Skip to main content
sharethis


 


ล้างระบอบทักษิณ


เพิ่มประชาธิปไตย


ด้วยการเมืองภาคประชาชน


.............................


 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


มีนาคม 2549


 


0 0 0


 


 


"ประชาธิปไตย ไม่ใช่เป้าหมายของผม"


 


... ทักษิณ ชินวัตร


ธันวาคม 2546


 


ต่อไปนี้ ข้อใดเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยมากที่สุด


 


ก.      ประกาศเดินหน้าขายรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ ถึงแม้จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด


ข.      ขายหุ้นชินคอร์ป 73,000 ล้านบาทให้กับเทมาเส็ก อย่างซับซ้อน โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว


ค.      มูลค่า "หุ้นทักษิณ" สูงขึ้นมากว่า 150 เปอร์เซ็นต์ ใน 5 ปี


ง.       "ข้าพเจ้าขอผูกขาดเอฟทีเอแต่เพียงผู้เดียว" รัฐสภาไม่เกี่ยว


จ.        "ทีวี" ไม่มี "ไอ"  +  มาตรา 40 ทั้งเข่ง ราคาเท่าไหร่ ?


ฉ.      กรือเซะ ตากใบ และสมชาย นีละไพจิตร


ช.      แก๊งกินไก่ กับไข้หวัดนก


ซ.      แก้กฎหมายสารพัด เช่น พรก. ภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม - "เช็คเปล่าเติมตัวเลขเอง" แด่ชินคอร์ปและคณะ


ฌ.     "เลือกได้ เปลี่ยนได้ ผสมได้"....องค์กรอิสระที่ซีอีโอสามารถช็อปปิ้งได้ตามใจ


ญ.     ทักษิณ 4 สมัย ไทยรักไทย 500


ฎ.      โอ้โห..............


ฏ.      ถูกทุกข้อ


 


 


บทนำ


เพราะประชาธิปไตยคือสิ่งที่ต้องมีความหมายปีละ 356 วัน ไม่ใช่แค่วันที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จึงก้าวข้ามความด้อยพัฒนาของระบบการเมืองที่แล้วมา ด้วยการส่งเสริมการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งสนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน


 


จากเดิมที่อำนาจในการจัดการทรัพยากรและในการกำหนดนโยบายสาธารณะผูกขาดอยู่แต่ในมือนักการเมืองและข้าราชการเทคโนแครตไม่กี่คน และมักจะเป็นไปเพื่อรับใช้กลุ่มทุน (ผู้มีอุปการะคุณ) และพรรคพวกของตนเป็นสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดว่า...พอกันที หมดเวลาปาร์ตี้ของ "อำนาจรัฐรวมศูนย์" แบบเก่าๆ แล้ว ต่อไปนี้...ต้องเข้าสู่ยุคใหม่ วิธีการเช่นนั้นต้องเปลี่ยนไป


 


ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญจึงหยิบยื่นสิทธิใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น สิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ สิทธิในการจัดการทรัพยากรคลื่นความถี่สาธารณะ สิทธิในการประชาพิจารณ์โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ สิทธิในการลงประชามติ สิทธิในการปกครองท้องถิ่น สิทธิในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก สิทธิในการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฏหมายโดยตรงต่อสภาฯ สิทธิในการเข้าชื่อเพื่อร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิที่จะมีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม สิทธิเสรีภาพหลายประการที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้นี้ จะเป็นจริงเป็นจังนำไปสู่การปฏิบัติได้ ก็ต้องมีการตรากฎหมายเพื่อขยายรายละเอียด หรือที่เรียกกันว่า "กฏหมายลูก" ก่อนเท่านั้น


 


8 ปีผ่านไป ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันผลักดันกฎหมายบางฉบับด้วยความเร็วที่ผิดปกติ อาทิ พรก. แปรรูปภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม หรือ พรก. ป้องกันการก่อการร้าย (ใช้เวลาประชุมคณะรัฐมนตรีเพียงไม่กี่ชั่วโมง) แต่ปรากฏว่า กฎหมายหลายฉบับที่ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลับเงียบหายและกลายเป็นความยืดเยื้อไปอย่างไม่น่าเชื่อ


 


หรือว่า "กฎหมายลูก" ในที่นี้...จะแปลว่ากฎหมายที่ต้องรอไปถึง "รุ่นลูก"?


