Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 



 


                    สเตเดี่ยมในสนามกีฬาโอลิมปิก และพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่พักนักกีฬา


                   


 


 


โดย  มุทิตา เชื้อชั่ง


 



 


Survey ปักกิ่งก่อนโอลิมปิก


มิถุนายน 2549


 


คิดได้อีกทีเครื่องบินก็ลงจอดที่สนามบินปักกิ่งเสียแล้ว….ตอนนี้อะไรๆ ในปักกิ่งล้วนถูกปรับปรุง และก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นการใหญ่ เพราะอีก 2 ปี จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก ใครอยากดูเบื้องหลังการถ่ายทำขอให้รีบไป สนามบินกำลังก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ สถานที่ท่องเที่ยว วัด วังโบราณ กำลังซ่อมแซม ทาสีใหม่ ถนนหนทางถูกขุดเพื่อขยายเส้นทางรถไฟใต้ดินที่มีมานานกว่า 30 ปี ให้ลากยาวผ่านสนามกีฬาขนาดยักษ์ที่อยู่ชานเมือง ฯลฯ


 


โชคดีหรือโชคร้ายไม่รู้ที่ได้ใกล้ชิดชนิดเกาะขอบสนามกีฬาโอลิมปิก เพราะพักอยู่คนละฟากถนน สนามกีฬาขนาดมหึมามีการก่อสร้างกันทั้งวันทั้งคืน จนย่านนั้นดูโรแมนติกแบบสุขภาพไม่ดี เพราะเม็ดฝุ่นทำหน้าที่คล้ายสายหมอกกลางฤดูร้อน !


 


แผนที่เมืองปักกิ่ง 1 แผ่นกับภาษาจีนงูๆ ปลาๆ สามารถพานักท่องเที่ยวต่างถิ่นเดินทางไปได้ทั่ว เพราะคนจีนมีอัธยาศัยไมตรีดี และบ้านเมืองก็ได้รับการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยตึกสูงถึงสูงมาก สมกับดัชนีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ที่ทะยานขึ้นเอาๆ จนประเทศอื่นไล่กวดไม่ทัน


 


นอกจากวัด และวังโบราณที่เลื่องชื่อทั้งด้านความสวยงาม ขนาด และจำนวนแล้ว สิ่งที่กระจายอยู่ทั่วไปในปักกิ่งอีกอย่าง คือ สีเขียวของสวนสาธารณะ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เก็บค่าผ่านประตูราคาถูกบ้าง ถูกสุดๆ บ้าง (แต่ก็เก็บทุกที่) ส่วนที่เข้าได้ฟรี ทุกที่ ทุกเวลา เห็นจะเป็น "ห้องน้ำสาธารณะ" ที่มีอยู่แทบทุกหัวถนน แม้ในอดีตห้องน้ำเมืองจีนจะขึ้นชื่อในทางน่าสยอง แต่ปัจจุบันนี้มันได้รับการปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐานตั้งแต่ระดับพอใช้ได้ ไปจนถึงชนิดติดแอร์ในห้องน้ำอย่างดี ฉี่ไปก็หนาวไป… -__-!


 


ระบบเซ็นเซอร์ละเอียดยิบ อย่ากระพริบตา


ยังไงก็ตาม แผนที่แผ่นเดียวดูเหมือนไม่สามารถสร้างความอุ่นใจได้เพียงพอ จึงต้องตระเวนตามร้านหนังสือหาซื้อไกด์บุ๊ก "LONELY PLANET" จนทั่วเมือง ทำให้ค้นพบอะไรหลายอย่าง 1.มันราคาแพงกว่าเมืองไทยหลายร้อยบาท 2.มีหลายช่วงในหนังสือที่ถูกสติ๊กเกอร์สีขาวแปะทับข้อความไว้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำอธิบายที่เกี่ยวกับจัตุรัสเทียนอันเหมินไม่มากก็น้อย 


 


