Skip to main content
sharethis
Event Date

 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 เมื่อปีพ.ศ.2546 ที่บาหลี ผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันลงนามในเอกสารประวัติศาสตร์ที่เรียกกันต่อมาว่า “ปฏิญญาบาหลีฉบับที่สอง” (Bali Concord II) เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะช่วยกันผลักดันให้เกิด “ประชาคมอาเซียน” ที่ประกอบด้วยสามเสาหลักได้แก่ ประชาคมความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคม-วัฒนธรรม ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2563 (ต่อมาได้ร่นระยะเวลาเป้าหมายเป็น พ.ศ. 2558)

แผนงานก่อตั้งประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หรือ ASEAN) จากองค์กรที่เน้นบทบาทในการต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ในทศวรรษที่ 60 และ บทบาทด้านการสนับสนุนทางการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงในภูมิภาคในยุคหลังสงครามเย็น มาสู่การให้ความสำคัญในด้านการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของภูมิภาค การขยายโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงาน สวัสดิการทางสังคมและความมั่นคงทางอาหาร การตระหนักในความสำคัญของสิทธิ การคุ้มครองทรัพยากร ความยุติธรรมทางสังคม การเคารพในลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ และมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค

 กล่าวได้ว่า แผนงานสำหรับประชาคมสังคม-วัฒนธรรม อาเซียน เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงอิทธิพลของการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับประชาคมโลก ที่เรียกร้องความยั่งยืนทางทรัพยากร ความเท่าเทียมทางการศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ การมุ่งที่จะสร้างอัตลักษณ์ร่วมของภูมิภาค ยังสะท้อนถึงความพยายามในการลดความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิก ซึ่งสัมพันธ์กับอุดมการณ์ชาตินิยม

อย่างไรก็ดี วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนซึ่งสะท้อนถึงความหวังในอนาคตของภูมิภาค  ก็ ถูกท้าทายโดยความเป็นจริงที่ซับซ้อน ในหลายกรณี รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ยังคงส่งอิทธิพลต่อความตึงเครียดในความสัมพันธ์ ระหว่างชาติต่างๆในภูมิภาค ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานอพยพ และกลุ่มคนซึ่งไม่มีสิทธิมีเสียง ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคนานับประการ ในการเข้าถึงโอกาสอันเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงจัดการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยาขึ้น เพื่อทำความเข้าใจพลวัตทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค  เพื่อตั้งคำถามต่อทั้งความหวังและประเด็นท้าทายต่างๆของประชาคม สังคม-วัฒนธรรมอาเซียน  เพื่อ เปิดให้เห็นถึงฐานรากของความตึงเครียดทางการเมือง ข้อถกเถียงทางวัฒนธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ผ่านความรู้จากการวิจัยทางมานุษยวิทยาในภูมิภาค และเพื่อร่วมสร้างบทสนทนา ว่าด้วยความหวังเกี่ยวกับอนาคตของภูมิภาค

กำหนดการ: http://www.sac.or.th/databases/conference_asean_2011/wp-content/uploads/2011/08/panakritedit_120325552.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net