Skip to main content
sharethis

แรงงานกว่า 300 คน จากกลุ่มประสานงานกรรมกร (กปก.) ร่วมกับพนักงานจ้างเหมาค่าแรงของบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชน) หรือ RPC ชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.สระบุรี เรียกร้องสิทธิในการได้รับค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย รองผู้ว่าฯ รับหนังสือก่อนนัดเจรจา 2 ฝ่าย จันทร์นี้ ขณะที่ บ.จ้างเหมาค่าแรงแปะประกาศห้าม 193 พนักงานจ้างเหมาที่ร่วมชุมนุมเข้าทำงาน อ้างทำให้บริษัทเสียชื่อ
 
 
หลังจากกลุ่มประสานงานกรรมกร (กปก.) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ได้ร่วมกับประชาชนและนิสิตนักศึกษา เคลื่อนไหวเพื่อขอความเป็นธรรมในสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายให้กับคนงานจ้างเหมาซึ่งทำงานในบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชน) หรือ RPC จังหวัดสระบุรี ที่มี กบข.เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จนบรรลุในข้อตกลงและมีการนัดจ่ายเงินให้กับลูกจ้างเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่ง กปก.ระบุว่า มีการละเมิดข้อตกลงดังกล่าว โดยบริษัทซับคอนแทรคไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวน 30 วัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด ทาง กปก.จึงนัดรวมตัวกันเคลื่อนไหวในวันที่ 27 ก.พ.
 
โดยนายฉัตรชัย ไพยเสน ผู้ประสานงานกลุ่มประสานงานกรรมกร กล่าวว่า ผู้ชุมนุมกว่า 300 คน ประกอบด้วยคนงานจ้างเหมาค่าแรงที่ทำงานใน RPC 216 คน และคนงานจากสหภาพแรงงานอื่นๆ ได้เคลื่อนขบวนจากบริเวณหน้าโรงพยาบาลมิตรภาพไปถึงยังศาลากลางจังหวัดสระบุรี ในเวลา 10.30 น. แต่ไม่มีใครออกมารับหนังสือ เวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนไปปิดถนนบริเวณแยกพิชัยณรงค์สงคราม ในที่สุด รองผู้ว่าฯ ได้ออกมารับหนังสือ และตกลงให้มีการเจรจา 2 ฝ่าย ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สระบุรี ในวันที่ 2 มี.ค. เวลา13.00 น.โดยผู้ชุมนุมทั้งหมดได้ยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 12.30น.
 
นายฉัตรชัย เล่าว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา มีการออกประกาศห้ามพนักงานจ้างเหมาค่าแรงที่ทำงานใน RPC จำนวน193 คนซึ่งมาร่วมชุมนุมกับ กปก. เข้าทำงาน ทั้งยังมีการขู่ว่าจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้เนื่องจากทำให้บริษัทเสียหาย ทั้งนี้ เขากล่าวเสริมว่า สำหรับการมาชุมนุมในวันนี้ (27 ก.พ.) พนักงานได้แจ้งลาไว้แล้ว แต่ทางบริษัทอ้างว่า ยังไม่ได้อนุมัติ
 
สำหรับการเลิกจ้างในครั้งนี้ ผู้ประสานงานกลุ่มประสานงานกรรมกรมองว่า บริษัทมีความพยายามปลดพนักงานเหมาค่าแรงมาตลอดอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้มีการให้พนักงานเซ็นใบลาออกและยินยอมว่าจะไม่รับสิทธิชดเชยจากบริษัท จากนั้นก็ให้เงินเล็กๆ น้อยๆ จำนวน 3,000-5,000 บาท
 
"การปลดคนงานด้วยปัญหาเศรษฐกิจ [จะอย่างไร] ก็ต้องจ่ายเงินชดเชย" นายฉัตรชัยกล่าวและว่า ไม่ใช่มาหลอกกันเฉยๆ พนักงานบางคนไม่รู้สิทธิจึงเซ็นไป ทั้งนี้ ทราบมาว่า มีเจ้าหน้าที่ของ RPC ลงนามรู้เห็นด้วย
 
เขากล่าวเสริมว่า อยากให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้ติดต่อกลับมาที่กลุ่มประสานงานกรรมกร เพื่อรวบรวมข้อมูล เพราะนายจ้างได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเรื่องนี้ ซึ่งทางกลุ่มฯ มองว่า การเซ็นยินยอมไม่รับค่าชดเชยดังกล่าวควรเป็นโมฆะ เนื่องจากค่าชดเชยเป็นสิทธิที่ควรได้รับตามกฏหมาย
 
 
 
ที่ กปก 010
27 กุมภาพันธ์ 2552
 
เรื่อง ขอความช่วยเหลือเป็นการด่วน
เรียน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี
 
สำเนาเรียน ผองเพื่อน พี่น้อง ผู้ใช้แรงงานนิสิตนักศึกษาสื่อมวลชน ประชาชนที่เคารพทุกท่าน
สิ่งที่ส่งมาด้วย
1.รายชื่อคนงานที่ทำงานใน บมจ.รอยัล ปอร์ซเลน ที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 216 คน
2.หนังสือข้อตกลงเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 1 ชุด
3.แถลงการณ์กลุ่มประสานงานกรรมกรฉบับที่ จำนวน หน้า
 
สิ่งที่อ้างถึง บันทึกของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรีลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552
 
