Skip to main content
sharethis




เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (27 ส.ค.) ที่ห้องประชุมตึกหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจัดสัมมนาวิชาการเรื่องปัญหาที่ดินวะกัฟกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โดยมีผู้รู้ทางศาสนาอิสลามร่วมเป็นวิทยากร มีครู นักเรียนจากโรงเรียนเอกสอนศาสนาอิสลาม ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เข้าร่วมจำนวนมาก


นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเปิดการสัมมนาว่า จาการตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียในหลายประเด็น พบว่า การที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดเพิกถอนสภาพที่ดินสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่โครงการซึ่งประชาชนยังใช้ประโยชน์อยู่นั้น เป็นการรองรับให้เอกชนใช้ประโยชน์ แต่ละเมิดสิทธิชุมชนและผิดกฎหมายด้วย จึงเสนอให้มีการสอบสวนเอาผิดแก่ผู้ที่แสดงความเห็นว่าประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วเสนอว่าสามารถออกพระราชกำหนดได้


"หากที่ดินดังกล่าวประชาชนยังใช้ประโยชน์อยู่ ไม่สามารถออกเป็นพระราชกำหนดเพิกถอนได้ แต่ออกเป็นพระราชบัญญัติเพิกถอนได้เท่านั้น" นายวสันต์ กล่าว


นายนุ๊ ยีกับจี อดีตกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า คำว่า วะกัฟ หมายถึง เลิกหรือหยุดหรือไม่เป็นเจ้าของ คือ มอบให้อัลลอฮฺแล้ว มุสลิมทุกคนยกเว้นเด็กและคนวิกลจริต มีหน้าที่ต้องดูแล ต้องไม่ทำให้สิ่งที่วะกัฟนั้นเสียหาย และต้องดูแลรับผิดชอบจนชั่วชีวิต ในเอกสารทางศาสนาไม่เคยมีหลักฐานว่าที่ดินวะกัฟนั้นสามารถชดใช้ ชดเชย หรือแลกเปลี่ยนได้ ก่อนหน้านี้นักวิชาการศาสนาจำนวนมากได้เคยประชุมร่วมกันที่จังหวัดปัตตานี สรุปไว้ว่าสามารถอนุญาตได้ก็เฉพาะกรณีที่เป็นการสร้างโรงเรียน บ่อน้ำ ศาลา มัสยิด และที่เป็นประโยชน์ต่อศาสนาเท่านั้น


นายนุ๊ ยังกล่าวอีกว่า คำว่า สาธารณะนั้นเป็นแนวคิดในทางกฎหมาย ที่มีนัยว่าสาธารณะก็คือของหลวงแต่ในหลักการของอิสลามไม่มีเรื่องของสาธารณะในลักษณะนั้น เพราะถือว่าเป็นการมอบให้อัลลอฮฺแล้ว ทุกคนมีหน้าที่ดูแล ห้ามทำให้เสียหาย ไม่เช่นนั้นก็จะเท่ากับขัดแย้งกับนบีมูฮัมหมัดและขัดแย้งกับอัลลอฮฺ


นายชุกรี มอลอ ครูสอนศาสนาอิสลามประจำปอเนาะลางา บ้านโคกเค็ด ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กล่าวว่า นอกจากจะไม่เคยปรากฏว่ามีหลักฐานในหะดีษ(คำสอนของนบีมูฮัมหมัด)ว่า สิ่งที่วะกัฟนั้นสามารถเปลี่ยนหรือขายได้ ในหะดีษยังมีคำสองคำ คือ วลายูรอซู และวาลายูหาบู ซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนที่บ่งบอกว่าสิ่งที่วะกัฟนั้นไม่สามารถยกให้ใครหรือแลกเปลี่ยนได้


"การที่สำนักจุฬาฯบอกว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นทางที่ถูกวะกัฟนั้น เป็นที่น่ากังขาว่าการตัดสินในเรื่องใดนั้น ควรตรวจสอบให้ชัดเจนเสียก่อน การบอกว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนนั้นตัดสินมาจากอะไร นอกจากนี้ในตอนท้ายของหนังสือของสำนักจุฬาฯยังมีประเด็นว่า สามารถที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งวะกัฟได้โดยยกตัวอย่างที่เคยเกิดในสมัย ท่านคอลีฟะฮ์(ผู้นำต่อจากนบีมูฮัมหมัด) อุมัร เพราะกรณีนั้นผู้ตัดสินมีฐานะเทียบเท่ากษัตริย์ในประเทศมุสลิม มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินอย่างแท้จริง มีสิทธิเปลี่ยนแปลงหากเห็นว่าได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม  คำถามจึงอยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินด้วย


