Skip to main content
sharethis

ประชาไท—22 ต.ค. 2549 วันที่ 2 ของการจัดการประชุมสมัชชาสังคมไทย (TSF) เวที "บทเรียนและการเมืองหลังรัฐประหาร 19 กันยายน" ใช้เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายนตั้งคำถามกลับไปยังองค์กรพัฒนาเอกชนไทย (เอ็นจีโอ) สมชาย ปรีชาศิลปกุลระบุเอ็นจีโอไทยเกิดวิกฤตทางปัญญา และวัฒนธรรม หันไปจับมือกับทหารและหมอบคลานทางภูมิปัญญา ด้านเว็บมาสเตอร์บ้านนอกประกาศถ้าเอ็นจีโอเคลื่อนไหวแบบพันธมิตรฯ ขอไม่เป็นเอ็นจีโอดีกว่า


 


นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในเวทีเสวนา โดยวิพากษ์ท่าทีและกระบวนการของเอ็นจีโอในการขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้สะท้อนภาพของเอ็นจีโอที่เกิดวิกฤติทางปัญญาและวัฒนธรรม พร้อมระบุว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน นั้นส่วนหนึ่งเป็นความรับผิดชอบของเอ็นจีโอกระแสหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


"ประเด็นที่ผมไม่ควรพูดเป็นอย่างยิ่งแต่ผมจะพูด เราทั้งหมดเพ่งมองไปยังการเมืองของผู้มีอำนาจและอาวุธ เราเพ่งมองไปที่ทหาร ศาล องคมนตรี ทั้งหมดนี้ทำให้ดูราวกับว่าสังคมกรเมืองไทยไม่มีขบวนการประชาชนอยู่ด้วยเลย ซึ่งผมคิดว่าเหตุการณ์ 19 กันยายนนั้น ขบวนการประชาชนมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้


 


"ผมคิดว่า 19 กันยายนอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญถ้าเรามองไปในอนาคต หรืออาจจะเรียกว่าเป็นวิกฤติภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของเอ็นจีโอไทย วิกฤตินะครับไม่ใช่ปัญหา วิกฤติทางปัญญา หมายความว่าความฉลาดและวัฒนธรรมนั้นหมายถึงท่าทีในการทำงาน"


 


นายสมชายกล่าวต่อไปว่า เอ็นจีโอไทยเกิดขึ้นมาจากปลายทศวรรษที่ 2520 ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวการทำงานในหมู่บ้านและส่วนหนึ่งมาจากการพยายามแสวงหาทางออกจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ด้วยการไปทำงานพัฒนาในระดับชุมชน เล็กๆ แต่งดงาม ไปเพาะปลูก ไปทำเศรษฐกิจชุมชน อะไรก็ตามแต่ แต่ก็ปรากฏว่าการทำอะไรเล็กๆ แต่งดงามนี้เองเริ่มประสบปัญหาในเชิงนโยบาย จึงส่งผลให้ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 เริ่มขยับมาพูดถึงเรื่องเชิงนโยบาย และการพูดถึงนโยบายที่แตกต่างและเป็นทางเลือกนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นท่าทีที่ต่อต้านหรือแตกต่างนโยบายของรัฐ ซึ่งจะต้องอาศัยฐานของสังคมประชาธิปไตยทำให้เกิดการต่อสู้ ทำให้เกิดพื้นที่ทางสังคมได้ และนี่คือรากฐานของเอ็นจีโอไทย คือการเกิดขึ้นบนพื้นที่ในระบอบประชาธิปไตย


 


แต่ปี 2549 เกิดปรากฏการณ์ 19 กันยายน ภายใต้การเคลื่อนไหวของ19 กันยายน มีปรากฏการณ์ที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนส่วนหนึ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นกระแสหลักของกลุ่มเอ็นจีโอไทยเข้าไปร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพราะคาดหวังว่า ตอนแรกจะเข้าไปทำให้ม็อบสนธิกลายเป็นม็อบของประชาชน แต่ว่าขบวนการประชาชนกายเป็นม็อบสนธิ


 


นายสมชายระบุว่า ลักษณะเด่นของ 19 กันยายนเป็นประเด็นที่เราต้องวิเคราะห์กัน 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย


 