 


ไม่เพียงแช่แข็งกฎหมายหลายฉบับ-ปฎิเสธการมีส่วนร่วมทุกรูปแบบ ในอีกด้าน...รัฐบาลยังงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ละเมิดสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนราวกับว่า...ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง


 


และต่อไปนี้เป็นผลงานอันโดดเด่นในรอบ 5 ปี...ที่ทำให้การใช้อำนาจของระบอบทักษิณ ชินวัตร กับระบอบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีเพียง "เส้นบางๆ ที่พร่าเลือนมาก" กั้นไว้เท่านั้น


 


5 ปีที่แล้ว กลุ่มทุนใหม่ซึ่งเป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐีระดับพันล้าน-แสนล้านไม่กี่ตระกูลได้จับมือกันเข้าเทคโอเวอร์ประเทศไทย ภายใต้คำขวัญสวยหรู "คิดใหม่ ทำใหม่"  เมื่อนักเล่นหุ้นและนักซุกหุ้นระดับนั้นมีอำนาจกำหนดนโยบาย พวกเขาก็ได้สร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่ให้กับเมืองไทยจริงๆ


 


อันดับแรก ภายใต้โลโก้ "รัฐบาลหุ้น" พวกเขาได้สร้างสถิติโลกที่ไม่ค่อยน่าภาคภูมิใจให้กับคนไทยเท่าไหร่นัก ด้วยตัวเลขมูลค่าหุ้นของคนในตระกูลพวกเขารวมกัน ปรากฏว่ามีสัดส่วนสูงถึง 42% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ สัดส่วนที่ชวนให้ผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้ เป็นรองก็แต่ประเทศรัสเซียเท่านั้น


 


แตกต่างกันลิบลับกับธุรกิจของแม่ค้าขายปลา ธุรกิจระดับอภิมหาในกลุ่มของพวกเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารและโทรคมนาคม บันเทิง รถยนต์ ฯลฯ เพียง 3 ปีผ่านไปหลังรับตำแหน่ง เฉพาะมูลค่าหุ้นของตระกูลชินวัตรพุ่งขึ้นกว่าเดิม 147% หรือ 18,775 ล้านบาท และเพียงแค่ 3 บริษัทในเครือชินคอร์ป สามารถฟันกำไรรวมกันถึง  55,689 ล้านบาท


 


ไม่เพียงอำนาจครอบงำ 1 ตลาดและอีก 2 สภา เป็นที่รู้กันดีว่า สถาบันสำคัญๆ ของชาติก็ตกอยู่ภายใต้เครือข่ายของผู้นำรัฐบาลทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้น เหล่าองค์กรอิสระส่วนใหญ่ที่รัฐธรรมนูญได้ออกแบบมาเพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลผู้บริหารประเทศ ก็ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างอิสระได้ ร่องรอยของปฏิบัติการแทรกแซงตามใบสั่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไป


 


และเพื่อให้อำนาจบริหารระดับซูเปอร์ไซส์เป็นไปอย่างราบรื่นไร้อุปสรรค ลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบให้เหลือน้อยที่สุด คณะรัฐบาลแชมป์หุ้นจึงลงทุนทำทุกอย่างเพื่อคุกคามเสรีภาพสื่อ ทีวีเสรีหายไป กลายเป็นทีวีจากตึกชินวัตร นักข่าวและบรรณาธิการบางคนถูกปลดไป เพราะไม่เป็นมิตรกับระบอบชินวัตร สื่อมวลชนส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้เวทมนต์ของงบโฆษณามหาศาล ทำให้สามารถตาบอดได้เป็นบางวันและเป็นบางเหตุการณ์


 


ยกเว้นภาษีไอพีสตาร์ 16,459 ล้าน ลดค่าสัมปทานไอทีวีกว่า 17,000 ล้าน สัมปทานท่าเรือแหลมฉบังทำรายได้รัฐหาย 22,822 ล้าน ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าสนใจ สู้โปรโมชั่นชิงลูกค้าระหว่างทรูมูพกับเอไอเอสไม่ได้


 


