Skip to main content
sharethis

เสียงด่าทอและตะโกนขับไล่ทหารรวมทั้งนักข่าวไทย ที่เข้าไปยังหมู่บ้านตันหยงลิมอร์  ตำบลตันหยงลิมอร์  อำเภอระแงะ  อำเภอนราธิวาส  เพื่อติดตามสถานการณ์ที่กลุ่มชาวบ้านกักตัว  2 ทหารนาวิกโยธิน สังกัดค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาสเอาไว้ที่มัสยิดภายในหมู่บ้าน  เนื่องจากสงสัยว่าทหารทั้งสองนาย อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงถล่มร้านน้ำชาภายในหมู่บ้าน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 4 รายเมื่อคืนวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา


 


กลุ่มชาวบ้าน ยื่นข้อเรียกร้องว่าจะเปิดเผยให้ข้อเท็จจริงแก่สื่อมวลชนจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น  ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่บ้านตันหยงลิมอร์ตึงเครียดมากขึ้น เพราะการจะนำผู้สื่อข่าวมาเลเซียเข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อมาแล้วก็ยังไม่รู้ว่าชาวบ้านจะเชื่อว่าเป็นผู้สื่อข่าวจากประเทศมาเลเซียจริงหรือไม่


 


นัจมุดดีน อูมา อดีตส.ส.นราธิวาส พรรคไทยรักไทย ที่เข้ามาช่วยประสานเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน บอกว่า "ชาวบ้านอยากให้โทรทัศน์ของประเทศมาเลเซียมารายงานข่าว เขาบอกว่ารู้สึกเชื่อมั่นในสื่อของมาเลเซียมากกว่าเพราะพูดภาษาเดียวกัน ผมก็บอกกับชาวบ้านว่า นักข่าวของไทย โดยเฉพาะนักข่าวในพื้นที่หลายคนก็พูดภาษามลายูได้ แต่เขาก็ยังไม่ยอม ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าต้องเป็นนักข่าวจากมาเลเซียเท่านั้น   นักข่าวไทยสู้นักข่าวมาเลเซียไม่ได้ แต่ก็ไม่ยอมบอกเหตุผลว่าทำไม คิดว่าชาวบ้านคงกลัวเกิดเหตุเหมือนเหตุการณ์ที่ตากใบ"


 


นี่คือปริศนาที่ชวนให้สงสัยยิ่งว่า เหตุใด สื่อมวลชนไทย จึงไม่ได้รับความไว้วางใจจาก ชาวบ้านในพื้นที่นี้ !!!


 


คำพูดของกลุ่มสตรีและเด็กๆ ภายในหมู่บ้านร่วม 100 คน ดังระงมเซ็งแซ่อยู่ภายในเต็นท์  ซึ่งชาวบ้านช่วยตั้งขวางถนนทางเข้าหมู่บ้านเอาไว้ โดยมีเด็กและกลุ่มสตรีเหล่านี้นั่งขวางเป็นกำแพงมนุษย์เอาไว้  คำพูดคุยกันเหล่านี้ฟังความได้ว่า "เราจะรอนักข่าวจากมาเลเซียเท่านั้น" ทำให้นักข่าวไทยนับสิบคน ที่ยืนอยู่หลังเชือกสีเหลืองกั้นเขตระหว่างนักข่าวกับชาวบ้านรู้สึกสงสัยกันไปตามๆ กัน ว่า ทำไม ชาวบ้านที่นี่ ถึงไม่เชื่อนักข่าวไทยด้วยกัน


 


เสียงผู้หญิงคนหนึ่ง ตอบพอจับใจความได้ว่า "พวกเราไม่ใช่ผู้ร้าย หมู่บ้านนี้ไม่มีผู้ก่อการร้าย"


 


กลุ่มสื่อมวลชนสัญชาติไทยจึงถามคำถามเดิมย้ำอีกครั้งว่า "ทำไมจึงปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแก่นักข่าวไทย ไม่ชอบนักข่าวไทยหรือ ?" 


 


สตรีมุสลิมอีกคนหนึ่งในแนวโล่ห์มนุษย์ ตอบว่า "ไม่ใช่ไม่ชอบ เราไม่ได้รังเกียจนักข่าวไทย แต่ขอให้นักข่าวมาเลย์มาด่วน จากนั้น นักข่าวไทยก็จะได้ข่าวเหมือนกัน" เธอกล่าวท่ามกลางเสียงสนับสนุนของเพื่อนๆ รอบข้าง


 


นักข่าวอีกคนถามว่า ไม่เชื่อใจนักข่าวไทยหรือ


 


