Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 ก.พ. 50 คปส.ออกแถลงการณ์วานนี้ (18 ก.พ. 50) เรียกร้องให้รัฐบาลปลดปล่อยช่อง 11 ให้เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ หลังจากให้เวลานายสนธิ ลิ้มทองกุลทำรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ในเวลาไพร์มไทม์ของทุกๆ วัน


 


ในแถลงการณ์ระบุว่า ในเวบไซต์ผู้จัดการ และผู้จัดการรายวันเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 50 พาดหัวข่าวว่า "บิ๊กแอ้ด "ชู"ยามเฝ้าแผ่นดิน" หัวหอกเกมรุกของรัฐบาล" ซึ่งสะท้อนถึงทิศทางสื่อที่ไม่เป็นอิสระจากรัฐ โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสื่อที่มีความเป็นอิสระน้อยที่สุด ตกอยู่ใต้อาณัติทางการเมืองมาทุกยุคสมัย ซึ่งการที่สื่อเอกชนมาอยู่ภายใต้อาณัติเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดในยุคของทักษิณ ชินวัตร


 


แถลงการณ์ของคปส ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความล้มเหลวในการปฏิรูปสื่อของรัฐ และสวนทางกับนโยบายที่ได้ประกาศไว้เรื่องการจะปฏิรูปสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะ ทั้งนี้สิ่งที่รัฐควรทำคือการปฏิรูปช่อง 11  ให้มีความเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม หรือเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการ แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงในช่อง 11 ยังคงอยู่ภายใต้ระบอบ "อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์" เช่นเดิม


 


"ถ้าในสมัยรัฐบาลทักษิณ สื่อถูกทำให้กลายเป็น หมาที่ว่านอนสอนง่าย (Lap dog) ดังนั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในปัจจุบัน สื่อควรทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านของประชาชน (Public watchdog) ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐ (Guard dog )ในการจัดการกับกลุ่มคน ที่มีจุดยืนแตกต่างทางการเมือง"


 


"คปส เห็นว่า ศัตรูของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ แต่แท้จริงแล้วคือ ระบอบ "อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์" ที่ยังคงฝังรากลึกซึ้งอยู่กับสังคมไทย โดยมีสื่อสารมวลชนเป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ในนามของประชาชน ตลอดมา"


 


000


 


 


แถลงการณ์ บทวิเคราะห์และจุดยืน


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)


กรณี รายการยามเฝ้าแผ่นดิน และ ยุทธศาสตร์การคุมสื่อเชิงรุกของรัฐ


 


จากปรากฏการณ์และข้อถกเถียง กรณีที่รัฐบาลปัจจุบันอนุญาตให้รายการยามเฝ้าแผ่นดินของสื่อเครือผู้จัดการเข้ามาจัดรายการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลนั้น พร้อมทั้งการยืนยันจากนายกรัฐมนตรีถึงการสนับสนุนรายการดังกล่าว ดังที่ผู้จัดการออนไลน์พาดหัวข่าวว่า "บิ๊กแอ้ด "ชู"ยามเฝ้าแผ่นดิน" หัวหอกเกมรุกของรัฐบาล" (ผู้จัดการรายวัน 16 กุมภาพันธ์ 2550)  สะท้อนถึงทิศทางสื่อที่ไม่เป็นอิสระจากรัฐ


 


คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) เห็นว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นสื่อของรัฐที่มีความเป็นอิสระน้อยที่สุด เนื่องเพราะตกอยู่ภายใต้อาณัติของอำนาจทางการเมืองยาวนานทุกยุคทุกสมัย จนกลายเป็นความกดดันของประชาชนที่ได้แสดงออกเพื่อคัดค้านการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อกรมประชาสัมพันธ์ ดังเช่นเหตุการณ์ ในปี พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2535


 


การที่สื่อเอกชนเช่นสื่อในเครือผู้จัดการ มาอยู่ภายใต้โครงสร้างและอาณัติดังกล่าว จึงทำให้รายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน ไม่อาจดำรงความอิสระได้อย่างแท้จริง  ในที่สุดจะไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมา 


           


