Skip to main content
sharethis

หากยังพอจำข่าวมะละกอจีเอ็มโอกันได้ ตอนนี้คดีความระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับกรีนพีซเพิ่งเสร็จสิ้นการสืบพยาน2ฝ่าย คาดว่าจะพิพากษาภายในปลายปีนี้ รายงานนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเตือนความจำและทบทวนบริบทอันยุ่งเหยิงว่าด้วยเรื่องจีเอ็มโอในสังคมไทย...ว่าก็ว่า มันยุ่งเสียจนน่าจะใช้คำว่า "มะละกอ" เปรียบถึงความซับซ้อน ยืดเยื้อ เหมือนที่เราใช้คำว่า "กล้วย" แทนความง่าย ราบรื่น ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย !!!


 


00000000


 


ถ้าผลไม้อย่าง "กล้วย" เป็นคำเปรียบหมายถึง ความราบลื่น โคตรง่าย สบายมาก แล้วละก็ ถึงวันนี้เราน่าจะใช้ "มะละกอ" เป็นคำเปรียบถึง ความยุ่งยาก ยืดเยื้อ ซับซ้อนน่าปวดหัว ได้แล้วกระมัง เพราะข้อถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทยอย่างการเปิดรับ "จีเอ็มโอ" มันดันไปเริ่มต้นที่มะละกอ และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย


 


ไม่เชื่อไปถามกรมวิชาการเกษตรกับกรีนพีซที่ยังต่อสู้เรื่องนี้กันในศาล ฐานที่กรีนพีซบุกไปตัดมะละกอจีเอ็มโอในแปลงทดลองที่ขอนแก่น ถามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แจ้งความกล่าวโทษกรมวิชาการเกษตรที่ปล่อยให้จีเอ็มโอออกมาเพ่นพ่านในธรรมชาติ หรือไม่ก็ถามคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ที่ยังคงกุมขมับไม่รู้จะร่างนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้ยังไงไม่ให้ถูกต่อต้านตึงตังอีกหน หรือกระโดดค้ำถ่อไปถามคณะผู้เจรจาเอฟทีเอ (ข้อตกลงเขตการค้าเสรี) ไทย-สหรัฐ ที่กำลังเจรจาต่อรองเรื่องนี้กับพี่เบิ้มดูด้วยก็ได้


 


ก่อนจะเล่าถึงความโกลาหลนั้น สำหรับผู้ไม่สันทัดกรณี อาจต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจเสียตั้งแต่ว่า "จีเอ็มโอ" ไม่ใช่ "ยูเอฟโอ" แม้จะมีลักษณะพิสดาร สร้างความตื่นเต้นได้คล้ายกัน 


 


จีเอ็มโอ คือ การทำให้สิ่งมีชีวิตมีลักษณะแปลกไปจากที่เคยเป็นเพื่อประโยชน์บางอย่างของมนุษย์ เช่น อยู่ๆ ข้าวก็มาแย่งหน้าที่แครอท คือ สามารถผลิตวิตามินเอได้ด้วย, มะเขือเทศ ผักที่ขึ้นชื่อว่าเหี่ยวช้าอยู่แล้วก็สามารถอยู่ยั้งยืนยงได้อีกหลายเท่า,พืชผักที่สามารถทนทานต่อยาฆ่าแมลง ฉีดสารเคมีมากขนาดไหนก็ไม่ตาย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำได้โดยการตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ โดยนำยีนของสิ่งมีชีวิตหนึ่งฝากถ่ายเข้าไปในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง (GMO-Genetically Modified Organism)


 


บางคนฟังแล้วทึ่งกับความเท่ห์ของวิทยาศาสตร์ กระหยิ่มยิ้มย่องกับความสามารถของมนุษย์ และตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรพันธุ์ใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น บางคนฟังแล้วขนลุกขนพองกับการล่วงละเมิดธรรมชาติ หวาดผวากับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และโลกในระยะยาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่มีต่อจีเอ็มโอ และข้อมูลที่ได้รับรู้


