Skip to main content
sharethis

มีรูปธรรมอยู่ 2 อย่างที่อาจแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ หนึ่ง การจะจัดให้มีสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สบ.ชต.เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลตั้งไว้


 


กับ สอง เมื่อการตั้ง สบ.ชต. ที่ต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งนั่นต้องใช้เวลานาน อาจจะเป็นปี รัฐบาลของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี จึงตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภาคใต้ขึ้นมาก่อน


 


หลังจากตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้ว ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้ยกคณะลงมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2552


 


โดยหลังจากรับทราบสถานการณ์และการบรรยายสรุปที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี นายอภิสิทธิ์ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายในห้องประชุม


 


000


 


 


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


นายกรัฐมนตรี


 


นอกจากการรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์แล้ว ยังได้มีการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องนโยบาย และแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ จึงเป็นเหตุผลที่เรามีกำลังพลอยู่จำนวนมากในพื้นที่ และมีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ ถือเป็นความจำเป็นในช่วงที่ผ่านมา


 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนว่า จะพยายามแก้ปัญหาและสามารถคลี่คลายปัญหาได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทั้งจำนวนกำลังพล และกฎหมายพิเศษเช่นนี้ตลอดไป หมายความว่า การทำงานทางด้านความมั่นคงกับด้านการพัฒนาจะต้องสามารถทำงานในลักษณะคู่ขนานกันไปอย่างมีประสิทธิภาพ


 


สิ่งที่ผมได้มอบเป็นนโยบายคือ มีกฎหมายความมั่นคงที่ออกมาปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้เต็มรูปแบบ เพราะมีขั้นตอนดำเนินการ จึงได้มอบนโนบายว่าต้องนำกฎหมายส่วนนี้มาใช้ และเป็นทางเลือกในลักษณะการประเมิน เปรียบเทียบการแก้ไขปัญหาในเชิงความมั่นคง ในส่วนที่สามารถจะทำให้เรากำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้


 


สิ่งสำคัญที่ผมได้มอบเป็นนโยบายด้านความมั่นคง คือ 1.ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการเฝ้าระวัง การทำเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมืองที่ดำเนินการมาแล้วและต้องขยายผลต่อไป 2.การใช้เทคโนโลยี ซึ่งมีทั้งเรื่องการใช้นิติวิทยาศาสตร์ที่ปัจจุบันมีการนำมาใช้และเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์มาก ไม่เพียงแต่คลี่คลายในแต่ละคดี แต่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


 


แต่ที่ผ่านมา ยังติดขัดบ้างในเชิงกฎระเบียบทำให้ไม่เป็นเอกภาพ ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีเรื่องการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ได้เร่งรัดไป


 


สิ่งสำคัญที่สุดในแง่การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงคือ ต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ไม่ให้เป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามจะนำไปอ้าง แล้วทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาไม่จบสิ้น ซึ่งตรงนี้ทาง ผบ.ทบ.ได้กล่าวชัดเจนถึงนโยบายที่ได้ปฏิบัติมาว่า ยึดถือตรงนี้ หากมีผู้ปฏิบัติออกนอกแนวทางนี้ก็ต้องรับผิดชอบและเข้าสู่กระบวนการ ต้องมีการลงโทษ


 


ตรงนี้ทำให้เรามั่นใจว่าไม่เป็นการแก้ปัญหาในลักษณะสร้างปัญหาเพิ่มเติมเข้ามา และการชี้แจงเรื่องเหล่านี้ต้องรวดเร็วและต้องเป็นเอกภาพมากขึ้น การประสานงานระหว่างกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบรัฐบาล จะต้องมีระบบชี้แจงสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น และผมก็พร้อมรับข้อร้องเรียนต่างๆ จากองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ เพื่อให้ความมั่นใจว่า เราไม่ได้ละเลยตรงจุดนี้


 


ขอยืนยันว่า รัฐบาลไทยจะปฏิบัติงานด้านความมั่นคง โดยปฏิบัติตามหลักสากลในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงด้านมนุษยธรรม


 


ในส่วนการพัฒนากลไก คณะกรรมการรัฐมนตรีจะช่วยทำให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการจัดทำโครงการที่ต้องข้ามกระทรวงสามารถเดินหน้าได้รวดเร็ว เพราะที่ผ่านมา เราไม่มีกลไกการพัฒนาพิเศษที่โยงเข้ามาสู่ระดับนโยบายและสามารถตัดสินใจได้ ตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญที่จะเร่งแก้ไขต่อไป


 


โดยสรุปรัฐบาลนี้มุ่งมั่น ตั้งใจจริงๆ ว่าจะแก้ปัญหาที่เป็นระบบ ต้องมีฝ่ายการเมืองรับผิดชอบชัดเจน งานด้านความมั่นคงกับการพัฒนาต้องเป็นเอกภาพ มีเสรีภาพ เป็นการทำงานที่ได้มาตรฐานสากล ไม่สร้างเงื่อนไขให้ผู้ใดนำไปอ้างก่อความรุนแรง นี่คือแนวทางที่เราประกาศ ต่อไปนี้จะทำงานเต็มที่


 



กรณีองค์กรมนุษยชนประท้วงการใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


ที่ประชุมได้พูดถึงปัญหานี้ ผมก็ได้ติดตามเรื่องนี้ ไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าสถานการณ์ในพื้นที่ครึ่งปีหลังดีขึ้น ทั้งนี้ ทาง ผบ.ทบ.ยืนยันว่า สนใจและใส่ใจเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อมูลทั้งหมดจะต้องตรวจสอบ แต่ก็เชื่อว่าเป็นไปได้ เจ้าหน้าที่มีกว่าครึ่งแสนปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมมีได้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่นโยบาย และไม่ใช่การทำที่เป็นระบบ ถ้าพบว่ามีจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริง หากเป็นจริงก็ต้องถูกลงโทษ


