Skip to main content
sharethis

จากงานสัมมนา "ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต" ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือระหว่างเจแปนฟาวน์เดชั่นและบางกอกฟอรั่มนั้น นอกจากจะมีการถ่ายทอดประสบการณ์จากวิทยากรชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทในการอนุรักษ์เมืองเก่าแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิชาการและนักพัฒนาชาวไทยที่ทำงานด้านการอนุรักษ์เมืองเก่าด้วย (อ่านตอนที่ 1 ที่นี่)


เชียงใหม่กับกระบวนการฟื้นฟูเมืองเก่า และอุปสรรค
ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง จากกลุ่มศึกษาเมืองและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเมืองเชียงใหม่ในกระบวนการฟื้นฟูเมืองเก่า โดยกล่าวว่าเชียงใหม่เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมเป็นตัวเองอีกทั้งมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่น เนื่องจากในช่วงหนึ่งเมืองเชียงใหม่เคยตกเป็นของพม่าจึงได้รับอิทธิพลมา ภายหลังเป็นเมืองร้างมีผู้คนจากสิบสองปันนาและเชียงตุงอพยพมาตั้งถิ่นฐานก็ได้รับวัฒนธรรมมาด้วย แต่นโยบายระดับชาติไม่เคยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองโดยเห็นได้จากการกำหนดให้เชียงใหม่เป็นเมืองศูนย์กลางในหลายๆ ด้านของการพัฒนา แต่ไม่เคยให้ความสำคัญในฐานะเมืองประวัติศาสตร์ ทำให้เชียงใหม่ไม่มีนโยบายในการดูแลรักษาอาคารเก่า


ทั้งนี้ในปัจจุบันพื้นที่เมืองเก่าในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาจากแนวคิดการขยายถนนจากร่างผังเมืองฉบับใหม่ซึ่งอยู่ในระหว่างการอนุมัติให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ซึ่งร่างผังเมืองฉบับนี้นั้นมีข้อกำหนดให้มีการขยายถนนกว่า 30 สายในพื้นที่เขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องรื้ออาคารทิ้งสำหรับการขยายถนน นอกจากนี้ ดร.ดวงจันทร์ ยังได้ชี้ให้เห็นว่าความเป็นเมืองเก่าของเมืองเชียงใหม่ได้ถูกทำลายมาอย่างต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างบริเวณริมแม่น้ำปิงที่เต็มไปด้วยอาคารสูง จนทำให้ในปี พ.ศ. 2534 ต้องมีการออกกฎหมายควบคุมไม่ให้มีการสร้างอาคารสูงในบริเวณ 500 เมตร จากริมแม่น้ำ ซึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการดำเนินการขออนุญาตสร้างอาคารก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้จนทำให้มีอาคารสูงเกลื่อนบริเวณริมแม่น้ำปิง รวมถึงภูมิทัศน์ของเมืองที่ถูกทำลายด้วยป้ายโฆษณาจำนวนมากในเขตเมือง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ


"ต่างชาติเขาอยากมาดูวัฒนธรรม ไม่ได้อยากมาดูพวกไนท์ซาฟารีหรือความทันสมัย ในช่วงหนึ่งทางภาครัฐเคยมีความคิดที่จะสร้างกระเช้าขึ้นดอยสุเทพโดยไม่ยอมสนใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวล้านนา สนใจแต่จะทำให้ทันสมัยอย่างเดียว"


ดร.ดวงจันทร์ มองว่าปัญหาอยู่ที่การไม่มีนโยบายทุกระดับช่วย ไม่มีการกำหนดย่านอนุรักษ์ที่ชัดเจน และไม่มีแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดความรู้สึกต้องการอนุรักษ์อาคารเก่า ส่วนเจ้าอาคารเก่าที่ต้องการจะอนุรักษ์ก็ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะซ่อมแซมบ้านเก่า รวมถึงการขาดวัสดุสำหรับซ่อมและช่างไม้ที่มีฝีมือในการอนุรักษ์ โดยปัจจุบันในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่พบว่ามีเรือนกาแลซึ่งอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่เหลืออยู่ไม่ถึง 10 หลัง และที่มีอยู่ก็มีสภาพทรุดโทรมมาก ทำให้เห็นได้ว่าเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาคารไม้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพอากาศแย่ เพราะอาคารสูงทำให้การไหลเวียนอากาศไม่ดี