เธอคนเดิมที่ตอบคำถามเมื่อครู่ ตอบโดยเรียกเสียงฮือฮาได้ทั้งเต็นท์ว่า "นักข่าวไทยเป็นพวกเดียวกับทหาร นักข่าวกับทหารเป็นเพื่อนกัน เพราะฉะนั้นเราไม่เชื่อ"


 


นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลซามัด ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดนราธิวาส ให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่นั้นทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คงมีแต่บางรายเท่านั้นที่เสนอข่าวไปอย่างเกินกว่าเหตุ ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องระวังให้มากขึ้น การเสนอข่าวต่างๆ นั้น จะต้องคำนึงถึงตัวผู้ให้ข่าวด้วย ชาวบ้านไม่อยากจะให้ข่าวเพราะกลัว จึงปฏิเสธที่จะให้ข่าว ซึ่งนักข่าวเองจะต้องปรับตัวเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความไว้วางใจมากกว่านี้


 


ด้านนายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.ประจำพื้นที่ พรรคชาติไทย  ให้ความเห็นว่า โดยพื้นฐานชาวบ้านในพื้นที่ค่อนข้างจะไม่พอใจการรายงานของสื่อมวลชนไทยอยู่แล้ว นับตั้งแต่การรายงานข่าวในระดับสากลที่มักจะปกป้องและเอาใจประเทศมหาอำนาจที่รุกรานประเทศมุสลิม แต่ยังไม่ถึงกับระดับที่จะปฏิเสธการรายงานของสื่อมวลชนไทย


 


 "เมื่อคืนผมก็พยายามติดต่อกับคนในหมู่บ้าน ยังไม่คิดว่าเหตุการณ์จะบานปลายถึงขั้นนี้ เพราะเขาเองก็ต้องการความชัดเจนว่าใครเป็นคนยิงเข้าไปร้านน้ำชา"


 


เขาเชื่อว่า การเรียกร้องให้สื่อมวลชนมาเลเซียเข้ามาทำรายงานข่าวนั้นอาจเกิดจากชี้นำของผู้ที่เข้าไปประสานงานกับชาวบ้านในระหว่างนี้


ส.ส.ประจำพื้นที่ ยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการพยายามใช้สื่อมวลชนของมาเลเซียให้เป็นประโยชน์มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์การอพยพ 131 คนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และเชื่อว่ามีความต้องการที่พยายามจะยกระดับประเด็นสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นประเด็นสากล


 


คฑาวุธ ตั้งชรากูล ช่างภาพช่อง 9 เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนและชาวบ้าน ขึ้นอยู่กับว่าประเภทของข่าวที่ทำ หากเป็นข่าวในเชิงพัฒนาหรือข่าวทั่วไปชาวบ้านจะให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ในข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ชาวบ้านจะไม่ให้ความร่วมมือ บางรายถึงกับเดินหนี หรือถึงขั้นโดนล้อมจนไม่สามารถทำข่าวได้ ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ นักข่าวต้องถามข้อมูลจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมักจะให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวและไม่รอบด้าน ส่งผลให้รายงานข่าวที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง


 


ส่วน โสรยา สาเรป นักข่าววิทยุ INN ให้ความเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ในระยะหลังท่าทีของชาวบ้านเริ่มแปลกไป สะท้อนผ่านสีหน้าที่ไม่ต้อนรับ ส่งผลให้การนำเสนอข่าวค่อนข้างจะบิดเบือน ส่วนทางออกในปัญหานี้


 


 "บางครั้งพอไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเขาก็ไม่ยอมคุยด้วย แต่นักข่าวต้องการข้อมูลเร็วที่สุด จึงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสมอไป"


 


เธอเสนอว่าควรมีการนำเสนอทั้ง 2 ด้าน ไม่ให้น้ำหนักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูงเกินไป นอกจากนี้ นักข่าวที่ทำข่าวในพื้นที่ต้องหาผู้ช่วยนักข่าวที่สามารถพูดภาษามลายูเพื่อเป็นสื่อกลางกับชาวบ้านและยังสร้างความไว้วางใจอีกด้วย


 


อมรรัตน์ เข็มขาว ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่น กล่าวว่า แรกๆ ชาวบ้านไม่กล้ามาพูดคุยด้วย  แต่พอแสดงตัวว่าเป็นผู้สื่อข่าวมาจากสำนักข่าวไหน เขาก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การลงทำข่าวในพื้นที่ต้องอาศัยความไว้วางใจ ซึ่งจะถามคำถามที่เราอยากรู้เลยทีเดียวไม่ได้ อาจต้องเริ่มชวนคุยเกี่ยวกับสภาพรอบกายก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคยและเชื่อใจเรา หลังจากนั้นจึงลงมือถามคำถามตรงๆ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วยเช่นกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net