Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา


 




"ดวงตาหนึ่งดวง มองมุมตรง
เห็นแล้วรู้ทันทีว่าเป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงไอซีที"


 


 


มีใครไม่รู้จักยักษ์เขียวตาเดียวบ้าง?


 


ก่อนหน้ารัฐประหาร เวลาเราเข้าไปในบางเว็บไซต์ เช่น เว็บลามก หน้าจอจะขึ้นเป็นสีเขียว มีรูปลูกกะตาดวงหนึ่งขึ้นมากลางหน้าจอ ระบุข้อความว่า เป็นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขอทำการปิดหน้าเว็บนั้น


 


ขอเรียกว่า เป็นการก่อการของ "ยักษ์เขียวตาเดียว"


 


จนเมื่อเกิดเหตุรัฐประหาร ด้วยเหตุผลบางอย่าง เราจึงไม่ค่อยเห็นการก่อการของยักษ์เขียวตาเดียวเท่าไรนัก


 


0 0 0


 


รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการรัฐประหาร แต่งตั้งให้ รศ.ดร.สิทธิชัย  โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) คนใหม่


 


เขาประกาศอย่างมุ่งมั่นว่า กระทรวงไอซีทีภายใต้การทำงานของเขา จะมีภาพลักษณ์ใหม่ เป็นกระทรวงที่แลดูโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ล้างภาพลักษณ์เดิมที่มีแต่ปัญหาทุจริตการประมูลงานอย่างที่ผ่านมา


 


แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นมานานและไม่เปลี่ยน คือบทบาทในการ "บล็อก" เว็บไซต์ต่างๆ ภายใต้รัฐมนตรีนักวิชาการท่านนี้ การบล็อกเว็บยังมีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการบล็อกเว็บไซต์ที่ทางไอซีทีทึกทักเอาว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม, การบล็อกพร็อกซี่เว็บซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดูเว็บไซต์


 


และหากสังเกตให้ดี หลังรัฐประหาร เราก็ยังคงเข้าไม่ถึงเว็บไซต์หลายๆ แห่งเช่นเคย โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ผู้คนมาแสดงออกทางการเมือง


 


เราเข้าดูเว็บไซต์หลายแห่งไม่ได้โดยที่ไม่รู้สาเหตุว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร สิ่งที่ปรากฏคือ หน้าจอคอมพิวเตอร์มักเป็นสีขาว หากไม่ใช่ข้อความว่า The page cannot be displayed ก็จะขึ้นหน้าต่างว่า DNS cannot find requested URL หรือเป็น Access Denied (policy_denied) หรืออาจเป็น the requested URL / favicon.ico was not found in this server


 


เว็บไซต์นั้นถูกบล็อก? เซิร์ฟเวอร์ล่ม? คนทำไม่จ่ายตังค์? หรือเหตุอันใดไม่ทราบได้ รู้แค่ว่า เข้าเว็บไม่ได้ โดยไม่ปรากฏสาเหตุ ที่น่าสังเกตคือ เราไม่ค่อยเจอการก่อการ "โดยเปิดเผย" ของยักษ์เขียวตาเดียวแล้ว (ขณะเดียวกันก็เข้าเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น)


 


0 0 0


 


 


"เว็บไซต์มีประโยชน์มากในการแสดงความคิดเห็น ตราบใดที่เป็นความเห็นไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ถ้าใครก็ตามที่ชอบสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ คนที่มาคัดค้านลองดูว่า ถ้าลูกสาวของตัวเองถูกเอาหน้าไปติดบนรูปร่างของผู้หญิงเปลือยไปแล้วไปออกเว็บไซต์จะรู้สึกอย่างไร" - - รศ.ดร.สิทธิชัย  โภไคยอุดม รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)


 


 


นับแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ งานด้านไอซีทีเป็นงานที่มีบทบาทเด่นไม่เว้นแต่ละวัน


 


ล่าสุด กระทรวงไอซีที ดันร่าง พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... ผ่านคณะรัฐมนตรีจนสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันพุธที่ 14 พ.ย. 49 ที่ผ่านมา กำหนดให้แปรญัตติ 7 วัน เป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


 


