กรมวิชาการเกษตรก็มีความผิด ต้องมีการตรวจสอบและสอบสวนกัน ตอนนี้ห้องแลบก็ตรวจตัวอย่างมะละกอกันไม่หวาดไม่ไหว ยังเก็บใส่ช่องแข็งไว้เต็มไปหมด เพราะถึงวันนี้ไม่ใช่แค่สุ่มตรวจ แต่ต้องตรวจทั้งหมดที่แจกจ่ายไป" แหล่งข่าวคนดังกล่าวระบุ

ผอ.กองควบคุมพืชฯ ยังอธิบายถึงบุคลิกภาพเฉพาะของนักวิจัยให้ฟังว่า ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่สนใจอะไรอย่างอื่นภายนอก นอกจากงานวิจัยของเขาเท่านั้น ดังนั้น ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติและดึงเอาศักยภาพของพวกเขาออกมาให้เป็นประโยชน์

"ช่วงที่มีปัญหาเรื่องการเงิน นักวิจัยบางคนถึงกับเอาเงินตัวเองมาใช้วิจัย เพราะเหลืออีกนิดเดียวก็จะจบอยู่แล้ว นี่คือจิตวิญญาณของคนที่เป็นนักวิจัย จิตใจเขาจดจ่ออยู่กับความต้องการสนองตอบทางปัญญา" ผอ.กองควบคุมพืชฯ กล่าว

แม้แต่วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย ซึ่งนับได้ว่าเป็นหัวหอกคนหนึ่งที่คัดค้านจีเอ็มโอ ก็เคยกล่าวหลายครั้งในหลายเวทีว่า โดยส่วนตัวแล้วมิได้เคลือบแคลงสงสัยในความบริสุทธิ์ใจของนักวิจัยโดยเฉพาะผอ.วิไล เขาเชื่อว่าผอ.วิไล จิตวิญญาณของความเป็นนักวิจัย มีความเป็นนักวิชาการสูง และเชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่ตนพัฒนาขึ้นมาอย่างจริงใจ

"ที่จริงแล้วถ้าจะไม่เอาจีเอ็มโอแล้วไปเล่นงานนักวิจัยก็ไม่ถูก เพราะนักวิจัยก็ทำตามคำสั่งอีกที" ผอ.กองควบคุมโรคพืชกล่าว

ภายใต้ปัญหานานัปการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม การศึกษาวิจัยเพื่อ "รู้เท่าทัน" ยังคงมีความจำเป็น แต่จากคำบอกเล่าครั้งนี้ เรากลับพบข้อน่าหวาดหวั่นเกี่ยวกับทิศทางการวิจัยของไทย อันมีจุดเปลี่ยนสำคัญนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยถูกตัดออกไปมาก ฝ่ายกำหนดนโยบายได้หันเหทิศทางงานวิจัยให้มุ่งตอบสนองเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญอย่างชัดเจน ทำให้ขาดความเป็นอิสระทางปัญญา...และยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่จนปัจจุบัน.

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net