Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


นักปรัชญาชายขอบ


 


 


เมื่อพูดถึงฟรีทีวีซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักของสังคมไทย ถามว่า สังคมมีทางเลือกดูรายการบันเทิงที่ประเทืองปัญญามากไปกว่าการดูรายการบันเทิงประเภทเกมส์โชว์ปัญญาอ่อนกับละครน้ำเน่าไหม? ตอบว่า "ไม่มี เพราะทีวีทุกช่องมีรายการบันเทิงประเภทเดียวกัน" ถามอีกว่า รายการสาระประเภทเล่าข่าว วิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง สังคมมีทางเลือกมากกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วไหม? ตอบว่า "ดูเหมือนจะมี เพราะมีรายการประเภทนี้มากขึ้น"


 


ปัญหา คือ แม้จะมีรายการประเภทนี้มากขึ้น แต่ยังขาดความหลากหลายในทางเนื้อหาและมุมมอง เพราะ.-


 


1.รายการประเภทเล่าข่าว วิเคราะห์ข่าว พิธีกรดำเนินรายการยังเป็นคนเดิมๆ หรือทีมเดิมๆ ที่จัดรายการอยู่ช่องเดิมหลายช่วงเวลา หรือกระจายทีมไปยึดทีวีช่องต่างๆ จัดรายการแบบเดิมๆ หรือ


คล้ายเดิม ทำให้เนื้อหาที่นำเสนอซ้ำๆ กัน


 


2.ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคม "สื่อเลือกข้าง" เข้ามายึดทีวีของ "รัฐ" (ซึ่ง


ไม่ใช่ของ "รัฐบาล") อย่างไม่อายฟ้าดินมากขึ้น นับแต่ยุค NBT จนมาถึงยุคสถานีโทรทัศน์แห่งชาติในขณะนี้


 


3.ทีวีสาธารณะอย่าง "ทีวีไทย" ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับ "สปิริต" ความเป็นทีวีสาธารณะที่ต้อง


ดำรงความเป็นกลาง หรือต้องเสนอข้อเท็จจริงอย่างเจาะลึกรอบด้านและสมดุลในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และโดยเฉพาะการเป็นสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของคนชั้นล่างมากขึ้นในภาวะที่สื่อซึ่งเป็นกระบอกเสียงของคนชั้นกลางและคนชั้นสูงมีมากจนล้นเกิน


 


4.วิทยากรรับเชิญในรายการวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองเป็นวิทยากรหน้าเดิมๆ  ประมาณว่าเป็น


"นักวิชาการดารา" ที่เดินสายไปออกทุกช่อง ทุกรายการ ทุกครั้งที่เกิดความตึงเครียดทางการเมืองก็จะเห็น "นักวิชาการดารา" เหล่านี้จ้อผ่านจอ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองแบบเดิมๆ  ไม่มีอะไรใหม่


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายการเล่าข่าว วิเคราะห์ข่าว เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสร้าง "เรทติ้ง" เข้มข้นมากขึ้น ในแง่ดีก็คือเป็นการช่วยกันทำให้ชาวบ้านร้านตลาดสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น แต่ความที่เป็นธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงผลกำไร และต้องเกรงใจอำนาจรัฐ ทำให้รายการพวกนี้มีข้อจำกัดในการเสนอข้อเท็จจริงเชิงลึกหรือมุมมองที่ตรงกันข้ามจากรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ และเพื่อความอยู่รอดสื่อเหล่านี้จำต้องทำงานอย่าง "รู้ทิศทางลม" คือคล้อยตามผู้มีอำนาจรัฐทุกยุคสมัย ครั้งหนึ่งตนเคยโจมตีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาล แต่พอฝ่ายที่ตนเคยโจมตีนั้นได้มาเป็นรัฐบาลก็หันมาสอพลอซะดื้อๆ ทำตัวเป็น "สื่อที่เลียได้ทุกเกือก!" (สำนวนของนิธิ เอียวศรีวงศ์) อย่างไม่อายชาวบ้าน


 


ส่วนในประเด็นที่ "สื่อเลือกข้าง" มายึดทีวีของรัฐ ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งในมิติหนึ่งนั้นเป็น "สงครามการผลิตสร้างความจริง" การที่รัฐบาลสมยอมให้ สื่อเลือกข้าง ยึดทีวีของรัฐ และเลือกผลิตสร้างเฉพาะความจริงประเภท "เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น" เป็นด้านหลัก โดยละเลย "จรรยาบรรณ" ของ "สื่อแท้" ที่มีหน้าที่เสนอความจริงรอบด้าน และความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น เราจะพบ "ศพความจริง" ที่ "ถูกฆ่าตัดตอน" เรียงรายทับถมกับศพของความสำนึกผิดและความรับผิดชอบเกลื่อนกลาดเต็มสมรภูมิ แล้วอีกกี่ชาติความปรองดองจึงจะเกิดขึ้นภายใต้แนวทางของรัฐบาลที่ให้อำนาจในการผลิตสร้างความจริงแบบเอียงกระเท่เร่!


 


สุดท้าย ประเพณีที่พิธีกรหน้าเดิมๆ เชิญ "นักวิชาการดารา" หน้าเดิมๆ มาออกรายการเสนอการวิเคราะห์ด้วยมุมมองแบบเดิมๆ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ผู้เขียนอยากบอกตรงๆ ว่า เป็นการ "ร่วมกันทำมาหากิน"  ของ "สื่อขี้เกียจ" กับ "นักวิชาการดาราบ้าจ้อ" ที่ส่งผลให้สังคมเสียโอกาสได้พิจารณามุมมองและความคิดที่หลากหลาย (ราวกับประเทศนี้มีคนมีสมองแค่นักวิชาการดาราหน้าเดิมๆ พวกนี้!)


 


ทำไมสื่อไม่ยอมให้เวลามากพอสำหรับการสะท้อนความรู้สึก ความคิดเห็น ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ จากชาวบ้านที่เขามาชุมนุมโดยตรงบ้าง?


 


สิ่งที่สื่อกระแสหลักทำเหมือนๆ กันคือ ทำให้ชาวบ้านหรือมวลชนที่มาชุมเป็นเพียง "วัตถุสำหรับศึกษา" โดยมี "นักวิชาการดารา" ประเภทนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างมาเป็นผู้บรรยาย "ภาพความจริง" ของชาวบ้านรากหญ้าหรือมวลชนที่มาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งสังคมก็จะได้รับรู้แต่ "ความจริงเทียมๆ" 


 


เมื่อความจริงจากประชาชนผู้ประสบปัญหาจริงๆ ไม่ได้ถูกนำเสนออย่าง "พอเพียง" (ขออนุญาตใช้วลีอมตะนี้หน่อย) ความเข้าใจของสาธารณะและเจตจำนงร่วมในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมให้เกิดความเป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นไปไม่ได้


 


ในสงครามการผลิตสร้างความจริงที่จะยังคงยืดเยื้อยาวนาน จึงอยากขอเรียกร้องสื่อกระแสหลัก สื่อเลือกข้าง และนักวิชาการดารา ได้โปรดหยุด "ฆ่าตัดตอน" ความจริง หยุดปิดกั้นโอกาสที่สังคมควรได้รับรู้ความจริงเชิงลึกและรอบด้าน และให้โอกาสกับตนเองได้มีส่วนร่วมในการแสดงความ "สำนึกผิด" และ "รับผิดชอบ" ในความแตกแยกอันเนื่องมาจากการบิดเบือนความจริงและความถูกต้องเป็นธรรมตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net