แม้ประโยคเพียงประโยคเดียวก็ยังถูกเซ็นเซอร์ เช่น ตอนที่หนังสือบรรยายว่า "จัตุรัสเทียนอันเหมินนั้นไม่สามารถขี่จักรยานเข้าไปได้ (แต่ดูเหมือนว่าถ้าเป็นรถถังจะโอเค)" ข้อความในวงเล็บถูกแปะทับ คงเพราะมันเป็นอารมณ์ขันที่เกี่ยวโยงกับการปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกลางจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989


 


ที่สำคัญ สติ๊กเกอร์เมืองจีนนั้นมีคุณภาพมาก แม้คุณจะพยายามแกะมันอย่างประณีตขนาดไหน มันก็ยังลอกเอาตัวหนังสือติดไปด้วยทุกที !


 


 



 


สติ๊กเกอร์แปะทับข้อความเกี่ยวกับเทียนอันเหมินในหนังสือโลนลี่แพลเน็ต แกะแบบเบามือที่สุดก็ยังถลอกนิดหน่อย (เซ็นเซอร์แบบแฮนด์เมดที่ต้องยกนิ้วให้ในความพยายาม)


 


 


เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่า ระบบเซ็นเซอร์ของจีนนั้นแข็งแกร่งเพียงใด โดยเฉพาะโลกไซเบอร์สเปซ และมันได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ประเทศผู้นำประชาธิปไตยอย่างสหรัฐแสดงความกังวลใจตลอดมาเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองจีน


 


ว่าแล้วเลยอดไม่ได้ที่จะต้องเยี่ยมชมอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ณ กรุงปักกิ่ง เสียหน่อย


 


ที่นั่น นักท่องเที่ยวต้องใช้หลักฐานสำคัญอย่างพาสปอร์ตในการส่งอีเมล์กลับบ้านทุกๆ ครั้ง แม้ว่าคุณจะเข้าร้านแห่งนั้นเช้า-เย็น เป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ก็ยังต้องใช้พาสปอร์ตทุกครั้งอยู่ดี ส่วนคนจีนก็ไม่น้อยหน้า เด็กๆ ที่เข้าไปเล่นเกม หรือแชทกันเป็นส่วนใหญ่ ต้องใช้บัตรประชาชน และเขียนชื่อ เลขประจำตัว ในสมุดลงทะเบียนของร้านทุกครั้งด้วยเช่นกัน


 


ความเข้มงวดเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกไม่น้อย (แม้จะรู้อยู่แล้วว่าเขาเข้มงวด!) สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศซึ่งข่าวสารข้อมูลไหลเวียน "เหมือนจะ" เสรีอย่างประเทศไทย …


 


ทันทีที่กลับถึงที่พัก คำถามเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์หนังสือและอินเตอร์เน็ตก็หลั่งไหลสู่เพื่อนสาวชาวจีน ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยคณบดีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางตอนใต้


 


 "ประเทศเธอไม่ปิด แต่ไม่ใช่ สำหรับประเทศฉัน" รอยยิ้มบางๆ แต่เต็มไปด้วยความอึดอัดปรากฏบนใบหน้าเธอ บทสนทนาจึงจบลงเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกับที่ไม่ได้รับอีเมล์ตอบกลับในเรื่องนี้จากเพื่อนชาวจีนคนใดเลย ยกเว้นเพื่อนต่างชาติอย่าง Enda !


 


Enda เป็นผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศที่ใช้ชีวิตอยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่มากว่า 4 ปี เราเจอกันโดยบังเอิญในค่ำคืนของมหกรรมเวิล์ดคัพที่เพิ่งผ่านไป (คนหนุ่มสาวเลยไปจนถึงวัยกลางคนในจีนติดบอลโลกหนึบหนับ และบรรยากาศการแข่งขันบอลโลกก็คึกคักมาก) เขาไม่แปลกใจที่ไม่มีชาวจีนคนไหนยอมตอบคำถามนี้ เพราะมันเป็นประเด็นอ่อนไหวมากในประเทศจีน


