Skip to main content
sharethis

ตอนที่ 2 : เบื้องหลัง "อำเภอฝาง ... สวรรค์ของนายทุน"


โดย   วิทยากร บุญเรือง


 


 


 



สวนส้มกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ที่ อ.ฝาง (ที่มาภาพ : http://travel.sanook.com)


 


 


 


ชนชั้นและปัญหาสิ่งแวดล้อม  : ปัญหาที่ทั่วโลกกำลังประสบ  การพัฒนาทุนนิยมและการช่วงชิงทรัพยากร


 


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ ที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ต่างเจอกับปัญหา  ในการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่เคยใช้ร่วมกัน ( Common-Pool Resource : CRP  ) เช่น  ที่ดิน , ป่าไม้  , แม่น้ำ , ทะเล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ในอดีตก่อนการเติบโตขยายตัวของระบบทุนนิยมนั้น ในแต่ละสังคมจะมีจัดการ-จัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยคำนึงถึงการกระจายประโยชน์สู่คนในชุมชนให้ถ้วนหน้าที่สุด ซึ่งสิ่งนี้เสมือนกับว่าเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมนั้นให้ลงตัวที่สุด ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการขัดแย้งในสังคมได้


 


แต่ปัจจุบันปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่เคยใช้ร่วมกัน ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาของทิศทางในการพัฒนาประเทศในระบบทุนนิยมเสรีที่เน้นมุ่งแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในเชิงพาณิชย์ โดยการส่งเสริมให้ลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่เป็นหลัก กอปรกับการจัดการทรัพยากรเชิงเดี่ยวแบบผูกขาดของรัฐที่มักจะให้อภิสิทธิ์แก่นายทุนมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก


 


เพราะกติกาที่รัฐมักจะวางไว้สำหรับการแข่งขันกันเพื่อให้เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเสรีนั้น ส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบลักษณะที่เรียกว่า "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" โดยการตีตราให้ทุกอย่างมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และก็ให้ระบบกลไกตลาดเข้าไปทำการจัดสรรแบ่งผลประโยชน์ ... ซึ่งเมื่อใดที่ "มือที่มองไม่เห็น" นี้ทำงานแล้วล่ะก็ ผลประโยชน์ความมั่งคั่งก็จะถูกดูดไปให้กับชนชั้นนายทุนเสมอ


 


ดังนั้น ปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรจึงเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในยุคสมัยของเรา


 


ผู้ที่ลุกขึ้นมาขัดขืนกับการกระทำย่ำยีของนายทุน ผู้ที่ลุกขึ้นมาป้องกันการขโมยทรัพยากรโดยนายทุน ผู้ที่ยืนตรงข้ามกับนายทุนก็คือผู้ที่มองเห็นปัญหาโครงสร้างหลักของสังคมในปัจจุบัน นั่นก็คือเรื่อง "ความแตกต่างทางชนชั้น"  และพวกเขาจะหาทางต่อสู้สลายมัน ถึงแม้มันจะต้องแลกกับชีวิตก็ตาม


 


และกรณีการสูญเสียของพระสุพจน์นั้น เราคงจะละเลยปูมหลังในพื้นที่แถบอำเภอฝางไปเสียไม่ได้!


 


 


เบื้องหลัง "อำเภอฝาง ... สวรรค์ของนายทุน"


 