 


ปัญหาอยู่ตรงที่เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกก็ยังเถียงกันเองไม่จบว่า ในระยะยาวแล้วสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่เหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพคนกินและเข้าไปปะปนกลืนกินพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติหรือไม่ โดยข้อมูลการทดลองจากนักวิทยาศาสตร์ทั้งที่หนุนและค้านต่างก็ออกมาคัดง้างกันเป็นประจำ โดยเฉพาะข้อถกเถียงที่ว่าพืชจีเอ็มโออาจก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ ทำให้ร่างกายต้านทานต่อยาปฏิชีวนะ หรืออาจเป็นตัวการก่อมะเร็ง


 


ในฐานะผู้บริโภค หากคุณมั่นใจในจีเอ็มโอก็ดีไป แต่หากยังงกๆ เงิ่นๆ ลังเลอยู่ คงต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะกฎกาการติดฉลากจีเอ็มโอในประเทศไทยยังไม่เคร่งครัดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้มากนัก กฎหมายกำหนดให้เฉพาะถั่วเหลืองและข้าวโพดจีเอ็มโอสองอย่างเท่านั้นที่ต้องติดฉลากบอกผู้บริโภค และหากผลิตภัณฑ์อาหารใดมีข้าโพด-ถั่วเหลืองจีเอ็มไม่ถึง 5% ก็ไม่ต้องติดฉลาก อีกทั้งหากส่วนประกอบนั้นไม่ใช่ส่วนประกอบหลักสามอันดับแรกก็ไม่ต้องติดสลากเช่นกัน


 


แม้ราว 16 ประเทศทั่วโลกจะเปิดรับจีเอ็มโอ โดยอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอบางชนิดแล้ว เช่น สหรัฐ อาร์เจนตินา แคนาดา จีน แอฟริกาใต้ อินเดีย เม็กซิโก ฯ แต่ในอียูและญี่ปุ่นก็ยังมีนโยบายเข้มงวด และผู้บริโภคยังไม่ยอมรับจีเอ็มโอ แม้สหรัฐจะพยายามผลักดันอย่างหนักให้ยักษ์ใหญ่คู่นี้และคนอื่นๆ ในโลกยอมรับจีเอ็มโอผ่านองค์การการค้าโลกก็ตาม


 


ด้านสถาบันทางวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยอย่างไบโอเทคเอง เคยประเมินว่าสัดส่วนการยอมรับจีเอ็มโอจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการวางกรอบนโยบายไว้ว่าภายในปี 2554 จะผลักดันให้มีบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ไม่น้อยกว่า 100 บริษัท มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี และส่งเสริมการลงทุนโดยภาคเอกชน โดยให้เอกชนต่างประเทศถือหุ้นได้ไม่เกิน 50%   แต่จนถึงวันนี้นโยบายเรื่องจีเอ็มโอของไทยกลับอึมครึมไม่แพ้อากาศในช่วงนี้แต่อย่างใด


 


มติครม.เมื่อ 3 เมษายน 2544 ที่ผลักดันโดยสมัชชาคนจนหลังจากมีการปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอ (ฝ้ายบีที) ออกสู่สิ่งแวดล้อม ยังเป็นสิ่งที่ค้ำยันไม่ให้มีแม้แต่การปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นา ซึ่งนั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์หงุดหงิดหัวใจยิ่งเพราะทำให้การพัฒนาจีเอ็มโอของไทยไม่ไปถึงไหนเสียที


 


กระทั่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศจะไม่ยอมตกขบวนรถไฟสายวิทยาศาสตร์ และคณะกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ที่นายกฯ นั่นแหละเป็นประธานก็ประกาศกรอบนโยบายเมื่อ 20 สิงหาคม 2547 ให้ปลูกจีเอ็มโอร่วมกันพืชอื่นได้ หรือ co-exist


 


ทันทีทันควันก็เกิดกระแสต้านเรื่องนี้จากองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม จนมีอันต้องพับไปก่อน