 


เขาเล่าว่า ผู้คนจำนวนมากไม่ต้องการจะพูดอะไรที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพราะกลัวว่าชื่อของพวกเขาจะปรากฏอยู่ในบทความ ยิ่งกว่านั้น พวกเขาจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าระบบการเซ็นเซอร์ในประเทศตัวเองมีขอบเขตกว้างขวางขนาดไหน หรือไม่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าโดนรัฐบาลควบคุมอะไรมากมาย เพราะเอาเข้าจริง รัฐบาลเริ่มควบคุมความคิดของผู้คนตั้งแต่  5 ขวบแล้วในระบบการศึกษา (เอ๊ะ! ฟังดูคุ้นๆ)


 


ส่วนปัญญาชนชาวจีน หรือคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต และแหล่งข้อมูลในต่างประเทศ พวกเขาย่อมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศของตัวเอง แต่โดยส่วนใหญ่ไม่อยากยอมรับ และมักแสดงออกว่า "ก็ไม่มีปัญหาอะไรนี่!"


 


และใครก็ตามที่อาจหาญให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ก็จะถูกจับเข้าตารางได้โดยง่าย ด้วยข้อหาคุกคามความมั่นคงของรัฐ


 


"รัฐบาลจีนก็เหมือน ผู้เฒ่าถือไม้เท้า กับหมาตัวใหญ่ๆ ที่จะคอยยืนจ้องมองอยู่ข้างหลังคุณเสมอ จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะหวาดกลัว ไม่กล้าทำอะไรที่รัฐบาลไม่ชอบ เพราะมันไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากทั้งปวง ผู้คนจึงต้องทำเป็นตาบอด" Enda ว่าอย่างนั้น


 


"ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ" ภาษิตไทยที่รัฐบาลจีนเข้าใจดี!


ประเด็นนี้ซีเรียสมากในประเทศจีน รัฐบาลจีนพยายามกลั่นกรองข้อมูลในอินเตอร์เน็ต โดยสร้างตำรวจอินเตอร์เน็ตที่ประจำอยู่ในหน่วยงานของรัฐมากถึง 50,000 แห่ง พวกเขาจะคอยออนไลน์เพื่อบล็อกเว็บไซต์ ปิดบล็อกส่วนตัว ลบความเห็นในเว็บบอร์ด และจับกุมคนที่มีความคิดเห็นต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์หรือต่อต้านสังคมนิยม โดยรัฐบาลจีนสามารถพัฒนาระบบการเซ็นเซอร์ให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ก็ด้วยความร่วมมือจากบริษัทอเมริกันอย่าง ซัน ไมโครซิสเต็มส์ นอร์เทล และซิลโก้ ซิสเต็มส์  นั่นแหละ


 


นอกจากนี้ยักษ์ใหญ่ในวงการอินเตอร์เน็ตอย่าง ยาฮู, ไมโครซอฟท์ และกูเกิล ที่เพิ่งได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมแบ่งเค้กในตลาดจีนได้ไม่นาน ก็จำต้องยอมตามระบบเซ็นเซอร์อันแสนเข้มงวดของรัฐบาลอย่างน่าเห็นใจ เพราะตลาดเสิร์ชข้อมูลออนไลน์ของจีนนั้นมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนที่มีอยู่ราว 100 กว่าล้านคนก็ทำท่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกทีๆ คาดว่าน่าจะแซงแชมป์โลกอย่างสหรัฐได้ในไม่กี่ปีนี้


 


ดังนั้น เมื่อคุณใช้เสิร์ชเอ็นจิ้นเหล่านี้ในจีนค้นหาคำแสลงใจของรัฐ เช่น ลัทธิฟาหลุนกง, องค์ดาไลลามะ, พรรคประชาธิปไตยจีน ฯลฯ ผลการสืบค้นก็จะขึ้นข้อความว่า "ไม่สามารถค้นหาเว็บไซต์ดังกล่าวได้" ขณะที่เว็บบล็อกสุดฮิตอย่างเอ็มเอสเอ็น สเปซ  ก็จะโชว์ว่า "ห้ามใช้ถ้อยคำนี้และกรุณาลบ"  เมื่อเจ้าของบล็อกพยายามพิมพ์คำจำพวก "ประชาธิปไตย", "อิสรภาพ", "สิทธิมนุษยชน"


