Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา


 



 


เมื่อพูดถึงเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนมักจะนึกถึงพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย เป็นอันดับแรก และคงไม่มีใครปฏิเสธ ปัญหาการค้ามนุษย์ใน 17 จังหวัดภาคเหนือนั้น จึงมีความรุนแรงแตกต่างกันไป บางจังหวัดมีข้อมูลที่บ่งบอกถึงปัญหาที่สะสมมานาน และเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้ามนุษย์ที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น


 


"พะเยา" จำเลยแห่งการตกเขียว-ค้ามนุษย์


 


หากย้อนกลับไปในอดีต เมื่อราว 20-30 ปีที่ผ่านมา จ.พะเยา จังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่งในภาคเหนือได้ถูกสังคมมองว่า เป็น "ดินแดนแห่งปัญหาตกเขียว' จนกลายเป็นข่าวครึกโครม และกลายเป็ฯปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในขณะนั้น


 


แน่นอน ปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากฐานะครอบครัวนั้นมีปัญหาความยากจน ทุกคนในหมู่บ้านทั้งหญิงชายวัยหนุ่มสาว วัยกลางคน ต่างพากันละทิ้งอาชีพดั้งเดิม คือ การทำนา ทำสวน พากันหลั่งไหลไปเป็นแรงงานต่างถิ่น โดยเฉพาะผู้หญิงตัดสินใจไปขายบริการทางเพศ ไปไกลถึงต่างประเทศ โดยมีประเทศปลายทางคือ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมนี และออสเตรเลีย จนกลายเป็น "ปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามชาติ" ที่ทุกคนกล่าวขานกันในขณะนี้


 


ทว่าปัจจุบัน ปัญหาการค้ามนุษย์ ได้เปลี่ยนรูปแบบและกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น สืบเนื่องมาจากสภาพสังคมที่ทุกคนต่างตกอยู่ในกระแสของโลกทุนนิยม กระแสบริโภคนิยม จนทำให้พฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมหลงใหลในวัตถุนิยม จึงทำให้เกิดความคิดทัศนคติที่ผิดๆ และทำให้เป็นปัญหาที่ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ใช้เป็นช่องทาง ชักนำ หลอกลวงเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กหญิงเข้าไปบังคับค้าประเวณีในสถานบริการทางเพศเพิ่มมากขึ้น


 


จากสถิติของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานว่า ในช่วงปี พ.ศ.2545 - 2547 มีจำนวนเด็กและผู้หญิงไทยที่ตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ในต่างแดนและถูกนำส่งตัวกลับประเทศอย่างเป็นทางการ 19 คน และในปีช่วงปี 2546-2549 มีจำนวนทั้งหมด 696 คน


 


ในจำนวนทั้งหมดนี้ พบว่า จ.พะเยาเป็นจังหวัดอันดับ 1ในภาคเหนือที่มีเด็กและผู้หญิงที่ได้รับการช่วยเหลือและส่งกลับประเทศมากที่สุด


 


"ลำปาง" กับการค้ามนุษย์ในคาราโอเกะ


 


แต่ก็ใช่ว่า จะมีเพียงในพื้นที่ จ.พะเยา เท่านั้น อีกหลายๆ จังหวัดในเขตภาคเหนือ ล้วนต่างตกอยู่ในชะตะกรรมเดียวกันทั้งสิ้น


 


"ยกตัวอย่างในพี้นที่ จ.ลำปาง ซึ่งดูๆ แล้ว เหมือนกับว่าไม่มีปัญหาเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมา เราได้บุกเข้าไปช่วยเหลือเด็กผู้หญิงที่ถูกล่อลวงให้เข้าไปค้าประเวณีในคาราโอเกะแห่งหนึ่งในตัวจังหวัด..." นายสุริยา เกษมศิริสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการหน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ภาคเหนือตอนบน ประเทศไทย (TRAFCORD) บอกเล่าให้ฟัง


 


