Skip to main content
sharethis

ยุกติ มุกดาวิจิตร


 


การพิจารณาจากกรอบทฤษฎีทางมานุษยวิทยาอันเป็นวิชาการอย่างยิ่งยวด อย่างเคารพต่อสถาบันตุลาการอย่างยิ่งยวดเช่นกัน[1]


 


หากเรามองข้ามประเด็นเรื่องความหนักแน่นของหลักฐาน ความสมเหตุสมผลของการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงไปสู่ข้อวินิจฉัย ความยุติธรรมของการมีบทลงโทษย้อนหลัง ความเหมาะสมของบทลงโทษ ใครบ้างที่สมควรเป็นผู้รับผิด หรือผลกระทบจากการยุบ-ไม่ยุบพรรคใด ฯลฯ ไปก่อน ประเด็นใหญ่ที่สังคมคลางแคลงใจต่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขณะนี้ได้แก่ ความชอบธรรมของคำวินิจฉัย


 


ผู้เขียนใคร่เสนอว่า ไม่ว่าประเด็นความชอบธรรมจะเป็นอย่างไร การวินิจฉัยนี้แสดงให้เห็นอีกรูปลักษณ์หนึ่งของวัฒนธรรมการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


 


เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม นักศึกษาวัฒนธรรมเปรียบเทียบนาม โยฮัน ฮุยซิงกา (Johan Huizinga) เสนอว่า ในระบบตุลาการสมัยใหม่มีการละเล่น/การละคร (play) เป็นสารัตถะหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่าความขึงขังจริงจัง ในบทที่ชื่อ "Play and Law" ของหนังสือ มนุษย์ สัตว์การละเล่น/การละครฯ[2] ฮุยซิงกาเสนอว่า ระบบตุลาการมีธรรมชาติพื้นฐานของการละคร/การละเล่น ทั้งในแง่ที่ว่า การปรากฏตัวของศาลไม่แตกต่างจากนักแสดงบนเวทีการแสดงที่ต้องสวมหน้ากาก (วิก) และชุดแสดง (ครุย) แสดงอยู่บนเวที (บัลลังก์) และในแง่ที่ว่า สาระสำคัญของการขึ้นศาลคือการโต้เถียงกันเพื่อเอาแพ้เอาชนะ มากกว่าจะเป็นการต่อสู้กันเพื่อความถูก-ผิดหรือยุติธรรม-อยุติธรรม


 


ดังนั้นสำหรับพรรคการเมืองบางพรรคที่ไม่ได้ถูกยุบลงในคืนวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จึงมีการพูดกันว่า คดีนี้เป็น "ชัยชนะ" จากฝีไม้ลายมือของทนาย ในขณะเดียวกัน ในคืนเดียวกันนั้น "ผู้ชม" ทางบ้านได้ตระหนักถึงลักษณะเชิง "การละคร" ของระบอบตุลาการเป็นอย่างดี เมื่อหลายคนเปรียบเปรยว่า  "เป็นการตัดสินได้สะใจเหมือนเปาบุ้นจิ้นพิพากษาในศาลไคฟง" ยิ่งเมื่อการอ่านคำวินิจฉัยมาอยู่ในจอทีวี ความเป็น "เวทีการแสดง" ของกิจกรรมในคืนวันนั้นยิ่งแจ่มชัดยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่าการแสดงคืนนั้นแสดงได้อย่างสม "บทบาทศาล" "สมจริง" เสียจนไม่น่าตื่นเต้น ชวนติดตามดั่งศาลไคฟง[3]


 


ขยับไปอีกชั้นหนึ่ง หากตั้งปุจฉาด้วยหลักทางการมานุษยวิทยาการเมืองแนวพิธีกรรมและสัญลักษณ์ "ละครฉากนี้" แสดงโดย "ตัวละคร" ในสังกัดของ "คณะละคร" คณะใด เป็นการแสดงที่วางอยู่บนหลักนิติรัฐหรือเป็นลักษณาการหนึ่งของ "นาฏรัฐ" (theatre state) ประเภทใด