"คือคุณไม่เชื่อว่าตัวระบอบประชาธิปไตยจะแก้ปัญหานี้ได้ ไม่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะสามารถ Self correction คิดว่าระบอบนี้มันตายโหงไปแล้ว และเพื่อจะโค่นคุณทักษิณ ไม่ว่าโดยวิธีการหรือเครื่องมือใดๆ ก็ได้ทั้งนั้น คือคุณชุมนุมแต่สุดท้ายคุณไม่ได้ฝากความหวังหรือคิดว่าระบบที่มีอยู่มันจะช่วยแก้อะไรได้ ไม่เชื่อในอำนาจประชาชน ขบวนการประชาชน เอ็นจีโอทีเป็นผู้นำของกระบวนการประชาชนไม่เชื่อในอำนาจของประชาชน ทำไมผมถึงกล้าพูดว่า ไม่เชื่อในอำนาจประชาชน ก็ดูข้อเรียกร้องสิ พี่น้องทั้งหลาย ข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯคืออะไร เรียกร้องเพื่อเคลื่อนไหวเอามาตรา 7 พอยื่นหนังสือให้พลเอกเปรมได้แล้วก็บอกว่านี่คือชัยชนะของภาคประชาชน ถ้ายื่นหนังสือแล้วถือว่าชนะนี่นะ โอ้โห! สมัชชาคนจนประสบชัยชนะเป็นพันๆ ครั้ง


 


"หรือแม้กระทั่งการชุมนุมของพันธมิตรฯ หลายๆ ครั้งเป็นการเชื้อเชิญ ออกบัตรเชิญให้ทหารมารุมกินโต๊ะ แล้วในที่สุดทหารก็ออกมากินโต๊ะวันที่ 19 กันยายน ผมคิดว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนนะครับ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่เคยเกิดและเติบโตขึ้นมาบนฐานของการบอกว่าเราจะพัฒนาประชาชน เราจะสร้างสังคมประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้ผมคิดว่ามันอาจจะถูกเขี่ยทิ้งไปเลยก็ได้"


 


นายสมชายกล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่เอ็นจีโอรู้สึกโกรธแค้นหรือคิดว่าต้องกำจัดทักษิณโดยไม่เลือกวิธีการนั้น เนื่องมาจากทักษิณสามารถช่วงชิงฐานมวลชนของเอ็นจีโอได้อย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้มาก่อน


 


"ทำไมเอ็นจีโอไทยถึงตัวสั่นงันงกกับคุณทักษิณ อันนี้ผมเดานะครับมันอาจจะไม่จริงก็ได้ น่าตกใจมากที่ทุกคนรู้สึกว่า ต้องเอาทักษิณออกไป ถ้าคุณทักษิณไม่ออกไป แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ผมคิดว่าเพราะคุณทักษิณแย่งชิงมวลชนของเอ็นจีโอได้ โดยที่รัฐบาลอื่นทำไม่ได้ รัฐบาลชวน (หลีกภัย) ทำไม่ได้ เพราะทำอะไรผ่านระบบราชการ จะให้งบชาวบ้าน 100 บาท ผ่านระบบราชการก็หักหัวคิวไป รัฐมนตรี ผู้ว่า นายอำเภอ ไปถึงชาวบ้าน 8 บาท ทักษิณตัดระบบราชการเลย มี 100 ชาวบ้านก็ได้ไปเลย 100 บาท กองทุนหมู่บ้านเอาไปเลย แปลงทรัพย์สินเป็นทุน เอาไปเลย...


 


หลายพื้นที่ ทำกันมา 10 ปี 20 ปี เล็กๆ แต่งดงาม เศรษฐกิจพึ่งตนเอง สิทธิชุมชน เจอประชานิยม ชาวบ้านเผ่นหมด ไม่เหลือเลยเว้ย…สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ ระบอบทักษิณไม่ได้คุกคามเฉพาะโครงสร้างส่วนบนนะครับ แต่ระบอบทักษิณคุกคามการดำรงอยู่ของเอ็นจีโอด้วย


 