"... ที่อาร์เจนตินา ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญของอาร์เจนตินาจะให้การคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมืองว่า หากครอบครองทำกินในพื้นที่ใดมานานกว่า 20 ปีให้ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้น แต่ไม่มีนายทุนคนใดสนใจจะทำตามกฎหมาย ชาวบ้านซึ่งอยู่อาศัยทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษร่วม 100 ปี ก่อนการต่อตั้งจังหวัดซาติเอโกแต่กลับไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ สถานะทางกฎหมายของที่ดินเหล่านี้จึงเป็นที่สาธารณของรัฐ บรรดานายทุนได้ใช้ช่องว่างตรงนี้อาศัยอำนาจรัฐที่ฉ้อฉลออกเอกสารสิทธิยึดเอาที่ดินชาวบ้านโดยใช้กองกำลังติดอาวุธ เช่น ตำรวจ ทหาร เป็นเครื่องมือบุกยึดที่ดินของชาวบ้านอย่างซึ่งหน้า ในทศวรรษ 1990 การแย่งยึดที่ดินจากมือชาวบ้านมีอย่างดาษดื่น จนชาวบ้านพูดกันติดปากว่า "โรคไข้ถั่วเหลือง" เพราะหลังจากยึดที่ดินได้นายทุนจะเปิดป่าบุกเบิกทำไร่ถั่วเหลืองโดยไม่สนใจแม้แต่แหล่งต้นน้ำลำธาร ทุ่งถั่วเหลืองของนายทุนกว้างใหญ่สุดสายตา ปลูกถั่วเหลืองซ้ำซากจนดินเสื่อมและยังใช้เครื่องบินพ่นสารเคมี ชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นก็พยายามปกป้องตนเองจากสารพิษ ซึ่งก็ทำได้เพียงการเข้าไปหลบอยู่ในบ้านขณะที่เครื่องบินพ่นสารเคมีเท่านั้น แหล่งน้ำตลอดจนผลผลิตของชาวบ้านก็ได้รับสารเคมีด้วย เด็กๆ ที่วิ่งไปดูเครื่องบินพ่นสารเคมีต่างเจ็บป่วยเรื้อรังรักษาไม่หาย ..." (ที่มา : ลาลูชา คัมเปซินา  การต่อสู้ของชาวนาในอาร์เจนตินา)


 


ปรากฏการณ์นี้กำลังถูกฉายซ้ำที่บ้านเรา  ตอนเหนือของประเทศไทย ในแถบพื้นที่แถบอำเภอฝาง , แม่อาย และไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ...


 


ที่ราบฝางเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันครอบคลุมเขต 3 อำเภอของเชียงใหม่ คือ ฝาง , แม่อาย และไชยปราการ ซึ่งพื้นที่รวมของทั้ง 3 อำเภอมีขนาดประมาณ 2,130,446 ไร่


 


จากบันทึกในสมัยโบราณตามตำนานต่างๆ กล่าวว่าที่ราบฝางเคยมีการสร้างชุมชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่หนึ่งพันปีที่แล้ว รวมถึงพลวัตการเคลื่อนไหวของประชากรในแต่ละยุค ที่เกี่ยวพันกับการทำสงคราม การทำกสิกรรมและการค้าขาย


 


พื้นที่ในแถบอำเภอฝางในประวัติศาสตร์สมัยใหม่นั้น พบว่ามีการตั้งรกรากของประชากรที่เดินทางมาจากแห่งหนต่างๆ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่ในแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการปักหลักตั้งรกรากด้วยการยังชีพตามวิถีแห่งกสิกรรม


 


พื้นที่ในแถบอำเภอฝางหากมีการพัฒนาจากสังคมกสิกรรมสู่สังคมเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะไม่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติระหว่างชาวบ้านกับนายทุน, ปัญหาความยากจนของคนในพื้นที่ , ปัญหาคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมเสื่อมถอย , ปัญหาการกดขี่แรงงานข้ามชาติ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่อำเภอฝาง , แม่อาย และไชยปราการ


 


โดยปัญหาที่เกิดนั้น มาจากสาเหตุใหญ่ดังนี้


 


เนื่องด้วยนโยบายการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยอาศัยหลัก "กลไกตลาดเสรี"  ซึ่งต้องทำให้การจัดสรรทรัพยากรที่เคยใช้ร่วมกันของสังคม เช่น ที่ดิน , ป่าไม้ , แหล่งน้ำ ฯลฯ กลายเป็นสิ่งที่มี "กรรมสิทธิ์" โดยรัฐเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นและมักที่จะส่งผ่านไปให้กับนายทุนด้วยวิธีการออกสัมปทานหรือให้เช่า


 


