Skip to main content
sharethis

9 พ.ย. 50 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอให้ยกเลิกคำสั่งตามหนังสือสั่งการให้ควบคุมและห้ามแรงงานต่างด้าวเผยแพร่วัฒนธรรม โดย อ้างถึง  หนังสือสั่งการเรื่อง การควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าว ลงนามโดย นายวีรยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เลขที่ สค 0017.2/3634 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2550  ที่ให้ควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งเข้ามาทำงานในเขตจังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะแรงงานสัญชาติพม่าซึ่งพักอาศัยอยู่เป็นชุมชน ที่ระบุให้ให้สถานประกอบการและโรงงานทุกแห่ง ควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัด และไม่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของคนต่างด้าว


 


ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรต่าง ๆ และบุคคลตามรายนามท้ายจดหมาย มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการออกคำสั่งจังหวัด เนื่องจากคำสั่งมีเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงอคติทางชาติพันธุ์ ยุยงให้เกิดความหวาดระแวง การแบ่งแยก และความเกลียดชังทางเชื้อชาติโดยเฉพาะต่อแรงงานสัญชาติพม่า ทำให้สังคมไทยอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว อันเป็นอิทธิพลชักจูงให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ การละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นอุปสรรคของความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างแรงงานข้ามชาติกับคนไทย และอาจก่อกวนความสงบสุขและสวัสดิภาพในชุมชนได้


 


อีกทั้งยังมุ่งสร้างภาพลักษณ์ให้แรงงานข้ามชาติว่าเป็นบุคคลอันตราย และการยอมรับสิทธิเสรีภาพแก่แรงงานข้ามชาติจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ จึงต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเป็นพิเศษในการควบคุมแรงงานข้ามชาติ เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การเลือกปฏิบัติ ทำให้แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานพม่าเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ การขูดรีด และจับกุม


 


ประการต่อมา การปฏิบัติตามความเชื่อ ประเพณีและศาสนาเป็นสิทธิสมบูรณ์ที่ไม่อาจถูกจำกัดหรือเพิกถอนได้ การที่รัฐห้ามไม่ให้มีการปฏิบัติเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของแรงงานข้ามชาติ จึงเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติที่ยึดถือปฏิบัติและพัฒนาวัฒนธรรมของตนเองอย่างเสรีและมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมของตนเองภายในชุมชนร่วมกับสมาชิกอื่น อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีหลายฉบับ อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม   และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ เป็นต้น ดังนั้น หนังสือสั่งการดังกล่าวจึงขัดต่อกฏหมายระหว่างประเทศและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง


 


ประการสุดท้าย ประเทศไทยในฐานะเป็นรัฐเสรีประชาธิไตยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ย่อมแสดงออกโดยการที่บุคคลนั้นสามารถกำหนดวิถีชีวิตและแสดงเจตจำนงต่าง ๆ ได้อย่างเสรี โดยที่รัฐจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง และองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็ไม่สามารถกระทำการหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้   ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่รัฐไทยในฐานะนิติรัฐต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนั้น หนังสือสั่งการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าใช้หรืออ้างอิงบทกฎหมายฉบับใดเป็นฐานอำนาจในการออกหนังสือสั่งการ อีกทั้งยังเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีเนื้อหาขัดกับบทบัญญัติว่าด้วยความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลผูกพันองค์กรรัฐในการตีความ และการปรับใช้กฎหมายทั้งปวง


 


ดังนั้น จึงมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งตามหนังสือสั่งการฉบับดังกล่าว และต้องทบทวนนโยบาย หรือระเบียบแนวปฏิบัติใด ๆ ที่สนันสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้แนวนโยบายของรัฐต่อแรงงานข้ามชาติ จะต้องเคารพ คุ้มครอง รับรอง และส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพของแรงงานข้ามชาติโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปอย่างสมดุลกับหลักความมั่นคง


 


นอกจากนี้ ต้องเสริมสร้างนโยบายในบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในมิติที่รอบด้าน สอดคล้องกับความเป็นจริง และปราศจากความลักลั่น โดยต้องยอมรับความเป็นจริงว่ารัฐไทยไม่อาจปฏิเสธการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามายังประเทศไทยเพื่อค้าแรงงานได้ และความเป็นจริงที่แรงงานข้ามชาติเองเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย


 


จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีรายนามองค์กรและบุคคลแนบท้ายดังต่อไปนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) (Campaign Committee for Human Rights) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Burma Issues) ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา (Karen Studies and Development Center) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (TACDB) กลุ่มประสานงานสันติภาพเพื่อพม่า (Peace for Burma) เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ศูนย์ข่าวสาละวินและสาละวินโพสต์ (Salween News) องค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) มูลนิธิเอมพาวเวอร์ (Empower) อโณทัย โสมา วันดี สันติวุฒิเมธี ทันตา  เลาวิลาวัณยกุล กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์ อดิศร เกิดมงคล และญาดา หัตถธรรมนูญ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net