 


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย ออกมาป่าวประกาศว่านโยบายเรื่องจีเอ็มโอของชาติขาดการมีส่วนร่วมอย่างรุนแรง โดยกระบวนการจัดทำนโยบายอาศัยนักเทคโนโลยีชีวภาพที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทข้ามชาติ ส่วนผู้เข้าร่วมการประชุม 54 คน เป็นตัวแทนบริษัทเอกชนถึง 21 คน โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติด้านเมล็ดพันธุ์ ที่เหลือเป็นนักวิชาการและพนักงานของรัฐ ไม่มีตัวแทนเกษตรกรแม้แต่คนเดียว


 


เขาเห็นว่าการเปิดให้ทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา คือการเร่งทำให้ประเทศต้องพึ่งพาบริษัทเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอข้ามชาติ เนื่องจากจะเปิดโอกาสให้บรรษัทข้ามชาติ นำพืชจีเอ็มโอของตนเช่น ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลือง เข้ามาทดลองปลูกระดับไร่นา เพื่อบริษัทจะได้อ้างว่ามีการทดลองเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพแล้ว อีกทั้งยังมีความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการทำเอฟทีเอกับสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ต้องเปิดให้นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศได้เหมือนคนในชาติทุกประการทุกสาขา ไม่เว้นแม้แต่เทคโนโลยีชีวภาพ อันจะนำไปสู่การผูกขาด ควบคุมภาคการเกษตรของประเทศไทยเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น


 


ลำพังเวลานี้ปัญหานี้ก็หนักหน่วงอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 80% ที่เกษตรกรใช้ปลูกอยู่ตอนนี้ก็ผูกขาดโดยกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์และมอนซานโต้ ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันอย่างแนบแน่นไปเสียแล้ว


 


ขณะที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ ทำให้สังคมต้องสงสัยว่า co-exist นั้นเป็นไปได้จริงหรือไม่ ด้วยการเข้าไปทำลายมะละกอในแปลงทดลองแบบเปิดของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต3 ส่วนแยกพืชสวน จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งของการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอจากแปลงทดลองไปยังหลายจังหวัดของประเทศไทยผ่านการขายเมล็ดพันธุ์ จนเป็นข่าวเกรียวกราวขึ้นมา และถูกกรมวิชาการเกษตรฟ้องร้องข้อหาลักทรัพย์ บุกรุก และทำลายทรัพย์สินของราชการในที่สุด ขณะนี้สืบพยานทั้งสองฝ่ายเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าคดีจะพิพากษาภายในปลายปีนี้


 


แม้กรมวิชาการเกษตรจะออกมายอมรับการปนเปื้อนและได้จำกัดทำลายมะละกอจีเอ็มโอในไร่นาเกษตรกรแล้ว แต่กรีนพีซ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ลงไปตรวจสอบซ้ำในพื้นที่ยังคงยืนยันต่อไปว่ายังคงพบการปนเปื้อนอยู่อีกในหลายจังหวัด ไม่ว่ากำแพงเพชร ระยอง กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม


 


ขณะที่วิไล ทองปราสาทศรี หัวหน้าโครงการวิจัยที่ทำการทดลองมะละกอจีเอ็มโอที่ขอนแก่น ยืนยันว่า เธอทุ่มเททำวิจัยเรื่องนี้มากว่า 20 ปี เพื่อแก้ไขโรคไวรัสใบด่างวงแหวนในมะละกอที่ทำลายผลผลิตของชาวบ้านมายาวนาน อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้แปลงทดลองที่ขอนแก่นจะถูกตัดทำลายแล้ว แต่มะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพืชจีเอ็มโอที่ทดลองได้ก้าวหน้าที่สุดของไทยขณะนี้ ยังคงมีการทดลองต่อไปในแปลงทดลอง 2 แห่ง คือ หน่วยปฏิบัติการพันธุวิศวกรรมด้านพืช (PGEU) ม.เกษตรศาสตร์ และสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ (IMBG) ม.มหิดล


