Skip to main content
sharethis


 


เรื่องและภาพ พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ และวัชรพงษ์ หิรัญรัตน์


 


ตามที่เครือข่ายการองค์กรภาคประชาชนจำนวน 70 องค์กร ทั่วประเทศได้จัดสมัชชาสังคมไทยขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคม 2549 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้คำขวัญ 'โลกใหม่ที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้' นั้น


 


ในวันที่ 23 ต.ค. 49 ที่ลานกิจกรรมบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน คณะทำงานสมัชชาสังคมไทยได้แถลงข่าวสรุปผลการประชุมในเวทีตลอด 2 วันที่ผ่านมา โดยมีประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมกว่า 300 คน แม้จะอยู่ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งผ่อนปรนให้มีการชุมนุมเพื่อแสดงออกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากกว่า 5 คน แต่ก็ให้จำกัดภายในบริเวณอาคารหรือสถานศึกษา


 


โดยก่อนการแถลงข่าว นายวสันต์ สิทธิเขต แนวร่วมศิลปินเพื่อประชาธิปไตยได้อ่านกลอนสดเสียดสีสังคมและคณะรัฐประหาร แบบเรียกเสียงเฮครืนจากผู้ร่วมชุมนุม


 


หลังจากนั้น คณะทำงานสมัชชาสังคมไทย นำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการจัดงานสมัชชาสังคมไทย, นางสาวเรวดี ประเสริฐเจริญสุข กรรมการจัดงานและประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และนางวิภา ดาวมณี กรรมการจัดงาน ได้ร่วมกันอ่านคำประกาศสมัชชาสังคมไทย "โลกใหม่ที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้" ต่อสาธารณชน ประกาศเจตนารมณ์ในการสร้างสังคมใหม่ของภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง ผลักดันรัฐสวัสดิการ ฯลฯ พร้อมเสนอว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเองและรณรงค์กับสาธารณะอย่างกว้างขวาง โดยยืนยันว่าการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เป็นธรรมประชาชนเท่านั้นที่สร้างได้


 


เมื่อการแถลงการณ์สิ้นสุดลง เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ได้เดินรณรงค์จากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์ตามคำประกาศสมัชชาสังคมไทยดังกล่าว โดยผู้ชุมนุมถือป้ายผ้าข้อความเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยต่างๆ เช่น คนพิการถือป้ายเรียกร้องที่มีข้อความ "เราต้องการล่ามแปลภาษามือและอักษรในทีวี" กลุ่มแรงงานที่ถือป้ายผ้า "รัฐประหารแรงงานไม่ปลื้ม" "ยกเลิกกฎอัยการศึก" "ค่าแรงขั้นต่ำ 7,000 บาท" กลุ่มประชาชนที่ถือโปสเตอร์ "Right Base not Charity Base" ซึ่งสะท้อนถึงรัฐสวัสดิการที่เป็นสิทธิพึงมีพึงได้ของประชาชนไม่ใช่เป็นการบริจาคทาน ป้ายผ้าที่มีข้อความ "ประชาชนร่วมกันสร้างรัฐสวัสดิการ" "ต้านรัฐบาลทหาร ตั้งรัฐบาลประชาชน" ฯลฯ


 


000


ประมวลภาพเดินหน้า! สมัชชาสังคมไทย


 



นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์และกำหนดการก่อนการแถลงข่าวสรุปผลเวทีสมัชชาสังคมไทย 23 ตุลาคม 2549 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพ


 



วสันต์ สิทธิเขต จากกลุ่มศิลปินเพื่อประชาธิปไตยกำลังขับกลอนกล่อมด้วยบทเพลง ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีสังคมและคณะรัฐประหารแบบเจ็บๆ คันๆ เรียกเสียงเฮฮาจากผู้ชุมนุม


 



คณะกรรมการจัดงานสมัชชาสังคมไทย แถลงคำประกาศสมัชชาสังคมไทย โดยซ้ายสุดของภาพจะเห็นผู้ทำหน้าที่ล่ามภาษามือ จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สำหรับผู้พิการด้านการได้ยิน


 



เรวดี ประเสริฐเจริญสุข และจอน อึ๊งภากรณ์ ตัวแทนคณะกรรมการการจัดงานสมัชชาสังคมไทย ขณะอ่านคำประกาศสมัชชาสังคมไทย เป็นการแถลงข่าวรอบ "สื่อมวลชน" ก่อนที่จะเดินขบวนการยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อแถลงข่าวรอบ "สาธารณชน"

 



 


 



 


 



เมื่อขบวนปฏิรูปการเมืองและสังคม เผชิญหน้ากับทหารภายใต้ "กฎอัยการศึก" ที่แม้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะผ่อนปรนให้ชุมนุมเกิน 5 คน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ก็ให้จำกัดบริเวณอยู่แต่ภายในมหาวิทยาลัย                                              


 


                                                              



ผู้ชุมนุมเคลื่อนเข้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยวนรอบอนุสาวรีย์ 3 รอบก่อนฟังคำประกาศสมัชชาสังคมไทย รอบ "สาธารณชน" (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง)


 


                                                                 



เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการจัดงานและประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ต้องชี้แจงกับทหารที่ประจำการอยู่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์ระชาธิปไตย      

 


                                                                



ประชาชนพร้อมป้ายแสดงข้อความเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ณ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 



ผู้ชุมนุมนำป้ายผ้าแสดงข้อความรณรงค์การปฏิรูปการเมือง-สังคมไปแขวนติดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 


 



 


"เรารักภาคประชาชน"


 


 



คณะกรรมการจัดงานสมัชชาสังคมไทย ขณะอ่านคำประกาศสมัชชาสังคมไทย เป็นการแถลงข่าวรอบ "สาธารณชน" หลังจากเดินขบวนมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 



ทหารกับฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งประสบการณ์ของรุ่นพี่ในปี 2516 และ 2535 ก็ได้เคยย่ำและถอนกำลังกลับไปจากกองซากปรักหักพัง เลือด และควันเพลิง บริเวณถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งนี้มานานแล้ว


 



ผู้ชุมนุมพร้อมข้อความ "เราต้องการกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ"

 


 



เดินหน้าต่อไปสมัชชาสังคมไทย


                                                                  



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net