Skip to main content
sharethis

ทีมข่าวการเมืองประชาไท รายงานการรวมตัวของนักรบไซเบอร์เสื้อแดง ที่ออกมาทำกิจกรรมพยาบาลอาสา เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของการชุมนุมเสื้อแดง...."ถึงเราจะไม่มีเส้น แต่เราก็มีกันและกัน"

 

ทีมข่าวการเมือง

"มีคนเป็นลมอยู่ข้างกำแพงครับ พี่น้อง ขอทางให้เจ้าหน้าที่เฟิร์สเอดหน่อยครับ พี่น้องที่ไม่เกี่ยวข้อง ขอความกรุณานั่งลงครับ" ก่อแก้ว พิกุลทอง ซึ่งกำลังปราศรัยบนเวที ต้องชะงักลงชั่วขณะเพื่อประกาศเรียกเจ้าหน้าที่หน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ฟาร์เรด (FARED- First Aid Red Shirts) ให้เข้าไปช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 29 มีนาคม....

เต็นท์ขนาดใหญ่ พร้อมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นครบครัน ตั้งด้านหน้ารั้วทำเนียบรัฐบาลฝั่งคลองเปรมประชากร ซ้ายมือของเวทีปราศรัย ขวักไขว่ไปด้วยสตาฟในชุดเสื้อแดง คลุมทับด้วยเอี้ยมขาว มีตรากากบาทสีขาวบนพื้นสีแดงอยู่ด้านหน้า แต่ละคนห้อยป้ายประจำตัว ซึ่งติดรูปถ่าย และชื่อประจำตัวซึ่งยาวกว่าปกติ.....ล้วนเป็นชื่อที่มีที่มาที่ไป....

"ที่นี่เรียกชื่อจริงไม่มีใครรู้จักหรอก ต้องเรียกกันด้วยชื่อล็อกอิน" สายลมรักบอกกับประชาไท... เปล่า ประชาไทไม่ได้โรแมนติกไปเอง และอากาศที่ร้อนอบอ้าวก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดอาการหูแว่ว หากแต่ "สายลมรัก" เป็นชื่อแทนตัวในโลกไซเบอร์ของชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งมีส่วนร่วมก่อตั้งฟาร์เรด


บรรยากาศการเตรียมก่อตั้งศูนย์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น 

โลกไซเบอร์ ใครว่าจับต้องไม่ได้
ภายใต้เปลวแดดระอุ พื้นถนนส่งไอร้อนเหมือนจะลวกผิวคนให้ระเหิดเป็นไอไปด้วย คนเสื้อแดงที่ร่วมเดินไกลจากสนามหลวงถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่ายของวันที่
26 มี.ค. เริ่มมองหาที่พำนักพักร้อนตามร่มไม้ บางคนล้มตัวลงนอนอย่างเหนื่อยเพลีย ขณะที่พระอาทิตย์เพิ่มชั่วโมงการทำงานของตัวเอง ทีมงานของฝ่ายผู้นำการชุมนุมคนเสื้อแดงก็กำลังขะมักขะเม้นตั้งเวที ถัดมาทางซ้ายมือ เต็นท์ใหญ่หลังหนึ่งก็กำลังถูกติดตั้งขึ้น น่าสนใจว่า เต๊นท์หลังนี้มีสัญลักษณ์กากบาทสีขาวบนพื้นแดง ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าจะมีการให้บริการทางการพยาบาลขึ้นที่นี่.... นับเป็นของแปลกสำหรับการชุมนุมของคนเสื้อแดง และยิ่งน่าสนใจไปกว่านั้น เมื่อเราได้รู้ว่า หน่วยพยาบาลที่นี่ รวมตัวกันได้ ก็ด้วยพื้นที่เสมือนจริง....พวกเขาสื่อสารกันผ่านโลกไซเบอร์

