Skip to main content
sharethis

ตลอดช่วงเวลา 4 เดือน นับจากการใช้แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ (18 มิถุนายน 2550) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยกองกำลังผสมระหว่างพลเรือน ตำรวจและทหาร (พตท.) เกิดเหตุการณ์  ปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบไปมากกว่า 2,000 คน* (*ข้อมูลจากศูนย์ข่าวอิศรา) ควบคุมตัวกระจายไปตามค่ายทหารเพื่อทำการสอบสวนและมากกว่า 600 คน ถูกนำตัวเข้าโครงการฝึกอาชีพ 4 เดือน นั้น ปรากฏว่ามีการร้องเรียนและยื่นคำร้องต่อศาลจากญาติผู้ถูกควบคุมตัวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ศาลพิจารณาถึงความชอบธรรม


 


สถานการณ์ล่าสุด วันที่ 5 ตุลาคม ญาติผู้ถูกควบคุมตัว จำนวน 80 คน และทนายความของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขออำนาจศาลไต่สวนว่า การควบคุมตัวเพื่อเข้าโครงการฝึกอาชีพ 4 เดือนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวโดยทันที


ทั้งนี้ ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพรได้รับคำร้องขอไต่สวนแล้วและมีคำสั่งชี้ว่าคดีมีมูลและออกหมายเรียกให้ผู้บังคับการมณฑลทหารบกจังหวัด 2 แห่ง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพรและผู้อำนวยการค่ายทั้ง 2 ค่าย พร้อมกับผู้ถูกควบคุมตัวที่มีญาติร่วมยื่นคำร้องเดินทางมาที่ศาลในวันที่ 11 ตุลาคม 2550 ส่วนศาลจังหวัดระนองจะนัดไต่สวนในวันที่ 18 ตุลาคม 2550


โครงการฝึกอาชีพ 4 เดือน เป็นโครงการฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้ต้องสงสัยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ณ ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยและสร้างโอกาสใหม่ให้ชีวิตพร้อมทั้งเป็นการแยกสลาย "แนวร่วม" ของกลุ่มขบวนการ การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวถูกอ้างจากฝ่ายทหารว่าเป็นการยินยอมโดยความสมัครใจของผู้ถูกควบคุมตัว จนมีการยื่นคำร้องดังกล่าวเพื่อให้เกิดการพิจารณาโดยศาลสถิตย์ยุติธรรม


 


ย้อนรอยปากคำให้การจากญาติผู้ถูกจับกุม จากโครงการรับฟังความคิดเห็น การฝึกอาชีพ 4 เดือน ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ชุมชนและหลักนิติธรรม (อาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 50) ณ. วิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่จัดโดย คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ วันนั้น มีญาติของผู้ถูกควบคุมตัวมาร่วมเวทีรับฟังความคิดมากถึง 90 คน* (*ข้อมูลจากคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ)


 


กลุ่มบ้านไอบาตู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส


การปิดล้อมจับกุมเกิดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน เวลา 05.00 น. กองกำลังผสมได้ทำการกระจายกำลังเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน รื้อค้นบ้านพักของชาวบ้านและมีการนำอุปกรณ์การตรวจสารตั้งต้นการก่อระเบิดมาตรวจสอบกับร่างกายชาวบ้าน กระทั่งมีการจับกุมผู้หญิง 1 คนและผู้เฒ่าอายุ 60 ปี 1 คน (สติไม่ดี) ร่วมกับผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 32  คน เจ้าหน้าที่นำตัวไปที่โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี ก่อนจะมีการปล่อยตัวผู้ใหญ่บ้าน


จากคำให้การของผู้ใหญ่บ้านกล่าวถึงชาวบ้านที่เหลือว่าถูกควบคุมตัวไปที่อำเภอสุไหงปาดี ก่อนจะนำตัวส่งค่ายอิงคยุทธบริหารและผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะถูกส่งตัวไปอบรมอาชีพ พร้อมกับถูกข่มขู่ว่า หากไม่ไปอบรมอาชีพทั้งหมดจะต้องดิ้นรนต่อสู้คดีในภายหลัง ทั้งที่ยังไม่ได้แจ้งข้อหา