ท่านรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า "มีสมาชิกถามถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ขอเรียนว่า ที่ผ่านมามีข้อความลงในเว็บไซด์ที่หมิ่นพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมโดยตรงได้ จึงขอพิจารณากฎหมายของกระทรวงไอซีที 4 ฉบับ และนำเสนอเข้า ครม. อาจเป็นเพราะตนเป็นคนใจร้อน จึงขอให้ ครม.พิจารณาร่างกฎหมายนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีความพร้อมที่สุดในตอนนี้ แต่จะไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ห้ามหรือปกปิดข้อมูลทางวิชาการ และการแสดงความเห็นทางการเมือง"


 


บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า เนื้อหาที่ลามก และเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกนำมาเป็นข้ออ้างอันดับต้นๆ ของการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ถ้าจะให้พูดกันตรงๆ ก็คือ เกรงว่าการวิพากษ์วิจารณ์กันในอินเทอร์เน็ตจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ในสถานะของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเช่นนี้


 


ท่านรัฐมนตรียืนยันว่า สิทธิ และเสรีภาพ จะไม่ถูกสั่นคลอนลงไป แต่สิ่งที่กระทรวงของท่านทำมาตลอดและยังปรากฏเป็นภาพลักษณ์เด่นที่เคลือบอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ก็คือ คิดเอาไว้ก่อนแล้วว่า คนจะทำผิด และ "คนของรัฐ" คือผู้ที่ต้องเข้ามาลงแส้จัดการ ซึ่งต่างจากกฎหมายทั่วไปที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน


 


อยากจะเล่าให้ท่านรัฐมนตรีฟังว่า …


 


เมื่อเรามีเว็บไซต์หนึ่งเกิดขึ้น แล้วเปิดพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น


 


ในฐานะ "คนสร้างเว็บ" หน้าที่ที่มีคือการดูแลอยู่ห่างๆ


 


ถ้าในฐานะ "คนเล่นเว็บ" หน้าที่และความรับผิดชอบคือร่วมกันรักษามารยาท ไม่ละเมิดใคร และไม่ยอมให้ใครมาละเมิดกัน หากปรากฏเรื่องไม่เหมาะสม ทั้งสองฝ่ายต้องมีกลไกเครื่องมือในการแก้ไข


 


คำถามหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเสมอคือ ผู้ดูแลจะปล่อยให้ความคิดเห็นปรากฏบนเว็บไซต์โดยไม่ผ่านการกลั่นกรองเลยหรือ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีใครควรทำ และไม่มีทางทำได้ ที่จะเอาตะกร้อไปครอบปากคนไม่ให้พูด ... เหมือนที่เราก็ทำสิ่งนี้กับผู้คนตามท้องถนนไม่ได้


 


อีกคำถามยอดฮิตก็คือ ทุกครั้งที่แสดงความคิดเห็น ก็ควรจะ หรือต้องสมัครเป็นสมาชิก เรื่องนี้อาจช่วยได้บ้าง เพราะทันทีที่เป็นสมาชิกก็ถือเป็นการยืนยันตัวตนได้ในระดับหนึ่ง แต่จำเป็นหรือไม่ ที่คนที่เป็นสมาชิกเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้ ถ้าเช่นนั้น คงไม่ต่างกับเวลาคนที่วิพากษ์บางอย่างแล้วถูกโต้กลับอย่างไร้ตรรกะว่า "คนไทยหรือเปล่า?" จนละเลยในสาระของข้อความที่ต้องการจะสื่อ


 


อ.สมเกียรติ  ตั้งนโม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เคยกล่าวไว้ในเวทีสัมมนาเรื่อง "กระทู้นรกโคตรๆ โปรดพิจารณา" ที่ประชาไทจัดขึ้นว่า ความคิดเห็นในโลกไซเบอร์ ถูกจัดเป็นความเห็นเกรด B และเกรด C


 


เรื่องนี้ สะท้อนถึงสิ่งที่ต้องเรียนรู้และต่อสู้ร่วมกันใน 2 เรื่อง คือ คนผลิตผลงานและคนแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตนั้น ก็ต้องพิสูจน์ให้คนยอมรับในฐานะชิ้นงานที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ เพียงแต่ด้วยเหตุผล(ที่อาจจะไม่เข้าท่า) หลายๆ ประการ ทำให้ความคิดเห็นเหล่านั้นไม่มีโอกาสไปปรากฏในสื่อกระแสหลัก


