Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เส้นทางฮีโร่เชียงใหม่
นักกีฬาพิการ …กำลังใจที่ต้องพึ่งตัวเอง

โอลิมปิกเอเธนส์เกมส์ปิดฉากลงไปแล้ว เวลาของการฉลองวีรบุรุษและวีรสตรีเริ่มสร่างซาลง แต่ค่ำคืนที่ 18 กันยายน 2547 เสียงเพลงชาติไทยได้กระหึ่มก้องกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซอีกครั้งด้วยผลงานของเธอ สายสุนีย์ จ๊ะนะ

เชียงใหม่ได้มีวีรสตรีของตัวเองขึ้นมาแล้ว เป็นวีรสตรีที่แม้สองขาของเธอจะอ่อนแรง แต่หัวใจเธอสุดแกร่ง แวว หรือสายสุนีย์ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบไทยจากอำเภอสารภี พิชิตเหรียญทองเหรียญแรกให้ทัพนักกีฬาไทย ในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้สำเร็จ และเธอยังคว้าเหรียญทองแดงมาอีกเหรียญให้สะใจกับความฝันสูงสุดในชีวิตที่คนพิการคนหนึ่งจะมีสิทธิ์ฝันได้

"พลเมืองเหนือ" ขอคารวะหัวใจอันยิ่งใหญ่ดวงนี้

/////////////////////////

หากเช้าวันนั้น…. เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว รถยนต์ที่แล่นมาตามถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูนไม่เฉี่ยวชนเอามอเตอร์ไซด์ของสาวน้อยวัย 18 ปีให้ล้มลง สายสุนีย์ในวันนี้อาจจะเป็นหัวหน้างานใดงานหนึ่งของบริษัทญี่ปุ่นในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน และมีครอบครัวที่อบอุ่นกับคนที่เธอรักไปแล้ว แต่อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยแค่นั้นไม่มีใครคาดฝัน และแม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่คาดคิดว่าจะพลิกชีวิตของ "แวว" ให้กลายเป็น "คนพิการ" อัมพาตขาทั้งสองอ่อนแรง …ขยับตามคำสั่งของสมองไม่ได้ ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นนับแต่นั้นมา

"รถก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากเลยนะ พ่อก็ไม่คิดว่าจะทำให้แววถึงขั้นพิการ คู่กรณีเขาก็บอกว่าไม่ได้ชน ไม่ได้ชน ส่วนแววกับเพื่อนที่ไปด้วยกันก็เอาแต่ร้องไห้เจ็บขา เถียงอะไรเขาก็ไม่ได้ พ่อก็เสียใจ เขาก็เสียใจมาก ก็บอกเขาว่าเรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว ให้กำลังเขา บอกว่าจะไม่ทิ้งไม่ขว้าง เอาใจใส่จนเขาค่อยทำใจให้ได้ทีละนิด" มูล จ๊ะนะ ผู้เป็นพ่อย้อนเวลาอันขมขื่นให้ "พลเมืองเหนือ" ฟัง

และนับจากนั้นสายสุนีย์ก็ต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ร่วม 4 เดือน ก่อนจะกลับมาตั้งหลักกับชีวิตที่พลิกผันอยู่ที่บ้านอีก 1 เดือนจึงตัดสินใจไปฝึกอาชีพที่ศูนย์คนพิการหยาดฝน อำเภอแม่แตง อันเป็นเสมือนโลกใหม่สำหรับสายสุนีย์ ที่ซึ่งเธอได้พบผู้คนที่ประสพปัญหาเดียวกัน

กีฬา ดูเหมือนจะเป็นทางออกให้เธอลืมความเจ็บปวด เธอเริ่มจากแชร์บอล แต่ภายหลังได้มารู้จักกับวีลแชร์ฟันดาบ และเธอก็เห็นว่าเป็นกีฬาประเภทบุคคล ที่ทำให้เธอคล่องตัวในการมุ่งมั่นฝึกซ้อมได้ นับจากนั้นเธอจึงมีเป้าหมายใหม่ให้ก้าวไปข้างหน้า แม้จะเป็นด้วยสองแขนและฝีมือ แทนขาที่ต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้ก็ตาม และเธอก็ได้ทำให้กีฬา ได้กลายเป็นอาชีพของเธอ เมื่อมุ่งมั่นฝึกซ้อมจนติดทีมชาติและเข้าแข่งขันกีฬาคนพิการระดับนานาชาติหลายครั้ง