พวกเขาชอบอำนาจ แต่พวกเขาหวาดกลัวการตรวจสอบ พวกเขาประกาศว่า "รวยแล้วไม่โกง" แต่พวกเขารังเกียจความโปร่งใส พวกเขาเป็นเศรษฐีขี้รำคาญ พวกเขาไม่ชอบให้ "ขาประจำ" ขัดใจ ในโลกที่ความเร็วถูกมั่วนิ่มว่าหมายถึงประสิทธิภาพ พวกเขาจึงนิยมใช้วิธีรวบรัด ตัดตอน ขีดเส้นตาย ตลอดจนนิยมออกกฏหมายในรูปพระราชกำหนดมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ด้วยความเป็นนักการตลาดที่ใครๆ ก็ยกนิ้วให้ พวกเขาขยันออกโครงการใหม่ๆ และศัพท์ใหม่ๆ มาให้คนไทยต้องตื่นตะลึงไม่เว้นแต่ละวัน ไม่มีใครรู้ว่าคนจนจะหายจนเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ว่าเงินนั้นไหลกลับไปสู่บริษัทรถและมือถือมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในการบริโภคของรัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างดี พร้อมๆ กับประชาชนไทยเกือบทั้งประเทศเพลิดเพลินกับการเป็นหนี้


 


หลังเทคโอเวอร์ "ชิน(ไทย)คอร์ป" ครบ 5 ปี ก็ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มพูนจากการใช้อำนาจทางการเมือง ขายทำกำไรอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนให้กับเทมาเส็ก กองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ มูลค่าสูงถึง 73,000 ล้านบาทโดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว


 


พวกเขาไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะสร้างความแปลกใหม่และ "ตัวเลขที่น่าตกใจ" มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเชื่อมั่นว่า ด้วยคาถาทั้งหลายที่ใช้ขับกล่อมชาวไทยมาจนถึงทุกวันนี้ จะทำให้ "ระบอบทักษิณ"  ของพวกเขายิ่งใหญ่และอยู่ต่ออีก 16 ปี


 


หรือ 20 ปี หรือ 30 ปี..........


 


ถึงเวลาแล้วหรือยัง...ที่ประชาชน (ผู้อาจจะยังมึนงงไม่หายกับแคมเปญทางการตลาดของไทยรักไทย) จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อผลักดันให้ "ระบอบปกครองต่อไป" มีความรับผิดชอบต่อสังคมไทยมากขึ้น


 


มีความรับผิดชอบต่อรัฐธรรมนูญไทยมากขึ้น


 


รวมทั้ง เข้าใจความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" ดีขึ้น ประชาธิปไตยที่ไม่ได้หมายถึง...แค่เครื่องมือ   อำนวยความสะดวกปลอดภัยในการซื้อขายและเก็งกำไรเท่านั้น


 


มาร่วมเปลี่ยนแปลงและทำการเมืองในชีวิตประจำวัน ที่มิใช่เฉพาะ "การเลือกตั้ง"  เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้สังคมไทยกันดีกว่า


 


ก่อนที่เราจะตื่นขึ้นมาวันหนึ่งแล้วพบว่า รัฐบาลในอนาคตของเราเป็นเจ้าของหุ้นรวมกันถึง 99% ในตลาด และสภา 500+200 ก็ถูกอำนาจเบ็ดเสร็จยึดไป จนเหลือคนที่รัฐบาลหุ้นไม่สามารถสั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้อยู่ 1%


 


สังคมใหม่เป็นไปได้ : ถ้าเราทุกคนไม่นั่งอยู่เฉยๆ


8 ปีหลังปฏิรูปการเมือง นอกจากจะไม่มีอะไรคืบหน้า หลายคนเริ่มเบื่อหน่ายเอือมระอากับสภาพการเมืองย้อนยุค ประชาธิปไตยดูปลอมขึ้นทุกวัน และ "ระบอบทักษิณ" ก็ดูจะเป็นสิ่งตรงข้ามกับที่คุณเชื่อ...มากขึ้นทุกที


 


คุณรักความเป็นธรรมและไม่ชอบการเอาเปรียบคนอื่น คุณอยากเห็นการพัฒนาแบบยั่งยืน ไม่ทำลายทรัพยากรชาวบ้านตามใจชอบ ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ยืมพลังงานมาจากคนรุ่นลูกรุ่นหลาน คุณอยากเห็นทุนเคารพวัฒนธรรมชุมชน คุณอยากเห็นคนมีความสุข "แบบไม่ต้องซื้อ" บ้าง เป็นไปได้มั้ยที่จะมีการเมืองแบบไม่ใช้เงินเป็นใหญ่? และเป็นไปได้มั้ยที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตตัวเอง?