 


อีกด้านหนึ่งก็คือ ให้เผื่อใจ และให้ชินว่า สารในอินเทอร์เน็ต เป็นสารที่เกิดขึ้นและปรากฏอย่างรวดเร็ว ย่อมผ่านการกลั่นกรองน้อยกว่าที่ปรากฏในสื่อกระแสหลักที่ผ่านกระบวนการตัดต่อ แก้ไข ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกัน


 


0 0 0


 


อีกเรื่องที่ท่านรัฐมนตรีแห่งกระทรวงไอซีทีหลุดปากพูดออกมา จนเป็นเรื่องน่าอับอายไปถึงต่างประเทศคือ เรื่องที่ท่านรัฐมนตรีพูดถึงโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมไอที แล้วพูดไปถึงซอฟท์แวร์เสรี หรือ โอเพนซอร์ส


 


หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงว่า


 



"เอ็มเบดเด็ดซอฟต์แวร์เป็นโครงการที่สำคัญ โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า จะตั้งศูนย์พัฒนาเอ็มเบดเด็ด ซอฟต์แวร์ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ ส่วนด้านแอนิเมชันซิป้าทำอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า ไม่รู้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่ซอฟต์แวร์เฮ้าได้สั่งให้ซิป้าส่งเสริมต่อไป สำหรับโอเพนซอร์สมองไม่เห็นประโยชน์เท่าไร"


 


ขณะที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ลงข่าวได้รายละเอียดเพิ่มว่า


 



"With open source, there is no intellectual property. Anyone can use it and all your ideas become public domain. If nobody can make money from it, there will be no development and open source software quickly become outdated," He (Minister) said.


 


Apart from Linux, he claimed that most open source software is often abandoned and not developed, and leads to a lot of low-quality software with lots of bugs.


 


"As a programmer, If I can write a good code, why should I give it away? Thailand could do good source code without open source," he said.


 


"กับโอเพนซอร์ส มันไม่มีทรัพย์สินทางปัญญา ใครจะใช้ก็ได้ และไอเดียทุกอย่างกลายเป็นของสาธารณะ ถ้าไม่มีใครหารายได้จากมันได้ มันก็จะไม่เกิดการพัฒนา จนมันล้าสมัยไป" รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีกล่าว


 


เขายังกล่าวต่อว่า นอกจากลินุกซ์ Linux (ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์) แล้ว โอเพนซอร์สส่วนมากมักถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีการพัฒนา มีแต่โปรแกรมคุณภาพต่ำที่เต็มไปด้วย bug


 


"ถ้าผมเป็นนักพัฒนาซอฟท์แวร์ แล้วผมสามารถพัฒนาซอร์สโค้ดที่ดีได้ ทำไมจึงต้องแจกจ่ายซอร์สโค้ด ประเทศไทยควรมีโปรแกรมดีๆ โดยที่ไม่ใช่โอเพนซอร์ส" เขากล่าว


 


ทัศนะของท่านรัฐมนตรีที่มีต่อการพัฒนาซอฟท์แวร์เสรีนี้ เป็นเรื่องโด่งดังไปในชั่วข้ามคืน ทั้งในและต่างประเทศ เริ่มจากเว็บไซต์ข่าวสารไอทีของไทยเช่น Blognone นำไปสู่การระดมชื่อออกจดหมายเปิดผนึก ซึ่งนำโดย นายเทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์ นักพัฒนาซอฟท์แวร์เสรี


 


นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรีก็ยังได้เป็นข่าวโด่งดังไปถึงต่างประเทศ ทางเว็บไซต์ข่าวสารไอทีของเทศอย่าง Slashdot เพราะท่านรัฐมนตรีเข้าใจความหมายและความสำคัญของซอฟท์แวร์เสรีหรือโอเพนซอร์สไปอย่างผิดมหันต์


 