เม็ดเงินที่เธอได้ก็ส่งมาทดแทนบุญคุณพ่อและส่งเสียน้องสาว "ประกายดาว" ให้เรียนปี 3 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยพายัพในปัจจุบัน

"พี่เขาอยากให้หนูเรียนต่อให้สูงที่สุด ส่งเสียหนูเรียน เงินใช้จ่ายที่บ้านก็มาจากพี่ เขาจะได้เป็นก้อนตอนไปแข่งต่างประเทศ และยังทำงานหลายอย่างเป็นคนรับโทรศัพท์บ้าง ช่วยงานสมาคมบ้าง หนูภูมิใจเขามากที่เห็นเขามีชีวิตที่ดีแม้จะเป็นคนพิการ เพราะจำได้ว่าตอนที่รถชนตอนนั้นใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะทำใจได้"ประกายดาวน้องสายของสายสุนีย์เล่า

"สิ่งที่ใฝ่ฝันที่สุดของแววก็คือได้ไปพาราลิมปิกสักครั้งในชีวิต แววบอกว่าไม่ได้เหรียญก็ช่างเถอะ ขอให้ได้ไปร่วมก็พอ" พ่อของเธอบอก

…แต่ใช่เพียงแค่ได้ไป…เธอทำได้มากกว่านั้น

สายสุนีย์ ลงแข่งขันพาราลิมปิกที่เอเธนส์เกมส์ครั้งนี้ในนามสมาคมส่งเสริมอาชีพคนพิการจังหวัดเชียงใหม่ โดยก่อนไปเก็บตัวเธอกลับมาบ้านเกิดนอนพักที่บ้านย่านอำเภอสารภีเพียง 1 คืนก่อนจะไปลาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ถึงศาลากลาง ประกาศความตั้งใจจริงว่าเธอจะเป็นตัวแทนคนเชียงใหม่ไปชิงชัยครั้งนี้

ขวัญชัย วงศ์นิติกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เล่าว่าได้เป็นตัวแทนท่านผู้ว่าฯ พูดคุยกับเธอ เธอบอกว่าตั้งใจมาก เปิดให้เห็นท่อนแขนของเธอเขียวช้ำไปหมดเพราะการฝึกซ้อม ยังได้มอบพระเครื่องให้เป็นกำลังใจ และมอบเงินจากท่านผู้ว่าฯ ให้เธอเป็นค่าใช้จ่าย 5,000 บาท และอวยพรให้เธอประสบความสำเร็จทำชื่อเสียงมาให้จังหวัดและประเทศชาติสมดังตั้งใจเป็น 5,000 บาท ที่รวมกับอีก 2,000 บาทที่สมาคมส่งเสริมอาชีพคนพิการจังหวัดเชียงใหม่มอบให้เธอติดตัวไปกรุงเอเธนส์ครั้งนี้

และเธอก็สมหวัง ประเทศชาติก็ปลื้มปิติ

เหรียญทองประเภทเอเป้ บุคคลหญิงกลุ่มบี เป็นเหรียญทองแรกที่เธอคว้ามาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2547 เธอเอาชนะ ยุย ซง ชาน นักกีฬาฟันดาบจากฮ่องกงอย่างสุดมันส์ เมื่อทั้งคู่ต่อสู้กันอย่างสูสี ฉวยโอกาสดักแทงเข้าเป้าฝ่ายตรงข้ามได้อย่างแม่นยำ จนมาเสมอกันที่ 13-13 ก่อนที่ใน 2 คะแนนสุดท้าย สายสุนีย์ จะได้โอกาสแทงเข้าเป้า 2 แต้มติด และเป็นฝ่ายเอาชนะได้อย่างหวุดหวิด 15-13