นายสุริยา ได้ฉายภาพและบอกเล่าถึงการเข้าไปช่วยเหลือเด็กหญิงกลุ่มนี้ว่า นอกจากจะถูกขบวนการค้ามนุษย์ ล่อลวงมาขายบริการทางเพศในร้านคาราโอเกะแล้วยังไม่พอ พวกเธอต้องถูกทารุณกรรม ข่มขู่ กดขี่ และใช้แรงงานเยี่ยงทาสอีกด้วย


 


"เมื่อเราเข้าไปช่วยเหลือ พบว่า ภายในสถานบริการแห่งนั้น มีการออกกฎคำสั่งกับเหยื่อเด็กหญิงที่ขายบริการอย่างเข้มงวด เช่น เด็กขายบริการได้ค่าตัว 300 บาท ต้องแบ่งครึ่งให้กับเจ้าของร้าน 150 บาท ตอนกลางคืน ใครไม่ทำงาน ถูกหักเงิน 2,000 บาท,นอกจากต้องรับแขกแล้ว ยังต้องผลัดเปลี่ยนเวรทำความสะอาด กวาดบ้าน เช็ดถู ห้องน้ำ. และหากใครออกไปโทรศัพท์ข้างนอก ก็จะถูกตัดเงิน..."


 



 


หลังจากที่หน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ภาคเหนือตอนบน ได้เข้าไปช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์กลุ่มนี้แล้ว ได้จับกุมตัวเอเย่นต์ค้ามนุษย์รายนี้ส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุก 27 ปี


 


 


แม่สอด - ตาก -กรุงเทพฯ เส้นทางลำเลียงการค้ามนุษย์ที่มิอาจมองข้าม


 


ตาก เป็นจังหวัดชายแดนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเมื่อดูจากภูมิศาสตร์แล้ว จะเห็นชัดว่าพื้นที่ 5 อำเภอ คือ ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง นั้นอยู่ติดกับเขตชายแดนพม่า เป็นระยะทางร่วม 550 กิโลเมตร มีแม่น้ำเมยกับภูเขาและแนวป่าเป็นแนวเขตแดน นอกจากนั้น ยังมีจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-พม่า อยู่ที่อำเภอแม่สอด ซึ่งใช้เป็นช่องทางเชื่อมโยงกับประเทศไทย


 


อีกทั้ง แม่สอด ยังถือว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้า การคมนาคมในภูมิภาคแถบนี้ด้วย นอกจากนี้ บริเวณชายแดน ยังเป็นพื้นที่ที่ตั้งศูนย์พักรอผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบสัญชาติพม่า อีก 3 แห่ง ปัจจุบัน มีการสำรวจ พบว่า มีผู้ลี้ภัยอยู่ภายในศูนย์ จำนวน 56,584 คน และมีสถานบริการต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์อีกจำนวน 49 แห่ง


 


แน่นอน จากสภาพดังกล่าว ย่อมทำให้ประชากรในจังหวัด ไม่ว่าชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยภูเขา รวมถึงชาวพม่าทั้งที่เข้ามาและอยู่ตามกฎหมาย และที่เข้ามาและอยู่โดยผิดกฎหมายอีกเป็นจำนวนมากที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ต่างประสงค์อยากแสวงหางานทำทั้งในบริเวณชายแดนและพื้นที่ชั้นใน จนนำไปสู่ขบวนการช่วยเหลือผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ด้วยการล่อลวง ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และมีการเคลื่อนย้าย ขนย้ายเข้าไปในพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะนำไปสู่การเร่ร่อนขอทาน และขายบริการทางเพศ


 


ฉะนั้น จ.ตาก จึงถือได้ว่า เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การค้ามนุษย์อยู่ 2 สถานะ คือ สถานะทางผ่าน และสถานะปลายทาง ซึ่งในรอบปี 2549 ที่ผ่านมา พบว่า ได้มีการช่วยเหลือและคุ้มครองหญิงและเด็กต่างด้าวที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จำนวน 22 ราย


        