 


นอกจากการเซ็นเซอร์ถ้อยคำทางการเมืองแล้ว คำที่มีความหมายในเชิงเพศสัมพันธ์และลามกอนาจารก็โดนด้วยเหมือนกัน


 


อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจีนจะทุ่มเทกับระบบเซ็นเซอร์ขนาดไหน แต่ดูเหมือนยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เดินหน้าท้าทายอำนาจรัฐ เห็นได้จากสถิติในรายงานของกลุ่ม Reporters Without Borders ที่ระบุว่า ในปี 2005 มีนักข่าวจำนวน 32 รายถูกจำคุก ในขณะที่มากกว่า 62 รายถูกจำคุกด้วยข้อหา "โพสต์" ความคิดเห็นทางการเมืองแบบออนไลน์


 


โดยเฉพาะกรณีของยาฮู และไมโครซอฟท์นั้นเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะมีการให้ข้อมูลของผู้เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลบนอินเตอร์เน็ตแก่รัฐบาลจีน นำไปสู่การจับกุมผู้เขียนและการปิดบล็อก หรือไดอารีออนไลน์ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว


 


ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดในจีน นอกจากจะเกี่ยวพันกับประเด็นสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างชัดเจนด้วย เมื่อ "คอนโดลีซซ่า ไรซ์" รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเสนอการจัดตั้งกลุ่มคณะทำงานพิเศษด้านการส่งเสริมเสรีภาพอินเตอร์เน็ตโลก เพื่อให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทำได้สูงสุด ในจีนหรือในประเทศที่มีระบอบการปกครองควบคุมเข้มงวด


 


หลังจากนั้นไม่นาน ราวเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คริสโตเฟอร์ เอช. สมิธ สมาชิกผู้แทนจากรัฐนิวเจอร์ซีย์  สังกัดพรรครีพับลิกัน ก็ได้เสนอ พ.ร.บ. เสรีภาพสื่อออนไลน์โลก ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานเสรีภาพสื่อออนไลน์โลก เพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับบริษัทอินเตอร์เน็ตในการดำเนินงานในต่างประเทศ ไม่ให้มีการกรองคำสำคัญในการค้นหา เช่น ด้านการเมืองหรือศาสนาออกไปจากระบบ และกำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยการกลั่นกรองเนื้อหาให้ผู้ใช้รับทราบ


 


.....นี่อาจเป็นภารกิจที่จำเป็นของประเทศผู้นำด้านประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของโลก เพื่อกดดันให้รัฐบาลจีนเปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน แม้ว่าสหรัฐเองจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยเกี่ยวกับการครอบงำสื่อ และสื่ออเมริกันก็ครอบงำสื่อสัญชาติอื่นๆ อีกค่อนโลก


 


เรื่องนี้ยังถกเถียง แลกเปลี่ยนกันได้อีกมากนัก แต่ที่รู้ๆ ก็คือ มันแย่มาก เมื่อนึกว่าอะไรบางอย่างทำให้เพื่อนหนุ่มสาวชาวจีนไม่กล้าแม้แต่จะพูดถึงเรื่องราวในบ้านของตัวเอง ไม่ว่าพวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์หรือเลือกที่จะปกป้อง "ผู้เฒ่าถือไม้เท้า กับหมาตัวใหญ่ๆ" ของพวกเขาก็ตาม


 


ยังไม่นับกรณีที่ บล็อกเกอร์ชาวจีนบางคนถูกจำคุกเป็น 10 ปี เพราะเขียนในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net