Skip to main content
sharethis


ศาลฎีกาหลังปัจจุบันสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเอกราชสมบูรณ์



แบบศาลฎีกาหลังใหม่


ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2549 คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เห็นชอบให้สร้างที่ทำการศาลฎีกาแห่งใหม่โดยเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ที่ปัดฝุ่นโครงการเดิมของศาลยุติธรรมตั้งแต่ 25 พฤศจิกายน 2529 ที่คณะรัฐมนตรีเวลานั้นเคยมีมติเห็นชอบให้สร้างที่ทำการศาลฎีกาแห่งใหม่บนพื้นที่เดิม (บริเวณถนนราชดำเนิน ตรงข้ามสนามหลวง)


 


ต่อมาสถานการณ์เป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้น เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2550 นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา มาเป็นประธานในพิธีบวงสรวงศาลฎีกาก่อนจะทำการรื้อถอนเพื่อสร้างอาคารศาลฎีกาแห่งใหม่ โดยได้รับงบประมาณ 3,764,775,000 บาท จะเริ่มก่อสร้างในปี 2551 และจะเสร็จในปี 2556 แต่กรณีดังกล่าวตามมาด้วยคำถามที่หลั่งไหลมาจากสังคมรอบข้างถึงเหตุผลที่แท้จริงของความต้องการทุบอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้


 


ความสงสัยและห่วงกังวลต่อคุณค่าบางประการทำกำลังจะหายไปทำให้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2550 บางกอกฟอรั่ม อิโคโมสไทย เครือข่ายผังเมืองเพื่อสังคม เครือข่ายนักวิชาการ สถาปนิก นักผังเมือง นักอนุรักษ์และภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดเสวนา ศิลปะสถาปัตยกรรม เรื่อง "อาคารศาลฎีกา: คุณค่าศิลปสถาปัตยกรรมของอาคารประวัติศาสตร์การยุติธรรมแห่งรัตนโกสินทร์" ที่หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


 


นายชาตรี  ประกิตนนทการ นักวิชาการจากภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกเล่าถึงคุณค่าของอาคารศาลฎีกาว่าเป็นสถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงการได้เอกราชโดยสมบูรณ์ของประเทศไทย  (ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างชาติที่ทำขึ้นหลายฉบับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมเพิ่งถูกยกเลิกจนหมดทุกฉบับ) ส่วนในแง่สถาปัตยกรรมนั้น อาคารศาลฎีกาเป็นที่รู้กันว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นยุคแรกของประเทศไทย ส่วนในทางประวัติศาสตร์การเมืองอาคารดังกล่าวสร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร (2475 - 2490) ขณะเดียวกันอาคารในยุคสมัยนี้เองกำลังถูกคุกคามทำลายอย่างมาก


 


ต่อมา นายชาตรี ได้ตั้งประเด็นคำถามสำคัญถึงความเป็นสาธารณะของอาคารกับสถานะพลเมืองในเมืองจากกรณีการรื้อถอนอาคารศาลฎีกาว่าจะไม่ให้มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเมืองเลยหรือ ทั้งที่อาคารศาลฎีกาเป็นอาคารสาธารณะที่อยู่บนพื้นที่สาธารณะของชาติและประชาชนทุกคน แต่การออกแบบอาคารกลับกระทำโดยปกปิดลับสุดยอด ออกแบบทำกันเองภายใน ล้อมรั้วแล้วสร้าง พอเสร็จก็ค่อยเปิดออก


 


"ผมเป็นหนึ่งในเจ้าของประเทศและเสียภาษีทุกปีจึงมีสิทธิตั้งคำถามว่า เมื่อมีการสร้างอาคารขนาดใหญ่มากบนพื้นที่สาธารณะที่สำคัญมาก พลเมืองก็ควรจะมีส่วนร่วมในการวิพากษ์" นาย ชาตรีกล่าว


 