และเมื่อพูดถึงปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะ "เด็กขอทาน" ใน อ.แม่สอด จะแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากสถานที่ต่างๆ จะไม่พบเห็นเด็กมาขอทาน ภาพจากภายนอกจึงมองว่า "แม่สอด" ไม่มีปัญหาเด็กขอทาน แต่ปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่คือมีชุมชนบางแห่ง "เสี่ยง" ต่อการนำเด็กไปเป็นขอทานใน "เมืองกรุง-เชียงใหม่" นั่นหมายถึงปัญหาเด็กขอทานที่นี่ คือ การเคลื่อนย้ายเด็กไปสู่ขบวนการในพื้นที่อื่น


 


"ชุมชนมุสลิมแม่สอด" จะมีปัญหาในเรื่องนี้มากที่สุด โดย "มุสลิมแม่สอด" ส่วนใหญ่จะอพยพมาจากประเทศพม่าและมีบางส่วนมาจากแถบประเทศบังคลาเทศ ประชากรส่วนหนึ่งจะ "ไร้สัญชาติ" ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง เป็น "แรงงานราคาถูก" ตามโรงงาน นั่นหมายถึง ทางเลือกในการดำรงชีวิตย่อมมีหนทางที่น้อยลง ด้วยค่าแรงงานราคาถูก และฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่ตกต่ำ เป็นผลให้เกิดสภาวะความเสี่ยงต่อการรุมเร้าของปัญหา และนำพาสู่การตัดสินใจของครอบครัวในการแสวงหาผลประโยชน์จากตัวเด็กที่ส่วนใหญ่จะเกิดหลังพ่อแม่อพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานในแม่สอดแล้ว จึงขาดโอกาสทางการศึกษาและการช่วยเหลือในสิทธิขั้นพื้นฐานจากภาครัฐ


 


สำหรับ "การเคลื่อนย้ายเด็ก" ออกนอกพื้นที่ชุมชนมุสลิมที่ อ.แม่สอด จะมีหลายลักษณะ ได้แก่ "ครอบครัวเต็มใจให้เด็กไป" เพราะเห็นแก่ "ผลตอบแทน" มี "นายหน้า" เข้ามาติดต่อในชุมชน โดยเข้าหาพ่อแม่เด็กๆแล้วพูดหว่านล้อม หรือล่อลวง จาก "รุ่นสู่รุ่น" คือ เมื่อครอบครัวส่งพี่คนโตไปกับนายหน้าแล้วเห็นว่าได้เงินกลับมาบ้านก็จะส่งลูกคนเล็กไปกับ "ขบวนการนายหน้า" อีก


 


"ขบวนการนายหน้าค้าเด็ก มีพฤติกรรมคล้ายเป็นตัวกลางในการจัดหาเด็กเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ โดยการชักนำเด็กเข้าสู่แกงค์ขอทาน คนกลุ่มนี้จะใช้โน้มน้าวชักจูงใจพ่อแม่ โดยใช้เงินเป็นตัวล่อให้เกิดความโลภ เอาความยากจนมาเป็นเครื่องมือในการค้ามนุษย์ ซึ่งเหยื่อจะเป็นครอบครัวค่อนข้างยากจนและมีบุตรมาก ทั้งนี้ขบวนการนายหน้าไม่ใช่คนท้องถิ่นในชุมชนมุสลิมแม่สอด แต่เป็นคนนอกพื้นที่ ซึ่งมีพื้นฐานกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับประชาชนในชุมชนมุสลิมนั่นเอง โดยสามารถเดินทางเข้า-ออกได้ทั้งประเทศไทยและพม่า"


 


เมื่อ "ขบวนการนายหน้า" หลอกลวงพ่อแม่เด็กจนสำเร็จแล้วจะพาเด็กเข้าสู่ "หัวเมืองใหญ่" เด็กจากชุมชนมุสลิมแม่สอดจะถูกลำเลียงสู่ "ขบวนการขอทาน" และธุรกิจที่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก โดยเมืองที่เป็น "ขุมทอง" ของ "ธุรกิจขอทาน" คือ "กรุงเทพฯ-เมืองเชียงใหม่"