จุดเริ่มต้นของฟาร์เรด สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการรัฐประหาร 19 กันยา เพราะการรัฐประหารครั้งนั้น ทำให้หลายคนในพวกเขาได้สร้างมิตรภาพที่แนบแน่นมากว่า 3 ปี เมื่อมีการรัฐประหารแล้ว โต๊ะราชดำเนิน เว็บพันทิป (www.pantip.com )โดนปิด สมาชิกในบอร์ดหลายคนก็กระจายไปอยู่ตามเว็บต่างๆ และชาวราชดำเนินก็หลังไมค์เข้าหากัน โดยกว่าสิบคนรวมตัวกันที่ร้านอาหารร้านหนึ่งทำเว็บไซต์ไทยฟรีนิวส์ (www.thaifreenews.com) หลังจากนั้นก็นัดกินข้าวกันเป็นประจำ รวมตัวกันถ่ายรูปการชุมนุมที่สนามหลวงบ่อยเข้า และเริ่มเห็นความแตกต่างว่าเวลาคนเสื้อเหลืองชุมนุม การอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือสภากาชาดไทย มีการเตรียมพร้อมที่จะให้บริการอย่างพร้อมเพรียง

"แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มคนรากหญ้าที่มาต่อสู้ซึ่งมักจะโดนกล่าวหาว่าซื้อเสียงบ้างรับจ้างบ้าง ก็ไม่มีใครเลยจริงๆ ไม่มีรถพยาบาลเลย มีก็แต่รถของศูนย์นเรนทรคันหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่เป็นลมอาการหนัก หรือบาดเจ็บ แต่การพยาบาลลักษณะที่ปวดหัวตัวร้อน อะไรแบบนี้ไม่มี" สายลมรักเกริ่นนำ

"ถึงเราจะไม่มีเส้น แต่เราก็มีกันและกัน" Ice Angel กล่าวพร้อมรอยยิ้ม เธอเป็นนักเล่นเน็ตคนหนึ่งซึ่งมีที่พำนักประจำอยู่ที่ www.thaifreenews.com เธอร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และสิ่งหนึ่งที่เธอสังเกตได้ก็คือ... ขณะที่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น เธอได้รับรู้ว่า มีการให้บริการด้านการพยาบาลจากหน่วยงานรัฐค่อนข้างมาก มีรถโรงพยาบาลจากหลายแห่งจอดประจำการ ขณะที่เธอไม่เห็นสิ่งเดียวกันนั้นในการชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดง มีเพียงรถจากศูนย์นเรนทร จอดอยู่ 1 คันรอรับมือกับกรณีที่มีคนไข้หนัก เธอจึงเริ่มพูดคุยประเด็นดังกล่าวใน c-box ของไทยฟรีนิวส์ และด้วยความช่วยเหลือของนักเล่นเว็บคนอื่นๆ พวกเขาจึงเริ่มพูดคุยกัน และเริ่มปฏิบัติงานจริง ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

"เนื่องจากไปชุมนุมหลายครั้ง เริ่มรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยของผู้ชุมุนม ซึ่งมันไม่มีรถพยาบาลเลย เราไม่เคยเห็นรถกู้ชีพ ไม่เคยเห็นเต็นท์พยาบาลอะไรทั้งสิ้น เราก็มีความรู้สึกว่าอยากช่วย เป็นคนที่ไม่เคยโพสต์ในประชาไทเลย แต่ก็ไปสมัครเพื่อจะโพสต์ข้อความ แล้วก็ไปเสวนากับกลุ่มของเว็บเสรีชน คุณลาล่า (สมาชิกในเว็บเสรีชน) ก็เลยช่วยประชาสัมพันธ์ให้ ก็มีน้องมาช่วย คุณนกน้อยที่เล่นเว็บประชาไทอยู่แล้ว ก็ไปช่วยประชาสัมพันธ์ พี่ฮีทเตอร์ซึ่งเล่นแคมฟร็อกซ์ ในราชดำเนิน พี่ข่าหอม พี่อีฟ ฯลฯ และมีอีเมลมาจำนวนมาก ก็เลยไปประชุมกันที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ภายในเวลาไม่กี่วัน ก็ได้พี่ดารุณี กฤตบุญญาลัย เขามาคุยก็สนับสนุนเงินมาบางส่วน เบื้องต้นเป็นเรื่องคนเล่นเน็ต ทั้งนั้น"