และยังอีกรายการในวันที่ 20 ก.ย. คือการแข่งขันประเภทดาบฟอยบุคคลหญิง ประเภทความพิการระดับบี ซึ่งผลออกมาคือเธอได้เหรียญทองแดง โดยเอาชนะทางด้าน เครอล ฮิกกี้ย์ สาวจากสหรัฐอเมริกา ไปแบบขาดลอยด้วยคะแนนถึง 15-5 คะแนน ส่วนเหรียญทองเป็นของ ยู ชุย ยี จาก ฮ่องกง

"สายสุนีย์" ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "ไม่คิดว่าจะมาไกลถึงจุดนี้ เพราะเพิ่งเริ่มเล่นกีฬาฟันดาบมาไม่นาน โดยเห็นว่าเป็นกีฬาประเภทบุคคล ถ้าตั้งใจจริงก็น่าที่จะประสบความสำเร็จได้
ที่มาจนถึงขั้นนี้ได้เพราะนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ตลอดเวลาเพราะทำให้รู้สึกมีสมาธิและกำลังใจดี เวลาที่ลงทำการแข่งขันพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันในตอนนั้นรู้ว่าคะแนนของตนเองเป็นฝ่ายตามหลังตลอด ตอนนั้นคิดว่ามันไม่มีอะไรจะเสียแล้วก็คิดขึ้นมาว่า ฉันต้องทำให้ได้ เหลือ 2 แต้มเอง ถ้าฉัน 14 เท่า ฉันตายแน่ ก็เลยบุกไว้ก่อน ใช้จังหวะเร็วเอาไว้ก่อนตัดสินใจเอากำลังทั้งหมดทุ่มเทลงไปจนได้เหรียญทองมาครอง ถึงเวลานี้รู้สึกมีความสุขมาก และความสำเร็จทั้งหมดในวันนี้ต้องขอขอบคุณผู้ฝึกสอนคุณคันฉัตร คงไพสันต์ และสมาคมที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด"

อรรพรรณ กันนัย เจ้าหน้าที่หน่วยเครื่องช่วยคนพิการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการฝ่ายกีฬาสมาคมส่งเสริมอาชีพคนพิการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ซึ่งสนิทสนมและสนับสนุนสายสุนีย์มาอย่างต่อเนื่องบอกกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า สมาคมฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมอาชีพคนพิการในหลายๆ ด้าน เช่นการประสานขอความอนุเคราะห์กับจุดต่างๆในการเปิดโอกาสให้คนพิการได้ประกอบอาชีพเช่นมีพื้นที่ให้ขายล็อตเตอรี่ สำหรับคุณสายสุนีย์ซึ่งพิการจากอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนจนขาทั้งสองข้างอ่อนแรง และเคยทำงานด้านที่นิคมอุตสาหกรรมมาก่อน แต่เมื่อพิการก็มาหัดเล่นกีฬาฟันดาบก็ทำการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องและเล่นกีฬาแต่เพียงอย่างเดียว

เมื่อครั้งเธอเข้าแข่งขันเก็บเกี่ยวประสบการณ์และชื่อเสียงก่อนจะได้ไปพาราลิมปิก เธอแข่งขันในนามสมาคมคนพิการนนทบุรี และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย แต่ครั้งนี้ได้กลับมาแข่งในนามของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เป็นครั้งแรกที่เชียงใหม่ขึ้นสู่การได้รับเกียรติมีนักกีฬาพิการเหรียญทอง เพราะก่อนหน้านี้ระดับฝีมือของนักกีฬาคนพิการที่นี่คือเข้าแข่งขันในระดับกีฬาคนพิการระดับประเทศเท่านั้น โดยกีฬาที่เชิดหน้าชูตาทีมจากเชียงใหม่คือบาสเก็ตบอลหญิง ซึ่งเคยได้รับเหรียญทองเฟสปิกเกมส์มาแล้วด้วยซ้ำ

เหตุผลสำคัญที่ไม่ค่อยมีนักกีฬาโดดเด่นนักเนื่องจาก ขาดการสนับสนุนและงบประมาณเป็นหลัก

