Skip to main content
sharethis

รอมฎอน ปันจอร์


หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน


 


 


การตายของยะผา กาเซ็ง โต๊ะอีหม่ามมัสยิดบ้างกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา อาจทำให้การส่งสัญญาณชี้ทิศทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลสมัคร 1 ที่เน้น "การเมืองนำนำการทหาร" ดูไร้ค่าไปในท้ายที่สุด หากไม่มีการเปิดเผยความจริงและจัดการกับกรณี "ซ้อมทรมาน" ที่มีร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลัง และอาจเป็นข้อพิสูจน์ว่ารัฐบาลชุดนี้เอาจริงเอาจังกับปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงการขายผ้าเอาหน้ารอดและผลักภาระและความรับผิดชอบให้กองทัพและพรรคฝ่ายค้านเพียงเท่านั้น


 


เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม รูปแบบการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ในระยะหลังดูเหมือนจะเน้นการสร้างความน่าสะพรึงกลัวเป็นหลัก ทั้งการสังหารอย่างเหี้ยมโหดและการลอบวางระเบิดที่หวังผลสร้างความเสียหายรุนแรง ดังที่เกิดขึ้น ณ โรงแรมซีเอสปัตตานีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งอาจวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยงได้ว่าเป็นผลมาจากการเปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้นอย่างหนักก่อนหน้านี้ ปฏิกิริยาตอบโต้จึงหนักหน่วงไม่แพ้กัน แต่ถึงกระนั้นผลข้างเคียงอีกประการหนึ่งของยุทธการดังกล่าวคือการร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็มากขึ้นด้วย


 


รัฐบาลของสมัคร 1 ซึ่งถือเป็นรัฐบาลชุดที่สามหลังจากที่คลื่นความรุนแรงชายแดนใต้ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นปี 2547 เมื่อสถานการณ์ย่างเข้าสู่ปีที่ห้า ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ไต่เข้าสู่ยอดสามพันคน ส่วนยอดของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมก็สะสมเพิ่มขึ้นทุกขณะ โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจึงไม่ใช่เพียงแค่มุ่งยุติเหตุร้ายรายวัน ลดความสูญเสีย และสร้างความเชื่อมั่นเพียงเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็จำต้องผดุงอำนาจรัฐด้วยการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนด้วยเช่นกัน


 


ในห้วงเวลานี้นอกจากเหตุรุนแรงจะดำเนินอยู่ไม่จางหายและมีรูปแบบที่เน้นผลสัมฤทธิ์ในด้านความเสียหายมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่าเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ก็มีรายงานไม่น้อยเช่นกัน แม้ว่าเสียงจะแผ่วเบากว่าเหตุรุนแรงรายวันและข้อเสนอ "เขตปกครองพิเศษ" หรือ "โอเปอเรชั่นรูม" อันลือลั่นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั่นก็ตาม


 


ข้อมูลของศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุว่า นับตั้งแต่เปิดดำเนินการศูนย์มาตั้งแต่ปี 2548 ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในกรณีการซ้อมทรมาน 59 คดี จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมดเกือบสามร้อยเรื่อง เฉพาะเกือบสองเดือนแรกของปีนี้ ศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนสูงถึง 102 เรื่อง หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนกรณีการซ้อมทรมาน


 


ในจำนวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานนั้นเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.2550 เป็นต้นมา ช่วง 8 เดือนแรกมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ กรณีนายสาการียา ปะโอะมานิ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าถูกยิงขณะคนร้ายเข้าชิงตัวระหว่างการควบคุมตัวของทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 41 เพื่อส่งตัวมายัง สภ.อ.บันนังสตา จ.ยะลา และกรณีนายอัสอารี สะมะแอ ชาว อ.ยะหา ที่เจ้าหน้าที่ระบุเพียงว่าเขาเสียชีวิตเพราะหัวฟาดพื้นขณะขัดขืนการจับกุม


 


อย่างไรก็ตาม เรื่องร้องเรียนการซ้อมทรมานเกิดถี่ขึ้นในช่วงรอยต่อปลายปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ข้อมูลของศูนย์ทนายความสรุปว่าสถานที่ซึ่งมีการทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวบ่อยครั้ง ได้แก่ ที่ตั้งหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ในตัวเมืองยะลา กรมทหารพรานที่ 41 ค่ายวังพญา อ.รามัน จ.ยะลา และภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยชาวบ้านจาก อ.บันนังสตา มีสถิติการร้องเรียนในประเด็นนี้มากที่สุด


 