 



 


"เชียงใหม่" ศูนย์กลางการเคลื่อนย้ายแรงงาน-การค้ามนุษย์แบบนานา(เชื้อ)ชาติ


 


ในขณะที่ จ.เชียงใหม่ อาจถือได้ว่าเป็น "ศูนย์กลางการเคลื่อนย้ายแรงงาน - การค้ามนุษย์" ก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เน้นการพัฒนาทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงย่อมเสมือนเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาสู่ตัวเมืองเชียงใหม่อย่างแรงและเร็ว แน่นอนว่า ธุรกิจด้านการบริการการท่องเที่ยวจึงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่า ธุรกิจโรงแรม สถานบันเทิง คาราโอเกะ ร้านอาหาร และอื่นๆ ซึ่งมีรวมทั้งหมดกว่า 1,700 แห่ง ในเฉพาะเขตตัวเมืองเชียงใหม่


 


และจากการสำรวจ พบว่า ในจำนวน 1,700 แห่งนี้ มีประมาณ 204 แห่ง ที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะธุรกิจสถานบันเทิงประเภทต่างๆ ที่เปิดบริการทั้งกลางวัน กลางคืน ซึ่งผู้ประกอบการมีความต้องการแรงงานเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กหญิง เด็กชาย รวมทั้งเด็กหญิงที่อพยพมาจากชุมชนแถบแนวตะเข็บชายแดนและจากชุมชนบนพื้นที่สูงในหลายๆ พื้นที่ในภาคเหนือ รวมทั้งกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ที่อพยพเคลื่อนย้ายข้ามแดนเข้ามาหางานทำ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งล่าสุด จำนวนแรงงานพม่าที่จดทะเบียนแล้วใน จ.เชียงใหม่ มีประมาณ 55,000 คน ส่วนอีกประมาณ 30,000 คน เป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย


 


"ในจังหวัดเชียงใหม่ มี 6 อำเภอที่ติดกับชายแดนไทย-พม่า เช่น ฝาง แม่อาย ไชยปราการ เชียงดาว เวียงแหง เป็นต้น อำเภอเหล่านี้ คือพื้นที่ที่ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ในการลักลอบผ่านแดน ก่อนส่งตัวเหยื่อไปยังปลายทางอย่างประเทศมาเลเซีย..." รสสุคนธ์ ทาริยะ นักสังคมสงเคราะห์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าให้ฟัง


 


จะเห็นได้ว่า ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ได้ทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์ในเชียงใหม่ กลายเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเมืองแห่งความสงบ กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและขายบริการ


 


บวกกับทัศนคติและค่านิยมในวัตถุ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชน ผู้หญิง ที่เดินทางหลั่งไหลเข้ามาทำงานในตัวเมือง ส่วนหนึ่ง ล้วนตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบการขายบริการ การค้าประเวณี รวมไปถึงการเอาเปรียบแรงงาน การบังคับขอทาน ขายดอกไม้ การใช้แรงงานในบ้าน เป็นต้น


 


"บางราย มีการใช้แรงงานเด็กตามบ้าน อายุ 12 ปี เป็นคนต่างด้าว ถูกทารุณกรรม เมื่อเราเข้าไปตรวจสอบ นายจ้างก็จะอ้างว่า ใช้เลี้ยงลูกอย่างเดียว แต่จริงๆ มีการบังคับเด็กทำงานตลอดเวลา ไม่ให้พักผ่อนหลับนอนเลย ตอนนี้เราเอามาอยู่ในบ้านพิงใจ..."