 


แน่นอนว่านี่เป็นการทดลองดัดแปลงเอาความคิดของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ทซ (Clifford Geertz) ในหนังสือ นครา: นาฏรัฐบาหลีในศตวรรษที่ 19 มาใช้พิจารณาการตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ[4] ในหนังสือดังกล่าว เกียร์ทซแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมมากมายเกี่ยวกับกษัตริย์บาหลี ที่แลดูซับซ้อน ขึงขัง อลังการ มีความสำคัญต่อการสร้างและธำรงระบอบกษัตริย์ของบาหลี ในคืนวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เราก็อาจเห็นฐานะการแสดงและ/หรือพิธีกรรมแห่งอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่อการเมืองไทยยุครัฐประหารได้เช่นกัน


 


อันที่จริงไม่มีอะไรต้องกล่าวให้อ้อมค้อมอีกต่อไปว่า คณะบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นในนาม คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นคณะตุลาการแห่งระบอบรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


 


ดังที่ปรากฏในการตอบข้อกังขาว่า "คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่" คณะตุลาการฯยอมรับเองถึงที่มาของตน โดยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2549 มาตรา 35 (ซึ่งบัญญัติโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยายน) แล้วสรุปว่า  "คณะตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ไม่ว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นศาลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ก็ตาม (คำวินิจฉัยฯ หน้า 40)"[5] เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากจะยืนยันว่ามีอำนาจที่ได้มาจากคณะรัฐประหารแล้ว คณะตุลาการฯยังกล่าวทำนองที่ว่า คณะตุลาการฯไม่ใช่ศาลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ[6]


 


เมื่อมีที่มาเช่นนั้น การวินิจฉัยให้พรรคการเมืองบางพรรคต้องหมดสภาพลงด้วยความผิดที่ว่า   "กระทำเพื่อให้ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" (คำวินิจฉัยฯ หน้า 94) "กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข" (คำวินิจฉัยฯ หน้า 96) และ "เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" (คำวินิจฉัยฯ หน้า 96) นั้น จึงเป็นที่คลางแคลงใจของสังคมประชาธิปไตยว่า แล้วคำวินิจฉัยนี้เองกระทำดังที่กล่าวโทษพรรคเหล่านั้นด้วยหรือไม่?


 


กล่าวคือ ในเมื่อในคำวินิจฉัยกล่าวว่า "การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลัง" เป็นลักษณะหนึ่งของการได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดย "มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" (และโต้แย้งพรรคไทยรักไทยว่า การกระทำดังที่พรรคไทยรักไทยกระทำนั้นไม่ต่างจากการรัฐประหาร) (คำวินิจฉัยฯ หน้า 94) แล้วการที่คำวินิจฉัยนี้กระทำโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยวิถีทางสู่อำนาจรัฐโดยมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับมาตัดสินองค์กรอื่นว่ากระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้สังคมไม่เข้าใจว่าคำวินิจฉัยนี้ชอบธรรมหรือไม่?


 


ความเคลือบแคลงสงสัยดังกล่าวสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองไทยอย่างน่าสังเกต การจงใจอำพรางการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ผ่านคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยคณะบุคคลที่ใช้กำลังยึดอำนาจ นี่คงเนื่องมาจากเหตุที่ว่า คณะรัฐประหารรู้ดีว่าการใช้อำนาจดิบ ประกาศล้มเลิกพรรคการเมืองทันทีที่ยึดอำนาจสำเร็จดังในอดีตนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมการเมืองไทยอีกต่อไป จึงต้องอ้อมๆแอ้มๆตั้งคณะตุลาการฯขึ้นมาดำเนินการ การอำพรางอำนาจรัฐประหารดังกล่าวแสดงให้เห็นจากคุณลักษณะต่างๆขององค์กรคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอง กล่าวคือ


 


