Skip to main content
sharethis

(8 มี.ค.) เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับ 8 มี.ค. ของทุกปี กลุ่มองค์กรแรงงาน 45 กลุ่ม ประมาณ 500 คน อาทิ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิผู้หญิง เป็นต้น ตั้งเวทีหน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งสะพานบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยมีการผลัดกันขึ้นปราศรัยของกลุ่มต่างๆ การแสดงดนตรีจากวงภราดร และการแสดงละครสะท้อนปัญหาแรงงานหญิงด้วย


 


นางเพลินพิศ ศรีศิริ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า วันสตรีสากลเริ่มต้นจากการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมของผู้หญิง 2 กลุ่มเมื่อ 99 ปีที่แล้ว กลุ่มแรกคือกลุ่มแรงงานหญิงในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ที่ต้องทำงานยาวนานเกินกว่า 16 ชั่วโมง ทั้งที่มีสรีระร่างกายต่างจากผู้ชาย ซ้ำยังถูกผู้ชายมองเป็นทาส ต้องทำงานบ้านทุกอย่างรวมทั้งงานหาเลี้ยงชีพ กลุ่มที่สองคือ ผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงในสหรัฐฯ 


 


ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า 2 ประเด็นนี้ทำให้ผู้หญิงในสหรัฐฯ และยุโรปรวมตัวกัน ส่งข่าวและนัดแนะกันลุกฮือ การปฏิวัติครั้งนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลให้ไม่เพียงผู้หญิง แต่รวมถึงแรงงานได้อานิสงส์ไปด้วย โดยได้ทำงานในระบบสามแปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พัก 8 ชั่วโมงและเรียนหนังสือ 8 ชั่วโมง โดยที่เน้นการเรียนหนังสือเพราะผู้หญิงมักไม่ได้รับการส่งเสริมให้รับการศึกษา พอโตเป็นสาวก็ถูกส่งเข้าสู่ระบบแรงงาน จากตรงนี้ทำให้แรงงานทั่วโลกตื่นตัว พอยุคที่เรามีความรู้มากขึ้นก็มีการเรียกร้องมาตลอด ส่งผลให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มของตนเองได้จัดกิจกรรมมาตลอดตั้งแต่ปี 2535 ที่เรียกร้องให้แรงงานหญิงลาคลอดได้ 90 วัน


 


นางเพลินพิศ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้แรงงานหญิงมีสัดส่วนเป็น 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ โดยทำงานในทุกภาคส่วน โดยเป็นเพศที่มีโอกาสถูกเลิกจ้างมากกว่า ขณะที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง ทั้งงานหาเลี้ยงชีพและงานบ้าน


 


ทั้งนี้ เวลาประมาณ 11.00น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เดินทางมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากกลุ่มต่างๆ บนเวที โดยนางเพลินพิศ เสนอว่า ประเด็นแรงงานหญิงที่จะเรียกร้อง ได้แก่ 1)รัฐต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในเขตชุมชนย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอ และปรับคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน โดยมีผู้แทนของผู้ใช้แรงงานและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ 2)รัฐต้องออกกฎหมายกำหนดสัดส่วนให้สตรีมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทุกระดับอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม และ 3)ให้รัฐประกาศวันสตรีสากลเป็นวันหยุดตามประเพณี


 


ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ประเด็นแรงงานที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1)ปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ และขยายการคุ้มครองสิทธิสู่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ 2)รัฐต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน กฎมายแรงงานสัมพันธ์ 3)รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 4)ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 5)รัฐต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย 6)รัฐต้องจัดมาตรการรองรับแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศหลังกลับสู่ประเทศไทย 7)ให้รัฐบังคับใช้พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง และ 8)ยุติการคุกคามทางเพศในสถานประกอบการต่อเด็กและสตรี


         


หลังจากรับหนังสือ นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อผู้ชุมนุมว่า ก่อนหน้านี้เขาได้พูดถึงวันสตรีสากลเป็นการเฉพาะในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ด้วยว่า สภาพข้อเท็จจริงของสังคมในปัจจุบัน แม้มีรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติชัดเจนคุ้มครองในเรื่องของความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ แต่ข้อเท็จจริงที่สำรวจได้ทั้งจากเรื่องรายได้ โอกาสและสถานภาพต่างๆ ต้องยอมรับว่ากลุ่มสตรียังเป็นกลุ่มที่เสียเปรียบอยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งนอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว สิ่งที่ต้องช่วยกันอย่างมากคือการเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อสตรี โดยขอให้สื่อมวลชนได้ให้ความสำคัญและตระหนักในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมทัศนคติดังกล่าวต่อสังคมอย่างมาก