ชาวบ้านผู้ถูกควบคุมตัวจากอำเภอสุไหงปาดีแยกไปอยู่ที่ค่ายจังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 คน ค่ายจังหวัดระนอง 7  คนและค่ายจังหวัดชุมพร 25 คน ทั้งนี้ ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวคนหนึ่งได้อ้างว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อยหนึ่งคนถูกขังห้องมืด 18 วัน ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร  


สำหรับเครื่องมือตรวจจับสารตั้งต้นก่อระเบิดนั้น ชาวบ้านจากกลุ่มบ้านไอบาตูกล่าวว่า ชาวบ้านหลายคนที่ถูกจับกุมเพียงแค่ไปสวนยาง สัมผัสกับเหล็กขึ้นสนิมหรือใส่กางเกงยีนส์ที่มีกระดุมเหล็กเครื่องก็ส่งสัญญาณซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจในวิธีการพิสูจน์เพื่อจับกุม


นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้านไอบาตูซึ่งได้รับการปล่อยตัวออกมาได้ให้ข้อเท็จจริงถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการจับกุมไว้ว่า ในวันที่ 22 มิถุนายน 2550 เวลาประมาณ 04.00 น. ขณะที่ตนกำลังนอนหลับอยู่ภายในบ้าน ตนได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีเจ้าหน้าที่มาล้อมหมู่บ้าน จนเวลาเกือบ 06.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารจากฉก.31(สุไหงปาดี) เชิญตัวไปเป็นพยานในการเข้าค้นบ้านชาวบ้านหมู่4 เมื่อตนไปถึงกลับพบว่าบ้านหลังดังกล่าวตกอยู่ในสภาพที่พังแล้วและเจ้าหน้าที่บอกว่าจะทำการซ่อมประตูบ้านให้ ส่วนเจ้าของบ้านตกใจจนเป็นลมจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล


จนเวลาประมาณ 09.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ แต่งกายชุดหมีคล้ายทีมกู้ระเบิด มาพร้อมทหารชุดคุ้มกันและพกอาวุธปืนเข้ามาที่บ้านตนแล้วเรียกสมาชิกทั้งหมดออกมายืนเรียงแถวกันหน้าบ้านทั้งหมด 6 คน คือ ตนเอง(ผู้ใหญ่บ้าน) บิดา มารดา พี่เขย พี่สาวและลูกชายซึ่งถูกควบคุมตัว(อายุต่ำกว่า18ปี) และชายอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่บ้านใกล้เคียงรวมกัน 7 คน


เจ้าหน้าที่ให้ยืนเรียงแถวหน้ากระดานห่างกันคนละ 1 เมตร แล้วเอาเครื่องสแกนสัมผัสผ่านไปตามตัวของทั้ง 7 คน ช่วงดังกล่าวเครื่องสแกนส่งสัญญาณชี้มาที่ตน ที่ลูกชายและชายอีกคนอยู่บ้านใกล้เคียง จึงได้ทำการควบคุมตัวทั้ง 3 คน เอาไว้ก่อนถูกนำตัวไปที่โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี ช่วงที่รออยู่ท้ายกระบะของเจ้าหน้าที่ทหารหน้าร้านขายของชำ เด็กชายอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกคนหนึ่ง เดินมาซื้อของที่ร้านขายของชำ เจ้าหน้าที่จึงใช้เครื่องสแกนตรวจวัดจนร้องขึ้น เจ้าหน้าที่จึงนำตัวเด็กคนนั้นไปด้วย ต่อมามีชายอีกคนหนึ่งเป็นไทยพุทธที่เพิ่งเข้ารีตมุสลิมเดินมาซื้อของที่ร้านดังกล่าว เจ้าหน้าที่ก็เอาเครื่องสแกนมาวัดแล้วนำตัวขึ้นรถ