เริ่มต้นจากแนวคิดของ Ice Angel ซึ่งสื่อสารกับเพื่อนๆ ชาวไซเบอร์โดยใช้พื้นที่ในเว็บบอร์ดของพันทิพ ราชดำเนิน เสรีชน และประชาไท โดยมีกองหนุนที่สำคัญจากนักกิจกรรมในโลกไซเบอร์ที่เล่นแคมฟร็อก และไฮไฟว์ ช่วยสื่อสารและส่งต่อข้อมูล

หลังจากนั้นก็มีการสนทนาหารือกัน และนัดประชุมครั้งแรกที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ 3 วันก่อนการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งไปพบกันประมาณ 20 กว่าคน นาทีนั้น สายลมรักบอกว่า ณ จุดเริ่มต้นค่อนข้างมืดมน เพราะไม่มีใครมีพื้นฐาน ไม่รู้ว่าการปฐมพยาบาลต้องทำกันอย่างไร บางคนเป็นข้าราชการ ทำงานรัฐวิสาหกิจ บางคนเป็นเจ้าของร้านขายของชำ บางคนก็ทำกิจการส่วนตัว ถนัดกันคนละแบบ แต่อย่างน้อยก็เริ่มต้นมารวมกันก่อน และคิดแบบชาวบ้านว่าปวดหัวตัวร้อนเป็นลมต้องใช้ยาอะไรบ้าง 

"3 วันก่อนที่จะมาม็อบที่จะมาทำเนียบเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ก็คือ เราก็ซึ้งใจหลายๆ คนนะ พี่ผู้ชายบางคนก็บอกว่า พี่ค้าขายช่วยอะไรไม่ได้มาก เอาตังค์ไปแล้วกัน วันนั้นที่เราประชุมกัน 20 กว่าคน รวบรวมเงินได้ประมาณ 30,000 บาท ก็ติดต่อพยาบาลได้ 1 คนมาช่วยอบรม ว่าการช่วยเหลือคนที่มาร่วมชุมนุม อากาศร้อนๆ มีอะไรบ้าง ก็ทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา" สายลมรักเสริมข้อมูล

ทุกการเริ่มต้นย่อมมีอุปสรรค สายลมรักเล่าว่า วันแรกที่ฟาร์เรดเริ่มทำงาน โดยมาร่วมตั้งเต๊นท์ให้บริการด้านการพยาบาลที่หน้าทำเนียบ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. พวกเขาต้องย้ายเต๊นท์ไปมา 4 ครั้ง ปัญหาการสื่อสารเกิดขึ้นเพราะกลุ่มฟาร์เรดและแกนนำการชุมนุมไม่รู้จักกันมาก่อน

"ครั้งแรกที่เปิดตัวคือการชุมนุมที่ทำเนียบฯ ครั้งแรก ตอนนั้นเราโกรธมาก เพราะว่าวันที่ 1 เราเป๋อยู่ เพราะเขาไม่รู้จักเรา เราไม่รู้จักเขา เราต้องย้ายเต๊นท์ 4 ครั้ง ยาเป็นกระตั้ก ต้องขนขึ้นขนลง ผมก็โกรธจะกลับเหมือนกัน เพราะยาก็ยาเรา แรงก็แรงเรา เราไม่รู้จักกับแกนนำ เพิ่งมารู้จักตอนหลังนี่แหละ แต่เขาก็มาสั่งเราไม่ได้ เพราะเราทำให้คนเสื้อแดง"