อรรถจักร สัตยานุรักษ์: อนุรักษ์ย่านเก่าจะสำเร็จด้วยสำนึกสมบัติชุมชน
รศ.ดร. อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ทัศนะต่อความสำเร็จในการอนุรักษ์ย่านเก่าในญี่ปุ่นว่าเกิดขึ้นจากพื้นฐานทางสังคมของคนญี่ปุ่นที่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์และสำนึกทางสมบัติชุมชน โดยความเป็นชุมชนในประเทศญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างเข้มข้น ยกตัวอย่างร้านค้าในชุมชนที่คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าร้างแต่ก็จะมีลูกค้าประจำของตน ทำให้ร้านค้าเหล่านั้นสามารถอยู่รอดได้  จะเห็นได้ว่าย่านเก่าในญี่ปุ่นที่มีการฟื้นฟูนั้นได้กลายเป็นชุมชนที่มีชีวิต ฉะนั้นช่างไม้ที่ทำหน้าที่ซ่อมแซมบ้านเก่าให้สามารถใช้งานได้จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่ซ่อมบ้านแต่เป็นการซ่อมแซมสังคมด้วย ซึ่งการรักษามรดกของชุมชนและสังคม คือการพัฒนาอย่างแท้จริง และจะมีค่ามากกว่าการพัฒนาที่ไม่รักษามรดกทางวัฒนธรรม


 


รศ.ดร.อรรถจักร ได้ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นมีแนวคิดในการกำหนดให้ครัวเรือนที่อยู่บริเวณจะต้องช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ด้านอาณาจักรล้านนาในสมัยก่อนมีการออกกฎว่าหากมีโจรหรือผู้ร้ายอยู่ในเขตพื้นที่บ้านใครเจ้าของบ้านต้องรับโทษด้วย ซึ่งเป็นระบบคิดเดียวกันในเรื่องการช่วยกันดูแล โดยสังคมญี่ปุ่นยังสามารถรักษาและสืบทอดไว้ได้ แต่สังคมไทยไม่สามารถรักษาระบบคิดดังกล่าวไว้ได้ นอกจากนี้สังคมไทยยังไม่สามารถขยับปัญหาของคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนส่วนรวมได้ อย่างกรณีผังเมืองเชียงใหม่ก็จะมีเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่านั้นที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยไม่สามารถทำให้คนทั้งเมืองตื่นตัวกับการมีผังเมืองฉบับใหม่ได้ อีกทั้งไม่สามารถทำให้คนจังหวัดอื่นๆ ให้ความสำคัญหรือสนใจกับประเด็นปัญหานี้ได้ ขณะที่สังคมญี่ปุ่นนั้นเห็นว่ามันเป็นปัญหาร่วมและมีการพูดคุยกันจนสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้


"ต้องสร้างการเชื่อมต่อระหว่างชุมชนและชาติ หากรักษาบ้านไม่ได้ ก็อย่าหมายรักษาชุมชนและชาติ ซึ่งไม่ควรที่จะขายมรดกในวันนี้เพื่อที่จะไม่มีกินในวันหน้า"


ทั้งนี้ รศ.ดร.อรรถจักร กล่าวเสริมว่า หากชุมชนได้มีการทบทวนและรื้อฟื้นความสุข ความทุกข์ อดีต อนาคตของชุมชนมาคุยกันจนเกิดเป็นความทรงจำร่วมกันก็จะนำไปสู่การเกิดเป็นพื้นที่ใหม่ที่สอดคล้องกับชีวิตชุมชนขึ้น ซึ่งเป็นการดึงเอาสำนึกประวัติศาสตร์และสำนึกชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ด้วยพลังของความทรงจำร่วมสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้


ประสบการณ์อนุรักษ์ย่านเก่าของแพร่และเมืองบางกอก
ด้านตัวแทนจากย่านเก่าในกรุงเทพฯ อย่างชุมชนแพร่งภูธร เขตพระนคร นายธีรพล คชาชีวะ ประธานชุมชนแพร่งภูธร ก็ได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการอนุรักษ์ย่านเก่าว่าในตอนแรกนั้นการอนุรักษ์นั้นไม่เกิดขึ้นเนื่องจากธุรกิจทำให้คนในพื้นที่มีรายได้เลยไม่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ พอมาถึงช่วงฟองสบู่แตกคนจึงหันหาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ และหันมามองเรื่องอาคารบ้านเรือนและประวัติความเป็นมาของชุมชนโดยเริ่มจากภาคประชาชนในพื้นที่ประมาณ 30 หลังคาเรือน ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับความต้องการจะอนุรักษ์ย่านเก่าของคนในชุมชน ฉะนั้นในชุมชนจึงจัดการด้วยตัวเอง อย่างการทาสีอาคาร