 


เท้าความสักนิดว่า ผลงานที่ขอนแก่น เริ่มต้นขึ้นโดยเป็นโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรหลายต่อหลายอันในมะละกอจีเอ็มโอ โดยนักวิชาการไทยหอบหิ้วพันธุ์แขกดำท่าพระ และไวรัสสายพันธุ์ไทยไปร่วมทดลองด้วย ท้ายที่สุด เมื่อได้ผลออกมาแม้ดร.เดนิส กอนซาเวส แห่งคอร์แนลจะยินยอมให้ไทยนำมาพัฒนาต่อในประเทศโดยไม่ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร แต่หากมีการส่งออกผลผลิตก็มีการร่างข้อตกลงกันไว้ว่าจะต้องแบ่งผลประโยชน์เป็นขั้นบันได โดยกำไร 1 ล้านบาทแรก ต้องแบ่งให้คอร์แนล 10% กำไร 2.5 ล้านแบ่งคอร์แนล 20% กำไร 5 ล้านแบ่งคอร์แนล 30%


 


ข่าวแว่วว่าหลังการออกมาต่อต้านของภาคประชาชนอย่างหนัก กรมวิชาการเกษตรได้ต่อรองขอเป็นเจ้าของร่วมในสิทธิบัตรเพราะอุตส่าห์หอบหิ้วเอาวัตถุดิบไปทดลองร่วมกัน แน่นอน มหาวิทยาลัยคอแนลปฏิเสธ !


 


เรื่อง "ความเป็นเจ้าของ" กลายเป็นประเด็นสำคัญที่จะละเลยเสียมิได้ อย่างข้าวสีทอง ข้าวจีเอ็มโอที่เพิ่มวิตามินเอนั้นมีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกว่า 70 รายการ มะละกอจีเอ็มโอเองก็มีเจ้าของชัดเจนแม้จะมีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องน้อยกว่านั้นหน่อย การมีเจ้าของหมายความถึง เกษตรกรไม่อาจนำมาไปใช้เพาะปลูกในฤดูกาลหน้าได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกฤดูกาล จะเอามาแลกเปลี่ยนกันแบบบ้านๆ อย่างที่เคยทำกันมานานนมยิ่งไม่ได้ใหญ่


 


เรื่องนี้เคยมีตัวอย่างการฟ้องร้องมาแล้ว เช่น นายชไมเซอร์ เกษตรกรชาวแคนาดาวัย 71 ปี ผู้ปลูกแคโนลา (พืชให้น้ำมัน) โดนบริษัทมอนซานโต้ฟ้องฐานที่ตรวจพบยีนของต้นแคโนลาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานยาฆ่าแมลงของบริษัทในแปลงของชไมเซอร์ แม้ว่าผู้เฒ่าจะยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ปลูก แต่ยีนที่ตรวจพบเป็นการปนเปื้อนของละอองเกสรที่ลอยมากับกระแสลม ศาลก็ยังคงตัดสินเขามีความผิด แต่โชคดีที่ศาลยังละเว้นให้เขาไม่ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 175,000 เหรียญ


 


นอกจากนี้มีเกษตรกรถูกมอนซานโต้ฟ้องฐานละเมิดข้อตกลงการอนุญาตใช้สิทธิ (license) ในการปลูกไปแล้ว 73 รายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา   


 


เดชะบุญที่ในประเทศไทยยังไม่มีการให้สิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ (คุ้มครองเฉพาะจุลชีพที่มิได้อยู่ตามสภาพธรรมชาติเท่านั้น) แต่ข้อเรียกร้องนี้ อยู่ในเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ที่ดำเนินการเจรจากันมาค่อนทางแล้ว 


 