กลุ่มประสานงานกรรมกรได้รับหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม ที่เป็นแรงงานจ้างเหมาทำงานในบริษัท รอยัลปอร์ชเลน จำกัด (มหาชนหรือ RPC โรงงานตั้งอยู่  ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกเอารัดเอาเปรียบในการจ้างงานทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายอาทิเช่น
 
1. ลาป่วยถูกหักค่าจ้างหรือไม่จ่ายค่าจ้างในการลาป่วยไม่ว่ากรณีใดๆและไม่เคยได้รับเงินชดเชยในกรณีนี้ (มาตรา32, มาตรา 57 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน2541)
 
2. ไม่เคยได้รับสิทธิในการลาพักผ่อนประจำปีและไม่เคยได้รับเงินชดเชยในกรณีนี้ (มาตรา 30 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541)
 
3. ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างและมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชย (มาตรา 67,มาตรา 69, มาตรา 118, มาตรา 120, มาตรา 121, มาตรา 122 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน2541)
 
4. นายจ้างให้หยุดงานโดยอ้างภาวะเศรษฐกิจโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541
 
5. ถูกลิดรอนสิทธิด้านอายุงานและค่าจ้างหรือเงินชดเชย ซึ่งนายจ้างพยายามโอนถ่ายหรือโอนย้ายลูกจ้าง โดยให้ลูกจ้างลาออกหรือต้องทำสัญญาจ้างใหม่ในอัตราค่าจ้างที่ลดลงและไม่นับอายุงานต่อเนื่อง (มาตรา 13 , มาตรา 20พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541)
 
6. คนงานหญิงตั้งครรภ์ ถูกบังคับให้ทำงานจนถึงวันคลอด และจ่ายเงินสำหรับการลาคลอดเพียง 1 เดือน (มาตรา41 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน2541)
 
7. คนงานจ้างเหมาไม่เคยได้รับอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคล รวมถึงชุดพนักงาน โดยที่นายจ้างให้ลูกจ้างต้องออกเงินซื้อหามาเอง (มาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน2541)
 
8. มีการปล่อยเงินกู้ให้กับลูกจ้างในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด
 
9. นายจ้างไม่ปฎิบัติตามข้อตกลง (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 2)และพยามหลีกลี่ยงข้อตกลงของเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยที่เจ้าหน้าที่ของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรีก็เพิกเฉยและสนับสนุนให้มีการละเมิดข้อตกลงด้วยการลงนามรับรอง (ตามสิ่งที่อ้างถึงรวมถึงการหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายเงินตามข้อตกลงให้กับลูกจ้างบางส่วนที่รายชื่อตกหล่นจากการพิมพ์
 
ดังนั้นกลุ่มประสานงานกรรมกรจึงเรียนมาเพื่อเรียกร้องให้ท่าน โปรดดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ขอให้ท่านได้โปรดสั่งการให้มีการช่วยเหลือลูกจ้างที่เป็นแรงงานจ้างเหมาทำงานในบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด(มหาชนหรือ RPC เป็นการด่วน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงค่าเสียหายและเงินชดเชยต่างๆตามสิทธิอันพึงมีพึงได้
 
2. ขอให้ท่านได้โปรดสั่งการให้มีการเจรจาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างหลักตัวจริงคือผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจจากบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชนหรือ RPC เป็นการด่วน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงค่าเสียหายและเงินชดเชยต่างๆตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งและเป็นหลักประกันความมั่นใจว่าลูกจ้างจะได้รับเงินตามสิทธิทางกฎหมายโดยไม่มีการบิดเบือน ทั้งนี้ให้รวมถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงเดิมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ด้วยและให้มีผลผูกพันธ์กับลูกจ้างทั้งหมด
 
3. ขอให้ท่านได้โปรดสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรีหรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายตามบทบัญญัติของกฎหมาย
 
4. ขอให้ท่านได้โปรดจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายและโปรดติดตามผลเพื่อดำรงไว้ในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
 
5. ขอให้ท่านได้โปรดจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบสถานประกอบการและนายจ้างในจังหวัดสระบุรีเพื่อมิให้มีการละเมิดสิทธิของลูกจ้างตามพื้นฐานของกฎหมายโดยเร่งด่วน
 
6. ขอให้ท่านโปรดสั่งการมิให้มีการข่มขู่ลูกจ้างทั้งจากอิทธิพลท้องถิ่น นายจ้างและจากบุคคลในเครื่องแบบ หรือจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจเพื่อดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยให้กับลูกจ้าง
 
 จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นายฉัตรชัย ไพยเสน
ผู้ประสานงานกลุ่มฯ
 
 
 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กปก. เตรียมเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิแรงงานจ้างเหมารอยัล ปอร์ชเลน ที่สระบุรี 27 ก.พ. นี้ (26 ก.พ. 2552)
สร.แรงงานภาคตะวันออก-เกษตรกรรายย่อยชุมนุมทำเนียบร้องรัฐบาลแก้ปัญหา (24 ก.พ. 2552)
ลูกจ้างเหมาค่าแรง รอยัลปอร์ชเลน ร้อง กบข. ผู้ถือหุ้นใหญ่ ถูกเลิกจ้างและได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรม(19/2/2552)
นักข่าวพลเมืองรายงาน: แรงงานจ้างเหมาเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นคน (13 ก.พ. 2552)
 
 
 
...........................................
หมายเหตุ แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อ 18.50น. 28 ก.พ.52
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net