ประการแรก คณะตุลาการฯแต่งตั้งขึ้นมาบนหลักการที่แตกต่างอย่างยิ่งกับศาลรัฐธรรมนูญ (ที่ถูกยุบไปโดยคณะรัฐประหาร) ดังจะเห็นได้จากการที่คณะตุลาการฯมีองค์ประกอบแตกต่างอย่างยิ่งกับศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยทั้งผู้พิพากษาและนักวิชาการทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แต่คณะตุลาการฯประกอบไปด้วยคณะผู้พิพากษาล้วนๆ โดยหลักการแล้ว คณะตุลาการฯจึงไม่มีฐานะแทนที่หรือเทียบเคียงได้กับศาลรัฐธรรมนูญในอดีต แต่กระนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ถูกกำหนดหน้าที่ให้รับเอาภาระของศาลรัฐธรรมนูญเดิมมาทำ ทำให้สังคมเข้าใจสับสนว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นศาลรัฐธรรมนูญ


 


ประการต่อมา ในแง่ของที่มาของอำนาจ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีฐานะแตกต่างอย่างยิ่งกับ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้นว่า คณะตุลาการฯไม่ได้พิพากษาในพระปรมาภิไธย ในแง่นี้ จึงไม่ใช่องค์กรที่อยู่ในโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่แยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ แต่องค์ประกอบของคณะตุลาการฯทำให้สาธารณะชนเข้าใจผิดได้ง่ายๆว่า คณะตุลาการฯทำหน้าที่ศาลในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


 


และประการสำคัญ หลักปรัชญาการเมืองที่เป็นรากฐานของการใช้อำนาจในการพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองนี้ การที่คำวินิจฉัยฯยอมรับบรรทัดฐานการตัดสินคดีการเมืองบนพื้นฐานของการยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร สังคมอาจคลางแคลงใจได้ว่า มิเท่ากับเป็นการที่ระบบตุลาการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ให้ความชอบธรรมให้กับลัทธิธรรมเนียมการปกครองที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยหรอกหรือ?


 


เช่น ในข้อวินิจฉัย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ้างว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.. 2541 ไม่ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปเมื่อคณะรัฐประหารประกาศให้รัฐธรรมนูญฯ พ.. 2540 เป็นอันสิ้นสุดลง เนื่องจากเหตุผลสำคัญประการหนึ่งว่า "เมื่อพิจารณาประเพณีการปกครองของประเทศไทยเราในอดีต เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสิ้นสุดลงภายหลังการเข้ายึดอำนาจการปกครอง หากคณะผู้เข้ายึดอำนาจการปกครองไม่ประสงค์ให้กฎหมายที่มีเนื้อหาสาระเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ก็จะมีประกาศหรือคำสั่งให้ยกเลิก ดังเช่น ..." (คำวินิจฉัยฯ หน้า 48-49 ข้อความที่เน้นเป็นของผู้เขียน) แล้วคำวินิจฉัยฯก็ยกประกาศของคณะรัฐประหารสมัยต่างๆประดามีมา เท่ากับว่า คำวินิจฉัยฯยอมรับการเข้ายึดอำนาจการปกครองด้วยการรัฐประหาร ในฐานะเป็นประเพณีการปกครองของไทย


 


การระบุในคำวินิจฉัยฯว่า การรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจรัฐโดย "มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" พร้อมๆกับยอมรับว่าการรัฐประหารเป็น "ประเพณีการปกครองของประเทศไทยเรา" ตรรกะวิทยาขั้นพื้นฐานย่อมนำไปสู่ข้อสรุปอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า คำวินิจฉัยฯลงความเห็นว่า การรัฐประหาร(ซึ่งเป็นการยึดอำนาจรัฐโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ)เป็นประเพณีการปกครองที่เป็นที่ยอมรับของประเทศไทยเรา


 