เวลา 10.00 น. ที่โรงเรียนสุไหงปาดีมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจมาทำการบันทึก สอบประวัติ ตรวจดีเอ็นเอและถ่ายรูป ระหว่างที่รอ เจ้าหน้าที่ให้รับประทานอาหารเช้าและเที่ยง จนสอบสวนเสร็จเวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่นำผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 32 คน ขึ้นรถบัสทหาร 1 คัน ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ส่วนตนได้รับการปล่อยตัว เพราะได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านและให้การแก่เจ้าหน้าที่ระหว่างตรวจหาสารตั้งตนวัตถุระเบิด ว่าตนได้พกปืนซึ่งอาจจะมีสารโลหะติดตามร่างกาย


 


กลุ่มตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา


เหตุเกิดในวันที่ 20 สิงหาคม 2550 เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ชายในหมู่บ้านไป 11 คนก่อนจะปล่อยกลับมาเพียงคนเดียวและไม่มีการแจ้งว่าจับด้วยสาเหตุอะไร ชาวบ้านเล่าว่า เจ้าหน้าที่เข้าค้นบ้านหลังหนึ่งเจอเสื้อตัวหนึ่งในห้องพักบนเสื้อมีลวดลายเป็นภาษามาเลเซีย ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเขียนหรือแปลว่าอะไรแต่เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมไปก่อน อีกทั้งยังไม่มีการแจ้งให้ทราบว่าผู้ที่ถูกจับแล้วจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไร


 


กลุ่มบ้านตือละ ต.บาเจาะ อ. บันนังสตา จ.นราธิวาส


เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ตั้งแต่เวลา 04.00 น. กลุ่มกองกำลังผสม พตท. ได้เข้าปิดล้อมหมู่บ้านและควบคุมตัวชาย 3 คน อายุ 24 28 และ19ปี ทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน ซึ่งทางด้านบิดาให้ข้อเท็จจริงว่า เวลาประมาณ 08.00 น. เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจและพลเรือนจำนวนกว่า 100 นาย ปิดล้อมหมู่บ้านก่อนเข้าล้อมบ้านแต่ละหลัง โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะนำคนที่อยู่ในบ้านไปสอบสวนแต่ไม่ได้ระบุว่าจะนำใครไปสอบสวนพร้อมทั้งห้ามทุกคนออกจากบ้าน


ระหว่างนั้น เวลาประมาณ 09.00 น. เจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คน (แต่งกายชุดทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบและมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิง) บุกเข้ามาและขอค้นบ้านตน ซึ่งตนได้สังเกตว่าการขอเข้าค้นของเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายค้นหรือขอดูทะเบียนบ้าน เจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการค้นประมาณครึ่งชั่วโมง พบเพียงเสื้อทหารแขวนอยู่ในตู้เสื้อผ้าพร้อมเป้ซึ่งเป็นของลูกชายคนหนึ่งที่ผ่านการเกณฑ์ทหารมาเมื่อสองปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า การมีชุดทหารกับเป้ในบ้านถือว่าผิดกฎหมาย จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้นำตัวบุตรชายของตนไปทั้งสามราย บอกว่าจะนำไปสอบสวน ครบสามวันแล้วจะปล่อยตัว


เมื่อครบสามวัน ตนพร้อมภรรยาไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อรับตัวบุตรชายแต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมปล่อยตัว หนึ่งอาทิตย์ผ่านไปได้ไปที่ค่ายฯ อีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้ปล่อยตัวไปแล้วโดยบอกว่านำตัวไปส่งที่บ้านแล้วแต่เมื่อกลับไปบ้านก็ไม่เจอ จึงโทรไปที่ค่ายฯ ทางเจ้าหน้าที่ค่ายฯ บอกว่าได้นำตัวทั้งสามคนไปอบรมที่ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนองและบอกว่าอีกหนึ่งเดือนจะปล่อยตัวกลับ


