Skip to main content
sharethis


21 มี.ค.52  ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง "หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ซึ่งเป็นวันแรกสำหรับการถกเถียงทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และนิติศาสตร์ ก่อนจะขยายสู่มิติอื่นในวันพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) มีผู้สนใจร่วมฟังประมาณ 200 คน ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดโดย โครงการประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ม.มหิดล และภาควิชาปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


ในช่วงบ่าย มีการอภิปรายเรื่อง "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ" ดำเนินรายการโดย ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ มธ.                  


 


 


 


"วรเจตน์" ชี้ต้องแยกวิจารณ์ กับ หมิ่นประมาท เสนอลดโทษ-เพิ่มข้อยกเว้นที่กระทำได้


 


รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวโดยแบ่งเป็นประเด็นหลักๆ ดังนี้ ประการแรกความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับรัฐนั้นมีความเปลี่ยนแปลง กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดในสมัยที่รัฐและสถาบันกษัตริย์ยังไม่ได้แยกจากกัน เมื่อมีรัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเป็นประมุขของรัฐ ไม่เป็นเนื้อเดียวกันแล้ว แม้ว่าการดำรงอยู่ของกษัตริย์อาจเกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ แต่การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือรักษาความมั่นคงของรัฐก็ต้องถามต่อด้วยว่าเป็นรัฐแบบไหน นิติรัฐประชาธิปไตยหรือรัฐเผด็จการ เพราะตัวกฎหมาย การดำเนินการจะต่างกันสิ้นเชิง


 


ประการที่สอง ตัวบท ม.112 มาตรานี้มีองค์ประกอบความผิดชัดเจนพอสมควร และเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อปกป้องเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการปกป้องบุคคล แต่ปัญหาอยู่ที่การตีความขององค์กรที่มีหน้าที่ต้องปรับใช้กฎหมาย ม.112 ไม่มีข้อความว่าห้ามวิจารณ์ ดังนั้นต้องแยกแยะให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ม.112 และตีความภายใต้บริบทสังคมไทยด้วยแล้วทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง นอกจากนี้การกำหนดโทษต้องเหมาะกับลักษณะความผิด กระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐและจะปรับเพิ่มโทษ ขณะที่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์กลับมีโทษไม่เกิน 3 ปี ดังปรากฏใน พรก.ลักษณะหมิ่นประมาท รศ.118 ซึ่งเป็นกฎหมายลายลักษณ์ฉบับแรกที่พูดเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสมัยร.5 ถ้าโทษไม่สัมพันธ์กับการกรทำ จะเป็นปัญหากับตัวกฎหมาย และตอบคำถามในทางสากลไม่ได้ ส่วนปัญหาของกระบวนการนั้น คือ การเปิดให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยใครก็ได้ ทำให้กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นปัญหากับตัวระบบเอง การตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้ของกระทรวงยุติธรรมเป็นสิ่งน่าชมเชย แต่ตราบที่เปิดกว้างขนาดนี้ก็จะยังคงแก้ปัญหาการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ได้ ควรมีหน่วยพิจารณาเบื้องต้น ซึ่งต้องแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างการหมิ่นประมาทและการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรองสิทธินี้


 


ประการที่สาม ม.112 ในด้านความสัมพันธ์ของการปกครองและรัฐธรรมนูญ ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีได้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์แต่เมื่อเป็นรัฐประชาธิปไตย ก็คือ การหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งปี 2477 มีการบัญญัติข้อยกเว้นซึ่งไม่ทำหลายความผิดฐานหมิ่นฯ แต่เปิดพื้นที่ให้บุคคลได้แสดงความเห็นโดยสุจริตได้ แต่ต่อมาถูกยกเลิกไป ที่สำคัญ ปัจจุบันนักกฎหมายส่วนใหญ่เชื่อมโยงกฎหมายหมิ่นกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะสูงสุด แต่เมื่อประเทศเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 การตีความเรื่องนี้จึงต้องตีความให้สอดคล้องกับระบบการปกครองใหม่ ไม่สามารถตีความเหมือนระบบสมบูรณาญาสิทธิ์ได้ โดยการตีความใหม่ให้สอดคล้องอยู่ในหลักรัฐธรรมนูญก็คือพระมหากษัตริย์พ้นไปจากการเมือง โดยมีองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่ ทำให้พระองค์อยู่เหนือฝักฝ่ายใดทางการเมือง และด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเป็นที่เคารพสักการะ ม.112 จึงเป็นการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งองค์กรของรัฐ ซึ่งในหลายประเทศก็มีบทบัญญัติเช่นนี้ แต่ไม่มีโทษหนักเช่นประเทศไทย


 