นอกจากนี้ ยังมีกรณีนักศึกษา จ.ยะลา 7 คน และชาวบ้าน 2 คน ที่ถูกควบคุมตัวโดยทหารชุดเฉพาะกิจที่ 11 เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าพวกเขาบางคนถูกมัดมือไขว่หลังและถูกต่อยที่หน้าและบริเวณท้อง บางคนถูกนำตัวไปตากแดด ใช้ของแข็งทุบตามลำตัว อย่างไรก็ตาม ศาลได้จำหน่ายคดีไต่สวนกรณีการซ้อมทรมาน หลังจากพวกเขา 5 คน ก็ถูกปล่อยตัวในดึกคืนก่อนหน้าที่จะมีการนัดไต่สวน


 


ส่วนกรณีที่ได้รับการเปิดเผยอย่างกว้างขวาง เนื่องจากผู้ประสบเหตุลุกขึ้นเรียกร้องอย่างเปิดเผย ในกรณีของอามีนุดดีน กะจิ โต๊ะครูโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีการร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สังกัดชุดเฉพาะกิจ ตชด.ที่ 43 คุมตัวและซ้อมทรมานจนแก้วหูแตกเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา


 


สมาคมผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จ.สงขลา ได้จัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมเพื่อความสมานฉันท์และสันติสุขเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีนี้ ล่าสุด ทาง สภ.อ.นาทวี เจ้าของพื้นที่ส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในขณะที่การเอาผิดด้านวินัยยังไม่มีความคืบหน้า


 


และกรณีล่าสุด ความสงสัยของญาติพี่น้องต่อการเสียชีวิตของนายยะผา กอเซ็ง ที่ อ.รือเสาะ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร ฉ.ก 39 ที่พบในภายหลังว่ามีร่องรอยของบาดแผล ทำให้ชาวบ้านรวมตัวไปขอความชัดเจนที่หน่วยที่ตั้งชุดเฉพาะกิจนับร้อยคน


 


ข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการตายจนถึงบัดนี้ยังมีคำอธิบายที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากฝ่ายชาวบ้านและนักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าการตายเกิดจากการซ้อมทรมาน ส่วนทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน กอ.รมน.ภาคที่ 4 ระบุว่า น่าจะเป็นเพราะโรคประจำตัว ถึงกระนั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ตรวจสอบได้ไม่ยากนักหากมีหลักฐานพยาน แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือการยอมรับความจริงนั้น อย่างไรก็ตาม ญาติของผู้เสียชีวิตกำลังจะแจ้งความดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด


 


อย่างไรก็ตาม ระหว่างการลงพื้นที่ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวหลังการประชุมผู้บัญชาการ ฉก.นราธิวาส และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจต่าง ใน จ.นราธิวาสว่า ได้กำชับให้มีการสอบสวนตามความเป็นจริง หากเจ้าหน้าที่ผิดจริงผู้ที่รับผิดชอบอย่างต่ำที่สุดต้องออกนอกพื้นที่ อีกทั้งจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่สามารถลดโทษให้ได้ เนื่องจากถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่นอกขอบเขตที่กฏหมายกำหนดไว้


 


สองกรณีแรกอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีเครือข่ายและมีฐานะในสังคมเพียงพอที่จะเคลื่อนไหวเรียกรองในวงกว้างได้ ในขณะที่กรณีที่สาม ผู้ต้องสงสัยที่เป็นชาวบ้านธรรมดาก็เป็นเรื่องลำบากที่จะทำให้เรื่องราวของตนเองได้รับความสนใจและนำไปสู่การให้ความเป็นธรรม นอกจากจะต้องออกมาเคลื่อนไหวเองด้วย ผู้ต้องสงสัยจำนวนนับพันคนถูกควบคุมตัวภายใต้ยุทธการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกที่ทหารมีอำนาจสูงสุดคลุมพื้นที่


 


นอกจากนี้ หากจะย้อนความไปในอดีตไม่นานนัก การซ้อมทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้ก็เป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่สถานการณ์ในรอบความรุนแรงครั้งนี้ นับตั้งแต่ทนายสมชาย นีละไพจิตร เปิดเผยกรณี 5 ผู้ต้องหาคดีปล้นปืนถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพก่อนที่ตัวเขาจะหายตัวไป หรือในกรณีการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ของผู้ชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ ความตายที่ไม่สมเหตุสมผลทั้ง 78 รายในครั้งนั้นขยายความเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐไปไกล ยังผลให้เกิดก่อผู้ต่อต้านรัฐไทยจำนวนไม่น้อย และไม่แน่ว่ากรณีการ "ซ้อมทรมาน" ที่ไม่สามารถระบุจำนวนชัดได้ แต่ด้วยเรื่องราวที่แพร่กระจายไปทั่วก็อาจบ่มเพาะและขยายแนวร่วมผู้ต่อต้านรัฐไทยมากขึ้นเช่นกัน