ครบกำหนดหนึ่งเดือน เมื่อพ่อแม่เดินทางไปรับที่ค่ายฯ ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ทั้งสามคนถูกส่งตัวไปอบรมอาชีพที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เป็นระยะเวลา 4 เดือน


วันที่ 23 สิงหาคม 2550 บุตรชายคนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวกลับ พบว่า มีบาดแผลถูกไฟช็อตตามร่างกายจนต้องเข้ารับการรักษาตัว


 


กลุ่มบ้านกำซำ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา


ตัวแทนที่มาในเวทีรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่เหมือนสัตว์ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์ใดที่ร้ายแรงหรือรุนแรงดังที่เกิดขึ้นนี้ ประเทศเราพัฒนาแล้วมีแต่ความเจริญแต่หัวใจคนไม่ได้ดีขึ้น หมู่บ้านของเรารวมถึงหมู่บ้านอื่นต้องการความสงบ ต้องการทำความดีแต่กลับถูกย่ำยีโดยกฏหมาย โดยอำนาจที่อยู่เหนือกฎหมายและถูกข่มขู่ให้รับว่าเป็นแนวร่วมคิดแบ่งแยกดินแดน


ชาวบ้านจับกุมทั้งหมด 9 คน เป็นผู้สูงอายุ เด็กและคนเสียสติ ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่าย 7 คน ทุกคนเป็นแกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน ตัวแทนที่มาเล่าเหตุการณ์ สรุปว่า พี่น้องทั้งหมดที่มาครั้งนี้ล้วนกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่ชาวบ้านกำซำร่วมแรงร่วมทำงานอนุรักษ์ป่าชายเลน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ร่วมมือกับนักวิชาการจากมอ.(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)เป็นโครงการนำร่อง จนสามารถฟื้นความอุดมสมบูรณ์ ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับชุมชนมานานหลายปี


 


ทางด้านตัวแทน บ้านคอลอบาแล อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เล่าว่า ก่อนที่จะมีการเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนข่มขู่ ชาวบ้านจึงมารวมตัวกันที่มัสยิด จนเวลา 08.00 น. ทางเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้ผู้ชายทุกคนถอดเสื้อแล้วเอาเสื้อผูกมือไขว้หลัง เด็กชายอายุ 15 ปี สองคนถูกควบคุมตัวทั้งที่ยังไม่ได้แจ้งข้อหาและไม่พบวัตถุต้องสงสัยไม่ว่าจะเป็นปืนหรือระเบิด หลังจากควบคุมตัวเจ้าหน้าที่บอกกับชาวบ้านว่าจะนำเด็กสองคนกลับมาส่งเวลา 15.00 น. แต่นับจากวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ปล่อยตัวทั้งสองออกมาจนกระทั่งบัดนี้


 


ชาวบ้านอูแบบ ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา บอกว่า เหตุการณ์การเข้าจับกุมเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน 2550 มีการจับกุมชาวบ้านไปจำนวน 21 คน เป็นหญิงหนึ่งคน ทั้งหมดถูกควบคุมอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร 41 วัน สองวันแรกไม่สามารถที่จะละหมาดได้ ตอนนี้อยู่ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต สุราษฎร์ธานีและค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร 11 คน ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่บอกชาวบ้านว่า เพียงแค่เชิญคนในหมู่บ้านไปสอบถามเฉย ๆ แล้วจะปล่อยกลับมา โต๊ะอิหม่ามท่านหนึ่งซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ เริ่มมีอาการเครียด คุยไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าทำไมต้องไปฝึกอาชีพ


 