ในกรอบของ "การละเล่น/การละคร" จึงกล่าวได้ว่า ลักษณะของวัฒนธรรมอำนาจอย่างใหม่อย่างหนึ่งที่คณะรัฐประหาร 19 กันยายน นำมาสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารได้แก่ "นาฏลักษณ์ของโวหารและลีลาแบบศาล" (judicial poetics and performances) วัฒนธรรมการใช้อำนาจลักษณะนี้เป็นวัฒนธรรมการใช้อำนาจรัฐที่กระทำการผ่าน "เครื่องมือทางอุดมการณ์" ไม่ใช่การใช้อำนาจทางตรงดังในอดีต[7] พูดง่ายๆใน "ภาษาเฉพาะวงการ" (register) แบบ Hollywood (ด้วยความเคารพต่อสถาบันตุลการอย่างยิ่งยวด) การกระทำดังกล่าวเสมือนเป็นการใช้อำนาจการรัฐประหารผ่าน "ผู้แสดงแทน" (stuntmen) เป็นลักษณะหนึ่งของสิ่งที่อาจเรียกว่า "นาฏรัฐประหาร"


 


ดังนั้นแม้ว่าจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆของ "พิธีการแบบตุลาการ" คำวินิจฉัยของคณะตุลาการฯเป็นดอกผลที่ต่อเนื่องมาจาก "คำประกาศของคณะรัฐประหาร"    ที่แสดงผ่านทีวี ให้ผู้ชมทางบ้านฟังและรับชม ในภาษาที่ฟังดูซับซ้อน ยอกย้อน ขึงขัง น่าเกรงขาม อย่างดูมีเหตุมีผล เป็นกลาง และวางอยู่บนหลักนิติรัฐ  แต่คำวินิจฉัยฯได้นาฏรัฐประหาร บนลีลาท่าทางแบบคำพิพากษาในระบอบประชาธิปไตย แต่วางอยู่บนหลักการของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบรัฐประหาร


 


นาฏรัฐประหารจึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของระบอบรัฐประหารในสังคมการเมืองไทย ที่ไม่เพียงชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารมีความแยบยลยิ่งขึ้น แต่แสดงให้เห็นข่ายใยของอำนาจรองรับระบอบรัฐประหารที่กว้างขวาง ทรงพลัง เกินไปกว่าเพียงคณะผู้ถือปืนและชำนาญเฉพาะการใช้อำนาจดิบ ส่วนจะโยงใยครอบคลุมไปถึงไหนได้บ้าง เป็นวิจารณญาณของวิญญูชนที่จะต้องพิเคราะห์กันอย่างรัดกุมต่อไป


 






[1] ปรับปรุงจากความเรียงขนาดสั้นที่เขียนในลีลาขึงขังกว่านี้ เวอร์ชั่นแรกของความเรียงนี้กำหนดว่าจะพิมพ์ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ที่ผู้เขียนเขียนประจำอยู่ ภายหลังถูกแจ้งว่า เนื่องจากหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นประมาทสถาบันหนึ่ง จึงไม่สามารถตีพิมพ์ได้ อย่างไรก็ดี ความเรียงชิ้นนี้ก็ห่างไกลจากชิ้นแรกอย่างยิ่ง ผู้เขียนปรับปรุงเพื่อการทำความเข้าใจประเด็น "วัฒนธรรมการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" เป็นหลัก ไม่ได้มีเจตนาเสียดสี ดูหมิ่นสถาบันตุลาการแต่อย่างใด อีกทั้งผู้เขียนเขียนด้วยความเคารพต่อสถาบันตุลาการอย่างยิ่งยวด หากใครเชื่อมโยงให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อผู้เขียน ถือว่าเป็นจินตนาการส่วนตนของผู้อ่านบางท่านที่จงใจหมิ่นประมาทว่าผู้เขียนไม่เคารพสถาบันตุลาการ ขอขอบคุณผู้อ่านหลายท่านที่ให้ความเห็นต่อความเรียงเวอร์ชั่นแรกๆ จนนำมาสู่การปรับปรุงนี้



 


[2] Homo Ludens: A Study of the Play Element in Culture (Boston: The Beacon Press, 1964)