เขายังกล่าวอีกว่า ความต้องการรื้ออาคารศาลฎีกานั้นแท้จริงแล้วเป็นปัญหาเรื่องความเป็นไทยในสถาปัตยกรรม เพราะโดยลึกๆแล้วเราไม่คิดว่าอาคารที่มีหน้าตาแบบศาลฎีกามีความเป็นไทยเลย ประเด็นนี้อาจกล่าวได้ว่ายังไม่สามารถกลืนรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคนี้ ( ยุคคณะราษฎร์และศิลปะแบบโมเดิร์น ) มานิยามให้เป็นไทยได้ ต่างจากการนิยามความเป็นไทยที่สามารถกลืนพระที่นั่งอนันตสมาคมหรืออาคารกระทรวงกลาโหมที่แม้จะพูดว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกก็พูดว่าเป็นประวัติศาสตร์ของความเป็นไทยได้


 


ปัญหาความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมจึงเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญ แต่ตอนนี้อยากให้ชะลอการรื้ออาคารดังกล่าวไปก่อนและควรต้องมีการพูดคุยจากทั้งผู้ออกแบบ ศาล และประชาชน เพราะด้วยระบบราชการที่ปิดล็อกไม่สามารถแก้ปัญหาแบบนี้ได้


 


"แม้ศาลฎีกาจะถูกส่งแบบเข้าคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ให้พิจารณาแต่เพราะความซับซ้อนของสังคมปัจจุบันมันเลยผ่านจุดที่จะให้คณะกรรมการกรุงกรุงรัตนโกสินทร์ตัดสินเพียงผู้เดียวแล้ว ควรจะออกมาสู่สังคมที่กว้างขวางขึ้น"


 


ด้านนางปองขวัญ สุขวัฒนา (ลาซูส) อุปนายกและประธานกรรมาธิการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามให้ความเห็นว่า สถาปัตยกรรมตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 (สถาปัตยกรรมหลังสมัยรัชกาลที่ 5) มักจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร ตรงนี้อาจเป็นเพราะกรรมการวิชาการของกรมศิลปากรที่ดูแลในเรื่องการขึ้นทะเบียนอาคารอนุรักษ์เป็นกลุ่มหัวโบราณที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของอาคารรุ่นหลังๆ อาคารรุ่นหลังๆไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีคุณค่า แต่เขาไม่ได้ดึงเรื่องคุณค่ามาขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ยังปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิดและไม่มีการให้ความรู้กับประชาชนว่าอะไรคือสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ หรืออะไรคือมรดกของชาติ


 


กระนั้นทางสมาคมสถาปนิกสยามได้ทำโครงการชื่อ "การจัดทำทะเบียนควรค่าแก่การอนุรักษ์" ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อว่าอย่างน้อยจะได้มีเวทีให้สมาชิกส่งเรื่องอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์แต่จะถูกรื้อมาให้ และได้ทำเว็บไซต์ www.thai-heritage-building.com  เพื่อเผยแพร่ข้อมูล อาคารศาลฎีกาเองก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ของสมาคมสถาปนิกสยาม แต่เมื่อส่งจดหมายและแจ้งให้เจ้าของอาคารได้ทราบว่ามีสถาปนิกของสมาคมสถาปนิกสยามส่งเรื่องว่าอาคารศาลฎีกาเป็นอาคารที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์กลับมีเจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาคนหนึ่งมาบอกว่าอาคารศาลฎีกากำลังมีโครงการรื้อถอนและสร้างใหม่จึงขอให้เอาอาคารศาลฎีกาออกจากทะเบียนในโครงการของสมาคมฯ


 