หลังผ่านอุปสรรคของการสื่อสารและการยอมรับซึ่งกันและกัน กลุ่มฟาร์เรดจึงเริ่มเป็นที่รับรู้ของคนในที่ชุมนุมมากขึ้น ได้ผู้ช่วยจากกลุ่มปราบกบฏห้องพันทิปราชดำเนิน เว็บบอร์ดประชาไท และไทยฟรีนิวส์ มาช่วยประชาสัมพันธ์ และจากนั้นก็มีคนมาทั้งแรงคนและแรงเงิน เป็นอาสาสมัครเวชภัณฑ์ แต่ในการชุมนุมเดือนกุมภาพันธ์นั้น ฟาร์เรดยังไม่มีประสบการณ์ก็รักษาไปตามสภาพ กระทั่งแกนนำประกาศยุติการชุมนุม พวกเขามีเวลาพักและเตรียมตัวอีกครั้ง คราวนี้พวกเขาได้ความช่วยเหลือจากแพทย์และพยาบาลมาช่วยฝึกอบรมด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และจากสมาชิกเริ่มต้น 20 กว่าคน ขณะนี้ ฟาร์เรดมีอาสาสมัครประมาณ 50 กว่าคนแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ทีม มีทีม A ซึ่งเป็นผู้ผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจำนวน 15 คน เป็นทีมหลัก ทีม B และ C เป็นหน่วยเสริม

มีหมอวัยเกษียณมาช่วยประจำเต๊นท์บ้าง แต่ "โดยสภาพเต๊นท์ไม่มีแอร์ ก็สงสารหมอ หนุ่มๆ สาวๆ ก็ยังแย่ เพราะอากาศร้อนมาก เงินก็ไม่มีให้"

อย่างไรก็ตาม สายลมรักบอกว่า ผลของการทำงานที่ทำด้วยหัวใจ ไม่เลือกชั้นวรรณะ ก็คือคนที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้นๆ เพราะว่าทีมฟาร์เรดพูดคุยกับผู้มาใช้บริการแบบพี่ๆ น้องๆ

"มันเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งว่าก่อนหน้านี้คนมักจะดูถูกว่าโลกของอินเทอร์เน็ตเป็นโลกของความหลอกลวงโกหก  ไม่มีตัวตนจริงๆ เป็นโลกในจินตนาการ จริงๆ มันไม่ใช่หรอก มันก็คือคนที่เล่นอินเทอร์เน็ตแล้วออกมาร่วมชุมนุมน่ะ"

และเมื่อฟาร์เรดเริ่มเป็นที่ยอมรับ คนที่ไม่เคยเล่นอินเทอร์เน็ตแต่ได้เห็นการทำงานในสนาม ก็เริ่มเข้ามาบริจาคช่วยเหลือ ถือข้าวมาให้กิน "การชุมนุมครั้งแรก เราไม่เคยซื้อข้าวกินเลย เพราะข้าวมันล้นจนเหลือ แต่ที่เรายังต้องการการบริจาคก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมันจะยาวนานแค่ไหน สามวันจบ หรือเดือนจบ หรือปีนึงจบ เราไม่รู้หรอก เรารู้แต่ว่าถ้ามีการชุมนุมใหญ่เมื่อไหร่ กลุ่มฟาร์เรดมีกำลังบริจาค มีกำลังเงินและกำลังคนในกรุงเทพฯ ก็สามารถมาปักหลักต่อสู้ร่วมกับคนเสื้อแดงได้ตลอดเวลา"

ความพร้อมของ FARED
"เจ็บสุดที่ดูแลมา ไม่ใช่ผู้ชุมนุม พ่อค้าโดนเมียฟันมือเมื่อคืนก่อน วิ่งเลือดโชกมา แน่นอนเราเย็บแผลไม่ได้หรอก แต่เราก็ทำได้แค่ห้ามเลือดอย่างถูกวิธีแล้วประสานนเรนทร ส่งต่อไปโรงพยาบาล แต่เคสที่ดูแลแล้วประสบความสำเร็จมากๆ ก็คือเคสความดันสูง โรคประจำตัวหอบหืด ความดันต่ำ หัวใจ อาเจียน เรามีออกซิเจน มีที่วัดความดัน มีพยาบาลชำนาญการตลอดเวลา มีแอดมิดกะเรา 6-7 ชม. เราดูแลได้จนปรกติ" สายลมรักรับหน้าที่อรรถาธิบายถึงความพร้อมในการรับมือพร้อมแนะนำข้อพึงระวังสำหรับผู้ชุมนุม