"ผมก็เลยได้เข้าใจว่าทำไมเอ็นจีโอจึงรู้สึกโกรธแค้นต้องเอาทักษิณออกไปให้ได้ ก็เพราะทักษิณแย่งชิงมวลชนผู้ตื่นผู้เบิกบานของเอ็นจีโอไปหมดเลย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงคำถามข้อหนึ่งคือ ถ้าเช่นนั้นหมายความงานที่เอ็นจีโอทำมาในรอบ 20 ปี มันประสบความสำเร็จหรือไม่ เอ็นจีโอเจอคุณทักษิณไม่นาน คุณทักษิณรู้ทันเอ็นจีโอเลย เรื่องไปสร้างภูมิปํญญาอะไรต่ออะไรนั้น เอาเข้าจริงทำได้หรือเปล่า


 


"ฉะนั้นกลายเป็นว่าขบวนการประชาชนที่ไล่ทักษิณกลายเป็นมวลชนที่คุณไม่เคยจัดตั้งเขาเลย แต่ประชาชนที่คุณจัดตั้งเขาได้น่ะ เขาไปอยู่กับพันธมิตรคำตา (แคนบุญจันทร์ หมายถึง คาราวานคนจน) ที่ด่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกทีหนึ่ง"


 


นายสมชายระบุว่าสิ่งที่เป็นอันตรายขณะนี้ คือเอ็นจีโอกำลังกลับไปจับมือกับทหาร และ หมอบคลานทางภูมิปัญญา ชนชั้นนำในเอนจีโอไทยทุ่มเทอุทิศแรงกายแรงงานไปในหลายเรื่อง เช่น พบปะเป็นการส่วนตัวกับทหารแล้วได้ตำแหน่งฐานะอะไรบางอย่างกลับมา ชนชั้นนำเอ็นจีโอไทยพากันตบเท้าเข้าร่วมกับทหารโดยไม่มีการโต้แย้งสักแอะเดียว และไม่เฉพาะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ใช่สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จะรวมถึงวุฒิสมาชิกและองค์กรอิสระอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


 


นายสมชายกล่าวว่า นี่คือการเปลี่ยนที่สำคัญของขบวนการเอ็นจีโอครับ ซึ่งเดิมเคยไล่ทหาร เพราะเห็นว่าทหารเป็นผู้ที่กีดขวางประชาธิปไตยไทย เราเคยไล่ เคยก่นประณาม แต่บัดนี้เอ็นจีโอหันกลับไปเช็คแฮนด์อย่างแนบแน่น


 


และนอกจากจับมือกับทหารแล้วความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่ง คือการมอบคลานทางภูมิปัญญาไม่กล้าพูดแนวทางของตัวเองอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจพึ่งตนเอง สิทธิชุมชน หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งทุกวันนี้อยู่ภายใต้ร่มเงาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่คำถามคือ พึ่งตนเองกับพอเพียงนั้นความหมายมันเหมือนกันหรือไม่ เวลาเราพูดถึงการเคลื่อนไหวของสิทธิชุมชนหรือการพึ่งตนเอง เราไม่พูดถึงเรื่องการประหยัด ไม่ได้พูดถึงเรื่องปัจเจกบุคคล แต่เราพูดถึงการต้องปรับโครงสร้างบางอย่างในสังคมการเมืองที่มีโครงสร้างที่ไมเป็นธรรมอยู่


 


"ถ้าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ได้ด้วยปัจเจกบุคคลแล้วละก็ ผมคิดว่าเอ็นจีโอก็เปลี่ยนมารณรงค์ให้ชาวบ้านเลิกกินเหล้าไม่ดีกว่าหรือ


 


"ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าที่มันเกิดเหตุการณ์แบบนี้เพราะในหมู่เอ็นจีโอไทยไม่มีวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วปรากฏว่ามีสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยเข้าชื่อกันว่าให้พิจารณาควรทำหรือไม่ควรทำ แต่ผมไม่เห็นและไม่ได้ยินเอ็นจีโอคนไหนริเริ่มทำหนังสือถึงชนชั้นนำเอ็นจีโอให้ทบทวนการเข้าร่วม เพราะฉะนั้น ถ้าถามผมเกี่ยวกับเอ็นจีโอไทยแล้ว ผมคิดว่ามีลักษณะที่คล้ายกับคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งคือมันมีระบบโซตัส (SOTUS) อยู่ Senior (ลำดับอาวุโส) Order (ระเบียบ) Tradition (ธรรมเนียมปฏิบัติ) และ Unity (ความเป็นหนึ่งเดียว)"


 