นายเฉม สะอุ ตัวแทนกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน รวมทั้งทายาทและพยาน ได้ตั้งคำถามถึงกระบวนการวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรีในหลายประเด็น เช่น การวินิจฉัยนั้นดำเนินการโดยไม่เคยมีเอกสารแจ้งมายังกลุ่มคัดค้านโครงการซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในเส้นทางสาธารณะในพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ว่า วินิจฉัยด้วยหลักการใดและเหตุผลใดในทางนิติศาสตร์อิสลาม


อีกทั้งสำนักจุฬาฯและสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา ก็ไม่เคยเชิญกลุ่มต่างๆ ที่มีกรณีพิพาทระหว่างกันเข้าสู่กระบวนการชี้แจงหลักฐาน ไม่เคยเชิญทายาท (วาเรส) รวมทั้งพยานเพื่อซักถามข้อเท็จจริง ทั้งที่เป็นองค์ประกอบและเงื่อนไขที่สำคัญในการพิสูจน์ว่าเป็นการวะกัฟที่ถูกต้องหรือไม่ และหากได้มีการตรวจสอบในประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน ก็จะทำให้ไม่มีผลวินิจฉัยออกมาว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นการวะกัฟของชาวมุสลิมแน่นอน


นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากตนไม่ได้อยู่ในคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้ให้คำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว จึงสามารถให้ความเห็นได้แต่เพียงในหลักการว่า การวะกัฟมีหลายลักษณะ ทั้งที่ไม่กำหนดเงื่อนไขว่าให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ หรือมีการกำหนดเงื่อนไข จึงต้องดูในรายละเอียดว่าผู้วะกัฟได้กำหนดเงื่อนไขอะไรหรือไม่ แม้เมื่อตายไปแล้ว ผู้ดูแลก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเมื่ออุทิศแล้ว สิทธินั้นจะยังอยู่ที่ผู้วากัฟและทายาท


กรณีที่ดินวะกัฟไม่เหมือนกับที่ธรณีสงฆ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมศาสนา แต่ที่วะกัฟนั้นอาจไม่ต้องขึ้นกับอะไรเลย ขึ้นกับบุคคลก็ได้ ยกเว้นถ้าเป็นวะกัฟที่อิงกับมัสยิดให้มัสยิดดูแล สิทธิในการดูแลเป็นไปตามนิติบุคคลโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมศาสนา เพียงครบองค์ประกอบและเงื่อนไขตามหลักศาสนา ก็ถือว่าเป็นวะกัฟแล้ว


อย่างไรก็ตาม หนังสือวินิจฉัยนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของฟัตวา คือไม่ได้วินิจฉัยต่อหลักการวะกัฟ แต่เป็นการหาข้อมูล  ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ได้เป็นผู้ที่จะตัดสินเมื่อเกิดความขัดแย้ง เพียงแต่พิจารณาเมื่อเห็นว่าเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางศาสนาว่าถูกต้องหรือไม่ ในเมื่อหาข้อเท็จจริงได้เท่าใด ก็พิจารณาไปตามนั้น


นายสมาน ได้แสดงความไม่สบายใจที่ผู้รับผิดชอบขององค์กรอิสลามในสงขลา ไม่มาร่วมและไม่ส่งผู้แทนมาร่วมแลกเปลี่ยนในงานสัมมนา ตนจะต้องไปสอบถามที่มาที่ไปของปัญหานี้ว่าเป็นอย่างไร และยินดีที่จะเข้ามาร่วมดูแลปัญหานี้ ทั้งนี้เฉพาะในประเด็นศาสนาเท่านั้น


"ผมอยู่มาสำนักจุฬาราชมนตรีมาสามสมัย เคยมีปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้ง เช่นกรณีทางมอเตอร์เวย์ที่จะผ่านมัสยิด ซึ่งสุดท้ายจุฬาราชมนตรีในสมัยนั้นก็วินิจฉัยว่าขัดต่อหลักศาสนา เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นกุโบร์ หรือสุสาน สุดท้ายก็สามารถหาทางออกได้โดยการทำสะพานข้ามไป