 


[3] เมื่อไม่กี่วันมานี้ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติได้กรุณาให้ความรู้เพิ่มเติมในประเด็น "การแสดงทางการเมือง" ว่า การศึกษาการอภิปรายในรัฐสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชี้ว่า ก่อนและหลังมีการถ่ายทอดทีวี ทั้งเนื้อหาและลีลาของการอภิปรายแตกต่างกันอย่างยิ่ง อย่างที่เราท่านเห็นกันว่า เมื่อมีการถ่ายทอดการอภิปราย ส..แสดงลีลามากขึ้น มีข้อมูลแสดงให้(ดูเหมือน)ชัดเจน เข้าใจง่ายมากขึ้น เนื่องจาก "ผู้ชม" ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงบรรดาส..ในสภา แต่ยังรวมไปถึงผู้ลงคะแนนเสียงที่นั่งชมอยู่ทางบ้าน อย่างไรก็ดี ดังที่เราท่านเห็นกันแล้วว่า แม้ว่าจะเป็น "การแสดง" ออกอากาศ การอ่านคำวินิจฉัยฯก็ไม่ได้แสดงลีลาออกรสได้เช่นเดียวกับส.. เพราะ "ภาษาการแสดง" และ "โครงสร้างทางการเมือง" ที่รองรับคำวินิจฉัยฯแตกต่างกันกับภาษาการแสดงของส..ในระบบรัฐสภา ประเด็นนี้โยงไปสู่การทำความเข้าใจ "บรรดาอุดมการณ์ของการใช้ภาษา" (language ideology) หากสนใจอาจเริ่มต้นจากหนังสือ Bambi B. Schieffelin et al. Language Ideologies: Practice and Theory (New York: Oxford University Press, 1998)



 


[4] Negara: The Theatre State in 19th Century Bali (Princeton: Princeton University Press,1980)  การ วิเคราะห์การสร้างนาฏรัฐไทยในหนังสือ The King Never Smiles: A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej ของ Paul Henry พิมพ์ปี 2006 ก็วางอยู่บนแนวคิดทำนองเดียวกันนี้



 


[5] การอ้างอิงถึงคำกล่าวของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ปรากฎในข้อเขียนทั้งหมด ยกมาจาก "คำวินิจฉัยที่ 3-5/2550" หนึ่งในสองคำวินิจฉัยกลางของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศวันที่ 30 พฤษภาคม พ.. 2550



 


[6] ผู้เขียนเขียนบทความนี้เสร็จตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน กลุ่ม "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊ก" ร่วมกับ    "แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร" ออกแถลงการณ์และแสดงละครประณามความไม่ชอบธรรมของคณะตุลาการฯ ในวันเดียวกันนั้น รองเลขาธิการศาลยุติธรรมในฐานะโฆษกศาลได้เตือนการเคลื่อนไหวและการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการตัดสินของคณะตุลาการฯ และกล่าวตอนหนึ่งว่า "ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตัดสินคดียุบพรรคในฐานะผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นจึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่กล่าวดูหมิ่นศาล" ฉะนั้นจึงเป็นการยืนยันโดยสถาบันตุลาการเองว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ "ศาล" (อ่านรายละเอียดของข่าวได้ที่ http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/04/WW10_WW10_news.php?newsid=76665)



 


[7] ดังที่หลายคนทราบดีว่า นี่เป็นการคิดในสายธารของการวิเคราะห์ "อำนาจนำ" ของ Antonio Gramsci มาร์กซิสต์สายวัฒนธรรม ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนไม่ลืมว่าเบื้องหลังหรืออาจจะคู่ขนานกันไปกับ   "นาฏรัฐประหาร" ในคราบ "ตุลาการ" ยังมีอำนาจบังคับทางตรงของกำลังแบบดิบ (pure force) และกลไกทางเศรษฐกิจและการเมืองอื่นๆทำงานแข็งขันไม่แพ้กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net