Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม


 



 


***บางส่วนจากการบรรยายพิเศษเรื่อง "พัฒนาเมืองชายแดนกรณีแม่สาย: การทำให้คนกลายเป็นทรัพยากร" โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในเวทีรายงานความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่ได้รับทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว.ด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


.....................................................................................................................







 


มันน่าสนใจที่เวลาเราพูดถึงชายแดน เราจะคิดถึงชายแดนในฐานะที่เป็นเส้น หรืออะไรที่กั้นระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงถ้าเอาเลนส์ไปส่อง หรือไปยืนที่ชายแดนจริง ชายแดนมันมี 2 ชายแดนในหนึ่งพื้นที่ เพราะว่าเวลาด่านปิดที่ชายแดน ต้องถามในรายละเอียดว่าด่านไหนปิด เพราะไทยแทบจะไม่เคยปิดด่าน เพียงแต่การปิดด่านทางใดทางหนึ่งเขาห้ามคนข้ามไปข้ามมาโดยเฉพาะคนนอกพื้นที่


ถ้าใช้จินตนาการถึงชายแดน มันคือประตู 2 ด้าน เหมือนบ้านที่อยู่ติดกัน 2 หลัง ต่างคนก็จะมีกำแพงของตนเอง ที่สำคัญเวลาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าโดยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ พม่าไม่เคยสร้างชายแดนในความคิดสมัยใหม่ที่เรียกว่า Borders (พรมแดน) พม่าเขาสร้าง frontier (เขตแดน) เหมือนอังกฤษ ส่วนของไทยมีการพัฒนาไปถึงพรมแดนสมัยใหม่ที่เชื่อว่าทุกคนต้องเป็นพลเมืองของรัฐเดียวกัน แต่ของพม่าไม่ใช่เพราะคนที่อยู่บริเวณ frontier จำนวนมากไม่บัตรประชาชน


ลักษณะพิเศษของการสร้างพรมแดนของไทยคือการสร้างพลเมืองที่ไม่สิทธิสมบูรณ์ (Partial citizenship) เพราะเขตแดนไทยไม่ได้อยู่ที่กายภาพ หรือเส้นพรมแดนกว่า 2,000 กิโลเมตร แต่มันอยู่ที่ กาย (ฺBody) ของคน ซึ่งผ่านระบบการออกบัตรประชาชน บัตรสีชนกลุ่มน้อยทั้ง 16 แบบ บัตรแรงงานต่างด้าว และการตรวจสอบบัตรนอกแนวเขตพรมแดนในแผนที่


"จริงๆ แล้วชายแดนอยู่ในตัวคุณเอง ถ้าคุณเดินไปไหนแล้วไม่มีบัตรเขาก็จับคุณ ส่วนเมืองชายแดนเป็นพื้นที่ยกเว้น เป็นพื้นที่ก้ำกึ่ง เพราะหากไม่ปล่อยให้คนเข้ามาก็ไม่มีแรงงานไม่มีกิจกรรม รัฐไทยจริงๆ แล้วไม่ได้สนใจจะไปทำรั้วลวดหนามที่ชายแดน แต่ไทยคิดจะสร้างชายแดนตามความคิดสมัยใหม่ คือ การสร้างเขื่อนทางเศรษฐกิจ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น"


รัฐไทยฉลาดมากในการควบคุมคนบนร่างกายของคน ซึ่งก็ไม่ต่างจากระบบการสัก การขึ้นทะเบียนคนในอดีต ทั้งหมดเป็นระบบของการกักคนไว้ที่ชายแดน คนถือบัตรสีไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้หากนายอำเภอและผู้ว่าไม่อนุมัติ นี่คือระบบชายแดนที่ซับซ้อนของไทย ซึ่งไม่อยู่ที่ข้อตกลงการพิพาทชายแดน 2 ประเทศ แต่คือการสักและควบคุมตัวตัวคนด้วยบัตร รวมถึงการกำหนดสิทธิต่างๆ


ด้วยเหตุนี้การสร้างบัตรชนกลุ่มน้อยและบัตรคนต่างด้าวเป็นการสร้างพรมแดนและการควบคุมเมืองชายแดน หมายความพรมแดนของไทยในกรณีแม่สายคือด่านตรวจบัตรซึ่งอยู่ห่างจากเส้นแดนจริงๆ นับ 10 กิโลเมตร เมืองชายแดนจึงเป็นพื้นที่แห่งการยกเว้นของพลเมืองครึ่งเสี้ยว ดังนั้นการสร้างพรมแดนและเมืองชายแดนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คนที่ชายแดนไหลไปไหลมาและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ แต่ไม่ให้เข้าไปนอกจากเมืองชายแดน พวกบัตรสีทุกชนิดห้ามนำออกจากพรมแดน ถ้าออกก็เป็นกระบวนการค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อน


สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือการห้ามการเคลื่อนที่ของมนุษย์ตรงชายแดน มันบอกให้เห็นว่า ทุนนิยมมันสามารถเกิดได้โดยการใช้กลไกที่ไม่ทุนนิยมสร้างทุนนิยม เมืองชายแดนจะพยายามบริหารจัดการ โดยห้ามแรงงานเคลื่อนที่ออกนอกพื้นที่ ซึ่งในภาษาซ้ายเก่า เรียกว่าเป็นการไม่ให้เป็นแรงงานในทุนนิยมอย่างสมบูรณ์ เพราะหากเป็นแรงงานในทุนนิยมโดยสมบูรณ์ คุณย่อมต้องสามารถเลือกคนที่จะขูดรีดคุณได้ แต่อันนี้มันเลือกไม่ได้ เพราะบัตรมันกำหนด ยิ่งกรณีแม่สอด หนักถึงขั้นลงว่านายจ้างเป็นใคร เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ และคุณไม่มีสิทธิ


ทั้งหมดนำไปสู่การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ การทำเขื่อนเศรษฐกิจไม่ให้ไหลทะลักเข้ามา นี่คือระบบคิดทั้งหมดที่ไม่ให้อิสระกับแรงงาน เพราะการเลือกนายจ้างได้เป็นการสร้างอำนาจของแรงงานในการต่อรอง ฉะนั้นกลไกสำคัญในการเกิดชายแดนไม่ใช่การทำกำแพง แต่คือการบริหารจัดการแรงงาน การสร้างชายแดนบนตัวคน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net