ด้วยเหตุนี้ การปนเปื้อนของจีเอ็มโอจึงมีผลต่อสิทธิของเกษตรกรด้วย เพราะระบบสิทธิบัตร ซึ่งถูกคิดค้นเพื่อใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมได้ก้าวข้ามเข้ามาสร้างความยุ่งเหยิงในปริมณฑลของภาคเกษตร อันมีฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นความมั่นคงด้านอาหารของมนุษยชาติด้วย ไม่นับว่าบางคนอาจห่วงใยการปนเปื้อนในแง่ที่มันเข้าไปทำลายระบบพันธุกรรมตามธรรมชาติด้วย


 


การแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอจึงควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วน โดยขณะนี้กรีนพีซ และคณะกรรมการสิทธิฯ ระบุชัดเจนว่ามะละกอจีเอ็มโอได้ผสมกับพันธุ์ปกติแล้ว


 


ตัวอย่างในฮาวาย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะละกอที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอาจให้ภาพที่ชัดเจนขึ้น เมลานี บอนเดอรา เกษตรกรชาวฮาวายผู้ปลูกพืชอินทรีย์ เล่าว่า ฮาวายเริ่มอนุญาตให้ปลูกมะละกอจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2540 โดยสถาบันการศึกษาในฮาวายที่เป็นผู้คิดค้นทดลองโฆษณาว่ามะละกอจีเอ็มโอจะช่วยต้านทานไวรัสที่เป็นศัตรูตัวร้ายได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เกษตรกว่าครึ่งหนึ่งต้องเลิกอาชีพปลูกมะละกอไปแล้ว


 


เพราะ 1.ต้นทุนการปลูกมะละกอสูงขึ้นมาก เนื่องจากต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีเพิ่มขึ้น 2.มีไวรัสตัวใหม่ๆ ที่ไม่เคยเป็นปัญหามาก่อนกลับเป็นปัญหาหนัก เช่น เชื้อราจุดดำ 3.มะละกอจีเอ็มโอไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเธอเปรียบเทียบราคาให้ฟังว่า มะละกอปกติขายได้ราคาประมาณ 45 เซนต่อปอนด์ ขณะที่มะละกออินทรีย์ขายได้ 65 เซนต่อปอนด์ แต่มะละกอจีเอ็มโอขายได้ 17 เซนต่อปอนด์


 


นอกจากนี้จีเอ็มโอยังเพิ่มภาระให้เกษตรกรต้องคอยป้องกันการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอมาในไร่ของตัวเอง โดยต้องเสียค่าใช้จ่าย 300-400 เหรียญสหรัฐต่อเฮคแตร์ ส่วนผู้ส่งออกก็ต้องตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดว่าสินค้าของตนปลอดจีเอ็มโอ


 


เธอเล่าว่าขณะนี้มะละกอบนเกาะฮาวายกว่า 50% กลายเป็นจีเอ็มโอ นอกเหนือจากการปนเปื้อนในธรรมชาติแล้ว สาเหตุใหญ่คือเกษตรกรยังคงมีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันเหมือนเดิม ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสายเลือดของเกษตรกรไม่ว่าที่ไหนๆ ในโลก


 


ส่วนว่าการต่อต้านจีเอ็มโอจะเป็นการขัดขวางการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์หรือไม่นั้น เธอกล่าวอย่างหนักแน่นว่า เทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมนี้นอกจากจะเป็นสิ่งที่ยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้แน่นอนแล้ว ยังนับเป็นเทคโนโลยีเก่าตั้งแต่ปี 1989 ขณะนี้สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือเทคโนโลยีการถอดรหัสยีน หรือ จีโนม แล้วนำมาผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ


 


"I believe in technology that help farmer but I do not believe in technology that hurt farmer" เกษตรกรสาวจากฮาวายว่าอย่างนั้น


  


นี่เป็นเพียงเรื่องราวคร่าวๆ ที่ดำเนินมา และยังคงต้องจับตาอยู่การดำเนินต่อไปทั้งคดีความ การตรวจสอบการปนเปื้อน การยกร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ นโยบายของประเทศว่าด้วยทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ อย่างใกล้ชิด


 


เชื่อหรือยังว่าเรื่องของจีเอ็มโอนี่ "มะละกอ" อย่าบอกใคร J

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net