โดยมีการเน้นใช้ทรัพยากรเหล่านั้นตามมุมมองเชิงอรรถประโยชน์และความคิดเกี่ยวกับมูลค่าในระบบตลาด ซึ่งมองความสำคัญของทรัพยากรเหล่านั้นเป็นเพียงปัจจัยการผลิตและทุนทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาประเทศไปตามวิถีทางแห่งทุนนิยม  ซึ่งสัมพันธ์โยงใจอยู่กับระบบตลาดที่เชื่อมโยงกับระบบตลาดโลก


 


การถือกรรมสิทธิ์ของสรรทรัพยากรที่เคยใช้ร่วมกันของสังคม เช่น ที่ดิน , ป่าไม้ , แหล่งน้ำ ฯลฯ นั้นจะถูกขีดแบ่งโดย "รัฐ" และโดยส่วนใหญ่นั้น รัฐมักจะให้กรรมสิทธิ์เหล่านี้แก่นายทุน เพื่อให้นำไปทำกำไรตามวิถีแห่งการผลิตตามระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการออกสัมปทาน , การประมูลขาย , การให้เช่า ฯลฯ โดยวิธีการเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือขัดขวางไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น  เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีทุนรอนที่เพียงพอในการเข้าแข่งขันในกระบวนการดังที่กล่าวไปจากนายทุนได้


 


รวมถึงนโยบายการอนุรักษ์ธรรมชาติที่พยายามกีดกันให้ประชากรส่วนใหญ่ออกจากทรัพยากรธรรมชาติ  โดยนโยบายที่เป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดก็คือ "พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ"  ซึ่งการมีเขตป่าสงวนนี้ใช่ว่าจะกีดกันให้ทุกคนออกไปจากการยุ่งเกี่ยวกับทรัพยากร ที่ดิน ต้นไม้ แหล่งน้ำ ในเขตป่าสงวน ออกไปหมดทุกคนเลยทีเดียว  หากแต่นายทุนผู้สามารถจ่ายเงินค่าสัมปทานหรือค่าเช่าจากรัฐ ยังสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์กับทรัพยากรเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ 


 


มันทำให้เราเห็นว่า รัฐ , นายทุน รวมถึงกลุ่มคนผู้ดำเนินการประสานระหว่างสองกลุ่มแรกนั้นต่างหากที่ได้รับผลประโยชน์ ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และการประสานงานกันอย่างกลมกลืนระหว่างรัฐและนายทุนมันได้ทำให้เกิดปัญหาไปทุกหัวระแหง


 


นี่คือภาพรวมเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาการพัฒนาอย่างบิดเบี้ยวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ   แต่หากถ้าเป็นกรณีของอำเภอฝาง ,แม่อายและไชยปราการแล้ว ถ้าจะไม่เอ่ยถึงตัวละครหลักอันหนึ่ง ที่จะนำมาปะติดปะต่อเพื่อหาสาเหตุการพัฒนาที่ล้มเหลวในพื้นที่ก็คงจะไม่ได้


 


ตัวละครหลักนั้นก็คือ  "สวนส้ม"


 


การเข้ามาของสวนส้มเขียวหวานนั้น ประมาณการกันว่ามันเดินทางมาถึงอำเภอฝางเมื่อปี พ.ศ.2500 แต่ก็เป็นเพียงการทดลองปลูกแบบไม่ถึงกับเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่เท่าใดนัก แต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2524 ได้เริ่มมีกลุ่มทุนต่างถิ่นจำนวน 2 ราย  ได้เข้ามาทำการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านแถบอำเภอฝางจำนวน 500 ไร่  ซึ่งว่ากันว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตมาจากแถบบางมด ซึ่งถือว่าเป็นการริเริ่มให้นายทุนเจ้าอื่นๆ เข้ามา เพื่อเนรมิตอุตสาหกรรมสวนส้มขึ้นมาในพื้นที่แถบนี้


