Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง


 


 


เด็กอิรักบนพื้นที่รกร้างว่างเปล่า สงครามสหรัฐบุกอิรักส่งผลให้คนอิรักนับล้านกลายเป็นคนไร้บ้าน (ที่มาภาพ: GALLO/GETTY)


 


ชีวิตในค่ายอพยพ


 


ประชาชนอิรัก 2.7 ล้านคน ใช้ชีวิตอย่างเปลือยเปล่า ไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร ไม่มีความปลอดภัย ในมาตุภูมิของตนเอง … นี่คือผลจากสงครามเพื่อความยุติธรรม (Justice War) ของสหรัฐอเมริกา


 


ห้าปีหลังการบุกเข้ายึดครองอิรัก มีประชาชนอิรักกว่า 2 ล้านคนที่ลี้ภัยไปยังซีเรีย และอีก 1.5 ล้านคนลี้ภัยไปยังจอร์แดน รวมถึงอีกจำนวนมากที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านในประเทศบ้านเกิดของตน


 


ดังเช่นที่ค่ายควาวาลา (Qawala camp) ที่ตั้งอยู่ชานเมืองสุไลมานนี (Sulaimaniya) มีคนไร้บ้านจากทั่วอิรักย้ายหนีความรุนแรงจากสงครามมาอยู่ที่ค่ายแห่งนี้ -- สุนัขจรจัดคุยเขี่ยอาหารไปตามกองขยะ รวมถึงกลิ่นเหม็นของสิ่งโสโครก ชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่นี่ได้แต่นั่งรอคอยในเต้นท์ที่มีอากาศอบอ้าว พร้อมด้วยกะทะและบัตรปันส่วนอาหาร รวมถึงในเดือนที่ต้องเผชิญกับฝนและลมแบบนี้ พวกเขากลับมีที่อยู่อาศัยที่ไม่น่าอภิรมย์มากนัก


 


เมืองสุไลมานนี อยู่ทางตอนเหนือของอิรัก ได้ต้อนรับผู้ลี้ภัยประมาณ 60,000 ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขาหนีมาจากเขตที่มีการต่อสู้กันรุนแรงในทางแถบภาคใต้หรือแถบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แบกแดด (Baghdad) ดิยาวา (Diyala) และโมซุล (Mosul)


 


ไฮดี อับดุลลาห์ อาลี (Haidi Abdullah Ali) วัย 31 ปี ต้องใช้ชีวิตอยู่ในค่ายควาวาลามากว่าปีครึ่งแล้ว พร้อมกับภรรยา ลูกหกคน รวมถึงลูกๆ ของพี่ชายเขาอีกสี่คนที่กลายมาเป็นเด็กกำพร้า เนื่องจากพ่อของเขาถูกสังหารจากปฏิบัติการทางทหาร


 


อาลีเคยมีบ้านเป็นของตนเองที่เมืองโมซุล (Mosul) และทำงานในฟาร์มปศุสัตว์ของตนเอง เขาเคยมีรายได้ดีถึงวันละ 300 ดอลลาร์ - แต่ทุกวันนี้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในเต้นท์ของค่ายผู้อพยพ


 


"พี่ชายของผมเป็นคนดี รักครอบครัว ทำงานหนักเพื่อครอบครัว แต่เขาดันต้องมาตาย เพราะสงครามเมื่อสามปีก่อน" อาลีกล่าว "พวกมันจับตัวเขาไปและสังหารเขา เราเจอศีรษะของเขาที่ถูกตัด ทิ้งไว้ใกล้ๆ บ้านเรานี่แหละ ตอนนั้นแกพึ่งอายุได้ 28 ปี"


 


ส่วนพี่สะใภ้ของอาลีก็ตายในเวลาต่อมา ปล่อยให้ลูกๆ ของพวกเขากลายเป็นเด็กกำพร้า


 


"ผมไม่มีพี่น้องที่มีชีวิตแล้ว หลังเขาถูกฆ่าในโมซุล พ่อของผมขอร้องให้เราหนีออกมา เอาเด็กๆ ออกมาจากที่นั่นเพื่อความปลอดภัย ผมไม่มีอะไรจะสูญเสียไปมากกว่านี้แล้ว"


 


"ผมไม่อยากจะคิดหากวันใดที่ผมตายไป แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กๆ ตอนนี้ผมมีปัญหา ผมเป็นโรคไต และจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา ผมขายฟาร์ม บ้าน และทุกอย่างเพื่ออนำเงินมารักษา ผมรู้สึกเวทนาตัวเองเหลือเกิน"


 


คุซเคย์ (Khushkay) ภรรยาของอาลี พยายามจะทำตัวไม่ให้ว่างเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นการซักเสื้อผ้าให้เด็กๆ หาสิ่งของต่างๆ แต่มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น


 


"นี่ไม่ใช่การดำรงชีพแบบปกติแล้ว" เธอกล่าว


 