ท่านพูดว่าโอเพนซอร์สเป็นโปรแกรมที่ไม่มีทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ค่อยทำเงิน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาโปรแกรมเหล่านั้นชะงักลงไป ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้ ผิดไปจากแก่นของการพัฒนาซอฟท์แวร์เสรีจากหน้ามือเป็นหลังมือ


 


ซอฟท์แวร์เสรี เป็นสิ่งที่มีทรัพย์สินทางปัญญา ทว่า ผู้คิดค้นยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการพิเศษเพิ่มเติมภายใต้เงื่อนไขสัญญาอนุญาต และผู้ใช้ไม่ถูกปิดกั้นการเข้าถึง ด้วยมูลค่าของเงินราคาสูง ดังเช่นโปรแกรมลิขสิทธิ์ชื่อดังต่างๆ


 


การพัฒนาซอฟท์แวร์เสรี ยังสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และผู้คิดค้นด้วย เพราะซอฟท์แวร์เสรีจะเปิดเผยซอร์สโค้ด ให้ผู้ใช้อื่นๆ เข้าถึงได้ ซึ่งยืดหยุ่นต่อการปรับแต่งพัฒนาให้เข้ากับการใช้งาน ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ประหยัดเท่านั้น แต่ยังทำให้โปรแกรมซอฟท์แวร์เสรีได้รับการพัฒนาต่อยอดอยู่เสมอ


 


ซอฟท์แวร์เสรี เป็นสิ่งที่สร้างรายได้ได้ นักพัฒนาอาจได้รายได้จากการสนับสนุนหรือบริจาค ซึ่ง รศ.ดร.สิทธิชัย จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า การพัฒนาซอฟท์แวร์เสรี ก็เป็นเรื่องการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคม และในโลกนี้ยังมีนักพัฒนาซอฟท์แวร์เสรี ที่มีใจมุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยไม่ได้ใช้มูลค่าของเงินเป็นตัวนำ การมีซอฟท์แวร์เสรี จึงไม่ต่างจากการทำวิจัยอยู่ตลอดเวลา และคำพูดหนึ่งในของผู้ตอบกระทู้ใน Blognone ตอบได้โดนใจอย่างมากว่า


 


"รัฐบาลไม่เคยสนับสนุน ก็ไม่ว่า แต่อย่ารบกวน"


 


 


 


 


 



 


 


 "จิ้งจอกไฟ สัญลักษณ์ของ Fire Fox อีก Browser หนึ่งที่เป็นซอฟท์แวร์เสรี
ภาพการ์ตูนนี้เป็นแผนการรณรงค์ที่มีในประเทศญี่ปุ่น ถูกดัดแปลงให้เป็น จิ้งจอกไฟร้องไห้"


 


 


 



 



 "นกเพนกวินตัวนี้ เป็นสัญลักษณ์ของ Linux
ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์เสรี"
 


 


 


 


"เมื่อเข้าเว็บไซต์ไม่ได้ ข้อความต่างๆ เหล่านี้จะปรากฏขึ้น"


 



 


 



 


 



 


 


 


0 0 0


 


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 


สนช.ผ่านวาระแรกร่างกฎหมายควบคุมการทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  จากสถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


กฎหมาย ที่ร่างกันแบบไม่เร่ง แต่ผ่านกันแบบรีบ ๆ (ตอน 1) จาก Biolawcom


 


กฎหมาย ที่ร่างกันแบบไม่เร่ง แต่ผ่านกันแบบรีบ ๆ (ตอน 2) จาก Biolawcom


 


U-TURN AT ICT MINISTRY จากบางกอกโพสต์


 


Thai IT Minister Slams Open Source - จาก Slashdot


 


รมว. ICT คนใหม่กับวิสัยทัศน์ต่อโอเพนซอร์ส จาก Blognone


 


จดหมายเปิดผนึก ถึง รมว. กระทรวง ICT จาก Blognone


 


'สิทธิชัย โภไคยอุดม' เขียนแผน โครงการไอซีทีไทย ยุครัฐปฏิรูป (1) จากไทยรัฐ


 


'สิทธิชัย โภไคยอุดม' เขียนแผน โครงการไอซีทีไทย ยุครัฐปฏิรูป (2) จากไทยรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net