วรเจตน์กล่าวว่า โดยสรุปแล้วจึงไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่มีประเด็นการกำหนดโทษให้เหมาะสม การดำเนินคดีซึ่งต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมและศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของบุคคล ถ้ายังไม่ได้พิพากษาจะทำประหนึ่งว่าผิดแล้วไม่ได้ นอกจากนี้การตีความขององค์กรที่บังคับใช้กฎหมายก็สำคัญ และการมีตัวบทที่เป็นข้อยกเว้นอันสอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยเช่นที่เคยมีมาในอดีต เป็นการเพิ่มอำนาจกระทำได้ลงไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการพิทักษ์สถาบันได้มากกว่าการเพิ่มโทษ อย่างไรก็ตาม เขาระบุด้วยว่าหากพระมหากษัตริย์ทำพ้นไปจากที่กรอบรัฐธรรมนูญคุ้มครองก็เป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์ได้ เป็นการตอบเชิงหลักการทางกฎหมาย แต่ภายใต้บริบทและบรรยากาศทางสังคมแบบนี้ทำให้ง่ายต่อการถูกใส่ความ


 


 


"สมชาย" เสนอปรับเล็ก ตัดคำว่า "ดูหมิ่น" -ตั้งกรรมการสิทธิฯ วินิจฉัยการเป็นคดีความ-เพิ่มข้อยกเว้นสอดคล้อง ปชต.


 


รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มช.กล่าวว่า มีประเด็นนำเสนอ 4 เรื่องเกี่ยวกับตัวกฎหมาย, ข้อบกพร่อง 4 ประการ, ผลกระทบ-ข้อถกเถียง, ข้อเสนอเพื่อการชำระกฎหมาย โดยประเด็นแรก เรื่อง ตัวกฎหมาย กฎหมายนี้มีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังปี 2475 ความผิดฐานนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ที่สำคัญ ยังมีข้อยกเว้นว่าถ้าการกระทำการดังกล่าวอยู่ภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อสาธารณะประโยชน์ และกระทำการโดยสุจริตแล้วถือว่าไม่ผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ 2475 ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรากฐานคือประมวลกฎหมายอาญาปี 2499 ที่บัญญัติม.112 ที่ตัดข้อยกเว้นทิ้งไป และเป็นหลักที่ใช้มาจนปัจจุบัน ส่วนเรื่องโทษมีการเพิ่มขึ้นในปี 2519 จากไม่เกิน 7 ปีเป็นโทษ 3-15 ปี


 


ประเด็นที่สอง เรื่อง จตุอัปลักษณ์ของตัวกฎหมายหมิ่น แบ่งเป็น1. ปัญหาในการตีความคำว่า "ดูหมิ่น" ซึ่งไม่ชัดเจนเหมือนคำอื่นๆ และการตีความคำนี้สัมพันธ์กับวัฒนธรรม ความรู้สึก จุดยืนทางการเมือง โดยสมชายยกตัวอย่างคดีหมิ่นฯ ที่ไม่น่าเกิดขึ้นหลายกรณี เช่น การทำสติ๊กเกอร์, การตัดต้นไม้ที่สมเด็จย่าปลูก, การกล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 50 เลวของนายสมัคร สุนทรเวช เรียกได้กว่าเกิดสรรพนานาหมิ่นฯ ในสังคมไทย ทั้งนี้ การตีความคำว่าดูหมิ่นอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม 2.ความรุนแรงของโทษเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่โทษในสมัยระบอบประชาธิปไตยสูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 3. ช่องโหว่ของการเป็นผู้เสียหาย 4.ความลักลั่นของกระบวนการยุติธรรมที่พอจะมองเห็นได้ เช่น เรื่องสิทธิในฐานะผู้ต้องหา/จำเลยมีมาตรฐานไม่เท่ากัน คนมีชื่อเสียงไม่ว่าฝ่ายไหนที่โดนข้อหานี้สามารถประกันตัวได้ แต่ชาวบ้านธรรมดายากจะได้รับการประกันตัว แม้ในชั้นศาลแนวการตีความก็น่าสนใจศึกษาตรรกะและเหตุผลในการวินิจฉัย หากแต่เข้าถึงคำพิพากษาไม่ได้เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคดีศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม คดีเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบเพราะกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน


 


ประเด็นที่สาม คือ ม.112 ปกป้องสถาบันจริงหรือไม่ เพราะมีกรณีจำนวนมากที่กลายเป็นเครื่องมือทำร้ายฝ่ายตรงข้าม การตีความอย่างกว้างยิ่งกระทบเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น


 