"อยากจะบอกว่า ถ้ารู้สึกตัวเองผิดปกติ อย่าฝืน ให้มาที่เต๊นท์ได้เลย ถ้ารู้สึกว่าปวดหัว เริ่มมึนงง อย่าคิดว่าตัวเองไม่เป็นไร ถ้าร้อนจัดก็ให้เข้าที่ร่ม บางที คนไปล้มอยู่ไกลมาก กว่าจะติดต่อได้ กว่าจะหาเจอ ถ้ามีอะไรผิดปกติควรมาที่เต๊นท์ก่อน นั่งพักให้หายเหนื่อยเอาผ้าเย็นเช็ดหน้าก่อน เราช่วยดูได้เรื่องความดัน เรื่องหัวใจ"

และในท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ ประกอบกับการที่ผู้คนเบียดเสียดกันเป็นจำนวนมากนั้น อาการที่พบเจอมากที่สุดก็ไม่พ้นอาการเป็นลม และอาการโรคประจำตัวกำเริบ

"โอ้โห ผมบอกเลยว่า วันแรกที่เดินมา ผมให้น้อง 10 คน แต่ละคนถือแอมโมเนียไว้แจกคนละ 300 ชิ้น ปรากฏว่าแอมโมเนียหมดตั้งแต่ม็อบยังไม่เคลื่อน รถตู้หลัก บอกแอมโมเนียหมดเหมือนกัน ต้องวิ่งไปซื้อที่วิทยาศรม ตอนหลังแจกคนละ 2,000 ชิ้น พร้อมผ้าเย็น อันนี้พอเลยครับ"

สายลมรักกล่าวว่า ในวันที่เคลื่อนพลเสื้อแดงจากสนามหลวงสู่ทำเนียบนั้น ฟาร์เรดประเมินกันว่ารัฐบาลไม่กล้ากั้น การปะทะคงไม่มี ยาหลักจึงไม่จำเป็นต้องพก เพราะประสบการณ์จากเดือนกุมภาพันธ์บอกพวกเขาว่า การพกที่ล้างแผล พกที่ห้ามเลือด สารพัด แต่เมื่อไม่เกิดอะไรเลย มันก็หนักเปล่าๆ

"เราก็พกแค่แอมโนเนีย แล้วเอายาหลักๆ อุปกรณ์หลักๆ เอาไว้ที่รถใหญ่ เป็นรถบริจาคนะ มาจากสมาชิกในบอร์ดประชาไท 2 คัน รถปิ๊กอัพจากบอร์ดราชดำเนิน 1 คัน มาช่วยกัน มันน่าปลื้มใจ มันเริ่มลงตัว เริ่มมีประสบการณ์"

เมื่อถามว่ารับมือได้แค่ไหน สายลมรักบอกว่า อุปกรณ์ที่มีเน้นปฐมพยาบาลคนเป็นลมจากแดดเป็นหลัก และก็มีคนเป็นตะคริวเยอะ เพราะเสียเหงื่อ ซึ่งฟาร์เรดมีสเปรย์เย็น และยานวดไว้รับมือ

"ถ้าม็อบอยู่กับที่เคลื่อนไปเคลื่อนมาไม่มีปะทะ เรารับมือได้ 100 เปอร์เซ็นต์แบบลมแดด หรือโรคประจำตัว ถ้าไม่ใช่เรื่องสุดวิสัยอย่างหัวใจวายเฉียบพลัน ผมคิดว่าเราน่าจะรับมือได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าปะทะ โดนปืนโดนอะไร เราไม่เคยมีประสบการณ์ เราตอบไม่ได้หรอก ว่ามันจะเป็นอย่างไร"

สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมคือ "กำลังใจ นาทีนี้เรามั่นใจว่าเรายืนระยะได้ยาว แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งประชาชนทิ้งฟาร์เรดเราก็ไม่รู้เราจะมีแรงขนาดไหน ถ้ายาหมด ไม่มีตังค์ก็ต้องคิด ถ้าโดยส่วนตัวเราก็ต้องเลิก ทุกคนที่มาทำงานอาสาต้องหัวใจสีแดงเกินร้อย เพราะเช้าไปทำงาน บ่ายมา กลางคืนก็ต้องกลับ เหนื่อยมาก กินเอง จ่ายเอง ถ้าไม่มีคนบริจาค ก็ต้องควักเงินเอง แต่ข้อดีคือกลุ่มนี้ค่อนข้างเป็นชนชั้นกลาง ก็จะพยายามหอบหิ้วสิ่งตัวเองมีมาแบ่งปันกัน"




อาสาสมัคร FARED

19 กันยา จุดกำเนิดนักรบไซเบอร์
Ice Angel ทำงานเป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง เริ่มเล่นเน็ตตั้งแต่มีการรัฐประหาร โดยออกไปที่สนามหลวงตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการชุมนุม เธอเป็นคนสนใจการเมือง ขณะที่สามีคือ แมวอ้วนอ้วน เป็นคนชอบถ่ายภาพ

"พี่ชอบการเมือง มันไม่มีที่ฟัง เมื่อเริ่มอ่านพันทิปราชดำเนิน คุณแมวอ้วนอ้วน ก็รู้สึกทำไมไม่มีภาพอะไรเลย ทำไมไม่มีภาพ พี่ก็เลยชวนเขาไปถ่ายรูป ก็เริ่มย้ายจากสนามหลวง ย้ายไปศาลาว่าการ กทม. หลังจากนั้นก็ไปอีก แล้วก็เก็บภาพมาลง เขียนข้อเท็จจริง และตอนนั้นคุณแมวอ้วนอ้วน ก็เป็นคนกลางๆ ไม่ได้ซ้ายขวา แต่แกมองว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ดี การแก้ปัญหาโดยการทำรัฐประหารมันไม่ถูกต้อง"

"พี่ก็รู้สึกว่า ทำไมทำแบบนี้ มันต้องการหาคำตอบ แล้วคุณแมวอ้วนอ้วน ก็เก็บภาพ และได้ข้อเปรียบเทียบเลยว่าสื่อมวลชนบ้านเราไม่เสนอข่าวที่เป็นกลาง อย่างล่าสุดที่มีการปะทะกันแล้วมีเลือดตกยางออก แล้วมีคนถูกตีหัวแตก สื่อกระแสหลักก็เก็บภาพได้ แต่ไม่มีการนำเสนอ"

ฮีตเตอร์ จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงทำหน้าที่เป็นโอเปอเรเตอร์ของห้องแคมฟร็อก ราชดำเนิน สนใจการเมืองอยู่เป็นพื้นฐาน

"สนใจการเมืองอยู่แล้ว และเห็นว่าพี่น้องเสื้อแดงไม่มีคนดูแลจริงๆ ใจก็เลยคิด ประกอบกับรู้จักกับคุณแมวอ้วนอ้วน ก่อนหน้านี้ก็อยู่ในแวดวงอยู่แล้วเพราะสนใจการเมือง แต่พอปฏิวัติปุ๊บก็ยิ่งสนใจหนักเข้าไปอีก และออกมาต่อต้านรัฐประหาร ตอนแรกมาเป็นการ์ด แต่ตอนนี้มองว่าการ์ดมีเยอะอยู่แล้ว แต่ตรงนี้ก็ช่วยได้ เพราะการ์ดส่วนใหญ่ก็อยู่หลังเวทีและตามจุดตรวจต่างๆ ก็ช่วยได้ แต่ถ้ามาเป็นพยาบาลก็ช่วยได้อีกแบบหนึ่งด้วย ตอนนี้ผมดำรงสองสถานะ คือเป็นทั้งฟาร์เรดและเป็นการ์ด"