นายทุนที่มีชื่อเสียงที่สุด และเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมสวนส้มในเขตอำเภอฝางนั้น คงจะหนีไม่พ้น นายบัณฑูร จิระวัฒนากูล เจ้าของสวนส้มธนาธร เพราะสวนส้มธนาธรได้พัฒนาส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้งให้เป็นที่นิยม จนทำให้เกิดปรากฏการณ์การขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้อย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา


 


ด้วยการที่อุตสาหกรรมนี้สามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล ทุนขนาดมหึมาจึงถูกดึงจากภายนอกเข้าไปสู่พื้นที่อำเภอฝาง ดังนั้น จึงมีการกว้านซื้อที่ดินจากคนในท้องถิ่น หรือแม้แต่การใช้วิธีนอกกฎหมาย เช่น การยึดหรือฮุบเอามาแบบหน้าด้านๆ โดยกลุ่มนายทุนที่มีอิทธิพล


 


กอปรกับ "พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ"  ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถทำให้เกิดการเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยกีดกันคนส่วนใหญ่ไม่ให้มีสิทธิ์ร่วมใช้ ซึ่งคล้ายกับการเป็นสมคบคิดระหว่าง "รัฐ" และ "นายทุน"  ซึ่งในเขตพื้นที่อำเภอฝางนั้นมีเขตพื้นที่ป่าสงวนถึง 3 แห่ง คือ


 


เขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝาง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 213 ( พ.ศ. 2517 ) มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,000,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสามอำเภอ ( ฝาง , แม่อาย และไชยปราการ ) , เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หลักหมื่น ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 682 (พ.ศ. 2517 ) พื้นที่ 8,512 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอฝาง และแม่อาย , เขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งประกาศหลังสุด ป่าแม่สูน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,187 (พ.ศ.2529) พื้นที่ 3,906 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอฝาง


 


พื้นที่มากมายมหาศาลของเขตป่าสงวนเหล่านี้ได้เอื้อให้นายทุนต่างๆ สามารถเข้าไปเช่าเพื่อทำสวนส้ม เห็นได้จากประวัติของสวนส้มธนาธร สวนส้มชื่อดังที่สุดของอำเภอฝาง ที่ได้ทำการเช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝาง เขตตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง ในครั้งแรกเริ่มด้วยจำนวน 701 ไร่ ขยายการปลูกส้ม ช่วงแรกเป็นส้ม เขียวหวาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527


 


จนถึงปัจจุบันนี้พบว่ามีสวนส้มของนายทุนเจ้าต่างๆ กินพื้นที่เข้าไปในอาณาเขตป่าสงวน ซึ่งมีทั้งที่ถูกกฎหมาย ( ทำสัญญาเช่า ) และผิดกฎหมาย ( การบุกรุกเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ) กว่า 100,000 ไร่ จากพื้นที่รวมของสวนส้มบนที่ราบฝางที่มีอยู่ประมาณ 300,000 ไร่


 


สวนส้มกลับไม่ได้ทำให้คนฝางส่วนใหญ่อยู่ดีกินดีขึ้น แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติระหว่างชาวบ้านกับนายทุน, ปัญหาความยากจนของคนในพื้นที่ , ปัญหาคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมเสื่อมถอย , ปัญหาการกดขี่แรงงานข้ามชาติ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่อำเภอฝาง , แม่อาย และไชยปราการ


 


ประมาณปี 2537 - 2540 เป็นช่วงปีที่อุตสาหกรรมสวนส้มในอำเภอฝางมีการขยายตัวสูงขึ้น แต่จากการประเมินของฝ่ายวิชาการส่งเสริมการเกษตร  พบว่าโดยส่วนใหญ่การเพาะปลูกในพื้นที่เป็นอุตสาหกรรมการเพาะปลูกขนาดใหญ่  ส่วนเกษตรกรรายย่อยในปี พ.ศ. 2544 พบว่าจะประสบภาวะขาดทุนเกือบทุกสวน


 


