Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 ส.ค.50  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยสุนี ไชยรส ได้แถลงข่าว เรื่อง เหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 กรณีมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุมในนามแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ บริเวณสี่เสาเทเวศวร์


 


สุนี กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีมติให้หยิบยกเรื่องนี้มาตรวจสอบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนในวงกว้าง และมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ โดยที่มีการร้องเรียนจากทั้งสองฝ่ายเข้ามายังคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วย คณะกรรมการสิทธิฯ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. โดยมี วสันต์ พาณิช กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน มีทองใบ ทองเปาด์ และสุนี ไชยรส เป็นรองประธาน ส่วนอนุกรรมการประกอบด้วย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, กฤตยา อาชวนิจกุล, นางฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว


 


สุนีกล่าวว่า การตรวจสอบดังกล่าวกำหนดแนวทางว่าจะตรวจสอบและศึกษาความเป็นมา รวมทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมต่อสังคม โดยอนุกรรมการฯ จะรวบรวมรายละเอียดข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนกันยายนหรือต้นตุลาคม


 


"เพื่อให้การตรวจสอบเรื่องนี้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและสามารถรวบรวมข้อเท็จจริงได้อย่างครบถ้วน อันก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คณะกรรมการสิทธิฯ จึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปซึ่งมีรายละเอียด ข้อมูลหลักฐานใดๆ อาทิ ภาพถ่าย วีดีโอ ซีดี ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่องจนถึงการจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ขอให้ส่งหลักฐานดังกล่าวแก่คณะอนุกรรมการฯ ที่ฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการฯ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 422 ถนนพญาไท (ใกล้สะพานหัวช้าง) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทร 02 2192980 ต่อ 4031,4032 โทรสาร 02 2192980 ต่อ 4031" สุนีกล่าว


 


ทั้งนี้ ปฏิทินในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ คือ ในวันนี้ (24 ส.ค.) ช่วงบ่ายจะมีผู้ร้องเรียนเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง วันที่ 7 ก.ย.จะประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจาณาข้อมูลทั้งหมด วันที่ 14 ก.ย. จะเชิญสื่อมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือมีหลักฐานภาพถ่ายเข้าชี้แจง วันที่ 21 ก.ย. ช่วงเช้าจะเชิญเจ้าหน้าที่ทหาร ช่วงบ่ายจะเชิญ นปก.หรือ นปช.และเครือข่าย วันที่ 28 ก.ย. จะเชิญนักกฎหมายมาให้ความเห็น


 


กฤตยา กล่าวว่า นี่จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในเรื่องสิทธิการชุมนุม เพราะคาดว่าหลังเลือกตั้ง การชุมนุมลักษณะนี้ก็คงยังไม่เลิก รวมไปถึงพื้นที่กฎอัยการศึกในหลายจังหวัดที่การชุมนุมจะเป็นไปอย่างยากลำบาก สิทธิขั้นพื้นฐานนี้แม้จะมีความพยายามควบคุมในทุกรัฐบาล แต่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่สามารถยกเลิกสิทธินี้ได้ อย่างไรก็ตาม สังคมไทยได้เติบโตพอสมควรในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการชุมนุมตั้งแต่สมัยปลายรัฐบาลทักษิณ โดยส่วนตัวเห็นว่า สิทธิในการชุมนุมไม่ควรต้องหมดลงและถูกจำกัดด้วยเหตุผลใดๆ เช่น ความพยายามออกกฎหมายความมั่นคงภายใน


 


สุนี กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการสิทธิมีการแถลงข่าวเป็นระยะๆ อยู่แล้วในการวิจารณ์เรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เรื่องการถอนร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ โดยที่ยังไม่มีการยกเลิกร่างนี้ รวมทั้งการที่รัฐไม่ควรเอาสถานการณ์ภาคใต้มาเป็นบรรทัดฐานในการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่อื่นๆ


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการสิทธิฯ จะเป็นหัวขบวนในการเรียกร้องให้รัฐบาลและ คมช.ยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ เนื่องจากใกล้จะเลือกตั้งแล้ว สุนีกล่าวว่าเห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว และจะเร่งเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุม


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเชิญจรัล ดิษฐาอภิชัย หนึ่งในกรรมการสิทธิฯ ที่ร่วมเวที นปก.มาให้ข้อมูล หรือจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจรัลตามที่มีผู้ร้องเรียนด้วยหรือไม่ สุนีกล่าวว่า อาจจะมีการเชิญจรัลมาให้ข้อมูลด้วยก็ได้ แต่สำหรับการตั้งกรรมการสอบนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ ขอยืนยันเช่นเดิมว่าไม่มีอำนาจถอดนายจรัลออกจากตำแหน่ง ขอให้เป็นกระบวนการทางสังคมที่จะวิพากษ์หรือชี้แนะเอง หรือใช้กระบวนการอื่นในการตรวจสอบองค์กรอิสระ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net