ทั้งนี้ นายสมชายกล่าวด้วยว่า เขาไม่ยอมรับคำทักท้วงที่บอกให้ชะลอการวิพากษ์วิจารณ์เอ็นจีโอไปก่อนเพราจะทำให้เสียกระบวน เพราะเอ็นจีโอคือองค์กรทางการเมืองเหมือนองค์กรทางการเมืองอื่นๆ ที่ต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน


 


ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธกระจกเงา หรือ บก.ลายจุดแห่งเว็บไซต์บ้านนอกดอทคอม กล่าวยอมรับว่า ความมีชนชั้นของเอ็นจีโอมีอยู่จริง เอ็นจีโอรุ่นใหญ่บางคนมีอิทธิพลต่อเอ็นจีโอคนอื่นๆ รวมทั้งตัวเขาเองด้วย และเอ็นจีโอรุ่นหลังก็มักจะต้องประเมินตัวเองว่ารู้ไม่เท่าเอ็นจีโอผู้ใหญ่เหล่านั้นจึงต้องขอเกาะเกี่ยวไปพลางๆ ก่อน


 


อย่างไรก็ตามนายสมบัติกล่าวว่า สิ่งที่เขาไม่สามารถทำความเข้าใจได้เลยก็คือ ในปรากฏการณ์ขับไล่ทักษิณ ชินวัตรนั้น พบว่ามีหลายครั้งมีเกิดการละเมิดในสิทธิของบุคคลอื่น มีการปราศรัยในลักษณะที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ประกาศว่าจะเอาทักษิณมาฆ่ายิงเป้า ถ่มน้ำลายใส่หน้าญาติของ 5 กกต. หรือพูดเรื่องเท็จบนเวที พูดเอามัน ฟังดูมีแต่เรื่องไม่เป็นเหตุเป็นผลเต็มไปหมด


 


"เราใช้ความกลัวและความเกลียดห้ำหั่นศัตรูอีกฝั่งหนึ่ง ผมคิดว่า เป็นเรื่องไม่แฟร์เลย เราเล่นเกมกันแบบนี้เหรอ และผมมีความเชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องทหารมาปล้นขบวนการขับไล่ทักษิณ แต่เป็นการสมรู้ร่วมคิดตั้งแต่แรก คิดว่ารู้ตั้งแต่แรกเลย มีแผนนี้อยู่ตั้งแต่แรก ตั้งแต่ที่ชุมนุมที่พระบรมรูปทรงม้า มีเอ็นจีโอจำนวนไม่น้อยที่ไม่ร่วมด้วยตั้งแต่ต้นเลย ในลักษณะปัจเจก ทั้งๆ ที่ปี่กลองดังแล้ว ปกติปี่กลองดังพวกเราโดดลงไปแล้ว แต่มีใครไปสำรวจไหมคนที่ไม่ร่วมมีเหตุผลอะไร นี่เป็นยุคที่เราได้สะสางกันในเครือข่าย ผมคงไม่ไปสะสางพวกพี่ๆ เขาหรอก แต่ถ้าบอกว่านี่เป็นเอ็นจีโอ ผมจะบอกว่า ผมไม่ใช่เอ็นจีโอแล้ว ผมอาย" นายสมบัติกล่าวในที่สุด


 


ด้านน.ส. วัชรี เผ่าเหลืองทอง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับนายสมบัติ และยอมรับว่าเอ็นจีโอนั้นขาดวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งควรจะต้องปรับปรุง


 


ทั้งนี้ น.ส. วัชรีกล่าวด้วยว่า ขบวนการภาคประชาชนก็ตกอยู่ในภาวะที่ถูกการเคลื่อนไหวใหญ่ครอบงำ คือหลังจากทักษิณขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี2544 เป็นต้นมาปรากฏว่าการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ขององค์กรภาคประชาชนมีน้อย ยกเว้นของเครือข่ายหนี้สินที่ระดมกันมาได้เยอะ และหากมีการรวมกันเข้าหลายๆ เครือข่ายก็เกิดลักษณะของการถูกครอบงำด้วยการเคลื่อนไหว ทำให้เห็นภาพว่าประชาชนถูกการครอบงำจากการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เป็นระยะเวลานานเป็นเดือน และมีลักษณะถูกชักพากันมา จึงควรจะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ในองค์กรภาคประชาชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net