Skip to main content
sharethis

นายสุทธิ  อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกฉุนบริษัทโกล์วพลังงานนำเสนอเอกสารไม่ตรงข้อเท็จจริง โดยตัวอย่างเอกสารที่พบเห็นอ้างว่าได้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 5 ชุมชน ในเขตเทศบาลมาบตาพุดไปแล้ว คือ ชุมชนตากวน อ่าวประดู่ ชุมชนวัดโสภณ ชุมชนซอยร่วมพัฒนา ชุมชนหนองแฟบ และชุมชนมาบชลูด


 


โดยร้อยละ 73.39 เห็นด้วยให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร้อยละ 3.1 ยังไม่เห็นด้วย และร้อยละ 23.51 งดออกเสียง  และได้อ้างว่าทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนไปเมื่อวันที่ 24-26 พฤศจิกายน  2549 


 


นายสุทธิ ตั้งข้อสังเกตต่อว่าเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเรียกร้องและร้องเรียนของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และชาวมาบตาพุด ให้รัฐบาลประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ ทางเครือข่ายได้ร้องเรียนต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 และได้เกิดการติดตามการแก้ไขปัญหามลพิษจากรัฐบาลตลอดเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2550-2554 ตามแผนลดและขจัดมลพิษที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้นมา รวมถึงเป็นการศึกษารายงาน EIA และรับฟังชาวบ้าน 5 ชุมชน ในช่วงของรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ทุกวันนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีหลายมาตราที่มีบัญญัติด้านสิทธิชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน เช่น มาตรา 57 , มาตรา 66, มาตรา 67 ฯลฯ เป็นต้น 


 


จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นการจัดทำ EIA ไปก่อนเรื่องราวของปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมในนิคมมาบตาพุดจะมีการตรวจพบและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนตามที่รัฐบาลได้จัดทำแผนแก้ไขไว้โดยต้องทุ่มเงินงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อมาแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2550 - 2554


 


"บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองประชาชนอย่างจริงจังก็ยังไม่มี ดังนั้นจึงขอเตือนไปยังบริษัทโกล์วพลังงานว่า การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกจังหวะเวลา และไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคือการบิดเบือนข้อมูลเท่ากับโกหกประชาชนชาวระยองกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ไม่ได้บอกว่าทำแบบใด ให้ข้อมูลตรงกับข้อเท็จจริงของการทำ EIA หรือไม่ ก็ไม่ทราบ มีแต่บทสรุปว่าชุมชนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างเดียว"


 


นายสุทธิ กล่าวอีกว่า การดูแลสังคมหรือ CSR ก็ควรต้องทำเพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงงานที่มีมลพิษ แต่อย่าอ้างว่าตั้งใจทำจริงๆ แต่อาจจะทำไปเพราะไม่อยากโดนคัดค้านก็ได้


 


นายสุทธิ  กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) คือหน่วยงานที่อนุญาต EIA ต้องพิจารณาอย่าให้บริษัทนี้ผ่านการพิจารณาเพราะไม่ตรงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57,67 และอีกหลายมาตรา รวมถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็ไม่สมควรออกใบอนุญาตให้สร้างอย่างยิ่ง เพราะทิศทางการแก้ไขปัญหามลพิษจากโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้วในมาบตาพุดก็ยังไม่ได้ผลเป็นที่ประจักษ์  ไม่สมควรสร้างปัญหาด้านนี้เพิ่มมาอีกในช่วงนี้  และผู้บริหารบริษัทโกล์วพลังงานเองก็สมควรถอนการก่อสร้างไปก่อน จนกว่าทุกอย่างจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ชัดเจนและปัญหามลพิษได้หมดไปจากชาวระยองแล้ว  เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของชาวระยองต่อไป รวมถึงถ้าไม่มีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของเครือข่ายฯ ก็จะชุมนุมคัดค้านกันอย่างถึงที่สุดต่อไป 

เอกสารประกอบ

EIA ของบริษัทโกลว์พลังงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net