"เขาบอกให้เราเข้าพบกับเลขานุการศาลฎีกา พอพบ ท่านพูดหว่านล้อมต่างๆว่าเรามีโครงการรื้อถอนและสร้างใหม่ที่ได้รับการอนุมัติและวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่มีเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้โครงการหยุดชะงักไป โชคดีตอนนี้ได้รับงบประมาณมาจากทางรัฐบาล แต่เห็นว่าทางสมาคมสถาปนิกสยามมีความรู้ทางวิชาการที่จะโน้มน้าวให้คนเข้าใจว่าอาคารนี้เป็นมรดกแล้วจะเกิดการขัดขวาง ขอให้เอาชื่อนี้ออกจากทะเบียน"


 


นอกจากนี้ เลขานุการศาลฎีกายังได้เอารูปอาคารศาลฎีกาที่ออกแบบเตรียมสร้างใหม่มาให้ดู โดยบอกว่าจะสร้างให้สวยเพราะอาคารเก่านั้นมันไม่สวย เก่า อีกทั้งอยู่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ก็ดูไม่โดดเด่น อาคารที่จะทำใหม่จะสวยสง่าเทียบเท่าพระบรมมหาราชวัง รูปแบบอาคารที่นำมาให้ดูเป็นอาคารทรงยอดปราสาท คาดว่าน่าจะเป็นแบบของเมื่อ 15 ปี ก่อน


 


นางปองขวัญ กล่าวต่ออีกว่า ระยะหลังกระแสโลกมองไม่เห็นว่าสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นมีคุณค่า ประเทศไทยเองก็เช่นกัน แต่ความจริงแล้วสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นก็สำคัญ เพราะเป็นการเรียนรู้ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและอุตสาหกรรม สถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องบอกเรื่องราวทางสังคม ความเป็นอยู่ และเทคโนโลยี จากมรดกเหล่านี้เราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ คุณค่าสถาปัตยกรรมจึงไม่ได้แค่ที่ความงามหรือความเก่าความใหม่เท่านั้น


 


นายดนัย อนันติโย นักกฎหมายจากสภาทนายความกล่าวว่า คุณค่าทางประวัติศาสตร์นั้นมีคุณค่ามากแต่เราไปทำลายและบิดเบือน อาคารนี้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งในการแก้สนธิสัญญาต่างๆเพื่อประกาศเสรีภาพโดยสมบูรณ์ หรือเสา 6 ต้นของอาคารศาลฎีกาก็หมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เรื่องราวเหล่านี้จึงน่าจะเก็บไว้ให้ได้เรียนรู้


 


สำหรับแนวทางออกในแง่กฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนไว้ อาคารศาลฎีกาเองเป็นอาคารดั้งเดิมที่สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 2482 จึงเท่ากับเป็นศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง คิดว่าคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทางศิลปะ และทางวัฒนธรรม นี้เป็นสิทธิชุมชนอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ นอกจากนี้ ถ้าหากจะทำลายอาคารเหล่านี้ ตามมาตรา 67 ระบุว่า ต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน ดังนั้นก่อนจะทุบศาลฎีกาก็ต้องทำประชาพิจารณ์ ในอีกทางออกหนึ่งอาจต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลใช้คำสั่งคุ้มครองห้ามรื้อก่อน


 


สำหรับนายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนในที่คลุกคลีใช้งานกับพื้นที่อาคารโดยตรง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่วงเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พื้นที่อาคารศาลฎีกาว่า ก่อนกลายจะมาเป็นอาคารศาลฎีกาในยุคปัจจุบัน พื้นที่นี้เคยมีอาคารหลังแรกที่รัชกาลที่ 5 ดำริให้สร้างเป็นศาลในระบบตะวันตกแห่งแรกของประเทศไทยในโอกาสฉลองกรุง 100 ปี อาคารหลังนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง ต่อมากระทรวงยุติธรรมก็เกิดบนพื้นที่นี้ อีกประมาณ70 ปีให้หลังอาคารเก่าลงมากเพราะเป็นไม้จึงมีการขอรื้อเพื่อสร้างใหม่ แต่ช่วงเวลาท้ายๆของอาคารหลังนั้นกลับไม่มีผู้ใดกล่าวถึงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ มันแสดงให้เห็นว่าการรื้อถอนอาคารโดยรู้เท่าไม่ถึงการนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง


 


ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในการสร้างอาคารศาลฎีกาช่วงสุดท้ายได้พบศิลาฤกษ์ของรัชกาลที่ 5 ได้เคยระบุว่า ถ้ารู้ที่มาที่ไปของอาคารแล้วไม่ควรทุบเลย แต่มันทุบไปแล้วก็ได้แต่บอกว่าเสียดาย ในวันวางศิลาฤกษ์อาคารศาลฎีกา จอมพลสฤษดิ์จึงไม่บอกว่ามาวางศิลาฤกษ์ เพราะศิลาฤกษ์ได้วางไปแล้วโดยพระมหากษัตริย์ แต่ใช้คำว่าว่ามาเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท


 


ผู้พิพากษาศาลฎีกาคนนี้ให้ความเห็นอีกว่า อาคารศาลฎีกายังเป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่เป็นประวัติศาสตร์ของศาล จะทุบทิ้งโดยไม่เห็นคุณค่าอีกแล้วหรือจะไม่ศึกษากันหน่อยหรือ ทั้งที่คุณค่าแบบนี้สามารถใช้ทำอะไรได้มาก และน่าสนใจหากจะใช้อาคารนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ของศาลที่ดูแลโดยศาลเอง ซึ่งจำทำให้ได้ใช้อาคารและสนองเรื่องวัตถุประสงค์ให้ไปด้วยกัน


 


"พื้นที่ตรงนี้เหมาะในการเสริมหัวแหวนให้เป็นที่ท่องเที่ยว ฝรั่งเองเคยมาถามว่าอาคารนี้คืออะไร เขาคิดว่าเป็นที่แสดงนิทรรศการ ศาลควรเปิดรูปแบบการเรียนรู้ให้ประชาชนและเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ของศาล อาคารศาลฎีกานี่มันมาสเตอร์พีซ" นายบุญรอด กล่าว


 


ทั้งนี้ นายบุญรอดเองยอมรับว่าอยากมีอาคารศาลฎีกาใหม่ที่สง่างามเพราะรู้ว่าศาลเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศ หลายประเทศจึงทำใหม่ให้สง่างาม แต่ไม่มีประเทศไหนทุบอาคารเก่าทิ้ง คือของเก่าจะเก็บรักษาไว้อย่างดีเพราะเขาเห็นว่าต้องมีภาพความต่อเนื่องของความเป็นศาลฎีกา


 


นอกจากนี้ ผู้พิพากษาศาลฎีกายังได้ชี้ข้อสังเกตที่เป็นปัญหาทีสุดในกรณีการรื้ออาคารว่า เป็นเพราะคนในศาลเมื่อรู้ว่าพื้นที่นี้เคยเป็นจุดกำเนิดของศาลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จึงเกิดความรู้สึก "ติดที่" ว่าต้องอยู่ตรงนี้ เมื่อจะสร้างใหม่ก็ต้องสร้างตรงนี้


 


"ความติดที่แล้วทุบอาคารเก่าออกทำให้เกิดปัญหา แต่ถ้าเราต่อยอดทำอาคารเก่าให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้วิวัฒนาการของศาล ตัวอาคารเองมันบอกอะไรหลายอย่าง ทั้งการต่อสู้หรือเรื่องต่างๆ แต่ตอนนี้มันเป็นปัญหาเรื่องการติดที่"


 


จากนั้นจึงกล่าวต่อว่า ส่วนตัวแล้วไม่มีข้อทักท้วงเรื่องสร้างอาคารใหม่ แต่มีความคิดที่ว่าถ้าสร้างใหม่ของเก่าต้องหายไปบังเอิญไปอยู่ในส่วนผู้บริหาร แต่คิดว่าเรื่องนี้ควรแยกให้ออกเป็น 2 ประเด็นระหว่างการสร้างอาคารเก่ากับรื้ออาคารใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net