Skip to main content
sharethis

หลังจากการประชุมของผู้แทนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-สหรัฐ รอบ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเชอราตัน จ.เชียงใหม่ ต้องล่มกลางครัน ก่อนจะมีการย้ายสถานที่การประชุมไปที่ นอร์ทเทิร์น เฮอริเทจ รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ลำพูน ล่าสุด กลุ่มผู้ชุมนุมเกือบหมื่นคนได้พากันเก็บข้าวของแยกย้ายกลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม ซึ่งทางตัวแทนกลุ่มองค์กรประชาชนได้สรุปการชุมนุมเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า เป็นบททดสอบอีกบทหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า "พลังของประชาชน" นั้นมีคุณค่าและความสำคัญมากเพียงใด


 


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การยุติการประชุม หรือการย้ายสถานที่การประชุม เป็นเพียงจังหวะหนึ่งของการต่อสู้ แต่ถ้าสรุปในส่วนของภาคประชาชน ถือว่าเราได้งานรณรงค์ในด้านการให้การศึกษาแก่ประชาชน ทั้งคนที่มาที่นี่ ทั้งคนทั่วประเทศที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่นำเสนอออกไป นี่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ


 


"กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม โดยวิธีการแล้ว มันไม่ใช่มีแค่เพียงการชุมนุมอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยวิธีการที่มีความหลากหลาย และต้องคิดกันตลอดเวลา เพราะการขับเคลื่อนทางสังคมในบางจังหวะ จะต้องมีการใช้กระบวนการพัฒนาข้อมูลเอามาต่อสู้ ในบางจังหวะ จำเป็นต้องใช้การรวมพลังของคนทุกข์คนยากจำนวนหนึ่งขึ้นมาต่อสู้ด้วย และการชุมนุมครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกจังหวะใหญ่เลยที่ประชาชนสามารถรวมตัวกันได้มากขนาดนี้ และถือว่าเป็นอีกประสบการณ์หนึ่ง ที่จะช่วยทำให้ขบวนการทางสังคมได้เติบโตและพัฒนามากขึ้น" นายนิมิตร์ กล่าวทิ้งท้าย


 


ด้าน นางสาววนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า พลังของประชาชน มันไม่ใช่เรื่องของการรวมตัวธรรมดา แต่มันเกิดจากการรวมตัวของผู้ที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ที่พวกเขามาชุมนุมกัน ก็เพราะว่าไม่มีทางเลือก ถ้าเขามีทางเลือกก็คงไม่มีใครอยากจะจากบ้านเกิดเมืองนอนมาเสี่ยงชีวิตกันแบบนี้ และทุกคนคิดว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นทางเลือก ที่ออกมาปกป้องชีวิต ความปลอดภัยของตัวเขา พี่น้องของเขา ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้เพียงปกป้องตัวเอง แต่ทำเพื่อคนอื่นๆ ทั้งหมด เพราะการเปิดการค้าเสรี มันจะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับโครงสร้าง ในระดับกฎหมายและนโยบาย


 


"ดังนั้น พลังประชาชนที่ตื่นตัวและก้าวหน้าแล้ว ก็ต้องก้าวออกมาเพื่อเป็นกองหน้า พร้อมจะเสียสละชีวิตตัวเอง เพื่อจะสร้างทางให้คนรุ่นต่อไป ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็เป็นอย่างนี้ ปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ อนาคตก็ต้องเป็นอย่างนี้ ในอนาคตก็จะต้องมีการรวมตัวกันให้มากกว่านี้ เพราะไม่มีทางเลือก ถ้าตราบใดที่รัฐบาล ผู้ปกครอง ยังมองไม่เห็นสัจธรรม พลังประชาชนก็จะต้องเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ" ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวย้ำ


 


ในขณะนางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การชุมนุมของพี่น้องประชาชนครั้งนี้ ในสายตาของรัฐบาลอาจจะคิดว่าดูรุนแรง เป็นม็อบ แต่แท้จริงแล้ว เป็นเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง ในกระบวนการเจรจานั้นบอกว่าต้องมีการแลกเปลี่ยน ชาวบ้านก็ย่อมจะกลัวว่า จะเอาผลประโยชน์ของเกษตรกรรากหญ้า หรือกลุ่มที่ไม่มีปากมีเสียงไปแลก เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกร้องให้มีการเปิดเผยและมาจัดเวทีก่อนเข้าสู่กระบวนการของการเจรจา


 


"ถึงแม้ตอนนี้ รัฐบาลจะย้ายสถานที่การประชุมไปที่ จ.ลำพูน แต่อยากจะบอกว่า รัฐบาลอย่าเพิ่งรีบลงนามตกลงอะไร แต่ต้องใช้บทเรียนจากการเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องการค้าเสรีตรงนี้ เพราะว่ากระแสเอฟทีในขณะนี้ ชาวบ้านและสังคมให้ความสนใจกันมาก และมีประเด็นที่คนเข้าใจมากขึ้น ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจในเรื่องยากๆ และซับซ้อนให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจตรงนี้ได้เลย"


 


นางสุนี กล่าวต่อว่า อย่าไปมองว่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้องนั้นไปก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาล แต่มันเป็นการเติมเต็ม ให้เห็นข้อมูลที่มีความสลับซับซ้อนของการเปิดการค้าเสรีว่ามีผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไร และเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมา คนไทยเรายังอ่อนด้อยในเรื่องของพลังของการต่อรอง


 


ทั้งนี้ นางสุนี ยังได้กล่าวถึง กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าตำรวจใช้ความรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายสิบคนนั้น ว่า จริงๆ แล้ว ทาง กสม. เคยเสนอมาตลอด ตั้งแต่กรณีการใช้ความรุนแรง เรื่องการคัดค้านท่อก๊าซ ไทย-มาเลย์ หรือกรณีการจัดการชุมนุมโดยสงบมาหลายครั้ง ว่ารัฐจะต้องมีกระบวนการการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่มาคุมสถานการณ์เป็นการเฉพาะ ที่เข้าใจเรื่องราวและใช้ท่าทีนุ่มนวลที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ดูเหมือนว่า รัฐยังไม่มีกระบวนการปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ก็จะไปเกณฑ์กำลังทหาร ตำรวจแบบง่ายๆ ธรรมดา โดยไม่มีการฝึกเตรียมสำหรับการรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุม


 


"การชุมนุมในครั้งนี้ จึงถือว่าชาวบ้านมีการชุมนุมกันอย่างสงบ สำหรับบรรยากาศที่มีคนเป็นหมื่นมาชุมนุมในสถานที่แออัดอย่างนี้ รัฐควรจะมองในด้านบวกให้มากๆ และก็นำไปเป็นบทเรียน นำไปปรับกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่มาจัดการดูแลการชุมนุมในครั้งต่อๆ ไปในอนาคต เพราะเหตุการณ์แบบนี้มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอด อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของการชุมนุมกันอยู่แล้ว" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net