 


ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากเห็นสังคมหน้าตาคล้ายๆ แบบนี้...คุณคือหนึ่งในกระแสวัฒนธรรมใหม่ที่กำลังเติบโตไปทั่วโลก


 


ท่ามกลางความล้มเหลวของประชาธิปไตยในแบบเก่าๆ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ยอมให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงเฉพาะวันเลือกตั้งมาถึงทางตันแล้ว ไม่เพียงแต่เป็นเวทีผลประโยชน์ของคนกลุ่มแคบๆ ยังล้าหลังและไม่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาและวิกฤตินานาชนิดที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน


 


ยิ่งกว่านั้น ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุนไหลไปไหลมาได้อย่างเสรี อำนาจของทุนได้ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุนในประเทศ ทุนข้ามชาติ อำนาจรัฐบาล เริ่มแยกไม่ออกจากกัน ยิ่งทุนมีอำนาจมากเท่าไหร่ ทรัพยากรธรรมชาติยิ่งถูกทำลายและถูกแย่งชิงไปจากคนจนมากเท่านั้น แรงงานถูกขูดรีด พันธุกรรมท้องถิ่นถูกจดสิทธิบัตร สมบัติสาธารณะกลายเป็นทรัพย์สินเอกชน ศิลปะกลายเป็นสินค้า ข่าวสารกลายเป็นความบันเทิง ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องการตลาดและการแข่งขันทำเงิน พร้อมกับที่โลกร้อนมีรูโหว่ขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ ในที่สุด ผู้ที่ไม่พอใจอำนาจทุนทั้งหลายจึงลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้าน และขยายเครือข่ายออกไปทั่วโลก


 


โลกาภิวัตน์ฉบับบรรษัท กับ โลกาภิวัตน์ฉบับประชาชน จึงกลายเป็น 2 กระแสที่ขับเคี่ยวกันอยู่ทุกหนแห่ง


 


ในเมื่อทุนยึดอำนาจรัฐ รากหญ้าและชนชั้นกลางจึงต้องระดมใช้ "ทุกพื้นที่และทุกวิถีทาง" เพื่อทำการเมืองแบบใหม่


 


การเมืองภาคประชาชน จึงเป็นเรื่องของ "การไม่ยอม" ไม่ยอมให้ทุนทำอะไรตามอำเภอใจ ไม่ยอมยกอำนาจให้รัฐบาลง่ายๆ ไม่ยอมนั่งดูอยู่เฉยๆ แต่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสังคม


 


คนทั่วโลกกลุ่มใหญ่ประกาศออกมาแล้วว่า "โลกใหม่เป็นไปได้" (Another World is Possible)


 


เช่นเดียวกัน "สังคมใหม่" ก็เป็นไปได้สาหรับคนไทยเช่นกัน


 


เราทุกคนสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรได้มากมาย...เพื่อทำให้สังคมไทยน่าอยู่ขึ้น เป็นสังคมที่ดีงามตามที่เราเชื่อมั่น เป็นสังคมที่อบอุ่นสำหรับคนรุ่นลูกหลาน


 


ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของกิจกรรมที่คุณสามารถทำได้


 


· ร่วมกิจกรรมทางการเมืองในโอกาสต่างๆ ด้วยวิธีการสารพัด เพื่อผลักดัน "วาระประชาชน" ให้มีผลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล วาระประชาชนเพื่อสังคมใหม่เป็นไปได้...ที่ปรากฎอยู่ในส่วนท้ายของหนังสือเล่มนี้ เป็นการรวบรวมข้อเสนอนโยบายจากองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศไทย เป็นข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน โดยเฉพาะคนที่เสียเปรียบด้อยโอกาส


 