 


นักสังคมสงเคราะห์คนเดิม ยังกล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่ สังคมไทยส่วนใหญ่พากันคิดว่า ไม่ใช่ปัญหา เพราะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงในการค้ามนุษย์ไม่ใช่คนไทย จึงมองว่าเรื่องนี้ไม่มีเกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่ว่าตอนนี้การค้ามนุษย์ได้ทะลักเข้าไปสู่ระบบโรงเรียนและสถานศึกษาแล้ว จากเดิมเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนหรือออกจากโรงเรียนกลางคันเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและตกเป็นเป้าหมายหลักของแก๊งค์ค้ามนุษย์ แต่ทุกวันนี้ทุกคนต่างมีความเสี่ยงเหมือนกันหมด


 


สถานการณ์การค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคเหนือในปัจจุบัน ยังคงมีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและรุนแรงขึ้น อาทิ การบังคับใช้แรงงาน ล่อลวงให้ค้าประเวณีและขอทาน อีกทั้งพื้นที่ภาคเหนือยังตกอยู่ใน 3 สถานะคือ เป็นพื้นที่ต้นทางในการส่งเด็กหญิงจากภาคเหนือไปภายในประเทศ เช่น กรุงเทพฯ หาดใหญ่ หรือต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น บรูไน ฯลฯ ในรูปแบบการค้าประเวณี การนวดแผนโบราณ การใช้แรงงาน ไปจนถึงการแต่งงาน


 


นอกจากนี้ภาคเหนือยังเป็นพื้นที่ทางผ่าน มีการลักลอบนำเด็กหญิงจากต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว จีน เกาหลี ผ่านเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือแล้วส่งไปยังจังหวัดอื่นๆ หรือต่างประเทศ และเป็นพื้นที่ปลายทาง นำเด็กหญิงจากภาคอื่นๆ มาแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น การขอทาน ขายดอกไม้ ขายพวงมาลัย


 


และที่ตกใจ ก็คือ การค้ามนุษย์ ใน พ.ศ.นี้ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม คือ ไม่เพียงแต่มีการจัดขายบริการทางเพศ(หญิง) แล้ว ปัจจุบัน มีการพบว่า กระแสการขายบริการทางเพศของเด็กผู้ชาย เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว


 


"ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่กลายเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้ เริ่มมีคนพูดกันแล้วว่า นักท่องเที่ยวมาเชียงใหม่ ต้องเที่ยวผู้ชาย ซึ่งทัศนคติเรื่องการเสียตัวของเพศชายในสังคมไทยไม่เหมือนเพศหญิง เด็กชายที่ถูกล่อลวงทางเพศมองที่ทรัพย์สินที่เขาจะได้มาแลกกับการเสียตัวว่ามีค่ามากว่า เขาจึงไม่ได้รู้สึกว่าถูกกระทำ อย่างกรณีที่มีการพาเด็กไปให้แขกดูตัว ถ้าไม่เลือกเอา ก็ต้องจ่ายค่าดูตัว 200 บาท เป็นต้น" สุริยา เกษมศิริสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการหน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ภาคเหนือตอนบน ประเทศไทย (TRAFCORD) กล่าว


 


นี่เป็นบางส่วนของภาพของการค้ามนุษย์รูปแบบใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในปัจจุบัน นั้นเริ่มสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนกันมากขึ้นทุกที ซึ่งว่ากันว่า หากมองในเรื่องความสัมพันธ์เชิงธุรกิจของการค้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ในขณะนี้ "มนุษย์ที่เป็นเหยื่อ คือ สินค้า" และ "นักค้า คือผู้แสวงหาผลประโยชน์"


 


ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทย โดยเฉพาะภาครัฐบาลจะต้องชัดเจนในเรื่องนโยบายและเข้าใจในเรื่อง "การค้ามนุษย์"ว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้.


         


 


 


ข้อมูลประกอบ :


"เอกสารบันทึกข้อตกลงว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติร่วมกันฯในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ฯ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ" สำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก เยาวชนฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


ผู้จัดการรายวัน, 21 พ.ค.2550


หนังสือพิมพ์แนวหน้า 5 ก.ค.2550       


 


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


รายงาน : "การค้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า มนุษย์" กับเส้นทางอาชญากรรมข้ามชาติในไทย (1)


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net