 


การพัฒนาของรัฐบาลที่จะออกมาเป็นรูปธรรมอันดับแรกคืออะไร


นโยบายรัฐบาลมีทั้งโครงการขนาดใหญ่และนโยบายที่ลงไปในชุมชน ซึ่งการลงไปในพื้นที่วันนี้ จะดูว่าระดับชุมชนขยายผลได้อย่างไร ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีทั้งภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ เราจะใช้วัฒนธรรมและความหลากหลายมาพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่า 3 จังหวัดรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆ ดังนั้น การพัฒนาต้องเดินคู่ไปกับงานด้านความมั่นคง


 


ฝ่ายนโยบายปีที่แล้วมักตอบว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง วันนี้ผมขอบอกว่าไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยความมั่นคงในมิติพัฒนาพื้นที่


 



การลงพื้นที่ภาคใต้เป็นประเพณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือตั้งใจที่จะแก้ปัญหาจริงๆ


ยังไม่เคยเห็นมีการตั้งคณะกรรมการ รมต.อย่างนี้ และนโยบายรัฐบาลได้ระบุชัดเจน อันนี้ไม่ใช่ประเพณี



000


 


 


จาตุรนต์ ฉายแสง


อดีตรองนายกรัฐมนตรี



การสร้างองค์กรใหม่โดยการอ้างว่าต้องมีกฎหมายมารองรับการพูดแบบนี้ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหา องค์กรเป็นเรื่องรอง เรื่องใหญ่คือ ความเข้าใจแนวทางที่จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน เท่าเทียมกัน แล้วก็เคารพ ยอมรับ ความเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของเขา เพื่อลดเงื่อนไขของการไปกระทบกระทั่งบาดหมางดูถูกเหยียดหยามทำร้ายกัน ลดความคิดที่ผิดที่จะไปทำให้เกิดความรุนแรง


 


แต่องค์กรก็ไม่ใช่ไม่สำคัญเลย ถ้าไม่มีองค์กรดูแลประสานหลายฝ่าย ปล่อยปละละเลย อย่างนั้นปัญหาก็จะลุกลาม เนื่องจากเกิดช่องว่างที่ทำให้ฝ่ายกระบวนการทำงานอย่างเต็มที่ มันก็จะเข้มแข็งขึ้นอย่างในอดีตที่ผ่านมา


 


แต่ถ้าเป็นองค์กรที่ต่างคนต่างสั่ง ไม่ได้เน้นทำความเข้าใจกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางให้ชัด ถือเป็นองค์กรที่เอารัฐมนตรีมารวมกันมากๆ ซึ่งในอดีตก็เคยทำมาแล้ว เสร็จแล้วไม่ได้คุยแนวทางอะไรมาก พอนายกบอกว่าต้องรีบทำ แต่ละคนต้องเร่งสั่งกระทรวงตัวเอง ต่างคนต่างสั่ง ส่วนคนรับผิดชอบ 3 จังหวัด ก็นั่งดูตามพริบ ๆ  เพราะว่ารัฐมนตรีต่างคนต่างสั่งหรือไม่ บางช่วงก็หายไปเลย เขาจะสั่งก็ไม่ได้เพราะรอฟังรัฐมนตรีสั่ง งานก็ไมมีประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพทางนโยบาย


 


องค์กรที่กำลังจะทำอยู่ถ้าเกิดว่าต้องมีกฎหมายหรือไม่ ก็ออกกฎหมายซะก็ได้ ออกกฎหมายมาแล้วระบบการบริหารจัดการการสั่งงานจะเป็นอย่างไร ระหว่างที่ไม่มี ศว.ชต. มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้น และมีรัฐมนตรีจำนวนมากอยู่ในนั้น กลัวว่าจะซ้ำรอยเดิมอีก


 


ดีตรงให้ความสำคัญที่มีรัฐมนตรีถ้ารัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายพลเรือนดูแลการทำงานของตำรวจทหารพลเรือนก็เป็นเรื่องดีอยู่ แต่ว่าพอมีรัฐมนตรีจำนวนมาก ไม่รู้ว่าเวลาสั่งการจะสั่งกันยังไง นายกรัฐมนตรีมาทีนึ่งก็แห่กันมาเสร็จแล้วรัฐมนตรีแย่งกันสั่ง สั่งด้วยแนวทางอะไร ซึ่งเคยมีลักษณะแบบนี้มาแล้ว ก็ไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิม


 


คณะกรรมการพิเศษนี้จะสั่งการแบบต่างคนต่างสั่งหรือว่าจะรวบรวมคำสั่ง แล้วให้ผู้รับผิดชอบไปสั่ง ไปดำเนินการแทน เหมือนการเอาร่มชูชีพ 2 อัน อันหนึ่งกลับหัวลงข้างล่าง อีกอันหนึ่งอยู่ข้างบน ข้างบนเป็นรัฐมนตรีหลายๆ กระทรวง ชนกัน ประชุมกันแล้วสั่งลงไปเป็นสายๆ ที่มีหน่วยงานต่างๆ ข้างล่าง อย่างนั้นอาจจะดีกว่าที่จะให้ต่างคนต่างสั่ง ที่กระทรวงต่าง ๆ แต่การจัดองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญ


 


 


...........................


(หมายเหตุ: แก้ไขคำผิด ล่าสุด เมื่อ 20 ม.ค.52 18.20น.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net