"ไม่ว่าจะผู้แทนเขตหรือผู้แทนกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยสนใจปัญหานี้เลย จากที่ได้ไปศึกษาดูงานที่เมืองแพร่ น่าน และเชียงใหม่ โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่านักการเมืองท้องถิ่นเขาเข้มแข็งและให้ความสนใจเรื่องการอนุรักษ์มากกว่า"


นายชินวร ชมพูพันธ์ ตัวแทนจากกลุ่มข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านฟื้นฟูท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ ได้เล่าถึงการทำงานของกลุ่มว่าเริ่มจากการจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสภาพความเป็นจริงของวิถีชีวิตคนเมืองแพร่ในปัจจุบัน โดยพบว่าปัญหาของเมืองแพร่คือคนหนุ่มสาวละทิ้งถิ่นฐานเนื่องจากมีความคิดที่ว่าวัฒนธรรมของตนนั้นล้าสมัย ทางกลุ่มจึงเริ่มพยายามที่จะฟื้นฟูสำนึกท้องถิ่นโดยผ่านกิจกรรมอย่างการให้คนรุ่นใหม่กับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนนั่งสามล้อถีบชมเมือง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนสองรุ่นและถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมารวมถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นศึกษาในโรงเรียนเพื่อให้เยาวชนได้เห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองแพร่ โดยนำร่องจากในพื้นที่เขตกำแพงเมืองก่อน


นายชวน ชูจันทร์ ตัวแทนจากชุมชนคลองมะยม เขตตลิ่งชัน ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รางวัลชุมชนท่องเที่ยวดีเด่นจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนมีความคิดฝังหัวว่าคลองกรุงเทพฯ ต้องเน่า ทุกคนจึงไม่สนใจและทิ้งขยะลงคลอง ฉะนั้นต้องเปลี่ยนความคิดนี้ โดยเริ่มจากครอบครัวเราก่อนแล้วค่อยขยายออกไปคนรอบตัวและคนในชุมชน ซึ่งชุมชนก็เข้าใจแล้วว่าต้องช่วยกันเก็บขยะแต่ยังไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง แต่อย่างน้อยก็หยุดทิ้งขยะลงในคลองแล้ว โดย หลังจากที่ฟื้นฟูสภาพคลองแล้วก็ได้พัฒนาเป็นตลาดน้ำคลองรักมะยม โดยมีการกำหนดข้อตกลงว่าให้มีการดูแลรักษาคลองร่วมกัน และให้ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นตลาดเพื่อขายของสินค้าของชุมชน ซึ่งนอกจากเป็นตลาดแล้วยังต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนด้วย เช่นการจัดหลักสูตรโรงเรียนชาวบ้านสอนเรื่องเรือให้เด็กในชุมชนได้เรียนรู้วิธีการพายเรือ


นายวีรบูรณ์ วิสารทสกุล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในสมาชิกของบางกอกฟอรั่ม กล่าวถึงประสบการณ์จากการได้ไปศึกษาดูงานการฟื้นฟูย่านเก่าที่ประเทศญี่ปุ่นว่าทำให้ได้เห็นว่าประเทศไทยยังประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนบุคลากรที่จะมาทำงานเพื่อสังคมอยู่หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น โดยในประเทศญี่ปุ่นมีคนเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคมในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศไทยมาก ซึ่งอาสาสมัครนั้นเป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้การฟื้นฟูย่านเก่าสำเร็จได้ นอกจากนี้การฟื้นฟูย่านเก่าโดยชุมชนในประเทศญี่ปุ่นนั้นทำในลักษณะองค์กรซึ่งได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำงานกันอย่างจริงจัง เพราะการทำงานโดยอาศัยเพียงเวลาว่างมักจะไม่ค่อยได้ผล และที่สำคัญการฟื้นบ้านเก่าต้องไม่ใช่แค่ดูใหม่เฉพาะภายนอกแต่ต้องทำให้ใช้งานได้จริงและมีประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งนี้ยังได้ตั้งคำถามว่าทำไมการฟื้นฟูย่านเก่านั้นต้องมีบทสรุปที่การท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นตลาดน้ำอัมพวา หรือว่าตลาดร้อยปีสามชุก ซึ่งท้ายสุดก็ไม่สามารถรักษาความเป็นชุมชนไว้ได้ และมีวิธีอื่นหรือไม่ในการรักษาวิถีชุมชน


 


เรียบเรียงโดย รณรุวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์


ข่าวก่อนหน้านี้ ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต: ประสบการณ์จากญี่ปุ่นถึงไทย (ตอนที่ 1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net