จากข้อเท็จจริงนี้ทำให้เราเห็นว่าอุตสาหกรรมสวนส้มในอำเภอฝางนั้น ก็เฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมบนโลกทุนนิยมโดยทั่วๆ ไปในปัจจุบันที่การสร้างผลผลิตให้คุ้มทุนและสร้างกำไรสูงสุดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่ของการลงทุน กล่าวคือการลงทุนสูง ย่อมได้เปรียบและมีสิทธิ์อยู่รอดในอุตสาหกรรมกว่าการลงทุนต่ำ


 


เพราะนายทุนมีความได้เปรียบในเรื่องของการลงทุนในเรื่องการตลาด การขนส่ง  รวมถึงกระบวนการการผลิต เช่น การวิจัยพัฒนาพันธุ์ส้ม , การใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ , เทคโนโลยีเก็บเกี่ยวที่ทันสมัย , แรงงานจำนวนมาก ( ซึ่งใช้แรงงานข้ามชาติที่มีต้นทุนถูกกว่าแรงงานไทย ) ความได้เปรียบที่เป็นผลพวงมาจากทุนลงทุนที่มีขนาดใหญ่กว่าชาวบ้านนี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำกว่าเกษตรกรรายย่อย


 


สิ่งเหล่านี้ได้กีดกันไม่ให้เกษตรกรรายย่อยไปมีส่วนแบ่งอันมหาศาลจากอุตสาหกรรมนี้ได้  แต่ได้กลับกดดันบังคับให้เกษตรกรรายย่อยต้องขายที่ดินให้กับนายทุน และไปประกอบอาชีพอย่างอื่น เพราะไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคากับนายทุนได้


 


ส่วนปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติระหว่างชาวบ้านกับนายทุนนั้นก็ได้เกิดขึ้นในหลายๆ แห่งในพื้นที่ อำเภอฝาง ,แม่อาย และไชยปราการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปแย่งชิงข่มขู่เอาที่ดินทำกินจากชาวบ้านโดยนายทุนและผู้มีอิทธิพล หรือปัญหาการแย่งชิงแหล่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านมักจะเป็นผ่ายเสียเปรียบอยู่เสมอ


 


ส่วนปัญหาความยากจนนั้น เกิดจากการที่พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลในแถบนี้นั้นถูกนายทุนจับจองนำไปทำสวนส้มเพื่อสร้างกำไรให้กับชนชั้นตนเองเสียหมด ทำให้การกระจายการถือครองที่ดินและรายได้เป็นไปอย่างกระจุกตัว คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ถ้าไม่ยังชีพด้วยการทำการเกษตรขนาดเล็ก หรือการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ แล้ว พวกเขาก็จะต้องเข้าไปสู่การเป็นปัจจัยการผลิตในสวนส้มของนายทุน คือการเข้าไปรับจ้างเป็นแรงงาน


 


ปัญหาคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมเสื่อมถอย ปัจจุบันพบว่าในสวนส้มและชุมชนใกล้เคียงกับพื้นที่สวนส้มนั้นต้องประสบกับปัญหาการแพร่กระจายของสารเคมีที่ใช้ในสวนส้ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแรงงานและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงยังเจือปนในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายพืชพันธุ์อื่นๆ เพื่อแผ้วถางพื้นที่ในการทำสวนส้ม ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างก็คือ คุณภาพของดินที่อาจจะลดลงสำหรับการเพาะปลูก  ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่รอวันปรากฏในอนาคต


 


เหตุผลเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้คนในท้องถิ่นลุกขึ้นสู้ ... "สงครามชนชั้น" ได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่แถบอำเภอฝาง


 


เป็นสงครามการปะทะกันระหว่างกลุ่มนายทุนและชนชั้นนำ กับ ชาวบ้านและกองหนุนผู้รักความเป็นธรรม เช่น พระสุพจน์ สุวโจ และอีกหลายๆ คน!


 


 


 


 


(โปรดติดตาม "2 ปีกับมรณกรรมของ "พระสุพจน์ สุวโจ" ตอนที่ 3)


 


........................


 


บทความย้อนหลัง


2 ปีกับมรณกรรมของ "พระสุพจน์ สุวโจ" : แม้แต่พระยังต้องสังเวยต่ออำนาจทุนนิยม (1)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net