"เราไม่มีอะไรให้ทำเลยในแต่ละวัน ได้แต่นั่งรอคอยในเต้นท์ร้อนๆ ฉันทำอาหารได้เพียงมื้อเดียวต่อวันเท่านั้น ซึ่งมีแต่ข้าว แต่เด็กๆ ต้องการเนื้อสัตว์เป็นอาหารด้วย"


 


"ที่โมซุล เรามีเนื้อสัตว์ ข้าว ถั่วและโยเกิร์ต ฉันหวังว่าฉันจะได้กลับไปใช้ชีวิตที่นั่น กลับไปบ้านที่น่าอยู่พร้อมด้วยห้องน้ำและเฟอร์นิเจอร์"


 


ไปอีกเต้นท์, ซาฮิรา ซาอิฟ ยัสมิน (Sahira Nsaif Jasmin) คุณแม่ลูกห้า วัย 38 ปี เธออพยพมาจากเขตโดรา (Dora) ในเมืองแบกแดด เธอมาอยู่ที่ค่ายควาวาลาได้ประมาณหนึ่งเดือนแล้ว พร้อมกับลูกๆ พี่ชายและครอบครัวของเขา เธอต้องเป็นม่ายหลังจากที่สามีถูกฆ่าในปี 2006


 


"สามีของฉันเป็นคนขับแท็กซี่ วันหนึ่งเขาออกมาทำงานแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย" ยัสมินกล่าว "เขาถูกดักทำร้ายและพวกมันขโมยเอาแท็กซี่เขาไป พี่ชายของฉันช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เขาปันส่วนอาหารและช่วยเหลือเราทุกอย่าง"


 


ยัสมินเล่าถึงอดีตที่ทิ้งไว้ยังแบกแดด ที่ที่เคยมีบ้านเป็นของตนเอง และเด็กๆ ได้ไปโรงเรียนเสมอ  มีไฟฟ้า มีน้ำสะอาด และหลังคาบ้านคอยคุ้มหัวอย่างปลอดภัย - ทั้งนี้มันเป็นเคยเป็นมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนทั่วไปในอิรัก แต่ปัจจุบันสิ่งที่กล่าวไปกลายเป็นสิ่งที่คนในอิรักส่วนใหญ่ไขว่คว้าไม่ถึง


 


และในค่ายควาวาลาไม่มีสถานที่ให้การศึกษาแก่เด็กๆ 


 


"ที่แบกแดดยังพอมีอะไรให้เด็กๆ ทำบ้าง พวกเขายังไปเล่นและพบเพื่อนๆ ได้ - แต่ที่นี่พวกเขาแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยตลอดวัน"


 


แต่ยัสมินปฏิเสธที่จะกลับไปยังแบกแดด เพราะเธอเห็นว่าที่นั่นไม่มีความปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ซึ่งทั้งการลักพาตัวและความรุนแรงต่างๆ


 


"ฉันไม่มีความอะไร ฉันไม่ได้คิดอะไรสำหรับอนาคต… วันข้างหน้านะหรือ? มันคงหนาวมากนะในช่วงฤดูหนาว ถ้างั้นเราคงอยากได้ฮีทเตอร์ซักเครื่องเพื่อช่วยให้เด็กๆ รู้สึกอบอุ่นขึ้นมาบ้าง"


 


"ตอนที่ฉันอยู่ที่แบกแดด ตอนที่ฉันยังมีสามีอยู่ เขาทำให้เราเจอกับสิ่งดีๆ แต่ตอนนี้ฉันไม่มีอะไรแล้ว"


 


ยังไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการสำหรับจำนวนแม่ม่ายที่เกิดขึ้นหลังการโจมตีอิรักและความรุนแรงเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีได้เคยออกมาให้ข้อมูลว่าในปี 2006 จำนวนแม่ม่ายเพียงในเมืองแบกแดดเมืองเดียวนั้น อาจมีอย่างต่ำประมาณ 300,000 คน


 


มูลค่าของสงคราม ภาษีของคนอเมริกัน


 


 


หลังจากเริ่มสงครามบุกอิรักในปี ค.. 2003 น้ำมันพุ่งพรวดจาก 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเป็น 110 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลแล้ว (ที่มาภาพ: GALLO/GETTY)


 


ห้าปีในสงครามนี้ สหรัฐอเมริกาเสียค่าใช้จ่ายขึ้นต่ำไปเบาะๆ แล้วถึง 500 พันล้านดอลลาร์ --- แต่คาดการณ์กันว่ามูลค่าแฝงของสงครามครั้งนี้มหาศาลนัก


 


โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และลินดา บิลเมส์ (Linda Bilmes) ได้ร่วมกันเขียนหนังสือ The Three Trillion Dollar War: The True Costs of the Iraq Conflict  โดยได้ประมาณการว่าสงครามอิรักนั้นจะมีมูลค่าอย่างน้อย 3 ล้านล้านดอลลาร์ หรืออย่างมากอาจจะถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์