กฎหมายใดๆก็ตามที่ออกมาแล้วไปละเมิดหลักการศาสนา ถือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญด้วย เรื่องแบบนี้ต้องปรึกษานักการศาสนา ในบางประเทศมุสลิม เคยยอมให้แลกเปลี่ยนได้ ถ้าหากพบว่าจะให้ประโยชน์มากกว่าเดิม แต่ผู้พิจารณาไม่ใช่บริษัท ต้องเป็นชุมชนที่จะพิจารณาว่าประโยชน์ที่อ้างว่ามากกว่าเดิมนั้นเป็นของชุมชนหรือไม่ ถ้าหากชัดเจนว่าเป็นที่วะกัฟ ก็ต้องดูว่า แลกเปลี่ยนซื้อขายได้หรือไม่ โดยดูว่าให้ประโยชน์มากกว่าหรือไม่


นายประสาน กล่าวว่า กรณีนี้เป็นปัญหาทั้งในแง่สิทธิชุมชนและสิทธิศาสนา เพราะที่ดินวะกัฟนั้นให้ประโยชน์แก่ชุมชนด้วย ถ้าโครงการรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องปรึกษากับชุมชน และผู้รู้ทางศาสนา


นายสุไลมาน หมัดยุโส๊ะ ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ กล่าวว่า พวกตนได้เคยไปยื่นหนังสือร้องเรียนในเรื่องที่ดินวะกัฟนี้ต่อคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา แต่เมื่อไปถามคำตอบ กลับปฏิเสธที่จะให้คำตอบ โดยบอกว่าได้ตอบไปที่สำนักงานจุฬาราชมนตรีแล้ว ซึ่งทำให้น่าสงสัยว่าคำตอบนั้นเป็นอย่างไร จึงทำให้ผลการวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรีออกมาเป็นเช่นนั้น


เวทีดังกล่าวสืบเนื่องจากความขัดแย้งเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ในต.สะกอมและต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา โดยบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ทีทีเอ็ม) เจ้าของโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต้องการใช้ที่ดินดังกล่าวซึ่งขึ้นทะเบียนตามกฎหมายเป็นที่สาธารณะเพื่อราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และที่ดินดังกล่าวยังเป็นที่ดิน "วะกัฟ" ตามหลักศาสนาอิสลาม คือเป็นที่ดินที่เจ้าของเดิมได้บริจาคเป็นการอุทิศเพื่อพระเจ้า ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย


ต่อมาบริษัททีทีเอ็ม ได้ขอแลกเปลี่ยนที่ดินแปลงอื่นกับที่ดินสาธารณะดังกล่าว แต่ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือและรายชื่อคัดค้านโดยยืนยันว่าพวกตนยังใช้ประโยชน์อยู่ และร้องเรียนต่อคณะกก.สิทธิฯว่าบริษัทได้ละเมิดกฎหมายโดยการบุกรุก ปิดกั้นและเปลี่ยนสภาพที่ดินสาธารณะดังกล่าว ซึ่งกก.สิทธิฯได้ตรวจสอบแล้วพบว่าข้อร้องเรียนมีมูล จึงเสนอให้บริษัทยุติการปิดกั้นและปรับสภาพที่ดินให้กลับคืนดังเดิม และให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถึงกระนั้น ต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม 2549 รัฐบาลก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม สถานะความเป็นที่ดิน "วะกัฟ" ตามหลักศาสนาอิสลามนั้น ยังคงเป็นประเด็นขัดแย้งอยู่เนื่องจากโดยหลักศาสนาแล้ว ที่ดินวะกัฟนั้นไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอน หรือแลกเปลี่ยนได้ แต่ต่อมาปรากฏว่าบริษัททีทีเอ็มได้อ้างหนังสือจากสำนักจุฬาราชมนตรี ลงวันที่ 22 มีนาคม 2547 วินิจฉัยว่าไม่มีหลักฐานว่าเป็นที่ดินวะกัฟ และหากแลกเปลี่ยนแล้วเป็นประโยชน์ก็สามารถทำได้ และในที่สุดก็นำไปสู่การออกพรก.เพิกถอนสภาพดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net