· ริเริ่มกิจกรรมด้วยตัวคุณเอง ลงมือทำสิ่งที่คุณเชื่อด้วยตัวคุณเอง ถ้าคุณเชื่อเรื่องการศึกษาทางเลือก คุณอาจจับกลุ่มเปิดโรงเรียนเล็กๆ ขึ้นมาเอง ถ้าคุณเชื่อเรื่องสื่อทางเลือก คุณอาจใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตสำหรับสร้างสื่อใหม่ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และถ้าคุณเชื่อเรื่องเศรษฐกิจทางเลือก ลองคิดดูว่าคุณจะทำอะไรที่ไม่ต้องพึ่งพาตลาดแบบเดิมๆ ได้บ้าง?  แต่ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม การสร้างเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อการเรียนรู้และเป็นกำลังใจให้กัน


 


· เข้าไปหนุนเสริมกิจกรรมของกลุ่ม องค์กร ชุมชน ที่เคลื่อนไหวในประเด็นซึ่งสอดคล้องต้องกันกับความเชื่อของคุณ เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นเข้มแข็ง อาจจะเข้าไปสนับสนุนด้านทุน ความคิด หรือความสามารถพิเศษตามที่คุณถนัด


 


· ส่งเสียงประท้วง หรือแสดงความคิดเห็นแตกต่างออกมาดังๆ ทุกครั้งที่รัฐบาลทำสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของคุณ ไม่ว่าจะเป็น การละเมิดสิทธิประชาชน ใช้ความรุนแรง หรือทำสิ่งที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยผ่านแสดงออกตามสื่อหรือเว็บไซต์ต่างๆ เท่าที่เป็นไปได้ เพื่อยืนยันถึงสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมประชาธิปไตย


 


· ร่วมตรวจสอบรัฐให้มีความโปร่งใสและสุจริต โดยการรวมตัวเรียกร้องตรวจสอบข้อมูล หรือร่วมงานวิจัยข้อมูล ให้ความร่วมมือกับนักวิชาการและสื่อมวลชนในกรณีที่คุณมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการตรวจสอบ


 


· ใช้อำนาจบริโภคให้เป็นประโยชน์ (Boycott) การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคุณ คืออำนาจประท้วงและบอยคอตกลุ่มทุนที่คุณต่อต้านได้โดยตรง การสร้างเครือข่ายหรือจัดแคมเปญบอยคอตขนาดใหญ่สามารถเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพได้


 


· ใช้สิทธิเลือกตั้ง คุณสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งทุกระดับที่รัฐเปิดโอกาสให้ เพื่อเลือกคนที่จะ "เพิ่มอำนาจต่อรอง" ของการเมืองภาคประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


 


ในกรณีที่มีผู้สมัครหรือพรรคที่เป็นตัวแทนความคิดและจุดยืนของคุณอย่างแท้จริง การตัดสินใจคงเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครพรรคใดเป็นตัวแทนความคิดของคุณได้ การโหวตเพื่อลดอำนาจของพรรคใดพรรคหนึ่งที่มีมากเกินไป แล้วเปิดโอกาสให้ "กลไกตรวจสอบทำงานได้" จึงเป็นคำตอบที่ไม่อาจมองข้าม


 


สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นใคร คุณสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างที่ "มากกว่าการเลือกตั้ง" ได้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในบั้นปลาย แม้ว่าจะเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องใช้เวลาก็ตาม


 


"การเมืองใหม่ สังคมใหม่เป็นไปได้"


เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ประชาชนควรร่วมผลักดันให้มีการแก้ไข ปรับปรุง และยกเลิกกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งผลักดันการตรากฎหมายลูกที่ให้หลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วม และการกระจายอำนาจ แก่ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ


 


 






ประเด็นที่ต้องผลักดันเป็นพิเศษ


            · ทบทวนและหยุดการเปิดการค้าเสรี สนับสนุนการค้าที่เป็นธรรม และการพึ่งตนเองของประเทศ


· หยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หันมาปรับปรุงและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง ให้เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


· มุ่งผลักดันและพัฒนาระบบหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะระบบหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง เช่น หลักประกันเรื่องการศึกษา ที่คำนึงถึงหลักความเท่าเทียมและลดความยากจน หลักประกันเรื่องการที่ดินทำกิน ที่มุ่งสนองตอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เกษตรกรรายย่อยมีที่ทำกิน สังคมเกิดความมั่นคงเรื่องอาหาร หลักประกันสุขภาพ ที่ให้หลักประกันแก่ชีวิตอย่างแท้จริง โดยถือว่าสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงไม่ว่าจนหรือรวย เป็นต้น


