Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 17 ก.ค. วานนี้ (16 ก.ค.) เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารออกแถลงการณ์ "ยุติการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร" แสดงความไม่เห็นด้วยกรณีสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) ที่แถลงรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แบบมีเงื่อนไขให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและทำให้การปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น


 


โดยในแถลงการณ์ระบุว่าแกนนำใน สปป. หลายคนมีบทบาททำให้เกิดการรัฐประหาร ซ้ำยังแสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษา โฆษกนอกระบบให้คณะรัฐประหารโดยตลอด โดยไม่สนใจความเลวร้ายของคณะรัฐประหาร และมุ่งป้ายสี ทำลายความชอบธรรมผู้เรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นเครือข่ายของกลุ่มอำนาจเก่า ทั้งยังเห็นว่าสปป.ที่ให้ประชาชนรับรัฐธรรมนูญไปก่อน เป็นข้อเสนอที่หลอกลวงประชาชนให้ไปลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้นำกองทัพและระบบเผด็จการภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้ไม่เป็นคุณต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เช่นเดียวกับบทบาทของ สปป.ในกรณีที่กล่าวมา ซึ่งไม่ต่างจากลูกสมุนของคณะรัฐประหารภายใต้เสื้อคลุมของนักเคลื่อนไหวการเมืองรายวัน


 






แถลงการณ์


ยุติการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร


 


ตามที่คณะบุคคลในนามของ สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) ได้ออกมาแถลงข่าวให้ รับร่าง รัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าตนเองจะเป็น "ทางเลือกที่สาม" เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ โดยอ้างว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ประเทศไทยก็จะได้เดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำให้การปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นและท่าทีดังต่อไปนี้


            1) คณะบุคคลและองค์กรอย่าง "สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง" คือ อดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งแกนนำ 4 คน คือ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา มีบทบาทสำคัญในการ "ออกบัตรเชิญ" ให้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซ้ำยังแสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษา/ โฆษกนอกระบบ ของคณะรัฐประหารมาโดยตลอด โดยไม่เคยสนใจความเลวร้ายของคณะรัฐประหารที่ปรากฏในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่น การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนรูปแบบต่าง ๆ ความพยายามสืบทอดอำนาจการเมือง ฯลฯ


            คำแถลงของ สปป. เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารที่ต้องการทำลายความชอบธรรมของประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย กระบวนการนี้มุ่งใส่ร้ายป้ายสีว่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร คือเครือข่ายของ "กลุ่มอำนาจเก่า" โดยอาศัยการให้ความเห็นรายวันของบุคคลต่างๆ หรือ "องค์กรผี" ที่พวกเขาตั้งขึ้นมาตามอำเภอใจ


2) รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารเป็นรัฐธรรมนูญที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง กล่าวคือมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม มีกระบวนการร่างที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วม มีบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคกับสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ต้องพูดถึงการ "หมกเม็ด" ให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจทางการเมือง-การทหาร ด้วยวิธีต่างๆ ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทางช่วยพัฒนาประชาธิปไตย ซ้ำยังเปิดโอกาสให้อำนาจเผด็จการแฝงเร้นในเสื้อคลุมประชาธิปไตยมากขึ้น


เครือข่าย 19 กันยายน มีความเห็นว่าข้อเสนอของ สปป.ที่ให้ประชาชนรับรัฐธรรมนูญไปก่อน เป็นข้อเสนอที่หลอกลวงประชาชนให้ไปลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้นำกองทัพและระบบเผด็จการภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้ไม่เป็นคุณต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เช่นเดียวกับบทบาทของ สปป.ในกรณีที่กล่าวมา ซึ่งไม่ต่างจากลูกสมุนของคณะรัฐประหารภายใต้เสื้อคลุมของนักเคลื่อนไหวการเมืองรายวัน


3) การคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารเกิดจากแรงผลักดันของคนหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยโดยทั่วไป โดยคนทั้งหมดมีข้อเรียกร้องคือ ให้ประชาชนร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร โดยการลงประชามติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาประกาศใช้ใหม่ การคว่ำรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ทำให้เกิดทางตัน แต่คือการเปิดประตูไปสู่ปฏิรูปการเมืองโดยอาศัยประชาธิปไตยของประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรากฐาน


อนึ่ง เครือข่าย 19 กันยายน ขอประณาม สปป.ที่โจมตีประชาชนผู้สนับสนุนคุณทักษิณว่าเป็น "ระบอบเก่า" หรืออยู่ใต้ "ท่อน้ำเลี้ยง" อันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นพลเมืองของคนเหล่านี้ แตกต่างจาก สปป.ที่พยายามบอกว่ามีแต่ผู้ที่ต่อต้านทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น ที่สมควรมีสิทธิทางการเมือง


            เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร มองไม่เห็นความจำเป็นของการเสนอให้ สปป. ยุติพฤติกรรมใส่ร้ายป้ายสีผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะบทบาทของคนเหล่านี้ได้อยู่บนเส้นทางที่เป็นอุปสรรคกับประชาธิปไตยจนไม่มีทางแก้ไขให้เป็นอื่นอีกได้ จึงขอประณามคนเหล่านี้ และขอเรียกร้องให้คนเหล่านี้ยุติการใส่เสื้อคลุมของนักประชาธิปไตย หรือ "ภาคประชาชน" ไปสมคบคิดกับพวกขุนศึก-ศักดินา ในการสถาปนาระบอบระบอบอำมาตยาธิปไตย และ "ปล่อยผี" ให้ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมือง


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


16 กรกฎาคม 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net