Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (19 ส.ค.50) เวลาประมาณ 21.45 น. แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) แถลงข่าวยุติการชุมนุมหลังจากที่มีการเสนอข่าวผลคะแนนการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการในเวลา 21:30 น.ซึ่งเสียงของผู้ที่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีจำนวนมากกว่าเสียงของผู้ไม่รับ


 


โดยนายเมธาพันธุ์ โพธิธีรโรจน์ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของ นปก.ซึ่งมีใจความว่า กระบวนการลงประชามติครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง นปก.จึงจะตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ว่ามีสาเหตุจากไหน และเรียกร้องให้มีการแก้ไขบางมาตราในรัฐธรรมนูญด้วย อย่างไรก็ตาม ทางนปก.ยอมรับผลการลงประชามติ และขอยุติการชุมนุม แต่มีเงื่อนไขว่าจะกลับมาชุมนุมอีกหากมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการโกงประชมติ,มีแนวโน้มการสืบทอดอำนาจของ คมช.และองค์กรอื่นๆ ที่แต่งตั้งโดยคมช. รวมถึงการออกกฎหมายริดรอนสิทธิประชาชน และการกลั่นแกล้งดำเนินคดีแกนนำ นปก.


 


ทางด้าน ชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำ นปก.อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า คมช.อย่าเพิ่งดีใจว่าประชาชนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเสียงที่ลงมติรับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ชอบรัฐบาลและคมช. จึงต้องรับร่าง เพื่อให้ทั้งรัฐบาลและ คมช.ลงจากอำนาจโดยไว และนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยส่วนตัวไม่ได้คิดว่า นปก.พ่ายแพ้อะไร แต่คิดว่ารัฐบาลและ คมช.แพ้ใจประชาชนมากกว่าด้วยซ้ำ


 


ก่อแก้ว พิกุลทอง ได้กล่าวเพิ่มเติม การมาลงประชามติ รวมๆ แล้ว ทั้งฝ่ายรับและไม่รับ มีประมาณ 15-16 ล้านเสียง ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็คือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมี 45 ล้านเสียง แม้จะมากันทั้งหมดก็ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แม้ว่า คมช.และรัฐบาลทำทุกวิถีทาง ทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อให้ได้เสียงชนะขาด แต่ก็ยังได้คะแนนเสียงมาเพียงเท่านี้ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีเสียงเงียบจำนวนหนึ่งของคนที่ไม่มาลงคะแนนด้วย


 


ก่อแก้วระบุว่า คนที่ไม่มาลงคะแนนอาจจะคิดว่าถึงแม้จะออกมาลงประชามติ ก็คงไม่เป็นผล ไม่สามารถไล่ คมช.ไปได้ ก็ไม่ออกมาลงประชามติ เพราะฉะนั้นโดยรวมๆ แล้วคนไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีเยอะ รัฐบาลและ คมช.อย่าเพิ่งย่ามใจ การจะทำอะไรต่อไปในวันข้างหน้าก็ให้คำนึงถึงเสียงคัดค้านไว้บ้าง เพราะมีจำนวนไม่น้อยเลย หรือจะทำอะไรก็อย่าทำในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อย่าสร้างความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้กับประชาชนอีก และควรจะเร่งแก้ปัญหาประชาชนที่มีอยู่เยอะแยะมากมาย


 


นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่างประเทศกังขาในการลงประชามติครั้งนี้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นการลงประชามติท่ามกลางการประกาศกฏอัยการศึก 35 จังหวัด อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าสหประชาชาติ และก็ชาติอื่นๆ ที่จะเข้ามาขอสังเกตการเลือกตั้ง ได้รับคำปฏิเสธจากรัฐบาล คะแนนที่ผ่านประชามติจึงไม่ได้น่าภูมิใจแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้พิสูจน์ตัวเองในการแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง


 


สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด พูดถึงบทบาทของทหารว่ารัฐบาลและ คมช.ต้องพิจารณากรณีการลงประชามตินี้ให้ดี เพราะว่าทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองสูงมาก ทำให้คนต้องรับร่างฯ อย่าไปตีความว่าประชาชนหนุน คมช. แต่เป็นเพราะทหารกำลังมีบทบาทเยอะ คนก็เลยต้องรับร่าง โดยเฉพาะคนในเมือง ส่วนใหญ่รับ เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งไวๆ นี่คือการเตือน คมช.ว่าให้ตีความดีๆ จึงหวังว่าพล.อ.สนธิ หรือแม้แต่ พล.อ.สะพรั่งที่ประกาศว่าจะลาออกถ้าไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. อย่าโดดลงมาในเวทีการเมือง เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ความหวาดระแวง เพราะเขามีประโยชน์ทับซ้อนในการร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้เห็นว่ามีการสืบทอดอำนาจ และนั่นจะเป็นเงื่อนไขให้ประชาชนออกมาคัดค้านเหมือนสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร


 


อีกอันหนึ่งซึ่งอยากฝากถึงพรรคการเมืองที่ออกมาหนุนร่าง รธน.ฉบับนี้ของ คมช.โดยมีเงื่อนไขว่า "รับไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ไข" ขอให้นักการเมืองประกาศให้ชัดเจนในการหาเสียงว่ามาตราไหน สาระสำคัญอะไรในร่างที่ต้องการจะแก้ไข เมื่อพวกเขาได้เข้าสู่สภาแล้ว


 


นอกจากนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในฐานะกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ โดยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปคือการถอดบทเรียนการทำประชามติครั้งนี้ ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อจะยกระดับมาตรฐานการทำประชามติในอนาคต เพราะเมื่อมีการใช้ประชามติเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปก็จะได้ใช้อีก จึงอยากให้มาตรฐานประชามติ ดีขึ้นกว่านี้ และจะทำการถอดบทเรียน รวมถึงอาจจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอพรรคการเมืองด้วย


 


ขณะที่สุชาติ นาคบางไทร แกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กล่าวว่าเขามีกำลังใจกับเสียงโหวตโนที่ท่วมท้น จึงยืนยันจะชุมนุมที่สนามหลวงต่อทุกวันเสาร์แม้ไม่มีเวทีใหญ่ของนปก.แล้ว เริ่มตั้งแต่เสาร์ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป 


 


 






 


แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)


แถลงการณ์


วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550


เรื่อง แนวทางการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการ


 


จากการที่ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฎว่า ผ่านความห็นชอบจากประชาชนด้วยคะแนน 60% ต่อ 40% โดยประมาณนั้น ทาง นปก.พบว่ากระบวนการลงประชามติครั้งแรกของประเทศไทยนี้ เต็มไปด้วยความด่างพร้อย ภายใต้กฎอัยการศึกเกือบครึ่งประเทศ ไร้ความเสมอภาคในการรณรงค์ มีการใช้กลไกของรัฐทุกรูปแบบ เต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวง ข่มขู่และกดดัน


 


ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับผลของรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินการลงประชามติ รวมทั้งมีเงื่อนงำน่าสงสัยในการโกงการลงประชามติอย่างกว้างขวาง เพื่อผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนให้จงได้ นำไปสู่การฟอกตัวเองของฝ่ายเผด็จการ นอกจากนั้นประชาชนที่ลงมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจรับร่าง รธน ด้วยเหตุผลเบื่อหน่ายการบริหารงานของ รัฐบาล และ คณะรัฐประหาร คมช  และ เชื่อว่า หากมีการรับร่าง รธน ฉบับนี้ จะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ปัญหาที่เกิดจากคณะบุคคลเหล่านี้หมดไป หาใช่สนับสนุนร่าง รธน คมช ในเชิงเนื้อหา เพราะมีการแจกหนังสือร่าง รธน ถึงมือประชาชนเพียง 19 วันก่อนการลงประชามติ


 


 นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ นปก. ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะมีจุดอ่อนมากมาย อาทิเช่น รับรองการรัฐประหารว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม สร้างความอ่อนแอให้กับระบบการเมืองและการบริหารประเทศ สถาปนาอำนาจอำมาตยธิปไตย และนำไปสู่การเป็นรัฐทหาร เปิดช่องให้มีการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านกฏหมายความมั่นคงที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้


 


ในระหว่างที่ นปก. จะได้รวบรวมหาหลักฐานที่พิสูจน์การโกงการลงประชามติครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีการแจ้งรายงานมาจากประชาชนจำนวนมากในความไม่ชอบมาพากลของฝ่ายรัฐ แต่เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองและเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทย โดยปราศจาคการดำรงอยู่ของ คมช  ซึ่งเป็นความต้องการร่วมกันของ นปก และ ผู้ที่ลงมติเห็นชอบ และ ไม่เห็นชอบ ต่อ รธน ฉบับนี้ นปก. จึงขอยุติการเคลื่อนไหวขับไล่เผด็จการเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอีก อาทิเช่น


 


1)      ปรากฏหลักฐานเงื่อนขำการบิดเบือนประชามติที่เชื่อถือได้


2)   มีความพยายามสืบทอดอำนาจของ ประธานหรือสมาชิก คมช., ครม., สสร., กมธ. หรือ สนช. (ย้ำ นายทหารของ คมช จะต้องไม่หลุดออกจากการเมืองทั้งในสนามเลือกตั้ง และ บทบาททหารที่แทรกแซงการเมือง)


3)   มีการทุจริตมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ของ คมช. รัฐบาล และองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นโดย คมช.


4)  มีการสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างต่อเนื่อง


5)  ออกกฏหมายใดๆที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติหรือประชาชน เช่น กฏหมายที่เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  กฏหมายที่นำไปสู่การเป็นรัฐทหาร ฯ


6)  แอบอ้างเบื้องสูงหรือทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


7)  พยายามเหนี่ยวรั้งเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยไม่มีเหตุผล ไม่ว่าด้วยการกระทำด้วยวิธีใด


8)  มีการใช้อำนาจและกฏหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ไม่ว่าต่อประชาชนกลุ่มใด


9)  กลั่นแกล้งดำเนินคดีต่อ แกนนำ นปก. และประชาชนผู้ชุมนุมขับไล่เผด็จการโดยสงบ โดยปราศจากการไต่สวนที่เที่ยงธรรม                                                     


 


            ในระหว่างนี้ นปก.จะติดตามสถานการณ์ของบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการกระทำในลักษณะดังกล่าว แกนนำ นปก. จะดำเนินการเคลื่อนไหว เพื่อขับไล่เผด็จการต่อไปทันที


            จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน


            ประกาศ ณ. วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550


                                                                       


 


                                                            ดร. เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ 


                                                           ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ 2                      


นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์            นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ        นายชินวัฒน์ หาบุญพาด


นายก่อแก้ว พิกุลทอง                    นายสมบัติ บุญงามอนงค์               นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข


นายสุชาติ นาคบางไทร                  นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net