ไม่สนับสนุนนโยบาย "ประชานิยม" ที่เป็นไปเพื่อแสวงหาคะแนนนิยม


            ประชาชนควรร่วมผลักดันให้พรรคการเมืองต่างๆ รับเอาข้อเสนอปฏิรูปการเมืองไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายบริหาร  และร่วมกันติดตามตรวจสอบบทบาทของรัฐบาลและพรรคการเมืองหลังเลือกตั้ง


 


ประเด็นพื้นฐานสำคัญและเร่งด่วน ได้แก่ การปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปเกษตรกรรม และการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทั้งระบบ การคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะมุ่งไปสู่เส้นทาง "สังคมใหม่" ที่มีความเสมอภาค เป็นธรรม บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน


 


สื่อมวลชน


ผลักดันการปฏิรูปสื่อของรัฐให้มีความเป็นอิสระและเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณะ รัฐต้องส่งเสริมการสร้างสรรค์สื่อวิทยุโทรทัศน์เพื่อการบริการสาธารณะมากกว่ามุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจการค้า รวมทั้งรัฐต้องส่งเสริมให้มีการใช้สื่อเพื่อการศึกษาอย่างบูรณาการ โดยมีแนวทางดังนี้


 


· กำหนดสัดส่วนการจัดสรรคลื่นทรัพยากรความถี่อย่างมีดุลยภาพ ระหว่างรัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน กล่าวคือ ให้จัดสรรตามสัดส่วนเชิงโครงสร้าง ได้แก่ สื่อของรัฐเพื่อการบริการสาธารณะ 40% สื่อภาคธุรกิจเพื่อบริการธุรกิจ 40% และสื่อภาคประชาชนเพื่อการบริการชุมชน 20% ของคลื่นความถี่ที่มีอยู่


 


· กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นในสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่เหมาะสม คือไม่เกินร้อยละ 10 และวางกติกาของระบบวิทยุโทรทัศน์ให้มีระบบที่โปร่งใส กระจายโอกาส มีความเป็นธรรม ลดการผูกขาดครอบงำ และส่งเสริมกลไกการตรวจสอบจากภาคประชาชน


 


· กำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง รวมทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมการรวมตัวของภาคประชาชนในการทำงานเคลื่อนไหวตรวจสอบองค์กรของรัฐดังกล่าว


 


· กำหนดนโยบายและแผนสนับสนุนให้เกิดสื่อภาคประชาชน สื่อทางเลือกทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และในระดับชาติ ให้ครอบคลุมความต้องการของประชาชนหลายกลุ่ม ตั้งแต่ที่อยู่บนยอดดอยสูง ลงมาถึงลุ่มน้ำ ไปจนถึงชายฝั่งทะเล เช่น วิทยุชุมชนของคนท้องถิ่น วิทยุของเด็กและเยาวชน วิทยุสำหรับคนพิการ วิทยุของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนจนเมือง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ชาวไทยภูเขา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน ฯลฯ รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมให้กลุ่มคนชายขอบ ผู้ไร้สิทธิ ไร้เสียง ไร้โอกาสได้มีช่องทางในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคม


 


การจัดการทรัพยากร


ผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากร โดยการกระจายอำนาจการทรัพยากรป่าไม้สู่ท้องถิ่น กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเล และทรัพยากรพันธุกรรม


 


            ทรัพยากรป่าไม้


            · เร่งรัดผลักดันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ซึ่งมีสาระรับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าอย่างเร่งด่วน ทั้งป่าสงวนฯ หรือป่าอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดตัวอย่างรูปธรรมของความสำเร็จในการจจัดการป่าชุมชนตามแนวทางกฎหมาย


 


· เร่งปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ทั้ง 5 ฉบับ ให้รับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่า ตามแนวทางของรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน


 