"แต่เป็นกีฬาประเภททีม ต้องใช้งบสนับสนุนมากและต่อเนื่อง ก็เลยขาดตอนไป" อรพรรณกล่าวและบอกอีกว่า อยากให้รัฐบาลและคนไทยหันมาสนใจส่งเสริมคนพิการให้มีอาชีพด้านกีฬามากกว่าที่เป็นอยู่ ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร เวลาไปขอรับการสนับสนุนก็จะได้จากรายเดิมบ้าง ปีละ 2,000- 3,000 บาทบ้าง บางทีก็ถูกปฏิเสธอย่างนุ่มนวล อย่างเบี้ยเลี้ยงที่นักกีฬาไปแข่งหรือทีมงานไปก็จะเฉลี่ยกันได้คนละนิดละหน่อย ส่วนไปแข่งขันรายการใหญ่อย่างสายสุนีย์ ก็จะมีการกีฬาแห่งประเทศไทยรับผิดชอบการเดินทางที่พักต่างๆ พอได้อยู่ ส่วนเรื่องขวัญและกำลังใจนั้นบอกได้ว่าก็ต้องให้กำลังใจกันเอง

คาดว่าเงินอัดฉีดที่สายสุนีย์ได้รับเบื้องต้นจากนายสุวัฒน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีราว 1 แสนบาท นายส่ง กาญจนชูศักดิ์ ผู้จัดการทีมนักกีฬาคนพิการที่ประกาศจะอัดฉีดให้เหรียญทอง 3 แสนบาท และเงินเดือนละ 5,000บาท อีก 2 ปี สื่อบางฉบับบอกว่าเธออาจได้ 9 แสน บางฉบับบอกว่าอาจได้ 2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามพ.อ.(พิเศษ) โอสถ ภาวิไล นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยและในฐานะหัวหน้าคณะนักกีฬากล่าวว่า โบนัสที่นักกีฬาคนพิการได้รับจากรัฐบาลนั้นมันน้อยเกินไป โดยนักกีฬาปกติจะได้รับเหรียญทอง 3 ล้าน เหรียญเงิน 2 ล้านและเหรียญทองแดง 1 ล้าน ส่วนของคนพิการเหรียญทอง-เงินและทองแดงได้ 5-3-2 แสนบาท ดังนั้นตรงนี้ตนจึงไม่อยากให้มีช่องว่างมากเกินไปนัก

ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่บ้านเกิดของเธอเมื่อรู้ข่าว ก็ประกาศเตรียมที่จะต้อนรับสายสุนีย์ให้สมเกียรติ

"นับว่าสายสุนีย์คือตัวอย่างของความมานะ อดทนจนประสพความสำเร็จ ขณะนี้นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัด ร่วมกันสำนักงานการกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ประชุมเตรียมการต้อนรับสายสุนีย์ไว้แล้ว" นายขวัญชัย วงศ์นิติกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าว

นายมูล ผู้เป็นบิดากล่าวว่า ดีใจมากที่บุตรสาวมีความมุมานะและใฝ่ฝันจนประสบความสำเร็จ และคงจะดีหากจังหวัดจัดเลี้ยงต้อนรับ เหมือนอย่างนักกีฬาหญิงยกน้ำหนัก ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเหมือนกัน

นางสมศรี คำมี เพื่อนบ้านบอกว่า อยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ ช่วยเหลือและสนับสนุนเงินอัดฉีดให้กับ น.ส.สายสุนีย์ เนื่องจากมีความมานะอดทนในการฝึกซ้อมกว่าบุคลทั่วไป และยังต้องทำงานส่งเสียน้องเรียนหนังสืออีกด้วย

แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ …สำหรับสายสุนีย์แล้ว เธอบอกว่า ยังไม่อยากคิดถึงการต้อนรับและเงินรางวัลใดใด แต่สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดก็ตรงที่รัฐบาลควรให้ความสนใจนักกีฬาคนพิการเท่ากับคนปกติ เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น.

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net