กลุ่มอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เหตุเกิดขึ้นกลางดึกของวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 มีการกระจายกำลังเข้าประจำตามแต่ละบ้าน บ้านละ 3 คน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดใด จนเกือบเช้าตรู่จึงเข้าทำการตรวจค้นและจับกุม ระหว่างที่ชาวบ้านบางคนออกไปทำงานและบางคนกำลังกินข้าวยำ ระหว่างที่ทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ได้เตรียมผ้าสีดำเพื่อทำการปิดตาแต่ไม่ได้ทำการปิดตา มีการควบคุมตัวชาวบ้านทั้งหมดประมาณ 50 กว่าคน ในจำนวนนั้นเป็นเยาวชนอายุ 11-15 ปี อยู่หลายคน ระหว่างการจับกุมมีการทำลาย รื้อข้าวของและมีทรัพย์สินสูญหายไปจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวชาวบ้านไปที่บ้านบูเกบากง มีการซ้อม ทรมานและกดน้ำเพื่อให้รับสารภาพ


ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวเยาวชนอายุ 11-13 ปี จำนวน 4 คน และปล่อยตัวชาวบ้าน 15 คน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2550 ที่เหลืออีกประมาณ 20 คน ถูกนำตัวไปที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนภูธร ภาค 9 ในระหว่างการควบคุมตัวไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาบอกแค่ว่านำตัวไปสอบถามแล้วจะปล่อยกลับ ทั้งนี้ มีการยึดมอเตอร์ไซค์ 10 คัน ในวันที่ควบคุมตัวไปพร้อมกันด้วย


 


กลุ่มบ้านยานิง อำเภอเจาะไอร้อง การจับกุมที่บ้านยานิงเกิดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 เจ้าหน้าที่กองกำลังผสมได้เข้ามาปิดล้อมหมู่บ้านในเวลากลางคืนและเคาะประตูแต่ละบ้านเวลา 04.00 น. มีการข่มขู่ว่า หากไม่เปิดประตูจะพังประตูเข้าไปและทำการจับตัวผู้นำครอบครัว บางคนถูกจับระหว่างอาบน้ำเพื่อทำพิธีละหมาดหรือออกไปซื้อของ รวมชาวบ้านที่ถูกจับไปทั้งสิ้นจำนวน 53 คน ก่อนพาตัวไปที่ว่าการอำเภอเจาะไอร้อง ญาติตามไปที่อำเภอแต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม ก่อนจะถูกนำตัวไปที่ค่ายปิเหล็ง ประมาณ 15 วัน และปล่อยตัวบางคนกลับมา ส่วนที่เหลือ 25 คน ถูกนำไปจังหวัดสงขลา ปัจจุบัน ทั้งหมดถูกย้ายไปอยู่ในค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง


 


ส่วนญาติของผู้ถูกควบคุมตัวที่ค่ายปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสให้ข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านหมู่บ้านจะเกาะ อำเภอเจาะไอร้องถูกจับไป 13 คน ปล่อยออกมาแล้ว 3 คน จากบ้านป๊ะตะปาเซ อำเภอเจาะไอร้อง ถูกจับ 24 คน ขณะนี้ ทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่ค่ายปิเหล็งซึ่งเกินกำหนดควบคุมตัว 30 วัน (ในวันที่ 26 สิงหาคม 2550)


ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีการควบคุมตัวที่ค่ายปิเหล็ง ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จังหวัดนราธิวาส  ลักษณะทั่วไปของค่าย  เป็นค่ายทหารที่มีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม มีอาคารหลักสองชั้นเป็นสถานที่ปฏิบัติงาน ห่างออกไปเป็นบ้านพักข้าราชการอยู่ภายในพื้นที่ค่ายฯ จำนวนหลายหลัง ส่วนสภาพที่พักนอนของสถานกักกัน เป็นห้องขนาดใหญ่คล้ายห้องประชุมโล่งๆ ภายในห้องมีรั้วลวดหนามล้อมรอบ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่นอน ผู้ถูกคุมขังต้องปูเสื่อนอนบนพื้น เรื่องสุขลักษณะ เช่น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ มีสภาพเก่าและทรุดโทรม สถานที่ไม่เหมาะสมในการเป็นสถานที่ควบคุมตัว ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2550 ผู้ถูกควบคุมตัวที่อยู่ในค่ายปิเหล็งมีประมาณ 50 คน ในจำนวนนั้น 20 คน ถูกควบคุมตัวครบกำหนดอำนาจการควบคุมตัวตามพรก.ฉุกเฉิน 30 วันแล้วและอีกประมาณกว่า 20 คน ถูกควบคุมตัวมาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 3 อาทิตย์ ซึ่งจำนวนตัวเลขผู้ถูกควบคุมตัวที่ค่ายปิเหล็งไม่ปรากฎในเอกสารที่เผยแพร่ของทางราชการแต่อย่างใด 