ประเด็นที่สี่ คือ การจัดการกับกฎหมาย สามารถกระทำได้ใน 2 ระดับ คือ ระดับการปรับนิดๆ หน่อยๆ เช่น การกำหนดให้มีองค์กรวินิจฉัยคดีความ ซึ่งหลายส่วนเห็นว่า สำนักพระราชวังอาจไม่เหมาะ จึงอยากเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ เนื่องจากกระทบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน, การตัดคำว่า "ดูหมิ่น" ซึ่งเป็นปัญหาออก, การเพิ่มข้อยกเว้นเพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ส่วนอีกระดับหนึ่งคือ การยกเลิกกฎหมายไปเลย เนื่องจากในประมวลกฎหมายอาญามีกาคุ้มครองการถูกหมิ่นประมาทอยู่แล้ว อีกทั้งสถาบันทำลงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะใช้อำนาจบังคับ แต่เป็นเพราะ popular consensus


 


 


กระทรวงยุติธรรมยันเสนอเพิ่มโทษ-ฟันเสมอภาค เล็งเอาผิดพวกแอบอ้างสถาบันป้ายสีศัตรู


 


นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมีความเห็นในเบื้องต้นว่ามาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต้องมีการปรับปรุงโดยการเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้นจากเดิมจำคุกขั้นต่ำสุด 3 ปี สูงสุด 15 ปี โดยการกำหนดฐานความผิดนี้เป็นคนละส่วนกับเรื่องของการหมิ่นประมาท ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจตรงกันว่ากฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้ต้องการปกป้องในส่วนของพระองค์หนึ่งพระองค์ใด แต่ต้องการปกป้องสถานบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นหลักเรื่องความมั่นคงของชาติ


 


นอกจากเรื่องโทษที่มีขั้นต่ำเพียง 3 ปีแล้ว ปัญหาหลักที่มองเห็นคือการที่สามารถรอลงอาญาได้ ทั้งที่ในความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐจะมีโทษโดยรวมสูงกว่านี้ในทุกเรื่อง และจะไม่อยู่ในกรอบของการลงอาญาได้


 


นายธาริต กล่าวต่อปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายว่า สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีคำนึงถึงยิ่งไปกว่าการะเพิ่มโทษ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ตั้งแต่ในชั้นของตำรวจซึ่งก็มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ มาตรฐานจึงอาจต่างกัน หรือแม้จะเป็นการทำงานของหน่วยงานเดียวกันก็อาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดในมาตรานี้ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือฝ่ายการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนั้น


 


ในกรณีที่มีบางฝ่ายใช้มาตรานี้เพื่อเป็นประโยชน์ของตนเอง มีการพูดสรรเสริมเยินยอสถาบันจนเกินงาม แล้วก็โยนไปฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นฝ่ายไม่จงรักภักดี ทำให้กฎหมายกลายเป็นประโยชน์ที่จะหยิบมาใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นการดิสเครดิต หรือการทำให้มัวหมอง ถือเป็นเจตนาพิเศษที่จะฉกฉวยเอาประโยชน์ให้ตนเองหรือกลุ่มของตนเองโดยการอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตรงนี้เป็นปัญหาซึ่งอาจนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายสาระบัญญัติเพื่อจะจัดการกับคนกลุ่มนี้


 


"โดยส่วนตัวผมก็คิดว่าน่าจะถึงเวลาและมีความจำเป็น แม้จะเป็นโทษที่ไม่ได้หนักหนาสาหัสแต่คนเหล่านี้ควรจะต้องรับผลร้ายจากการกระทำด้วย และคนเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่สร้างความเสื่อมถอยของกฎหมายมาตรา 112" นายธาริต กล่าวฝากถึงข้อสังเกต


 


นายธาริต ยังได้กล่าวว่ากระบวนการดำเนินงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยได้ยกตัวอย่างการกระทำผิดใน 3 กรณีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับการอภัยโทษว่า มีคดีจับกุมนายพฤกษ์คนไทยสัญชาติอเมริกันซึ่งทำเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพร่วมกับชาวต่างประเทศ คดีนายโอลิเวอร์ ที่ทำการพ่นสีพระบรมฉายาลักษณ์ และคดีของนายแฮรี่ นิโคไลนด์สซึ่งเขียนหนังสือจาบจ้วงสถาบัน เนื่องจากทั้ง 3 กรณีมีข้อเท็จจริงที่ตรงกันว่า มีการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แล้วยอมรับในความเข้าใจผิดและการดำเนินการที่ผิดพลาดของตนเอง โดยในกรณีของนายพฤกษ์ก็มีผู้ใหญ่จากสำนักพระราชวังเข้าไปคุยด้วย


 