 


"เราเชื่อว่าที่ผ่านมามีการซ้อมทรมานมาโดยตลอด แต่ระยะหลังมานี้ ชาวบ้านกล้าที่พูด กล้าร้องเรียนมากยิ่งขึ้น" อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชายชี้ให้เห็นปัจจัยที่กรณีซ้อมทรมานได้รับการเปิดเผยมากยิ่งขึ้นประการหนึ่ง วันนี้เธอมีบทบาทในการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขันในนามคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และเชื่อว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีสิทธิที่จะซ้อมทรมานพวกเขาเพื่อการณ์ใดทั้งสิ้น เพราะนอกจากผิดกฎหมาย ขัดกับรัฐธรรมนูญแล้ว ยังผิดหลักการสิทธิมนุษยชนที่บรรจุอยู่ในกติการะหว่างประเทศอีกด้วย


 


อังคณา ชี้ให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้หากมีการซ้อมทรมานทั้งเพื่อให้มีการรับสารภาพหรือเพื่อต้องการหาข้อมูล แต่หากว่าทำกันหนักไป ก็เป็นสาเหตุของการหายตัวไปของคนๆ นั้น เธอเชื่อว่าจำนวนคนหายในระหว่างสถานการณ์ไฟใต้มีจำนวนมาก แต่ที่สามารถตรวจสอบได้มีประมาณ 30 ราย กระทั้งมาในระยะหลังจะพบว่ามีการหายตัวไปน้อยลง แต่การร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมานกลับมีมากขึ้น


 


"จะเห็นได้ว่าช่วงแรกๆ ตั้งแต่ปี 2547 ชาวบ้านรู้สึกเกลียดตำรวจมาก แต่หลังการปฏิวัติเป็นต้นมา ทหารใช้อำนาจเยอะมาก ในขณะที่ตำรวจก็พยายามปรับวิธีการ ระยะหลังมีเรื่องร้องเรียนจากตำรวจน้อยมาก" เธอระบุพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ที่การใช้กฎอัยการศึกอีกครั้งหลังการรัฐประหารควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นานขึ้น นอกจากนี้ เธอยังตั้งคำถามด้วยว่าการคุมตัวเพื่อสอบสวนของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามหลักวิชาและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?


 


อนันตชัย ไทยประทาน อนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อการต่อต้านการทรมาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตั้งข้อสังเกตว่า จากการตรวจสอบ พบว่าการซ้อมทรมานในระยะหลังมีเทคนิควิธีการทีพัฒนาขึ้น เริ่มตั้งแต่ระยะเวลาในการควบคุมตัว ซึ่งหลังจากมีการใช้กฎอัยการศึกอีกครั้งหลังรัฐประหาร เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวได้ 7 วัน โดยที่อาจไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม ส่วนใหญ่ช่วงแรก จะถูกควบคุมตัวในที่ตั้งชุดเฉพาะกิจ (ฉก.) ประจำพื้นที่ต่างๆ หลังจากนั้น ก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่รู้จักกันในนาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมตัวได้ 30 วัน โดยมีระเบียบห้ามเยี่ยมใน 3 วันแรก


 


"รวมเวลาแล้วก็ 10 วัน ที่ญาติหรือทนายจะไม่ได้เยี่ยมเลย ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่พบปัญหาการซ้อมทรมานมากที่สุด"


 


นอกจากช่วงเวลาแล้ว รูปแบบในการซ้อมทรมานก็เป็นสิ่งที่น่าตระหนก อนันตชัย ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีการซ้อมกันตรงๆ มีร่องรอยบาดแผลชัดเจน แต่ระยะหลังเปลี่ยนวิธีการทำช้ำใน แต่มองภายนอกไม่เห็น เช่น การใช้ไม้หน้าสามหรือเหล็กพันผ้าแล้วทุบตี ทำให้เกิดรอยช้ำแต่ไม่มีแผลแตก ซึ่งหากใช้เวลา 10 วัน รอยดังกล่าวก็จะหาย ที่น่าตกใจคือแทบจะทุกหน่วย ฉก.ที่มีการร้องเรียนใช้วิธีการเดียวกันหมด จนน่าสังเกตว่ามีการอบรมด้านเทคนิคกันหรือไม่?