 


กรณีการเข้าจับกุมใน อำเภอโคกโพธิ์  จังหวัดปัตตานี ผู้ถูกควบคุมตัวเป็นชายอายุ 34 ปี มีอาชีพรับจ้างกรีดยาง ปัจจุบันอยู่ในค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดชุมพร ภรรยาอายุ 32 ปี ขณะนี้ท้อง 9 เดือน มีบุตร 5 คน ไม่ได้ประกอบอาชีพ ลูกๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ส่วนภรรยากำลังรอคลอดบุตรที่โรงพยาบาลบันนังสตา


อีกคนหนึ่งเป็นชายอายุ 28 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดชุมพร มารดาอายุ 55 ปี ให้ข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปค้นบ้านแล้วพบดิคชันนารีภาษาอาหรับซึ่งเป็นของน้องสาวของผู้ถูกควบคุมตัวและเงินจำนวนหนึ่งแสนบาท เป็นเงินสำหรับค่าเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะ เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อและกล่าวหาว่าจะเอาไปเลี้ยงโจรแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ยึดเงินจำนวนดังกล่าวไป


 


กรณีเข้าจับกุมที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ถูกจับตั้งแต่ วันที่ 6 ก.ค. 2550 เป็นเจ้าของร้านโทรศัพท์ ถูกจับโดยไม่มีหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อหาและไม่มีการระบุว่านำตัวส่งไปที่ไหน ผู้ถูกควบคุมตัวมีบุตรอายุ 13 เดือน ส่วนเรื่องฝึกอบรมอาชีพนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ใช่ทหารมาคุยโน้มน้าว จนผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้ารับการฝึกอบรม


 


กรณีเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมกลางงานแต่งงานที่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เหตุเกิดขึ้นในวันที่ 9 ก.ค. 2550  เจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้ามากลางงานแต่ง เลือกควบคุมตัวผู้ชายไป 20 คน ไปยังหน่วยเฉพาะกิจหน่วยหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับอำเภอเทพาเมื่อไปถึงเจ้าหน้าทำประวัติและปล่อยกลับมา 15 คน ควบคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร 5 คน ก่อนปล่อยออกมาอีก 3 คน ส่วนอีก 2 คน ถูกส่งไปฝึกอาชีพ


 


ชาวบ้านทั้งหมดที่ร่วมเวที เรียกร้องว่าทางเจ้าหน้าที่จะต้องปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขก่อนสิ้นเดือนบวช การสอบสวนต้องทำในระยะเวลาสั้นๆ หากต้องควบคุมตัว 4 เดือน ควรชดเชยเรื่องรายได้ที่เสียไปและไม่ควรจับแบบเหวี่ยงแห หากจะมีการปิดล้อมและค้นบ้านจะต้องมีการประสานงานมาทางผู้ใหญ่บ้านเสียก่อน


ทั้งนี้ ญาติผู้ถูกควบคุมตัวหลายคนกล่าวว่า ไม่รู้จะไปข้อความช่วยเหลือจากใคร ทุกวันนี้อยู่ด้วยความรู้สึกทุกข์ใจหวาดระแวงปะปนกันไป เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในหลายหมู่บ้าน แสดงว่าต้องมีการวางแผนมาอย่างดี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net