· เร่งสำรวจและรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชุมชนในเขตป่าอย่างมั่นคง โดยมิใช่เป็นการให้เอกสารสิทธิรายปัจเจก แต่เป็นระบบสิทธิการจัดการร่วมของชุมชน บนฐานการจัดการเชิงนิเวศ


 


· ปรับแนวเขตป่าอนุรักษ์ทั้งหมดให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง คือ เป็นพื้นที่ที่มีป่าสมบูรณ์ ไม่ซ้อนทับกับพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชน


 


· สนับสนุนระบบวัฒนธรรม ความรู้ ระบบการผลิต และระบบเศรษฐกิจของชุมชนที่เอื้อต่อการจัดการป่าอย่างหลากหลายและยั่งยืน


 


            ทรัพยากรที่ดิน


· ผลักดันนโยบายกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม และมีการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน มาตรการคือ การวางแผนการใช้ที่ดิน การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม จัดเก็บภาษีที่ดินตามแผนการใช้ที่ดินของชุมชน จัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า


 


· ผลักดันนโยบายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งหมายรวมถึง การปฏิรูประบบเกษตรกรรม (ดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบการผลิต) มาตรการคือ นำที่ดินทิ้งร้างและออกเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมายมาปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดินทำกิน ส่งเสริมเกษตรกรรมทางเลือก ส่งเสริมการศึกษาโดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาองค์วามรู้จากรากเหง้าภูมิปัญญาท้องถิ่น


 


            ทรัพยากรน้ำ


            · ยุติการทำการประมงด้วยเครื่องมือที่ทำลายทะเลและพันธุ์สัตว์น้ำ


 


· จัดตั้งคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดชายฝั่งทะเลโดยประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดเขตการใช้เครื่องมือประมงในทะเล กำหนดเงื่อนไขการทำประมง กำหนดเขตอนุรักษ์ ประเภทของสัตว์น้ำคุ้มครอง และดูปลาวางไข่ในแต่ละเขต ตลอดจนจัดทำแผนงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลและทรัพยากรชายฝั่ง


 


· ปฏิรูปนโยบายประมงและกฎหมายประมงโดยประชาชนมีส่วนร่วม ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2540


 


· ทบทวนแผนการพัฒนาภาคใต้


 


            ทรัพยากรพันธุกรรม


· จัดตั้งองค์กรบริหารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ


 


· แก้ไขและผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ คือร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ และกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น


 


· สร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปะรรมในการบริหารความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การมีส่วนร่วมในระดับนโยบาย การสนับสนุนทรัพยากรในการทำงาน ฯลฯ


           


ระบบเกษตรกรรม


ผลักดันการปฏิรูปแนวทางการพัฒนาเกษตรและการจัดการทรัพยากรโดยที่เกษตรกรและประชาชนจะต้องเป็นศูนย์กลาง ผ่าน นโยบายแห่งชาติว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้


 


· กำหนดเป้าหมายให้เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นเกษตรกรรมกระแสหลักของประเทศ โดยวางเป้าหมายการสร้างระบบเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศภายในอีก10 ปีข้างหน้า


 


· ปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อรองรับการผลักดันนโยบายว่าด้วยเกษตรยั่งยืน โดยให้มีการตั้งองค์กรบริหารงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้น 4 ส่วนคือ คณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งเป็นองค์กรรัฐที่เป็นอิสระ สถาบันพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาชนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมยั่งยืน ในลักษณะที่เป็นโครงการคู่ขนานกับการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ


 


· สร้างหลักประกันในการเข้าถึง ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ และทรัพยากรชีวภาพ ไม่ว่าจะโดยการปฏิรูปที่ดิน การออกกฎหมายป่าชุมชน และการออกกฎหมายประมงพื้นบ้านฯลฯ


 


· การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศ ในช่วงหนึ่งทศวรรษข้างหน้าประเทศไทยต้องตั้งเป้าหมายให้ประเทศเป็นเขตปลอดพืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อป้องกันผลกระทบจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมที่จะมาทำลายฐานระบบการผลิตของประเทศ


 


· การสร้างความเข้มแข็งของภาคการวิจัยสาธารณะและเกษตรกร ในการพัฒนาศักยภาพของประเทศในการผลิตเมล็ดพันธุ์


 