Iron Horse ผู้ชำนาญการกระทรวงพาณิชย์ ขาประจำของประชาไทเว็บบอร์ด เข้าห้องสังคมการเมือง ได้มาร่วมชุมนุมทุกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 26 ก.พ. ก็พบกลุ่มฟาร์เรด "รู้สึกว่าเออ นี่คือสิ่งที่การชุมนุมของเราขาด ก็เลยมีความตั้งใจที่จะช่วย ประมาณกลางๆ เดือนมี.ค. ในบอร์ดประชาไท คุณบ้านสวน ก็มาตั้งกระทู้นัดเจอกันก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ว่าถ้าเขาต้องการกำลังเงินก็จะสนับสนุน ถ้าเขาต้องการกำลังคน ก็จะช่วย จึงแสดงความจำนง ว่าอะไรที่ขาดก็จะช่วยแล้วก็เสนอว่า มีรถที่จะช่วยเหลือในการขนส่งก็ประสานกับคุณแมวอ้วนอ้วน ว่าจะเอารถกระบะมาช่วยในการขนเวชภัณฑ์ต่างๆ พี่และแฟนก็มาด้วยกัน พี่เดินแจกแอมโมเนียตั้งแต่สนามหลวงจากหน้าทำเนียบจนถึงเย็น ก่อนหน้านั้นคืนวันที่ 25 (มี.ค.) ตระเวนเชิญชวนเพื่อนๆ มาบริจาค วันนี้ก็ใช้วิทยุชุมชนคนรู้ใจ นนทบุรี เขาก็ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ วันนี้ลูกสอบเอเน็ตเสร็จก็เลยชวนมาช่วยเดินแจกแอมโมเนีย เพราะเราคิดว่าต้องส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ๆ ด้วย"

"เริ่มเล่นเน็ตจริงๆ เมื่อตอนก่อนปฏิวัติปี 49 ตอนนั้นก็อ่านราชดำเนินเพราะประชาไทยังไม่แพร่หลายเท่าไหร่ แต่ช่วงที่เว็บไม่เสถียรก็พบว่าประชาไทน่าอ่านและยังมีช่วงที่ประชาไทใช้เว็บสำรอง ก็พยายามสมัครเป็นสมาชิกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสมัครได้เมื่อตอนที่เว็บเสถียรแล้ว"

"นี่คือยุคสื่อสารไร้พรมแดน ใครก็ปิดกั้นเราไม่ได้"
แมวอ้วนอ้วน
เป็นชื่อที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนที่ติดตามข่าวสารการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่รูปภาพเป็นของหายาก จากเดิมที่เล่นอินเทอร์เน็ตเพื่อเติมเต็มความสนใจส่วนตัวด้านการท่องเที่ยวและถ่ายภาพ วันนี้เขากลายเป็นผู้บุกเบิกเว็บ
www.thaifreenews.com

"พอมี 19 กันยายน (2549) แล้วผมรู้สึกรับไม่ได้ที่ยุคนี้ยังเอารถถังออกมาวิ่ง รู้สึกปวดหัวมากว่านี่ประเทศเรามันยังมีอย่างงี้เหรอ ก็เริ่มติดตามข่าวการเมือง และยิ่งติดตามก็ยิ่งรู้สึกไม่ยุติธรรมเลยว่า ทำไมคนซึ่งเราก็เห็นผลงานที่เขาทำประโยชน์ โอเค เขาอาจจะไม่ได้ดีถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีใครที่ดี 100 เปอร์เซ็นต์หรอกครับ แต่ผมก็คิดว่าเขาทำผลงานให้กับประชาชนมากกว่า แล้วขนาดเขาเป็นนายกรัฐมนตรียังโดนกลั่นแกล้งขนาดนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าความไม่เป็นธรรมมันเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราก็ติดตาม และความที่เราชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว เราก็รู้สึกว่าไม่มีความเคลื่อนไหวของคนที่ต่อต้าน มีแต่ข่าวบอก 50 คน 200 คน เราก็เลยออกมาดูที่สนามหลวง เอ๊ะ คนเยอะนี่ คนเป็นหลักพันนะ เราก็เลยเริ่มถ่ายภาพแล้วเอามาลงในโลกอินเทอร์เน็ต ก็ใช้ชื่อแมวอ้วนอ้วน แรกๆ ไปเล่นที่พันทิปก่อนเพราะเป็นเหมือนศูนย์กลาง แล้วก็เริ่มโดนยึดล็อกอินบ้าง ก็เริ่มรู้สึกว่า ทำไมล่ะ โพสต์ว่าพลเอกเปรม หรือสนธิ ลิ้มทองกุลแล้วโดนยึดล็อกอิน ก็เริ่มไม่พอใจ ก็คุยกะคนในเน็ต จึงออกมาทำเว็บกันเองเป็นไทยฟรีนิวส์"