คปส เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความล้มเหลวในการปฏิรูปสื่อของรัฐอย่างสิ้นเชิง สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลนี้ที่ได้ประกาศไว้ถึงการจะปฏิรูปสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะ ทั้งนี้สิ่งที่รัฐควรทำคือการปฏิรูปช่อง 11  ให้มีความเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม หรือเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการ แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงในช่อง 11 ยังคงอยู่ภายใต้ระบอบ "อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์" เช่นเดิม


 


อีกทั้ง การวางยุทธศาสตร์ให้รายการยามเฝ้าแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งของการใช้สื่อเชิงรุกของรัฐย่อมไม่ต่างจากวิธีคิดของรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา คือการไม่เชื่อในจิตวิญญาณสื่อเสรีและการใช้วิจารณญาณของประชาชน  การที่สื่อในเครือผู้จัดการซึ่งเป็นสื่อหลักในการต่อต้านรัฐบาลที่ถูกทำรัฐประหาร แล้วในวันนี้กลายเป็นสื่อหลักที่ถูกชูธงในการทำประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทหาร ย่อมส่งผลให้สถาบันสื่อโดยรวมถูกลดทอนความน่าเชื่อถือในสายตาสาธารณชน


       


คปส ไม่เห็นด้วยกับ ยุทธศาสตร์การใช้สื่อเชิงรุกโดยรัฐ เพราะเท่ากับเป็นการให้ฉันทานุมัติกับอำนาจรัฐในการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและการรับรู้ของประชาชน และสร้างบรรทัดฐานที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย


 


การปล่อยให้สื่อมีอิสรเสรี ทำหน้าที่ไปพร้อมกับกลไกทางสังคม และ การส่งเสริมสื่อภาคพลเมืองโดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐ คือหนทางสู่การเรียนรู้และปลดปล่อยประชาชนออกจากอวิชชาที่แท้จริง  ยิ่งอำนาจรัฐพยายามควบคุมทิศทางของสื่อ ยิ่งนำไปสู่ความอึดอัดขัดแย้งในสังคม


        


ตามทฤษฎีสื่อสารมวลชน ยุทธศาสตร์การคุมสื่อเชิงรุกของรัฐในปัจจุบัน คือการพยายามทำให้สื่อซึ่งมีฐานะเป็นผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐของสาธารณชน (Public watchdog) หรือ "หมาเฝ้าบ้าน" ต้องกลายเป็นสื่อซึ่งตกอยู่ใน ฐานะผู้รักษาผลประโยชน์ของรัฐ (Guard dog and Servant of the state) หรือ "หมาที่ปกป้องเจ้านาย" เพราะสื่อจะเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มปัจจุบันอำนาจหลักในสังคม


 


ถ้าในสมัยรัฐบาลทักษิณ สื่อถูกทำให้กลายเป็น หมาที่ว่านอนสอนง่าย (Lap dog) ดังนั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในปัจจุบัน สื่อควรทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านของประชาชน (Public watchdog) ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐ (Guard dog )ในการจัดการกับกลุ่มคน ที่มีจุดยืนแตกต่างทางการเมือง


 


หมาเฝ้าบ้าน (Watch Dog) จะทำหน้าที่ เฝ้าระวังและตักเตือนสังคม จากอำนาจรัฐและทุน แต่หมาที่ปกป้องเจ้านาย (Guard Dog) อาจทำการข่มขู่ คุกคาม กรรโชก หรือ โจมตีกลุ่มคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งคิดเห็นแตกต่างหรือขัดผลประโยชน์กลุ่มพวกพ้องของตนเอง


 


ถ้าเมื่อใดที่สื่อขาดความเป็นอิสระและตกอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐแล้ว เมื่อนั้นสื่ออาจกลายเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อสร้างอคติหรือความเกลียดชังในสังคมได้ ถ้าเราไม่ช่วยกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล


 


คปส เห็นว่า ศัตรูของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ แต่แท้จริงแล้วคือ ระบอบ "อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์"  ที่ยังคงฝังรากลึกซึ้งอยู่กับสังคมไทย โดยมีสื่อสารมวลชนเป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ในนามของประชาชน ตลอดมา


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


18 กุมภาพันธ์ 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net