 


สติกลิตซ์ เห็นว่าการทำสงครามอิรักทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อสถาบันการเงินในสหรัฐประสบปัญหา ก็จำเป็นต้องหันไปหากองทุนบริหารความมั่งคั่งในตะวันออกกลางเพื่อระดมทุนใหม่ หรือกอบกู้กิจการ เพราะสงครามส่งผลให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และทำให้สหรัฐจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมากยิ่งขึ้น แต่ไม่มีแหล่งเงินทุนที่มีสภาพคล่องสูงในสหรัฐ


 


ส่วนบิลเมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจาก Harvard University's Kennedy School of Government ได้กล่าวกับ Al Jazeera ว่าในระยะยาวแล้ว สงครามนี้อาจจะต้องใช้เงินเพิ่มอีก 800 พันล้านดอลลาร์ ส่วนในระยะสั้นอาจจะต้องจ่ายเงินกีบสงครามนี้ถึง 12 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยเป็นการยืมเงินค่าใช้จ่ายของรัฐไปใช้


 


ทั้งนี้การประเมินของทั้ง สติกลิตซ์ และ บิลเมส์ นั้น ได้แยกค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 ส่วน และคำนวณตัวเลขออกมาเป็นช่วงระหว่างค่าใช้จ่ายในขั้นต่ำ หากสงครามสร้างความเสียหายน้อยกับค่าใช้จ่ายที่น่าจะเกิดขึ้น


 


โดยส่วนแรกเป็นค่าใช้จ่ายจากงบประมาณ ซึ่งรวมทั้งเงินที่ใช้ไปแล้วและจะต้องใช้ในการทำสงครามต่อไป นอกจากนี้ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการตอบแทนและการรักษาพยาบาลทหารผ่านศึก ซึ่งได้รับบาดเจ็บและทุพพลภาพ โดยประเมินว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะตกอยู่ระหว่าง 1.72 ล้านล้านดอลลาร์ถึง 2.68 ล้านล้านดอลลาร์


 


ส่วนที่ 2 เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากความตายและการบาดเจ็บของทหาร จนทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้อีก นอกจากนั้น สมาชิกในครอบครัวที่ต้องสละเวลามาดูแลผู้บาดเจ็บ และทุพพลภาพยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งค่าเสียหายเหล่านี้ตกอยู่ระหว่าง 3 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 4.2 แสนล้านดอลลาร์


 


ส่วนที่ 3 เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ของปัจจัยต่างๆ ซึ่งมีที่มาจากสงคราม อาทิเช่น ราคาน้ำมันซึ่งเพิ่มขึ้นจากบาร์เรลละราว 25 ดอลลาร์ เมื่อตอนก่อนสงครามเป็นบาร์เรลละกว่า 110 ดอลลาร์ในขณะนี้ นอกจากนั้น เงินที่ใช้ไปในการทำสงครามนั้น ถ้าหากนำไปใช้ในด้านอื่น อาทิเช่น ปรับปรุงการศึกษา เพิ่มการวิจัยและพัฒนา สร้างปัจจัยพื้นฐาน ป้องกันโรคร้ายและส่งเสริมสุขภาพ จะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งไม่เกิดขึ้นเพราะขาดเงินทุน ค่าเสียหายเหล่านี้ตกอยู่ระหว่าง 1.9 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์


 


เมื่อรวมกันเบ็ดเสร็จต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายในสงครามครั้งนี้ตกอยู่ระหว่าง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์


 


ทั้งนี้ชาวอเมริกันเองก็เริ่มไม่พอใจกับสงครามนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการประท้วงตามเมืองใหญ่ต่างๆ เช่นที่ กรุงวอชิงตัน นิวยอร์ก ไมอามี ชิคาโก ลอสแองเจลิส และซานฟรานซิสโก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนกำลังทหารอเมริกันออกจากอิรัก โดยขณะนี้มียอดทหารเสียชีวิตเกือบ 4,000 คนแล้ว


 


โดยเงินภาษีที่คนอเมริกันต้องจ่ายไป พบว่ารัฐบาลอเมริกันนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจการสงครามสูงสุดถึง 42%


 


 


ที่มา: http://www.nationalpriorities.org/taxchart2008/100


 


 


………………………..


ประกอบการเขียน:


Iraq's displaced living in dumps (Shaista Aziz, Al Jazeera - 18 March 2008)


Iraq war batters US economy (Adla Massoud, Al Jazeera - 20 March 2008)


บ้านเขาเมืองเรา : สงครามสามล้านล้านดอลลาร์ (กรุงเทพธุรกิจ - 21 March 2008)

IRAQ: Chaos Hardening Sectarian Fiefdoms (Ali Gharib, IPS - 17 April

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net