 


เหตุที่กรณีการซ้อมทรมานมีการร้องเรียนกันบ่อยครั้งในระยะนี้ อนันตชัย เห็นว่า อาจเป็นเพราะทางการเร่งทำลายเครือข่ายของขบวนการที่ก่อการอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้วิธีการปิดล้อมจับกุม และใช้การซัดทอดของผู้ถูกจับกุมในการเชื่อมโยงไปยังเครือข่าย แต่ด้วยวิธีการซ้อมทรมาน เขามีประสบการณ์จากการสัมภาษณ์ว่า บางครั้งผู้ที่ถูกซ้อมก็บอกข้อมูลไปทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นความจริง หากแต่เจ็บจนทนไม่ไหวเท่านั้น


 


ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ที่ อนันตชัย เข้าไปมีส่วนร่วมกำลังอยู่ในระหว่างการทำรายงานสถานการณ์ซ้อมทรมานในประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ รายงานฉบับดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของรายงานเงา (Shadow Report) ที่นำเสนอต่อคณะทำงานของสหประชาชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไปเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว


 


ในขณะที่ อดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายจากศูนย์ทนายความมุสลิม เห็นสอดคล้องกันว่า เหตุที่การซ้อมทรมานมีการร้องเรียนกันมากขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณของเจ้าหน้าทีระดับสูงในกองทัพผ่านสื่อมวลชนว่าต้องการเผด็จศึกที่ชายแดนใต้โดยเร็วก่อนหน้าที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง


 


เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในขณะที่ยุทธการกวาดจับในหลายพื้นที่ก็ส่งผลให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้จำนวนมาก แม้เจ้าหน้าที่จะเชื่อว่ายุติเหตุร้ายได้ แต่ในทางกลับกันก็เพิ่มพูนความรู้สึกโกรธแค้นของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ไปด้วยเช่นกัน


 


การร้องเรียนมายังทนายความและนักสิทธิมนุษยชนในจำนวนที่มากขึ้นบ่งบอกได้ว่าสถานการณ์กำลังอยู่ในภาวะเลวร้าย แม้ว่าจะยังเป็นการดีสำหรับชาวบ้านที่เริ่มรู้จักช่องทางในการร้องเรียน นอกเหนือจากช่องทางของภาครัฐซึ่งเขารู้สึกลำบากใจ แต่ก็ยังเป็นสัญญาณที่ดีในเมื่อชาวบ้านยังมุ่งหวังการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการยุติธรรม ยังไม่ผลักตัวเองเข้าสู่การต่อสู้ด้วยความรุนแรง


 


"ทุกวันนี้ราวๆ 8 โมง 9 โมงก็มารอที่ศูนย์ทนายแล้ว มากันแต่เช้า เพราะตอนเช้ามืดญาติเขาถูกจับ" อดิลันเล่าบรรยากาศ


 


หากชาวบ้านหวังพึ่งพิงกับองค์กรเอกชนมากกว่าที่จะร้องเรียนต่อรัฐ ก็เท่ากับเป็นข้อสะท้อนชัดเจนถึงช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนของตัวเอง ยิ่งการพึ่งพิงในประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ด้วยแล้ว ก็ประเมินได้ไม่ยากว่าฝ่ายรัฐหรือฝ่ายตรงกันข้ามได้ประโยชน์มากกว่ากัน ในเมื่อความโกรธแค้นมีผลต่อการผลักให้ชาวบ้านยิ่งเข้าร่วมต่อต้านรัฐยิ่งขึ้น สถานการณ์ในชายแดนใต้คงไม่ยุติได้ง่ายนัก


 


ภารกิจของรัฐบาลก็ควรต้องใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับปฏิบัติที่อาจส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายดับไฟใต้ที่หมายมั่นไว้ให้เป็นจริงๆ แน่นอนว่าความจริงใจของรัฐบาลสามารถพิสูจน์ได้ไม่ยากนัก ไม่อย่างนั้น "ความชอบธรรม" ที่อ้างว่ามาจากคะแนนเสียงชองประชาชน อาจบ่มเพาะเป็น "ความไม่ชอบธรรม" ของรัฐบาล ในเมื่อมีประชาชนล้มตายและถูกละเมิดสิทธิอยู่ทุกวี่วัน นโยบายราดน้ำมันเข้ากองไฟของรัฐบาลทักษิณในอดีตน่าจะเป็นบทเรียนได้ดี


 


แต่กระนั้น ในฟากของเจ้าหน้าที่รัฐก็มีทั้งที่เห็นต่างและเห็นคล้องในประเด็นนี้ ติดตามได้ในรายงานตอนที่ 2 "แนะรัฐทำ "สงครามความคิด" ปรับกลไกรัฐ - หยุด "ซ้อมทรมาน" "


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net