· จุดยืนของประเทศที่เกี่ยวข้องกับนโยบายระหว่างประเทศ คณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้น และองค์กรภาคประชาสังคมต้องมีบทบาทสำคัญในการเสนอแนะความคิดเห็น ตลอดจนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ


 


การกระจายอำนาจ


ผลักดันการใช้อำนาจองค์กรท้องถิ่น ม.290 ทั้งในส่วนที่ อปท.ต้องจัดการเอง และในส่วนที่รัฐส่วนกลางเข้าไปจัดการ จะต้องอยู่บนหลักการที่สำคัญคือ


1.       อปท.ต้องรับฟังความเห็นขององค์กรชุมชนและผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือผู้ได้รับผลกระทบ


2.       กระบวนการตัดสินใจ ต้องมีส่วนร่วม คนนอกมีส่วนร่วมตรวจสอบได้


 


สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล


แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 58, 59 สิทธิในการได้รับข้อมูล คำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐ ต้อง


1.       กำหนดข้อมูลด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เป็นข้อมูลสาธารณะ


2.       กำหนดสิทธิให้ชัดเจน มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลสาธารณะประเภทใดและวิธีการเข้าถึง


3.       กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการให้ข้อมูลกับประชาชน


 


สิทธิในการกำหนดนโยบายและการเสนอกฏหมาย


แก้ไขกฎหมายลูกมาตรา 170 ให้ประชานสามารถเสนอกฎหมายได้โดยง่าย และมีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมาย ผู้นำในการเสนอกฎหมายเป็นกรรมาธิการจำนวนหนึ่งในสามโดยอัตโนมัติ รวมทั้งกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจนในการออกมาเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ได้ หรือแม้แต่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สามารถเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย


 


สิทธิในการจัดตั้ง รวมตัว และเสริมความเข้มแข็งองค์กรประชาชน


- ตามมาตรา 45  เพิ่มเติม ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ให้กำหนดให้ชัดเจนรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งรวมตัว การศึกษา และงบประมาณแก่องค์กรประชาชน


 


- พัฒนาและเสริมสร้างกลไกภาคประชาชนที่จะควบคุมการใช้อำนาจหลังเลือกตั้ง


 


- ปรับปรุงจากกลไกที่มีอยู่แล้ว


 


- พัฒนา และยกระดับสถานะของกลไกองค์กรประชาชนระดับจังหวัด เช่น ประชาคม


 


- ส่งเสริมการรวมตัวอย่างเป็นอิสระของสหภาพแรงงานของแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ


 


สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้


- ปฏิรูปโครงสร้างภาษี เก็บภาษีจากคนรวยในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน  เป็นต้น


 


- จัดสวัสดิการทางสังคม และการบริการสาธารณะโดยทั่วถึง และเท่าเทียม โดยกระบวนการบริหารจัดการที่ประชาชนมีส่วนร่วม  (.43, .52)


 


การจัดการพลังงาน


- การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ลดโครงสร้างการผูกขาดในระบบพลังงาน ด้วยการจัดตั้งกลไกการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง เป็นอิสระและมีกฎหมายรองรับ และลดบทบาทที่ซ้ำซ้อนขององค์กรด้านพลังงาน


 


- พัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยมีกลไกเฉพาะที่แยกออกมาจากตลาดเชื้อเพลิงฟอสซิล


 


- พัฒนากลไกในการจัดการด้านการใช้พลังงานอย่างจริงจัง เพื่อพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยรวม และลดการแทรกแซงทางการเมือง


 


การพิจารณาโครงการขนาดใหญ่


- ปฏิรูปกระบวนการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ ให้มีส่วนร่วม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และกระจายอำนาจ


 


- ปฏิรูปกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ


 


- ให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพ ผลกระทบทางสังคม ที่มีเนิ้อหาครบถ้วนและถูกต้องตามหลักวิชาการ


 


- จัดตั้งกองทุนคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม           


 


มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ผลักดันองค์การอิสระผู้บริโภค


ผลักดันให้มีการออกฎหมายใหม่ที่บัญญัติเรื่อง "องค์การอิสระผู้บริโภค" ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 57 เพื่อให้ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินการและไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง ภาคธุรกิจเอกชน และระบบราชการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net