ทั้งนี้ นายธาริตเห็นด้วยที่จะให้มีหน่วยงานมารับผิดชอบในการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแก่พนักงานสอบสวน โดยตั้งเป็นคณะที่ปรึกษาของพนักงานสอบสวนซึ่งทำหน้าที่ตามเขตอำนาจของแต่ละหน่วยอยู่แล้ว นอกจากนี้คณะที่ปรึกษาดังกล่าวต้องมีความเชื่อมโยงกับสำนักพระราชวัง เพื่อดูพฤติการณ์ ดูความหนักเบาของโทษ และสำคัญที่สุดคือการทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการอภัยโทษให้กับผู้ที่สำนึกผิดและจะกลับตัวเป็นคนดี


 


เขากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรมยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเรื่องการหมิ่นสถาบันทางเว็บไซต์ โดยอยู่ในช่วงดำเนินการ ทั้งนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่าควรมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์ด้วยหรือไม่  อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น รมว.ยุติธรรมมีความเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายในมาตรา 112 เพียงพอที่จะเป็นกฎหมายสาระบัญญัติที่จะดำเนินการไปถึงเรื่องการหมิ่นประมาททางไอทีด้วย แต่ว่าเรื่องโทษเป็นประเด็นที่ควรต้องคำนึงถึงเพื่อให้เกิดการป้องปรามมากขึ้น โดยดำเนินการควบคู่กับประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายด้วย


 


 


"วรินทร์" ส.ว.แต่งตั้งแจง ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ได้รับการอภัยโทษ


 


นายวรินทร์ เทียมจรัส สมาชิกวุฒิสภา (แต่งตั้ง) และคณะกรรมวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า ประเด็นแรก สาเหตุที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และหมิ่นสถาบันมาก ก็เพราะประชาชนไม่ได้ข้อมูลรอบด้าน และการเมืองนำไปสู่กลไกที่จะใช้เรื่องนี้ในการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะใช้เสื้อสีอะไร ประการต่อมาคือการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลกฎหมาย ไม่บังคับการณ์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่สอพลอ มีหน้าที่ปกป้องสถาบันแต่ไม่ทำ


 


วรินทร์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ ผมเรียนว่าคดีหมิ่นสถาบัน หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมทราบมาว่าในกรมตำรวจก็มีการตั้งคณะกรรมการ ก็ดูว่างานล่าช้า แต่หลายคนก็จงใจให้ล่าช้า เพราเผือกมันร้อย อัยการก็ร้อนก็โยนต่อ ท้ายที่สุด ส่วนใหญ่ที่ผมศึกษามา ก็คือว่าถ้าจำเลยนั้นสำนึกต่อการกระทำของตนเองในฐานความผิดนี้และยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันที่คดีถึงที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการอภัยโทษ ถามว่าอำนาจแห่งการอภัยโทษนั้นเป็นอำนาจอะไร เป็นอำนาจที่เขียนไส้ชัดเจนในกฎหมายทุกฉบับว่าเป็นอำนาจของในหลวง


 


เขากล่าวต่อว่า การพัฒนาระบอบกษัตริย์ไทย เหนือกว่าหลักสิทธิมนุษยชน เป้ฯหลักธรรมภิบาล หลักทศพิธราชธรรม โดยเราจะเห็นว่าประเทศไทยมีกระบวนการอภัยโทษมากมาย พร้อมทั้งชี้ว่า ถ้าวางอัตราโทษขั้นสูงอย่างเดียว ไม่วางอัตราโทษขั้นต่ำแล้วศาลจะใช้ดุลพินิจไม่ได้เลย ถ้าศาลวางอัตราโทษ 3 ปี แล้วลดลงกึ่งหนึ่งก็จะสามารถรอลงอาญาได้เลยไม่ต้องขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ถ้าคนมีเจตนาชั่วร้าย มีเจตนาที่จะล้มล้างสถาบันจริงๆ ก็ควรมีโทษสูงสุด ถ้าล้มล้างอย่างนั้นก็ถือว่ามีส่วนในการล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วย ทำให้ต้องมายกร่างและลงประชามติกันใหม่


 


เขากล่าวว่า ผู้ใช้กฎหมายและผู้อยู่ในกระบวนการยติธรรมทั้งหมดต้องตระหนักว่า หากเขาไม่ได้มีเจตนาร้าย จะลงโทษเขาไม่ได้ ส่วนข้อถามว่า คดีหมิ่นฯ มีทนายได้ไหม มีได้ เพราการมีทนายมันถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาความอาญา แต่บางครั้งผู้ต้องหาไม่ได้ร้องขอ กระบวนการยุติธรรมทุกสันนี้ทันสมัยมาก เหลืออย่างเดียวว่าประชาชนเข้าใจหรือไม่


 


 


หมายเหตุ ติดตามการเก็บความโดยละเอียดได้เร็วๆ นี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net