Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะมนุษย์ศาสตร์ ร่วมกับวิชาศิลปะวิจารณ์ของคณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมหนังสั้น "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" พร้อมกับมีการเสวนาเรื่อง การสืบค้นต้อตอของปัญหาภาคใต้ ในหัวข้อหนังกับสันติภาพ 


 


โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้พูดถึงปัญหาของภาคใต้ของประเทศไทย ผ่านหนังสั้น 3 เรื่อง คือ "เพียงความธรรมดาของเส้น" "ธาดา" และ ""Good Morning"


 


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า ทัศนะเรื่องศีลธรรม มันสะท้อนออกมาจากหนัง 3 เรื่อง "เพียงความธรรมดาของเส้น" "ธาดา" และ "Good Morning" ที่เราดูแทนที่จะเข้าใจวัฒนธรรมมลายูกับกลายเป็นเข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น หนังสั้นเรื่องแรก เพียงความธรรมดาของเส้น ซึ่ง ภาพฉาย"เส้นแบ่ง"ของกิจกรรมที่เด็กเล่นกันเอง และเส้นแบ่งดูดี แต่มันเป็นแค่เหมือนกับเราฟังเพลงคาราบาว คนไทยรักชาติ มีเพลงประกอบ จับมือ และแล้วมีการโปรยนกกระดาษ  ดังนั้น มันบอกอะไร ก็คงเป็นแค่เรื่องศีลธรรมลอยๆ แล้วแบ่งฝ่ายกัน ทำให้คุณไม่เข้าใจสถานการณ์ภาคใต้ เพียงแต่ระดับศีลธรรมเท่านั้น


           


"ปัญหาก็คือ คนไทยปัจจุบัน วัฒนธรรมไทย คนมีการศึกษา คือ ศีลธรรม นำมาใช้อธิบายครอบสากลจักรวาล แต่มันแก้ปัญหาไม่ได้ วัฒนธรรมคนมีการศึกษาไทยอธิบายอะไรด้วยศีลธรรมอย่างเดียว แต่คุณจะทำอย่างไรกับคนไม่ดี ซึ่งไม่ว่าเราจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ จะเลือกคนแบบไหนเข้ามาเป็นคนดี ซึ่งมาบริหารประเทศ หน้าตาไม่เหลี่ยมหรือไง แต่วิธีการแก้ปัญหาแค่ระดับศีลธรรมรัฐไทยก็โปรยนกกระดาษ และหนังสั้นก็สะท้อนวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ซึ่งไม่สนใจความเป็นจริง" 


 


ศ.ดร.นิธิ ยังกล่าววิจารณ์หนังสั้น เรื่อง "Good Morning" เป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งของคนกรีดยางกับทหาร ก็สะท้อนการทำหนังสั้นไม่เข้าใจวัฒนธรรมภาษาของคนมลายู 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ได้พูดภาษาคนใต้ และทำไมคนใน 3 จังหวัดจึงไม่สัมผัสและสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นและหมดความแตกต่าง ทั้งที่มนุษย์เป็นสัตว์ฝูง ที่ต้องอยู่รวมกันเป็นฝูงโดยธรรมชาติ


 


และหนังสั้นเรื่อง "ธาดา" ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ได้ใช้ศิลปะสูงมาก แต่หนังบอกอะไร เด็กในฐานะมุสลิม คนไม่มีที่ยืน ในสังคมไทย และเริ่มสำนึกความเป็นมุสลิม เพราะคุณครูใหญ่ในโรงเรียนถามเด็กว่า ทำไมต้องขออนุญาตกลับก่อนช่วง 11 โมงเช้า โดยที่เด็กต้องทำละหมาด คือว่าถ้าจบแค่นี้จะเข้าใจ แต่ว่าหนังก็ยังไม่จบ ก็ยังดำเนินต่อไป ซึ่งโครงเรื่องน่าสนใจของการทำหนังสมานฉันท์"


 


"ซึ่งขอย้ำว่า ศีลธรรมมันก็ดี แต่ว่ามันต้องลงไปที่ปัญหาเป็นจริงของสังคม แต่คนทำหนังก็ทำหนังจนไม่รู้ว่าปัญหาอะไรที่ตรงกับปัญหาที่เป็นจริง และความเป็นจริงคืออะไร เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้นำเสนอด้วย  ฉะนั้น หนังต้องพูดอะไรที่ตรงกับปัญหาเป็นจริงของสังคม"


 


ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมหนังสั้นใต้ร่มเงาสมานฉันท์ เป็นการร่วมมือขององค์กรร่วมวิจัยเชิงกระบวนการระหว่างคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กลุ่มผู้จัดทำนิตยสารไบโอสโคป (BIOSCOPE)
องค์กรแอ๊กชั่นเอด ประเทศไทย (Action AID, Thailand) กลุ่มสื่อเมือง (Urban Media Society - UMS)
สำนักงานสื่อสารสาธารณะเพื่อการเคลื่อนไหวทางวิชาการและสังคม (public dissemination for social awareness-PUDSA),THAI SHOT  FILM, มันตาศิลปะการแสดง และ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย


โดยได้มองเห็นร่วมกันว่า ความรุนแรงที่ปรากฎในสังคมปัจจุบัน นั้นมาจากความแตกต่างทาง ศาสนาและวัฒนธรรม ที่อาจส่งผลให้เกิดการแตกแยกในระดับที่ฝังลึก จึงเป็นที่มาของ โครงการวิจัยเชิงกระบวนการภาพยนตร์สั้น ชุด "บ้านใกล้เรือนเคียง" ในหัวข้อ "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" ขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างสานกระบวนการเรียนรู้ สื่อสาร และเผยแพร่ความคิดเพื่อการสมานฉันท์ ในท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย


อีกทั้ง เพื่อเป็นการสร้่างเวทีในการถ่ายทอดความสำคัญของสันติวิธี และหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางอัตลักษณ์ โดยการถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สั้น  12 เรื่อง จากนักศึกษาและประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศไทย


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net