จากสถาปนิกที่หันเหตัวเองมาสู่การเป็นนักบริหารในองค์กรธุรกิจ แมวอ้วนอ้วน ผู้กลายมาเป็นช่างภาพจำเป็น และกำลังปฏิบัติหน้าที่พยาบาลอาสาประจำเต็นท์ฟาร์เรดอยู่ในขณะนี้ ท้าทายว่า ไม่มีใครปิดกั้นความรับรู้ของผู้คนในยุคไซเบอร์ได้อีกต่อไป

"จริงๆ อินเทอร์เน็ต ตั้งแต่เขาออกแบบเริ่มแรกก็เพื่อไม่ให้เกิดการปิดกั้น กองทัพอเมริกันใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันกรณีที่เซิร์ฟเวอร์ตัวใดตัวหนึ่งล่ม ก็ยังมีเครือข่าย ฉะนั้นหลักการคือป้องกันการปิดกั้น ครั้งนี้ผมว่าประชาชนชนะได้หรือมาถึงจุดนี้ได้ เพราะว่าข่าวสารเขาไม่สามารถปิดกั้นแล้ว เมื่อก่อนเราถูกหลอกมาหลายสิบปีเพราะว่าอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย แต่พออินเทอร์เน็ตจะปิดกั้นอย่างไร เขาบอกคนมาชุมนุม 50 คนเราก็ถ่ายรูปให้ดูว่า 3,000 คนน่ะ เขาบอกว่ามา 200-300 คน เราก็ถ่ายรูปเผยแพร่ว่า 20,000-30,000 คนนะ ฉะนั้นอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทำให้เขาไม่สามารถปิดกั้นเราได้"

และแม้จะมีความพยายามปิดกั้น... "ยังไงก็ปิดกั้นไม่ได้ครับ เขาปิดเรา พรุ่งเรานี้ก็ไปเปิดใหม่ เว็บไซต์ไทยฟรีนิวส์ 2 ไทยฟรีนิวส์เจ้าเก่านะจ๊ะ...เขาไม่สามารถปิดกั้นเราได้ มันถึงยุคการสื่อสารไร้พรมแดนแล้วเขาปิดกั้นเราไม่ได้แล้ว"

 

หมายเหตุ

 

 

 

 

ประชาไทได้รับการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มฟาร์เรดว่า ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการจนกระทั่งปัจจุบัน กลุ่มฟาร์เรดมีพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 5 คนสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาประจำที่เต็นท์ แพทย์ 3 คน คอยให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอดเวลา และขณะนี้มีบริการทางการแพทย์ โดยแพทย์อายุรกรรม 1 คน ประจำที่เต็นท์ เวลา 00.00-2.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ซึ่งแพทย์จะมาประจำตังแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคเงินสนุบสนุนกิจกรรมของกลุ่มฟาร์เรด สามารถโอนเงินเข้าบัญชี ชื่อ สุนทร พฤกษ์พิพัฒน์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ เลขที่บัญชี 962-0-00913-4

 

(แก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 2 เม.ย. เวลา 00.27 น.)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net