 


ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยินดีจะรับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งหากเรื่องใดดำเนินการได้ก็จะรีบดำเนินการ ส่วนเรื่องใดที่ยังดำเนินการไม่ได้ก็จะมาชี้แจงให้ทุกคนรับทราบว่าดำเนินการไม่ได้เพราะอะไร รวมทั้งจะพิจารณาว่าจะแก้ไขต่อไปอย่างไร ทั้งนี้หากมีอะไร สามารถให้ผู้แทนของกลุ่มประสานมายังรัฐบาลได้ เพื่อมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันโดยไม่ต้องรอปีละครั้ง


         


นอกจากนี้ เขากล่าวเสริมว่า ทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจกัน โดยเฉพาะในเรื่องของแรงงาน โดยในภาวะอย่างนี้อย่าให้เกิดความขัดแย้ง เพราะจุดที่ทำให้ประเทศไทยได้รับโอกาสในเรื่องของการลงทุน คือ คนยังไม่มีความรู้สึกว่าปัญหาแรงงานสัมพันธ์เป็นปัญหาใหญ่ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เรามีความขัดแย้งรุนแรง ตรงนี้จะกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของการสร้างโอกาสและสร้างงานให้กับพี่น้องประชาชน จึงอยากจะขอความร่วมมือตรงนี้ด้วย


         


นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดศูนย์เลี้ยงเด็กว่า จะลองให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากร เพื่อให้สถานประกอบการจัดสถานที่ดูแลเด็กเล็กในสถานประกอบการ ขณะเดียวกันการดูแลเด็กเล็กในชุมชนต่างๆ ก็จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง โดยตรงนี้ได้มีการหารือกับคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องเด็กปฐมวัยอยู่ ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายที่จะดำเนินการ


 


กรณีประกันสังคม นายอภิสิทธิ์แสดงความเห็นว่าต้องปฏิรูป ที่ผ่านมา เคยมีการเสนอมาที่ ครม. ครั้งหนึ่ง ว่าจะแยกกองทุนประกันสังคมไปเป็นองค์การมหาชน แต่ก็เสนอด้วยว่าให้ยังขึ้นกับสำนักงานที่เป็นกรม ซึ่งตนเองมองว่าทำไม่ได้ อยู่ดีๆ จะให้นิติบุคคลที่เป็นกองทุนมาขึ้นกับกรมหรือกระทรวงซึ่งเป็นอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ได้ มันไม่อิสระ จึงให้กลับไปทำใหม่ ถ้าจะออกเป็นอิสระ ต้องออกเต็มรูปแบบ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เพราะเงินประกันสังคมมาจากนายจ้างและแรงงานเป็นหลัก รัฐเพียงสนับสนุนบางส่วนเท่านั้น


ส่วนการดูแลคนที่ไม่อยู่ในประกันสังคม 20 กว่าล้านคนนั้น อยู่ระหว่างการหาระบบที่ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างชัดเจน


         


จากนั้น นายอภิสิทธิ์ได้เดินไปพบปะและทักทายกับกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยซึ่งปักหลักอยู่หน้าทำเนียบ ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางกลับ


 


อย่างไรก็ตาม ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีให้สัมภาษณ์ว่า ที่เรียกร้องเรื่องศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ไม่ได้ต้องการศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ เนื่องจากสถานประกอบการไม่มีที่พักให้คนงาน ซ้ำยังมีมลภาวะสูงมาก ที่ต้องการคือ ศูนย์รับเลี้ยงเด็กในชุมชนในย่านอุตสาหกรรมที่แรงงานไปเช่าบ้านอยู่ เพื่อให้คนงานทำงานได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องลูก


 


 


 


.............................................


เกี่ยวข้อง


แรงงานกลุ่มต่างๆ เคลื่อนเรียกร้องสิทธิ-สวัสดิการในวันสตรีสากล


แรงงาน-นศ. ดัน "รัฐสวัสดิการ" หนุนเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า


คนงานเมย์ฟิลด์ โอดขอค่าชดเชยเลิกจ้างตาม กม. 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net